เรื่องที่คุณ(อาจ)ไม่เคยรู้ ของผู้ชายนามว่า “ติ๊ก ชิโร่”

อีกหนึ่งทางรอดช่วยคนดนตรี และเรื่องที่คุณไม่เคยรู้ ของผู้ชายนามว่า “ติ๊ก ชิโร่”

“การปรับตัวของคนในวงการดนตรียุคนี้ เปรียบภาพเหมือนกับกระทงน้อยๆ ที่ลอยอยู่ตามแม่น้ำลำธาร วิกฤตนี้ไม่มีใครรู้ว่ามันจะจบลงเมื่อไหร่ วิธีแรกคือ ใครที่ชำนาญการ มีฝีไม้ลายมือด้านหัตถกรรม-ด้านอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากสิ่งที่ทำอยู่ หรือเคยมีอาชีพอื่นเสริมอยู่แล้ว ก็ไม่น่ามีปัญหา แต่สำหรับคนที่ไม่มีอาชีพเสริมก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาสิ่งใหม่ๆ อย่างมือเบสของวงผม ก็ทำข้าวคลุกกะปิ มือกีตาร์ก็ไปทำข้าวกล่อง บางคนก็ทำชาบู ทำน้ำพริก เท่าที่จะทำได้เพื่อเลี้ยงดูครอบครัว”

คือมุมมองของ ดร.มนัสวิน นันทเสน หรือติ๊ก ชิโร่ ศิลปินชื่อดังที่กล่าวถึงการปรับตัวในยุคโควิด-19 และได้ออกมาขับเคลื่อนช่วยนักดนตรีที่ไม่มีงานแสดง

ติ๊ก ชิโร่ มองว่า ทุกอย่างมันมีระดับของมันอยู่ พอเริ่มออกมาทำสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัด ต้องอาศัยความพยายาม

ประการต่อมาคือ จะต้องมีลูกค้า เพราะฉะนั้น เงินส่วนหนึ่งในการที่จะไปต่อยอดซื้อของทำทุนซื้อวัตถุดิบ ต้องประเมินว่าเราจะอยู่ได้หรือไม่ หรือทำไปแล้วเหนื่อย ไม่คุ้มทุน กำไรน้อย ลูกค้าหดหาย ฉะนั้น ใครทำแล้วประสบความสำเร็จก็น่าชื่นชม แต่ใครเคยทำแล้วไม่สำเร็จ อาจจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับคนนั้นเอง

บางคนก็ต้องทำใจ มีภาระค่าใช้จ่ายประจำอยู่มากมาย ค่าห้อง ค่าไฟ ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ การปรับตัวไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

บางคนมีภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบก็จะขอทำอะไรก็ได้ในตอนนี้เพื่อการดำรงชีวิต

หลายคนก็อาจจะเอาความสามารถที่มีมาสอนดนตรี ก็อาจจะพอไปได้ แล้วหลังจากเปิดบ้านเปิดเมืองก็จะมีอาชีพเสริมขึ้นมาอีกหนึ่งอาชีพ

ก็เท่ากับว่าอนาคตก็ทำ 2 อย่างควบคู่กันไปได้

โครงการต่างๆ ที่ผมทำมาเพื่อช่วยเหลือคนจากทุกวิกฤตที่ผ่านมาต้องบอกว่า ผมไม่ได้อยากที่จะเด่นเกินใคร หรือทำให้หลายคนต้องหมั่นไส้หรือดราม่าอะไร

เพราะผมเคยปวารณาตัวเองไว้ตั้งแต่เด็กว่า ถ้ายังมีลมหายใจอยู่ก็จะขอช่วยทุกคน มอบรอยยิ้มและช่วยเหลือทุกคนเท่าที่จะทำได้ อยากจะทำแต่สิ่งดีๆ ในวงการดนตรี ผมทำมาทุกอย่างแล้ว เมื่อเราอยู่ด้านหน้าเราสามารถที่จะสร้างบรรทัดฐานหรือแรงจูงใจสำหรับน้องๆ รุ่นใหม่ๆ ให้สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้

สิ่งที่เราเคยทำไว้ เช่น ตอนน้ำท่วม ปัญหาดินถล่ม เราก็รวมตัวกัน แล้วก็สร้างผลงานเพลง ผมก็นำทาง นำความคิด ผมเชื่อว่าผู้ให้ย่อมมีความสุขมากกว่าอยู่แล้ว

ส่วนใครจะคิดยังไงก็แล้วแต่ เพราะการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในยามทุกข์ยากมันเป็นการแสดงให้เห็นว่าหัวใจเราพร้อมที่จะอยู่เคียงข้าง พร้อมที่จะช่วยดูแล

สมัยผมลงไปช่วยน้ำท่วมกระโดดลงไปช่วยเขา เสียงเด็กๆ ที่ร้องไห้ พ่อ-แม่ร้องระทมมันอยู่ในใจ เมื่อเราได้มีโอกาสช่วยเคสต่างๆ พอย้อนมองกลับไปเรารู้สึกอิ่มเอมใจ

ฉะนั้น วิกฤตหนนี้ เมื่อการปลดล็อกคนวงการดนตรีมันไปอยู่ลำดับสุดท้าย ผมก็เลยปิ๊งไอเดีย ทำโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน โดยมีรายการ “มาจอยกัน life music” เสมือนกับเป็นดนตรีของชีวิต เปิดพื้นที่ให้กับนักดนตรีที่ไม่มีงานคนไหนเดินทางมาที่สตูดิโอ (ซอยรามอินทรา 34) เรามีเครื่องตรวจ เราทำเรื่องสุขอนามัยอย่างถูกต้อง

เมื่อได้มาเล่นดนตรีก็จะได้รับเงินเยียวยาไป 5,000 บาท

ถามว่าเงินส่วนนี้มาจากไหนมาสนับสนุน คำตอบคือ ผมก็ควักเงินตัวเอง

ตอนแรกผมคิดว่าน่าจะช่วยได้ 50-100 วง คิดเป็นจำนวนคนได้นับพันคน

แต่ผมโชคดีที่มีเพื่อนพี่น้องที่ได้เห็นผมพูดเรื่องโครงการนี้ก็ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ

จากสิ่งที่ผมมีแล้ว บวกกับมีบริษัทต่างๆ เข้ามาช่วย ผมสามารถที่จะช่วยได้จากตอนแรกราว 3 เดือน ก็อาจจะเป็น 6 เดือน

แต่เมื่อมีคนมาช่วยกันอีกผมอาจจะสู้ได้เป็น 1 ปี เพราะมีผู้หลักผู้ใหญ่ใจดี เพื่อนพี่น้องที่เห็นความสำคัญมาช่วยกัน

อยากบอกว่า ใครไม่มีเวทีเล่น ผมมีเวทีให้ ใครไม่มีตังค์ใช้ผมมีเงินให้ใช้ ก็อยากให้รีบสมัครกันเข้ามา ใครตกงานอยู่ก็เข้ามาที่ Facebook ของ Tik Shiro ส่งข้อมูลการติดต่อมา หรืออยากจจะแนบคลิปวิดีโอที่เคยเล่นมาด้วยก็ได้ ผมก็จะทำลิสต์รายชื่อไว้ แล้วก็จะกำหนดคิว นัดกันมาแสดงฝีไม้ลายมือ

นอกจากจะได้รับเงินส่วนนี้ไปแล้ว ผมคิดว่ามันน่าจะเกิดคุณูปการอีก 2-3 อย่าง

คือนี่เหมือนจะเป็นคล้ายๆ “ตลาดแลกเปลี่ยน” ทั้งสถานที่ทำงานและมิตรภาพระหว่างผู้ประกอบการกับวงดนตรี

บางคนอาจจะไม่เคยออกทีวีมาก่อน มาจากไหนก็ไม่รู้ แต่ได้เล่น ดีมาก เราอาจจะได้เจอช้างเผือก

ใครตกงานอยู่พอได้มาเล่นตรงนี้สามารถที่จะได้นำเสนอความสามารถตัวเองผ่านทางรายการนี้ (ทางช่อง 5 สัปดาห์ละ 4 วัน) ก็จะมีงานในอนาคตมาอีก

นี่คือมิตรภาพที่เกิดขึ้น

ต่อมาคือการแลกเปลี่ยนอุปกรณ์หรือไอเดียอะไรต่างๆ แบ่งปันกัน ใครไม่มีเครื่องอะไรก็จอยกันแชร์กัน

อย่างก่อนที่ผมจะมาให้สัมภาษณ์ก็มี “นักเปียโนตาบอด” มาร่วมในโครงการ มันยิ่งทำให้ผมยิ่งรู้สึกอยากช่วยคนไปอีก

หลายต่อหลายกรณีที่ติดต่อเข้ามาทางเพจเขียนเข้ามาว่าแดนเซอร์ก็ตกงานนะ หรือกระทั่งคนยกของทีมงานสเตจ ทีมไฟแสงสีเสียง ไม่มีงาน เราก็จะช่วยให้รอดไปด้วยกัน

หรือแม้แต่บางคนส่งมาบอกว่าไม่มีเงินในบัญชีเลย ส่งมาให้ดูว่ามีเงินอยู่ 0 บาท ผมถามกลับไปว่าค่ารถเท่าไหร่ ผมออกให้ ก็ให้ได้ 5,000 บาทเต็มๆ แล้วก็ผมให้ค่ารถอีก

ผมบอกเลยว่าหัวใจของผมตั้งใจอยากจะช่วยจริงๆ ไม่มีอะไรทั้งสิ้น ไม่มีนัยยะอะไรแอบแฝง อยากเป็นเพื่อนที่จะช่วยเพื่อน เป็นโครงการที่ผมตั้งใจอย่างมาก

เมื่อถามถึงว่าทำไมถึงเคยเลือกเรียนรัฐประศาสนศาสตร์ ดร.มนัสวินตอบว่า คนก็รู้ว่าผมเป็นนักร้องนักแต่งเพลงนักแสดง และผมเองก็มีงานศิลปกรรมมากมาย ที่ผมเลือกเรียนรัฐประศาสนศาสตร์ เพราะว่าเป็นวิชาหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับด้านรัฐศาสตร์ ว่าเราควรจะทำอะไรหรือไม่ควรจะทำอะไร และวิธีการในการจัดการมีทางไหนบ้าง ลำดับ 1, 2, 3

อีกด้านหนึ่งที่ผมจบมาคือด้านธุรกิจ แท้ที่จริงแล้ว เมื่อเราไม่ได้ไปใช้ในด้านการเมือง เราก็มาปรับใช้เพื่อประโยชน์ของคนอื่นด้วย เช่น การทำโครงการต่างๆ ถ้ามีคนมาถามว่าผมทำสิ่งเหล่านี้ไปเพื่ออะไรกัน ก็นี่แหละการได้ช่วยเพื่อนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

ย้อนไปวัยเด็ก ผมมีความฝันอะไรอยู่ 2-3 อย่างที่เด็กๆ ก็อาจจะอยากเป็นหมอ อยากเป็นทหาร ตำรวจ นักบิน เป็นความคิดพื้นฐานสมัยเด็ก

แต่คุณพ่อผมเห็นว่าผมเป็นคนที่ประนีประนอมที่สุดในครอบครัว เป็นคนที่สามารถที่จะลดระดับหรือเสียสละได้ ก็เลยมองว่าเหมาะที่จะเป็นทนาย ปลัด อัยการ หรืออาชีพอะไรก็ได้ที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือคนอื่นทำนองนี้

เนื่องด้วยคุณพ่อของผมทำงานอยู่ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผมก็มีอยู่ 2 ทางในตอนนั้นก็คือต้องเลือกเรียนเกษตร ซึ่งคิดๆ ดูแล้วก็ไม่ค่อยเข้ากับผมเท่าไหร่ กับเลือกเรียนดนตรีไทย ก็ไม่ค่อยเข้ากับผมอีก

ก็เลยมาเลือกการเรียนศิลปกรรมในตอนท้ายๆ รู้สึกว่าตัวเองชัดเจนมากในเรื่องนี้

2 สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของผมคือ “ดนตรี” และ “ศิลปะ” ส่วนกีฬาก็มาตีคู่กันตอนหลัง ผมเคยกล่าวไว้ว่าผมจะทำงานด้านดนตรีจนถึงลมหายใจสุดท้าย ทั้งดนตรีและศิลปะ คือที่สุดในชีวิตของผม

แค่ชื่ออีเมลส่วนตัวที่ผมใช้ ก็ยังใช้อีเมลที่มีชื่อ Art & Music เลย

ผมเองเคยอยู่จุดทางแยกที่ต้องตัดสินใจว่าจะซ้ายหรือขวา จะไปศิลปะหรือดนตรี สุดท้ายผมเลือกดนตรี เพราะว่าอย่างน้อยถ้าเรียนด้านนี้ก็คงมีเงินมีงานมีค่าตอบแทนเอามาซื้อสีซื้อแปรงได้สร้างสรรค์งานศิลปะอย่างที่ผมอยากจะทำได้ เพราะฉะนั้น ไปดนตรีก่อนแล้วค่อยมาด้านศิลปะ จนโคจรมาพบกันทั้ง 2 อย่าง ทำให้ผมเคยจัดนิทรรศการภาพวาดมามากถึง 19 ครั้งแล้ว

ผมเคยมีโปรเจ็กต์หนึ่งร่วมกับมือกีตาร์ของวง Rolling Stone เขาเคยกล่าวไว้ว่า อยากจะให้คนจดจำเขาไม่ใช่ในฐานะมือกีตาร์ของ Rolling Stone แต่อยากจะให้จดจำเขาในฐานะที่เขาเป็นนักศิลปะ

ปรากฏว่าความสามารถด้านกีตาร์ของเขากลับกลบงานศิลปะเขาไปหมดเลย

ศิลปะไม่ใช่แค่การวาดภาพ Portrait วาดภาพเหมือนแล้วจะถูกจดจำได้ เพราะมันจะต้องมาจากรากฐานของความคิด ทุกอย่างมันจะต้องเบ่งบานมาจากความรู้สึกลึกๆ งานศิลปะที่เราเห็น มันจะต้องมีความลึกซึ้ง

ฉะนั้น เมื่อถามว่าอยากจะให้คนจดจำผมในด้านไหน ผมอยากจะขอสัก 3 อย่างก็คือ 1.นักร้องนักดนตรี 2.นักศิลปะ และสุดท้ายคือ 3.นักเกื้อกูล (ไม่รู้จะใช้คำไหนดี)

มีหลายครั้งที่เราได้เห็นบทความดีๆ ความคิดดีๆ ที่บอกว่า คุณอาจจะเป็นคนรวยมากมายมหาศาล แต่ถ้าคุณไม่มีความดีเลยแล้วมันจะมีประโยชน์อะไร คุณสร้างเงินได้อย่างมากมาย แต่คุณไม่ยอมแบ่งปันให้กับคนอื่นเขา

วันหนึ่ง Steve Jobs ยังเคยพูดเลยว่า คุณเอาเงินไปซื้อชีวิตคุณก็ไม่ได้ แล้วเตียงที่ดีที่สุดก็ไม่น่าจะเป็นเตียงที่อยู่ในโรงพยาบาล

มันจะต้องมีความยากลำบากแค่ไหน ที่เราจะต้องใช้ชีวิตบั้นปลายในการรักษาตัวเอง ฉะนั้น ยามที่เรามีชีวิตอยู่ก็ต้องเกื้อกูลช่วยเหลือคนอื่น จึงเป็นที่มาของโครงการที่ผมทำ

ผมบอกทุกคนไว้เลยว่า ไม่ว่าจะดนตรีไทย ดนตรีสากล ไทยเดิม ลิเก ลำตัด ตลก แดนเซอร์ ทุกอย่างมาได้หมดผมยินดี ก็อยากให้เข้ามาในเพจติ๊ก ชิโร่ ติดต่อกัน

ผมพร้อมสำหรับทุกการช่วยเหลือ

ชมคลิป “ติ๊ก ชิโร่” 2 Ep.