ในประเทศ : 88 ปีประชาธิปไตยไทย ผ่านมุมมอง “ธนาธร” นี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุด

ครบรอบ 88 ปี 24 มิถุนายน 2475 วันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย

“ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

ให้สัมภาษณ์พิเศษถึงทิศทางและอนาคตประชาธิปไตยของไทย

 

: 88 ปี ประชาธิปไตยไทยยังไม่ไปไหน

ในมุมมองของผมคงเป็นเพราะกลุ่มคนอภิสิทธิ์ชนที่ถือครองทั้งอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ไม่ปล่อยอำนาจตรงนี้ออกไป เพราะกลัวจะสูญเสียประโยชน์ สูญเสียฐานอำนาจของตนเอง คนกลุ่มเหล่านี้จึงใช้กลไกต่างๆ ในการทำให้พวกเขาธำรงอำนาจไว้โดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นกลไกการทำรัฐประหาร การยุบพรรคการเมืองฝั่งตรงข้าม การลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน จับยัดคดีให้กับผู้ที่คิดเห็นต่าง ข่มขู่คุกคามผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มคนเหล่านี้

สิ่งเหล่านี้คือกลไกต่างๆ ที่ทำให้พวกเขาสามารถธำรงอำนาจไว้โดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง

 

: อภิสิทธิ์ชน รวมถึงกองทัพด้วยหรือไม่

แน่นอน ผู้นำกองทัพเป็นส่วนหนึ่งของอภิสิทธิ์ชน ในความเป็นจริงกองทัพเป็นดินแดนสนธยาที่ไม่มีตัวแทนของประชาชนคือนักการเมือง คือสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปตรวจสอบได้ ข้าราชการก็เข้าไปตรวจสอบกองทัพไม่ได้ไม่มีใครกล้ายุ่งเกี่ยว ที่สำคัญกองทัพใช้ภาษีประชาชน ดังนั้น ในหลักการเรื่องอำนาจหากใช้ทรัพยากรที่เป็นสาธารณะเมื่อไหร่ คุณต้องถูกตรวจสอบ

แต่กองทัพที่ดำรงอยู่ในสภาวะแบบนี้ไม่ต้องถูกตรวจสอบ ผมกำลังพูดถึงธุรกิจในกองทัพมากมายที่ไม่มีใครมองไม่เห็น จึงไม่แปลกใจที่นายพลหลายคนเกษียณแล้วมีทรัพย์สินมากมาย ถ้าว่ากันตามตรงรับราชการมาทั้งชีวิตไม่มีทางที่จะสะสมทรัพย์สินเป็นร้อยล้านได้

สิ่งเหล่านี้คืออำนาจทางการเมืองที่นำมาซึ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ไม่มีใครตรวจสอบได้

 

: ปัจจุบันผู้คนตื่นรู้ถึงปัญหา ที่เป็นหัวใจทางการเมืองมากขึ้น

ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาน่าจะบ่งบอกอะไรได้บางอย่างว่า ประชาชนที่ตื่นรู้ไม่เอาอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งน่าจะมีมากกว่าคนที่ยังยอมรับอำนาจอนุรักษนิยม อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทุกวันนี้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในโลกที่มีอินเตอร์เน็ต ทำให้คนรุ่นใหม่ที่เชี่ยวชาญในการค้นหาข้อมูลในโลกอินเตอร์เน็ตตื่นรู้ทางการเมืองมากขึ้น ตื่นรู้ถึงปัญหาที่เป็นหัวใจของการเมืองไทยมากขึ้น

ดังนั้น เมื่อเดินเส้นทางนี้แล้ว อนาคตผมคิดว่าประเทศไทยมาไกลเกินที่จะถอยหลังกลับไปยอมรับระบบระเบียบของสังคมที่อำนาจเป็นของคนเพียงกลุ่มเดียว


: การเคลื่อนไหวของประชาชนที่ผ่านมา มีช่วงเวลาที่ประชาธิปไตยเบ่งบานและถูกตัดตอน

กระบวนการเหล่านี้ในอดีตเป็นผลของการต่อสู้เรียกร้องของประชาชน ถ้าประชาชนสามารถรวมตัวกันต่อสู้เรียกร้องอย่างแข็งขัน ประชาธิปไตยก็จะเบ่งบานออกดอกออกผลได้ แต่ในขณะเดียวกันฝ่ายอนุรักษนิยม ฝ่ายอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็พยายามที่จะตัดต้นตัดกิ่งตัดใบของประชาธิปไตยออกไป

ดังนั้น มันเลยเป็นการต่อสู้ทางความคิดที่ไม่จบมา 88 ปี

โดยหัวใจของการต่อสู้แต่ละครั้งคือคำถามที่ว่า อำนาจในประเทศนี้เป็นของใคร เป็นของคนเพียงไม่กี่คนหรืออำนาจในประเทศนี้ประชาชนเป็นเจ้าของร่วมกัน ตราบใดก็ตามที่สังคมยังตอบคำถามนี้ไม่ได้ ยังไม่ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าอำนาจของประเทศนี้เป็นของใคร เราไม่มีทางออกจากความขัดแย้งทางการเมืองรอบนี้ได้เลย ต้องหาฉันทามติเรื่องนี้ให้ได้ว่าอำนาจเป็นของใคร

 

: มองการแสดงจุดยืนของคนรุ่นก่อนกับปัจจุบัน

คนรุ่นปัจจุบันมีความคิดที่เป็นประชาธิปไตย มีความคิดที่เป็นเสรีนิยมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีพัฒนาการอย่างมีนัยสำคัญของแนวคิดคนรุ่นใหม่ในสังคม

 

: จุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยที่แท้จริง ความเข้มแข็งของประชาชนเป็นส่วนสำคัญ

ผมยกตัวอย่าง กลุ่มคนที่ไม่ได้มาจากประชาชนย่อมไม่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน เพราะฐานอำนาจของเขามาจากกองทัพ ถ้าอำนาจคุณมาจากสิ่งเหล่านั้นคุณไม่จำเป็นต้องฟังประชาชน เพราะประชาชนไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับคนกลุ่มนี้ คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับคนกลุ่มนี้คือความพึงพอใจของกองทัพ

แต่ว่าถ้าเกิดคนที่มีอำนาจมาจากประชาชนทุกคนต้องฟังประชาชน เพราะถ้าไม่ฟัง รอบหน้าคุณก็สูญเสียอำนาจ

สิ่งเหล่านี้คือเหตุผลที่ว่าทำไมประชาธิปไตยมันจึงเป็นระบบที่ผู้ที่มีอำนาจจะตอบสนองความต้องการของผู้ถูกปกครองได้ดีที่สุด เพราะผู้ที่ถูกปกครองเป็นผู้ที่เลือกผู้นำของเขาเอง

 

: ทุกวันนี้เรื่องการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัวประชาชนมาก

อย่ามองการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว แค่ถนนหน้าบ้านไม่ดียังเป็นเรื่องการเมือง เพราะถนนหน้าบ้านจะทำให้มันดีได้ต้องใช้งบประมาณ เรื่องการเมืองคือเรื่องของการจัดสรรทรัพยากร ใครมีอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรไปที่ไหนอย่างไรเมื่อไหร่ ดังนั้น เงินทุกบาทที่เอาไปลงทุนทำรถไฟคือเงินที่ไม่ได้เอาไปทำถนน ผู้มีอำนาจเป็นคนตัดสินว่าจะเอางบประมาณไปทำอะไรจุดไหน สิ่งเหล่านี้คือเรื่องการเมือง เพราะถ้าเอางบประมาณไปสร้างสิ่งนี้ คนอีกที่ต้องสูญเสียประโยชน์ ทุกงบฯ ทุกนโยบายมีผู้ได้ประโยชน์ ผู้เสียประโยชน์

กระบวนการของประชาธิปไตยคือการเปิดโอกาสให้ผู้ที่ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์มาคุยกัน หาทางออกด้วยกันโดยเลือกตัวแทนของพวกเขาเข้าไปต่อลองกันในสภาผู้แทนราษฎร

 

: ทางออกของประเทศไทย คือต้องมีฉันทามติร่วมกัน

ถ้าลองมองย้อนกลับไปในปี พ.ศ.2538 ปี พ.ศ.2539 ที่เริ่มมีการพูดถึงรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มีการรณรงค์เรื่องธงเขียว ตอนนั้นเรียกได้ว่าเกือบจะเป็นฉันทามติเมื่อประชาชนส่งเสียงดังพอ นักการเมืองหลายฝ่ายที่ตอนแรกไม่ได้ชื่นชมรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 แต่กลับมายอมรับรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวในท้ายที่สุด

ดังนั้น จะเห็นว่าฉันทามติไม่ได้มีแค่รูปแบบของการทำประชามติอย่างเดียว แต่มันยังมีรูปแบบของการที่คนส่วนใหญ่ในสังคมช่วยกันพูด กล้าแสดงจุดยืนทางการเมืองไปในทิศทางเดียวกัน

 

: ประสบการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา คุณมองเห็นอะไร

ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในความหมายที่ว่า คนเบื่อกับรัฐบาลที่มาจากการสืบทอดอำนาจ คนเห็นความล้มเหลวของการทำรัฐประหาร คนเห็นแล้วว่ารัฐประหารไม่ใช่ทางออกของประเทศอีกต่อไป คือช่วงเวลาที่อำนาจนำทางวัฒนธรรมในสังคมสั่นคลอนถึงที่สุด เป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ เมื่อไหร่ที่เกิดวิกฤตนี้ขึ้นมันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างมีนัยยะ

ดังนั้น ตอนนี้คือจุดในประวัติศาสตร์ที่สำคัญมาก โอกาสนี้ในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมามีครั้งนี้ครั้งเดียวที่จะหาฉันทามติใหม่ของสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มไหน เป็นโอกาสที่จะหาฉันทามติร่วมกันว่าประเทศไทยจะยืนอยู่กับที่จะล้าหลังกว่านี้ หรือจะหาฉันทามติร่วมกัน ข้อตกลงที่ทุกฝ่ายยอมรับเพื่อที่จะทำให้ประเทศไทยเดินทางไปข้างหน้าได้ ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ศักยภาพของคนไทยอย่างมีคุณภาพ เพื่อพาประเทศไทยไปไกลกว่านี้ เพื่อทำให้ประเทศไทยเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจน้อยกว่านี้ เพื่อทำให้ประชาชนคนไทยเท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหมายได้มากกว่านี้

ผมคิดว่าตอนนี้คือช่วงเวลาที่สำคัญมากและโอกาสอยู่ในมือของเรา อย่าให้คนรุ่นต่อไปมาด่าคนรุ่นเราได้ว่าทำไมส่งต่อสังคมที่มันเละเทะขนาดนี้ให้กับพวกเขา เป็นโอกาสที่เราจะใช้วิกฤตเปลี่ยนแปลงประเทศไม่ให้กลับไปเป็นเหมือนเดิมแต่ทำให้ประเทศไทยดีกว่าเดิมไปไกลกว่าเดิม

 

: อนาคตของประชาธิปไตยไทยวันนี้อาจจะดูมืดมิด แต่ยังพอมีความหวัง

ที่บอกว่ามืดมิดเพราะมองไปทางไหนเห็นแต่ความทุกข์ยากของประชาชน มองในทางเศรษฐกิจการจัดสรรงบประมาณแบบนี้ไม่น่าจะช่วยให้ประเทศไทยไปไกลกว่าเดิมได้

มองในทางการเมืองยังหาทางออกไม่ได้ว่าประเทศไทยจะกลับเข้าสู่ประชาธิปไตยได้อย่างไร

ดังนั้น วันนี้อาจจะมืดมิดแต่เรายืนอยู่ด้วยความหวัง เพราะอย่างน้อยที่สุดเรารู้ว่าคนที่ตื่นตัวทางการเมืองและพร้อมที่จะแสดงจุดยืนที่ก้าวหน้าทางการเมืองมีเยอะมากกว่าเดิม ดังนั้น วันนี้ประชาธิปไตยมีความหวัง ถึงแม้จะมืดมิดที่สุดอยู่

แต่ความหวังมันสว่างไสวมากในช่วงนี้

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่