ทำความรู้จัก “ที่พัก 3 ประเภท” ใน “บ้านบางแค”

หากพูดถึง “บ้านพักคนชรา” ที่ชาวไทยรู้จักกันมากที่สุด คงหนีไม่พ้น “บ้านบางแค” หรือ “ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค” เนื่องจากเป็นสถานสงเคราะห์ผู้สูงอายุแห่งแรกที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทย

“บ้านบางแค” ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2496 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เดิมใช้ชื่อว่า “สถานสงเคราะห์คนชราบางแค” เพื่อสงเคราะห์ผู้สูงอายุตามนโยบายสวัสดิการสังคมของรัฐ

หลายคนมีภาพจำเกี่ยวกับ “บ้านบางแค” ว่าเป็นบ้านพักสำหรับผู้สูงอายุที่ถูกลูกหลานทอดทิ้ง และไม่มีใครเหลียวแล

แต่ในปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยสถิติจากกรมกิจการผู้สูงอายุ พบว่าประเทศไทยมีจำนวนประชากรรวมทั้งสิ้นกว่า 66 ล้านคน แบ่งเป็นจำนวนประชากรผู้สูงอายุกว่า 11 ล้านคน หรือ 16.73 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562)

เนื่องจากหนุ่มสาวครองตนเป็นโสดไม่มีลูกหลาน และหันมาดูแลตัวเองจนมีอายุยืนยาวมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ บ้านพักคนชราหรือศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ รวมไปถึง “บ้านบางแค” จึงมีการปรับตัวเพื่อรองรับผู้สูงอายุจำนวนมากกลุ่มนี้

และ “บ้านบางแค” ก็ได้กลายเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ที่คนนับพันรอต่อคิวเข้ามาอยู่อาศัย

FEED เพจไลฟ์สไตล์ในเครือมติชนจึงได้ไปพูดคุยกับ “วลัยรักษ์ อังคะมาตย์” พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้ากลุ่มงานสวัสดิการผู้สูงอายุประจำบ้านบางแค

ในวันที่ “บ้านบางแค” เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

คุณวลัยรักษ์เล่าว่า ปัจจุบัน “บ้านบางแค” มีที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุแบ่งเป็น 3 ประเภท

ประเภทที่หนึ่งคือ “ประเภทสามัญ” สำหรับผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป สัญชาติไทย ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีผู้ดูแล ฐานะยากจน หรือว่าสัมพันธภาพในครอบครัวไม่ดี ซึ่งผู้สูงอายุกลุ่มนี้จะต้องผ่านการประเมินจากเจ้าหน้าที่บ้านบางแค

ถ้าประเมินผ่านก็จะสามารถเข้ามาพักอาศัยได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ

ปัจจุบัน “บ้านบางแค” สามารถรองรับผู้สูงอายุกลุ่มนี้ได้ในจำนวนเพียง 250 รายเท่านั้น

ประเภทที่สอง เป็นที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุแบบ “หอพัก” มีจำนวนทั้งสิ้น 40 ห้อง

โดยผู้สูงอายุที่เข้าอาศัยจะต้องเสียค่าห้องเดือนละ 1,500 บาท หากอยู่เป็นคู่ก็ต้องเสียค่าห้องเพิ่มเป็นเดือนละ 2,000 บาท พร้อมเสียค่าน้ำค่าไฟตามจำนวนยูนิตที่ใช้

ณ ตอนนี้ มีผู้ประสงค์จอง “หอพัก” ใน “บ้านบางแค” ไว้กว่า 2,000 คิว

ประเภทที่สามคือ “ประเภทพิเศษ” เป็นที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุในรูปแบบบังกะโล หรือบ้านเดี่ยวชั้นเดียว มีจำนวน 11 หลัง

ผู้สูงอายุที่ต้องการเข้าพักจะต้องจองคิวล่วงหน้า จ่ายค่าแรกเข้าประมาณ 300,000 บาท และจ่ายค่าห้องรายเดือน เดือนละ 1,500 บาท โดยเสียค่าน้ำ-ค่าไฟแยกต่างหาก

ขณะนี้ที่อยู่อาศัยในรูปแบบบังกะโลล้วนเต็มทุกหลัง และมีผู้สูงอายุอื่นๆ ยื่นความประสงค์จะเข้าอยู่อีกกว่า 100 คิว

“เรามีอาหารให้ฟรี 3 มื้อ โดยเจ้าหน้าที่จะทำอาหารใส่ปิ่นโตไปส่งให้ที่หน้าห้องพัก เพื่อความสะดวกสบายของผู้สูงอายุ

“แต่ในขณะนี้ที่อยู่อาศัยประเภทหอพักและประเภทบังกะโลมีผู้สูงอายุอยู่เต็มทั้งหมด ส่วนใครที่สนใจอยากจะเข้ามาอยู่จะต้องจองคิวนานมาก

“โดยผู้สูงอายุบางคนเล่าให้ฟังว่า ใช้เวลาจองคิวถึง 15 ปี กว่าจะได้เข้ามาอยู่ที่นี่ และหากผู้สูงอายุเสียชีวิต ที่อยู่อาศัยทุกประเภทก็ไม่สามารถส่งต่อเป็นมรดกตกทอดให้ลูกหลานหรือครอบครัวได้”

คุณวลัยลักษณ์บรรยาย

ผู้สูงอายุซึ่งเข้าพักที่ “บ้านบางแค” จะได้รับบริการด้าน “ที่จำเป็น” ในบั้นปลายชีวิต ได้แก่

บริการด้านการรักษาพยาบาล โดยมีเจ้าหน้าที่พยาบาลอยู่เวรดูแลตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อตรวจร่างกาย ปฐมพยาบาล ให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพอนามัย การออกกำลังกาย และการฟื้นฟูสภาพผู้สูงอายุ

บริการด้านอาชีวบำบัด โดยจัดผู้เชี่ยวชาญมาฝึกสอนงานประดิษฐ์ต่างๆ ให้กับผู้สูงอายุ เช่น งานเครื่องหอม งานของชำร่วย เพื่อจัดทำเป็นผลิตภัณฑ์จำหน่ายสร้างรายได้ยามว่าง

บริการด้านสังคมสงเคราะห์ โดยจัดเจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษารวมทั้งดำเนินการด้านกฎหมาย เช่น การจัดทำพินัยกรรม รวมถึงบริการด้านจิตวิทยา เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ ยังมีบริการด้านศาสนา โดย “บ้านบางแค” จะนิมนต์พระสงฆ์มาแสดงธรรมเทศนาทุกวันพระ วันสำคัญทางศาสนา และจัดพิธีฌาปนกิจให้กับผู้เข้าพักเมื่อถึงแก่กรรม

“เมื่อผู้สูงอายุเสียชีวิต เราจะสอบถามญาติว่าต้องการนำศพไปทำพิธีกรรมทางศาสนาหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่กว่า 95 เปอร์เซ็นต์ ญาติและครอบครัวจะไม่รับศพกลับไป ให้เป็นหน้าที่ของบ้านบางแคดำเนินการให้

“ทางบ้านบางแคก็จะนิมนต์พระสงฆ์จากวัดใกล้ๆ มาสวดศพตามพิธีกรรมทางศาสนา ก่อนเคลื่อนย้ายศพไปเก็บไว้ที่วัดนิมมานรดี โดยจะทำการฌาปนกิจพร้อมกันในเดือนมีนาคมของแต่ละปี และนำอัฐิส่วนหนึ่งไปลอยอังคาร

“อีกส่วนหนึ่งเก็บรวมไว้ภายในเจดีย์ของบ้านบางแค ซึ่งเราจะทำบุญให้ทุกปี”

ผู้ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้ากลุ่มงานสวัสดิการผู้สูงอายุประจำบ้านบางแคบอกเล่า

คุณวลัยรักษ์ชี้แจงต่อว่า หลายคนมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ “บ้านบางแค” ว่าผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ที่นี่คือคนแก่ที่ถูกทอดทิ้ง และเมื่อเข้ามาอยู่ก็ไม่สามารถออกไปข้างนอกได้

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งมีเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่สมัครใจมารอต่อคิว เพื่อเข้ามาอยู่อาศัยใน “บ้านบางแค”

ขณะเดียวกัน ผู้สูงอายุที่นี่ทุกคนสามารถเดินทางออกไปข้างนอกได้ แต่มีระเบียบการเข้า-ออกว่าจะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ทุกครั้ง และต้องกลับเข้าบ้านไม่เกิน 18.00 น.

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้สูงอายุประเภทสามัญซึ่งถูกทอดทิ้งจากครอบครัว ทาง “บ้านบางแค” ก็ได้จัดเตรียมมาตรการดูแลพวกเขาเอาไว้อย่างรอบคอบ

“หลายครั้งทางเราได้รับแจ้งว่ามีผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง บางคนถูกทิ้งไว้ที่โรงพยาบาล บางคนมีรถแท็กซี่ขับมาทิ้งไว้

“เมื่อบ้านบางแครับตัวผู้สูงอายุเหล่านี้มาก็จะมีภาวะซึมเศร้า ตรอมใจ และเกิดความขัดแย้งในใจ ว่าทำไมสมัยอยู่บ้าน สมัยที่ตัวเองมีศักยภาพ มีสภาพร่างกายแข็งแรง มีงาน มีรายได้ เขาสามารถที่จะเลี้ยงดูลูก-หลานได้ แต่เมื่อตัวเองแก่ตัวลง รายได้ไม่มี ทำไมลูก-หลานไม่เลี้ยงดูเราบ้าง”

วิธีเยียวยาผู้สูงอายุกลุ่มนี้คือ การเข้าไปพูดคุยปรับสภาพจิตใจ แล้วเก็บรวบรวมข้อมูลนำไปวิเคราะห์หาแนวทางแก้ไขปัญหา ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับเพื่อนๆ ภายใน “บ้านบางแค” เพื่อไม่ให้พวกเขาต้องรู้สึกเหงาหรือโดดเดี่ยว

คุณวลัยรักษ์กล่าวทิ้งท้ายในฐานะเจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้สูงอายุและพบเห็นผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งอย่างต่อเนื่องว่า ขอวิงวอนไปถึงผู้คนในสังคมและลูก-หลานภายในครอบครัวให้ใส่ใจความสัมพันธ์ภายในบ้าน มีความกตัญญูไม่ทอดทิ้งผู้สูงอายุให้พวกเขาโดดเดี่ยว

เนื่องจากครอบครัวคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต และไม่มีใครดูแลห่วงใยเราได้เท่ากับคนในครอบครัว


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่