ฉัตรสุมาลย์ : เส้นทางสิกขมานากับภิกษุณีในไทย

บนเส้นทางภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทย (12)
การรื้อฟื้นสิกขมานา

เมื่อเริ่มมีการอุปสมบทภิกษุณีในสายเถรวาทที่เป็นที่ยอมรับกันในหมู่นักวิชาการด้านพระวินัยนั้น เริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ.2541 จากการที่แม่ชีศีล 10 กลุ่มแรกของศรีลังกา โดยการสนับสนุนของพระภิกษุผู้ใหญ่ของศรีลังกา 10 รูป ออกไปรับการอุปสมบทที่พุทธคยา แล้วได้รับการอุปสมบทซ้ำโดยพระภิกษุสงฆ์ที่ล้วนเป็นพระเถระของศรีลังกา

ครั้นกลับมา ก็เริ่มให้การอุปสมบทภิกษุณีแก่บรรดาทศศีลมาตา หรือแม่ชีถือศีล 10 ที่มีอยู่บนเกาะศรีลังกาประมาณ 2,500 รูป ในจำนวนนี้ บัดนี้ได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุณีแล้วประมาณ 1,000 รูป

นับตั้งแต่ พ.ศ.2541 ที่มีการอุปสมบทภิกษุณีนั้น เป็นการอุปสมบทจากทศศีลมาตาที่พระภิกษุสงฆ์ท่านอนุโลมว่าเท่ากับสามเณรี

เงื่อนไขที่เกิดขึ้นใน พ.ศ.2541 คือ คนที่จะขออุปสมบทได้ต้องเป็นสามเณรีมาอย่างน้อย 2 ปี

 

ในศรีลังกา ให้การอุปสมบทภิกษุณีจากสามเณรี

ภิกษุณีธัมมนันทาได้ศึกษาพระวินัยปรากฏชัดเจนว่า ภิกษุณีต้องมาจากสิกขมานา จึงเรียนภิกษุณีสัทธาสุมนาที่เป็นอาจารย์ทางศรีลังกา เพื่อให้ท่านได้เสนอภิกษุสงฆ์ศรีลังกาเพื่อพิจารณาให้มีสิกขมานาเพื่อความถูกต้อง

ภิกษุชาวศรีลังกาที่เป็นพระผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในการตัดสินใจยังไม่ได้มีเวลาที่จะสนใจเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม บางรูปเห็นว่า สถานะของสิกขมานานั้นไม่ชัดเจน บางรูปว่า ถืออนุธรรม 6 ก็อาจจะไม่ได้บวชสามเณรีมาก่อน อาจจะยังเป็นอุบาสิกาอยู่ เมื่อท่านยังไม่เห็นความชัดเจน ท่านก็เลยไม่ได้พิจารณามาถึงประเด็นนี้

สำหรับในประเทศไทย เมื่อมีภิกษุณีสายเถรวาทรูปแรกในประเทศไทย นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2544 ที่ท่านธัมมนันทาอุปสมบทเป็นภิกษุณี จึงเริ่มให้มีการประกาศสิกขมานาแก่สามเณรีที่ตั้งใจและมีความมั่นคงที่ต่อไปจะอุปสมบทเป็นภิกษุณี

เมื่อภิกษุณีสงฆ์ได้เข้าไปกราบคารวะสมเด็จช่วงวัดปากน้ำ ในสมัยที่ท่านทำหน้าที่รักษาการสมเด็จพระสังฆราชนั้น ท่านก็ได้พูดชัดเจนว่า การบวชภิกษุณีนั้นต้องมาตามขั้นตอนของการเป็นสามเณรี และสิกขมานา ขณะนั้น ภิกษุณีธัมมนันทาได้เรียนยืนยันกับท่านว่า ในประเทศไทยที่บวชภิกษุณีกันก็มาจากขั้นตอนของการเป็นสิกขมานา

เงื่อนไขของการเป็นสิกขมานาคือรับศีล 6 ข้อแรกในศีล 10 โดยไม่ให้ขาดตลอด 2 พรรษา ศีล 10 นั้น สามเณรีรักษาอยู่แล้ว การเป็นสิกขมานา ก็คือสามเณรีเข้มข้น เพราะฉะนั้น ในพระวินัยระบุว่า ในลำดับการนั่งของสิกขมานานั้น นั่งต่ำกว่าภิกษุณี แต่สูงกว่าสามเณรี

ความเข้าใจของพระศรีลังกาบางรูปที่ไม่เห็นความสำคัญของสิกขมานา และเข้าใจว่า อาจจะเป็นอุบาสิกาถือเพียง อนุธรรม 6 นั้น จึงไม่น่าจะถูกต้อง

ยิ่งไปกว่านั้น ข้อมูลในครุธรรม 8 ชัดเจนว่า ให้ภิกษุณีที่เป็นปวัตตินีรับผิดชอบในการจัดการอุปสมบทให้แก่สิกขมานาที่เป็นลูกศิษย์ โดยให้แสวงหาสงฆ์สองฝ่าย นั่นคือ ภิกษุณีสงฆ์ที่จะเป็นผู้ตรวจสอบอันตรายิกธรรม เมื่อผ่านขั้นตอนนี้แล้ว จึงจะได้รับการอุปสมบทโดยพระภิกษุสงฆ์

สงฆ์สองฝ่ายทำหน้าที่เช่นนี้

 

ตรงนี้ก็น่าจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอีกเช่นกันที่ไปเข้าใจว่า จะต้องมีภิกษุณีสงฆ์ให้การอุปสมบท แล้วก็อุปสมบทอีกครั้งโดยภิกษุสงฆ์

สังฆกรรมใดที่ทำแล้ว หากถูกต้อง การทำครั้งแรกถือว่าใช้ได้ การทำครั้งที่สองหรือครั้งต่อไปเป็นโมฆะ คือสำเร็จแล้วตั้งแต่ครั้งแรก

แต่หากเป็นการรื้อขึ้นมาทำใหม่ ทั้งๆ ที่สังฆกรรมครั้งแรกถูกต้อง สงฆ์ที่มารื้อทำใหม่นั้นจะเป็นอาบัติ

เมื่อเป็นเช่นนี้ สามเณรีชุดแรกที่บรรพชาเป็นสามเณรีของเกาะยอ เมื่อมีพระภิกษุผู้ทรงธรรมทรงความรู้ในพระวินัย ท่านสอบถามเมื่อรู้ว่า สามเณรีเหล่านี้ ประสงค์จะอุปสมบทเป็นภิกษุณีต่อไป ท่านแนะนำว่าจะต้องประกาศสิกขมานา

เช่นนี้ สามเณรีที่เกาะยอ (รวมทั้งท่านธัมมกมลา ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน) มีความประสงค์ที่จะรักษาพระธรรมวินัยให้ปรากฏ จึงเดินทางขึ้นมาที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี จ.นครปฐม เพื่อให้ภิกษุณีสงฆ์โดยการนำของท่านธัมมนันทาประกาศสิกขมานาในเดือนพฤศจิกายน 2555

เราน่าจะพูดได้ชัดเจนว่า ขั้นตอนของการเป็นสิกขมานาของภิกษุณีในพุทธศาสนาสายเถรวาทในยุคใหม่นี้ เริ่มต้นขึ้นใหม่ที่ประเทศไทย

 

ภิกษุและภิกษุณีสงฆ์ในศรีลังกา แม้ว่าจะเป็นผู้เริ่มต้นให้ทั้งการบรรพชาและอุปสมบทแก่สตรีในสมัยปัจจุบัน (ตั้งแต่ พ.ศ.1541) ก็ยังไม่มีความพร้อมที่จะจัดให้มีการประกาศสิกขมานาด้วยความเคารพในพระวินัยตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก

แต่ทั้งนี้ ในช่วงของการเริ่มต้น ก็มีอุปสรรคอยู่บ้าง ประการแรก คือ ความไม่มีเข้าใจ ของผู้ที่ต้องการที่จะประกาศสิกขมานา

บางแห่งเพิ่งเริ่มต้น มีภิกษุณีอยู่เพียงรูปเดียว ก็อยากจะให้ลูกศิษย์ที่เพิ่งบวชสามเณรีเข้ามาได้ประกาศสิกขมานาเร็วๆ จะได้ครบองค์สงฆ์เร็วๆ โดยไม่ใส่ใจคุณภาพ ไม่ได้พิจารณาเงื่อนไขอื่นๆ ประกอบที่จะช่วยให้สิกขมานาผู้นั้น ได้เติบโตในทางธรรมวินัยอย่างสมบูรณ์

สิกขมานานั้น ควรจะต้องอยู่กับปวัตตินี คือภิกษุณีที่เป็นอาจารย์ ในช่วงที่เป็นสิกขมานา 2 พรรษา และเมื่ออุปสมบทแล้ว ก็ต้องเล่าเรียนพระธรรมวินัยและให้ได้รับการบ่มเพาะในบริบทของสงฆ์ อย่างน้อย 2 พรรษา

ในทางตรงกันข้าม หากกลับไปอยู่ตามลำพัง การฝึกฝนอบรมไม่เกิดขึ้น การเรียนรู้ไม่มี ในระยะยาวจะเป็นอุปสรรคต่อการสืบพระศาสนาได้

สำหรับพระภิกษุ เงื่อนเวลาที่ควรรับนิสสัย คือฝึกฝนอบรมกับอาจารย์นี้ อย่างต่ำ 5 ปี บางกรณีก็มีที่พระอาจารย์ไม่ปล่อย เพราะไม่มีวุฒิภาวะที่จะอยู่ตามลำพัง

 

พระภิกษุต่างชาติที่มาเล่าเรียนไปจากพระอาจารย์ในประเทศไทยโดยเฉพาะสายพระอาจารย์ชา แต่ละรูปก่อนที่จะออกไปสร้างวัดของตนเองล้วนให้เวลาที่ตนเองจะเจริญในธรรมอย่างต่ำ 10 ปีขึ้นไปทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็นท่านสุเมโธ พระภิกษุชาวอเมริกันที่ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาและสร้างวัดที่อมราวดี และชิตเฮิร์ส ในประเทศอังกฤษ

หรือพระอาจารย์พรหมวังโส พระภิกษุชาวอังกฤษที่ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในออสเตรเลีย ที่ชาวไทยรู้จักกันดีทั้งสองรูป ท่านก็เป็นตัวอย่างของพระที่ดี ทั้งสองรูปได้รับสมณศักดิ์เป็นเจ้าคุณทั้งคู่

ทั้งหมดทั้งมวล ขั้นตอนที่ให้มีการประกาศสิกขมานาเป็นขั้นตอนที่ที่จะทำให้ผู้ที่จะของอุปสมบทในอนาคตมีความมั่นคงบนเส้นทางการครองชีวิตเป็นนักบวชในพุทธศาสนานั่นเอง

 

ในประเด็นที่ทางศรีลังกายังไม่ได้มีการพิจารณาประกาศสิกขมานา และยังคงให้การอุปสมบทภิกษุณีจากสามเณรีนั้น ก็มีความขัดแย้งกันอยู่ ในกรณีล่าสุดที่มีผู้ขอบวชไปจากประเทศไทยที่เป็นสิกขมานามาครบ 2 พรรษา แต่ทางศรีลังกาไม่บวชให้ เพราะยืนยันนับการบวชว่าต้องเป็น 2 ปี

ท่านธัมมนันทาก็ยืนยันว่า ในพระบาลีชัดเจนว่า “ทเว วัสสานิ” คือ สองพรรษา เมื่อสืบสาวราวเรื่องไปจึงพบว่า ทางศรีลังกาให้การอุปสมบทแก่ภิกษุณีในชุดแรกนั้น ไม่ได้เป็นสามเณรีด้วยซ้ำ แต่เป็นแม่ชีทศศีลมาตา คือ แม่ชีถือศีล 10 แต่บวชกันมานาน 30 ปีเป็นส่วนมาก

พระภิกษุที่เป็นมหาเถระ ท่านกรุณาสงเคราะห์ว่าให้นับว่าเท่ากับสามเณรี และจัดการอุปสมบทให้ และเมื่อกลับมาศรีลังกา พ.ศ.2541 ก็มีกฎเกณฑ์ว่า ผู้ที่จะขออุปสมบทเป็นภิกษุณีนั้นต้องเป็นสามเณรีมาอย่างน้อย 2 ปี

 

ความพยายามของทางฝ่ายภิกษุณีในประเทศไทยนำโดยภิกษุณีธัมมนันทาที่จะรักษาและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ปรากฏชัดเจนในพระวินัย จึงต้องนับว่า การเกิดขึ้นของสิกขมานาในยุคใหม่นี้ เริ่มต้นในประเทศไทยนี้เอง

ต้องกราบขอบคุณพระภิกษุเถระฝ่ายไทยที่ให้การชี้นำเพื่อให้ภิกษุณีไทยเดินบนเส้นทางที่ถูกต้อง งดงาม และมั่นคงในพระธรรมวินัยยิ่งขึ้น

เช่นนี้เองจะทำความเข้าใจได้ว่า พระพุทธองค์ทรงเห็นแล้วว่า สังคมพุทธนั้น พระภิกษุสงฆ์ที่เปรียบเสมือนพี่ชายควรที่จะสั่งสอน ปกป้อง และชี้นำ พระภิกษุณีที่เป็นน้องสาว และกรณีการเริ่มต้นของสิกขมานาในประเทศไทยก็เกิดขึ้นเช่นนี้