การศึกษา / โควิดพ่นพิษ ‘ร.ร.เอกชน’ กระอัก! ขาดสภาพคล่อง-จ่อปิดกิจการ

การศึกษา

 

โควิดพ่นพิษ ‘ร.ร.เอกชน’ กระอัก!

ขาดสภาพคล่อง-จ่อปิดกิจการ

 

ในปีที่ผ่านมา จะพบข่าวโรงเรียนเอกชนประสบปัญหามากมาย

ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนสมัครเข้าเรียนน้อยลง โรงเรียนบางแห่งโดยเฉพาะในต่างจังหวัด ต้องปิดกิจการลงเพราะแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว

โรงเรียนเอกชนต่างร้องขอให้ภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยื่นมือเข้ามาช่วย

เช่น ขอสนับสนุนเงินอุดหนุนรายหัว จากเดิมที่ได้รับ 70% เป็น 100% หรือการขอเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวัน ที่จากเดิมได้รับอุดหนุนเพียง 28% ขอเพิ่มเป็น 100% เพื่อความเสมอภาค เนื่องจากนักเรียนโรงเรียนเอกชนและรัฐ ต่างเป็นนักเรียนไทย สัญชาติไทยเหมือนกัน เป็นต้น

ทาง ศธ. โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) รับฟังปัญหาและหาทางแก้ไขมาตลอด

วิกฤตแรกไม่ทันได้รับการแก้ไข โรงเรียนเอกชนกลับประสบปัญหาอีกระลอก เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบกับโรงเรียนเอกชนอีกมหาศาล!!

 

นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) ระบุว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โรงเรียนเอกชนไม่สามารถเปิดเรียนได้ เนื่องจากต้องปฏิบัติตามมาตรการที่รัฐบาลกำหนด แต่สิ่งที่โรงเรียนต้องเผชิญคือ เมื่อโรงเรียนไม่สามารถเปิดเรียนได้ จำนวนนักเรียนลดน้อยลง เพราะไม่มีใครมาสมัครเข้าเรียน

และจากการคาดการณ์ของ ส.ปส.กช.เชื่อว่าในปีนี้ นักเรียนของโรงเรียนเอกชนจะลดลง 20%!!

นอกจากนี้ โรงเรียนเอกชนบางแห่งที่ประสบปัญหาทางการเงิน เช่น ไม่ให้ครูไปทำงานแล้ว แม้รัฐจะส่งเงินอุดหนุนรายหัว เพื่อจ่ายค่าจ้างครูตรงเวลา แต่มีครูบางส่วนที่โรงเรียนไม่ได้ใช้เงินอุดหนุนรัฐจ้าง แต่ใช้เงินจากค่าธรรมเนียมการเรียนจ่ายค่าจ้างแทน เมื่อไม่มีนักเรียนมาสมัคร และยังไม่เปิดเทอม จึงไม่มีเงินจ้างครูเหล่านี้

“โรงเรียนเอกชนยังประสบปัญหาการชำระภาษีต่างๆ เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีป้าย รวมถึงค่าดูแลรักษาโรงเรียน รวมทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ทำให้โรงเรียนหลายแห่งแบกรับค่าใช้จ่ายที่ถาโถมมาไม่ไหว ซึ่งขณะนี้มีโรงเรียนเอกชนกว่า 10 แห่ง ทำเรื่องขอยุบ เพราะสู้วิกฤตโควิด-19 ไม่ไหว และขณะนี้มีโรงเรียนเอกชนสนใจกู้เงินเพื่อรักษาสภาพคล่องอย่างมาก จึงอยากให้รัฐบาลเข้าช่วยเหลือด้วย”

นายศุภเสฏฐ์ระบุ

 

วิกฤตที่โรงเรียนเอกชนเผชิญอยู่ ส่งผลให้สมาคมโรงเรียนเอกชน 18 สมาคมเดินทางเข้าพบนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลดูแล และช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนเป็นการด่วน!!

ปัญหายังไม่จบเพียงเท่านี้ นายศุภเสฏฐ์ระบุว่า เพราะผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้โรงเรียนเอกชนต้องปรับสัดส่วนนักเรียนใหม่ ตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดด้วย ตั้งแต่ระดับปฐมวัย จากเดิมที่มีอัตรานักเรียนต่อครู อยู่ที่ 20 : 1 อาจจะเหลือ 7 : 1 ส่วนระดับชั้นประถมศึกษา และมัธยมศึกษา นักเรียนต่อครู ให้เหลือห้องละ 20-25 : 1 จากเดิม 40-45 : 1

หากจัดการเรียนการสอนเช่นนี้ จะต้องเพิ่มจำนวนห้องเรียนขึ้นมาด้วย ทำให้โรงเรียนต้องจ่ายค่าจ้างครู คนงาน แม่บ้าน หรือค่าน้ำค่าไฟเพิ่มขึ้น แต่โรงเรียนส่วนใหญ่สะท้อนปัญหามาว่าไม่สามารถหาเงินมาจ่ายส่วนนี้ได้ทัน

“อยากจะขอนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ช่วยเหลือ โดยอาจจะเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวให้นักเรียน จากเดิมที่รัฐอุดหนุนเงินรายหัวนักเรียนโรงเรียนเอกชนเพียง 70% เพิ่มเป็นอุดหนุนรายหัว 100% แต่การเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวครั้งนี้ อาจให้เป็นการชั่วคราว เช่น เพิ่มเงินในช่วงภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 หรือเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวเป็นเวลา 1 ปี เป็นต้น” นายศุภเสฏฐ์ระบุ

เพื่อช่วยโรงเรียนเอกชนรักษาสภาพคล่องต่อไป เพราะหากไม่ช่วยเหลือในส่วนนี้ โรงเรียนเอกชนอาจต้องปิดกิจการ ซึ่งขณะนี้ได้ข่าวมาว่าต่างชาติ เช่น จีน อาหรับ กำลังดำเนินการขอซื้อกิจการโรงเรียนเอกชนจำนวนมาก!!!

 

เรื่องนี้ทำให้นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ซึ่งกำกับดูแลโรงเรียนเอกชนโดยตรง ไม่นิ่งนอนใจ เร่งออกมาตรการช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนเป็นการด่วน

ไม่ว่าจะเป็นการออกประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน 2 ฉบับ ได้แก่ ประกาศเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกู้ยืมเงินจากกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในส่วนของการบริหารกิจการโรงเรียน พ.ศ. … และประกาศเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยืมเงินจากกองทุนส่งเสริมโรงเรียนเอกชนในระบบสำหรับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามภาคใต้ เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในส่วนของการบริหารกิจการโรงเรียน พ.ศ. …

นางกนกวรรณระบุว่า เพื่อให้โรงเรียนกู้ยืมเงิน หรือยืมเงินจากกองทุน โรงเรียนละไม่เกิน 500,000 บาท โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารโรงเรียน ซึ่งเกณฑ์การกู้ยืม หรือยืมเงิน จะพิจารณาจากวงเงินอุดหนุนรายบุคคลที่โรงเรียนได้รับจาก สช.หรือสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) หลังจากหักค่าใช้จ่ายเงินเดือน และค่าจ้าง โดยให้มีเงินคงเหลือหลังจากหักชำระหนี้ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของวงเงินอุดหนุนที่ได้รับ และให้ใช้บุคคลค้ำประกัน 2 คน ซึ่งทางกองทุนมีเงินสำรองให้โรงเรียนกู้ยืมจำนวน 605 ล้านบาท

โดยโรงเรียนเอกชนสามารถยื่นแบบคำขอกู้ยืมเงินและคำขอยืมเงินจากกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในส่วนของการบริหารกิจการโรงเรียนได้ตั้งแต่วันที่ 1-10 มิถุนายน สำหรับการชำระหนี้เงินกู้ยืม หรือเงินยืม ให้หัก ณ ที่จ่ายจากวงเงินอุดหนุนรายบุคคลที่ได้รับ โดยการกู้ยืมเงินให้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 4 และการยืมเงิน ให้ปลอดดอกเบี้ย

นอกจากนี้ สช.ยังได้รวบรวมข้อมูลเสนอรัฐบาล และสถาบันการเงิน เพื่อให้ความช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนที่ประสบปัญหาทางการเงิน โดยการให้ “สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ”

ซึ่งขณะนี้มีโรงเรียนเอกชนจะขอกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำทั้งหมดจำนวนกว่า 4,400 ล้านบาทแล้ว!

 

ด้านนายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยว่า นอกจากนี้ สช.ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อเพื่อสวัสดิการ (เงินทุนเลี้ยงชีพ) สำนักงานกองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน โดยมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อเพื่อสวัสดิการ (เงินทุนเลี้ยงชีพ) มีดังนี้ งดคิดดอกเบี้ย และค่าปรับสินเชื่อเพื่อสวัสดิการ (กองทุนเลี้ยงชีพ) ลูกหนี้เดิม (โครงการ 1-4) เป็นระยะเวลา 6 เดือน และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สินเชื่อเพื่อสวัสดิการ จาก 4.5% ต่อปี เหลือ 4% ต่อปี ยกเว้นโครงการที่ดอกเบี้ยต่ำอยู่แล้ว

พร้อมกับจัดตั้งสินเชื่อเพื่อสวัสดิการ (เงินทุนเลี้ยงชีพ) โครงการ 5 เพื่อขยายสิทธิให้กับสมาชิกที่มีอายุงาน 5 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี มีสิทธิกู้สินเชื่อเพื่อสวัสดิการ โดยจะปล่อยกู้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไป พบว่าปัจจุบันได้ปล่อยกู้ไปจำนวนกว่า 108 ล้านบาท และมีครูยื่นขอกู้จำนวนกว่า 1,200 คนแล้ว

แม้ภาครัฐจะออกมาตรการช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนแล้วก็ตาม แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะสามารถ “ยื้อชีวิต” โรงเรียนเอกชนให้อยู่รอดท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ได้

ก็หวังว่ามาตรการต่างๆ ที่รอการช่วยเหลือจากรัฐบาล จะออกมาช่วยเหลือได้ทันการณ์และยื้อชีวิตโรงเรียนเอกชนท่ามกลางวิกฤตซ้อนวิกฤตต่อไปได้!


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่