บทวิเคราะห์ | เฟ้นองค์กรอิสระ 2 มาตรฐาน เผือกร้อน สะเทือนเก้าอี้ “ส.ว.”

ทั้งๆ ที่ระหว่างนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีนบุรี กับ “บิ๊กแป๊ะ” พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ น.ส.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ถือเป็นอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชุดเดียวกัน

สนช.ชุดที่ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2557-2562

ถือว่าพ้นจากตำแหน่งมาหมาดๆ ไม่ถึง 10 ปี อันเป็นลักษณะต้องห้ามสำคัญของผู้ที่จะเข้ารับการสรรหาไปดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญนี้

เมื่อรัฐธรรมนูญวางกรอบไว้เช่นนี้ จึงไม่แปลกเลย หากในที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาบุคคลเป็นกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ หรือ กสม. จะพิจารณาคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้เข้ารับการสรรหาทั้ง 36 คน โดยปัดทิ้งรายชื่อ 2 อดีต สนช. พล.อ.นิพัทธ์ กับ น.ส.จินตนันท์ ออก

เนื่องจากมีคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 246 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มาตรา 10(18) ที่ระบุว่า กรรมการจะต้องไม่เป็น หรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะสิบปี ก่อนเข้ารับการสรรหา

แต่ที่มันแปลกจนสังคมเรียกหามาตรฐานของกระบวนสรรหา

ก็เมื่อที่ประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) กลับลงมติเห็นชอบให้นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีนบุรี ผู้ที่เป็นอดีต สนช.ชุดเดียวกับ พล.อ.นิพัทธ์ กับ น.ส.จินตนันท์ ตามที่คณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นกรรมการ ป.ป.ช. ด้วยมติที่ท่วมท้น

ทั้งๆ ที่กรรมการ ป.ป.ช.ถือเป็นกรรมการองค์กรอิสระ เช่นเดียวกับกรรมการ กสม. ตามรัฐธรรมนูญ

แต่ผลปรากฏว่า อีกคนได้ แต่อีกคนถูกปัดตก

นี่จึงเป็นฉากความ 2 มาตรฐาน ที่ทำให้คนอดคิดเรื่องการเมืองไม่ได้ เพราะต้องยอมรับว่าชื่อ พล.อ.นิพัทธ์ ถือเป็นของแสลง

ของแสลงที่เมื่อครั้งม็อบนกหวีดออกมาชัตดาวน์ กทม. ยึดอำนาจทำเนียบรัฐบาล ก็เห็นภาพ พล.อ.นิพัทธ์คนนี้ไม่ยอมชัตดาวน์กระทรวง เพราะยังเปิดให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ใช้เป็นที่ทำงาน

แม้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.บุกไปเองก็ไม่ยอม จนรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องออกคำสั่งปลด พล.อ.นิพัทธ์ออกเป็นคนแรกๆ

เพราะฝืนไม่เล่นบทตามน้ำ ปูทางยึดอำนาจ

จึงไม่แปลกอีกเช่นกันที่ภาพ 2 มาตรฐานดังกล่าวจะถูกนายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ที่ปรึกษาประจำคณะ กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ที่กำลังโหวตแคมเปญ “ส.ว.มีไว้ทำไม” ชี้ว่า ถือเป็นความผิดเพี้ยนของรัฐธรรมนูญ

ด้านหนึ่ง ส.ว.ต้องรักษาความเป็นกลาง ความเป็นอิสระ ไม่มีส่วนได้เสีย แต่สุดท้ายกลับเลือกนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีนบุรี ซึ่งเคยเป็น สนช. มาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. เท่ากับเป็นระบบผลัดกันเกาหลัง วนอยู่เพียงกลุ่มคนเดิมๆ

แต่ปัญหาต่อมาก็ต้องดูว่า มีองค์กรไหนมาชี้ขาดให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพราะทราบว่ากรรมการสรรหา กสม. กลับมีมาตรฐานไปอีกแบบหนึ่ง

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า สนช.เท่ากับ ส.ส. ส.ว.หรือไม่ ถือเป็นที่มาของปัญหาความลักลั่นนี้

เพราะคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช.ที่มีนายไสลเกษ วัฒนพันธ์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน และ 7 กรรมการประกอบด้วย 1.นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร 2.นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร 3.นายปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด 4.นายประเสริฐ โกศัลวิตร บุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญแต่งตั้ง 5.นายเกียรติคุณ ชาติประเสริฐ บุคคลซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้ง 6.พล.อ.อภิชาติ อุ่นอ่อน บุคคลซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินแต่งตั้ง และ 7.นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ บุคคลซึ่งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินแต่งตั้ง

กับคณะกรรมการสรรหา กสม. ที่มีชื่อนายไสลเกษ วัฒนพันธ์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน และ 9 กรรมการประกอบด้วย 1.นายปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด 2.นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร 3.นางสุนี ไชยรส 4.นายสมชาย หอมลออ 5.นางอมรา พงศาพิชญ์ ในฐานะผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ทั้ง 3 คน 6.นายถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความ 7.นายสุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์ ผู้แทนสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข 8.นายชวรงค์ ลิมปัทมปาณี ผู้แทนสภาวิชาชีพสื่อมวลชน 9.นายสุริชัย หวันแก้ว ผู้เคยเป็นอาจารย์ประจำในสถาบันอุดมศึกษา ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนนั้น

เสียงส่วนใหญ่ของทั้ง 2 ชุดนี้ตีความในประเด็นนี้ต่างกัน

ฝ่ายหนึ่งมองว่า เมื่อรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ระบุให้ สนช.ทำหน้าที่ ส.ส. ส.ว. และสมาชิกรัฐสภา ก็ถือว่าเป็น และมีคุณสมบัติต้องห้ามไปเป็นกรรมการในองค์กรอิสระ

“ถ้า สนช.เป็น ส.ส. ส.ว. และรัฐสภาจริง ก็จะทำให้ประธาน นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา และ ส.ว.จำนวนกว่า 80 คน รวมทั้งผมที่มาจาก สนช. ขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ว.ทันที แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าไม่มีทางเป็นไปได้” นายสมชาย แสวงการ ส.ว.ระบุ

แต่อีกฝ่ายหนึ่งมองว่า สนช.ไม่ใช่ ส.ส. ส.ว. และสมาชิกรัฐสภา เพราะเป็นองค์กรพิเศษ เช่นเดียวกับ คสช. ที่ทำหน้าที่แทนด้านนิติบัญญัติเพื่อพิจารณากฎหมายอื่นแทน ส.ส. ส.ว. และรัฐสภาที่ถูกยกเลิกไปในภาวะพิเศษหลังการรัฐประหาร และยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเดิม

ซึ่งความลักลั่นดังกล่าว นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ระบุว่า แม้ ส.ว.บางส่วนอาจตั้งข้อสงสัยปัญหาคุณสมบัตินายสุชาติไปเป็นกรรมการ ป.ป.ช. แต่ไม่สามารถหยิบยกประเด็นคุณสมบัติดังกล่าวมาวินิจฉัยได้

เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 203 วรรค 5 ระบุว่า กรณีที่มีปัญหาคุณสมบัติผู้สมัคร ให้เป็นคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย และให้คำวินิจฉัยนั้นเป็นที่สิ้นสุด จึงไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจ ส.ว. ลบล้างคำวินิจฉัยอันเป็นที่สุดของคณะกรรมการสรรหาได้เลย

นี่จึงทำให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ปรากฏชื่อเป็นกรรมการสรรหาทั้ง 2 ชุด 1 เสียงที่ได้ท้วงติงคุณสมบัติของนายสุชาติ ชี้ว่า “กรณีนี้เป็นมติที่ถึงที่สุดไปแล้ว ผมไม่สามารถไปแนะนำทางออกที่ดีที่สุดต่อที่ประชุมได้ เราต้องแยกระหว่างเรื่องหลักการกับตัวบุคคล เพราะทุกคนล้วนเป็นคนมีความสามารถ แต่เรื่องคุณสมบัติของบุคคลคือส่วนที่มีปัญหา ซึ่งถือเป็นความเห็นทางกฎหมายที่มองต่างกัน”

แม้ความคืบหน้าล่าสุด คณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช.จะยืนยันในมติเดิม ในการเสนอชื่อนายสุชาติ แจ้งให้นายพรเพชรทราบ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนในการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป?

ถือว่าจบในขั้นตอนสรรหา แต่คดีความยังไม่จบ

เพราะล่าสุด ผู้ตรวจการแผ่นดินรับคำร้องของนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กรณีขอให้ตรวจสอบและเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครอง วินิจฉัยว่าการที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. ส่งรายชื่อนายสุชาติให้เป็นว่าที่กรรมการ ป.ป.ช. เข้าข่ายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อนายสมชายระบุว่า ไม่มีทางที่ สนช.จะถูกชี้ว่าเป็น ส.ส.-ส.ว. และรัฐสภา

จึงบานปลาย ทำให้พรรคฝ่ายค้าน นำโดยนายปิติพงศ์ เต็มเจริญ โฆษกพรรคเสรีรวมไทย พร้อมด้วยนายทรรศนัย ทีน้ำคำ รองหัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย ยื่นหนังสือถึง กกต.เพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของ ส.ว.ทั้ง 90 คน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะ ส.ว.ทั้ง 90 คน เคยเป็น สนช.ถือว่าขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามหรือไม่

ถือเป็นการฉายภาพชุลมุนอันความเป็น 2 มาตรฐานอีกเรื่อง โดยเฉพาะความคลุมเครือจากกฎหมายที่ถูกสะสมไว้

อันมีต้นเหตุมาจากรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ที่กำเนิดขึ้นในยุค คสช.แทบจะทั้งสิ้น


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่