โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/พระกริ่งน้ำท่วม 2485 มงคล “เจ้าคุณศรี (สนธิ์)” วัดสุทัศนเทพวราราม

พระมงคลราชมุนี (สนธ์ ยติธโร)

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

 

พระกริ่งน้ำท่วม 2485

มงคล “เจ้าคุณศรี (สนธิ์)”

วัดสุทัศนเทพวราราม

 

 

“พระมงคลราชมุนี” (สนธิ์ ยติธโร) หรือที่ผู้คนส่วนใหญ่เรียกขานในสมณศักดิ์เดิมว่า “ท่านเจ้าคุณศรี” (สนธิ์)

เป็นศิษย์ในสมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศนเทพวราราม ที่ทรงประสาทศิลปวิทยาการอันล้ำค่า คือ ตำรับและพิธีกรรมการสร้างพระพุทธรูปและพระกริ่ง

สร้างวัตถุมงคลพระเครื่อง และพระกริ่งรุ่นต่างๆ ไว้หลายรุ่น ล้วนได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง

พระกริ่งรุ่นน้ำท่วม เป็นอีกรุ่นหนึ่งที่ได้รับการกล่าวขาน

ข้อมูลจากหนังสือทำเนียบพระกริ่ง เจ้าคุณศรีฯ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์คเณศ์พร พ.ศ.2535 ระบุว่า…

จัดสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2485 เป็นวันที่กรุงเทพฯ ถูกน้ำท่วมหนัก ระดับน้ำลานพระรูปทรงม้าถึงเข่า และช่วงเวลาดังกล่าว เป็นฤกษ์สำคัญ พิธีเททองหล่อพระกริ่งวัดสุทัศน์ จึงเป็นที่มาของชื่อ “พระกริ่งน้ำท่วม”

พระกริ่งน้ำท่วม เททองหล่อทั้งหมด 2 ฤกษ์ มีฤกษ์เช้ากับฤกษ์บ่าย แบ่งเป็น 2 เนื้อ คือเนื้อเหลืองกับเนื้อแดง รวมกันจำนวน 1,300 องค์

พระกริ่งน้ำท่วมเนื้อเหลือง สร้างฤกษ์เช้า จำนวนการสร้าง 800 องค์ บรรจุกริ่งในตัว 1 รู วรรณะ เหลืองออกขาว บางองค์ผ่านการแต่งโดยนายช่างประสาร ศรีไทย ช่างฝีมือเยี่ยมด้านการแต่งพระกริ่งในยุคนั้น ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 95 จะตอกโค้ดมีไส้ (โค้ดใหญ่) และลงเหล็กจารโดยเจ้าคุณศรี

กระบวนการหล่อพระกริ่ง ดำเนินไปจนน้ำท่วมทะลัก เข้าประตูวัดสุทัศน์ ต้องยุติการหล่อพระไว้ชั่วคราว

ระหว่างนี้ช่างหล่อเริ่มเห็นว่า เนื้อพระกริ่งออกเหลืองมากไป ก็เติมทองแดงเข้าไป

พระกริ่งน้ำท่วมเนื้อแดง สร้างฤกษ์บ่าย จำนวนสร้าง 500 องค์ บรรจุกริ่งในตัว 1 รู วรรณะ แดงปนชมพูอ่อนกลับน้ำตาล บางองค์ผ่านการแต่งโดยนายช่างประสาร ศรีไทย ร้อยละ 95 ตอกโค้ดมีไส้ (โค้ดใหญ่) และลงเหล็กจารใต้ก้นพระโดยเจ้าคุณศรี พระกริ่งรุ่นนี้มีทั้งแต่งและไม่แต่ง

เป็นหนึ่งในพระกริ่งวัดสุทัศน์ ที่ได้รับความนิยมสูง

พระกริ่งน้ำท่วม (หน้า-หลัง)

 

นามเดิม สนธิ์ พงศ์กระวี เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม 2446 ที่ ต.บ้านป่าหวาย กิ่ง อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี บิดา-มารดาชื่อ นายสุขและนาง ทองดี มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดาเดียวกัน 11 คน

อายุ 11 ขวบ บิดาถึงแก่กรรม มารดาจึงนำมาฝากไว้กับพระภิกษุบุญ (หลวงตาบุญ) ซึ่งเป็นญาติที่วัดสุทัศนเทพวราราม คณะ 15 เพื่อให้ศึกษาอักขระสมัยฝ่ายบาลี ตามคตินิยมที่เล่าเรียนกันในยุคนั้น คือ เริ่มเรียนคัมภีร์สนธิ คัมภีร์นาม คือไปตามลำดับ

อายุ 13 ปี บรรพชาโดยมีพระมงคลราชมุนี (ผึ่ง ปุปฺผโก) เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระครูปลัดสุวัฒนพรหมจริยคุณ ฐานานุกรมในพระพรหมมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์

ศึกษาพระปริยัติธรรมเล่าเรียนต่อไปตามปกติ จนถึงเดือนเมษายน 2459 ย้ายไปอยู่ที่วัดกลางบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ในความปกครองของพระพุทธิวิถีนายก เจ้าคณะจังหวัดนครปฐมในยุคนั้น

ตราบจนถึง พ.ศ.2460 จึงย้ายกลับมาอยู่ที่วัดสุทัศน์ตามเดิม ศึกษาธรรมวินัย

พ.ศ.2464 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี

พ.ศ.2465 สอบได้นักธรรมชั้นโท

พ.ศ.2466 เข้าพิธีอุปสมบท โดยมีสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสสเทโว) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระพรหมมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระมงคลราชมุนี (ผึ่ง ปุปฺผโก) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นที่พระครูปลัดสุวัฒน พระพรหมจริยคุณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระพิมลธรรม (นาค สุมมนาโค) เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นที่พระเทพเวที และยังอยู่ที่วัดสุทัศน์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า ยติธโร

พ.ศ.2468 สอบเปรียญธรรมได้ 4 ประโยค พร้อมทั้งได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูธรรมรักขิต ฐานานุกรมในสมเด็จพระพุฒาจารย์

 

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2469 เวลาประมาณ 04.00 น.เศษ ประสบเคราะห์กรรมอย่างหนัก ถูกคนวิกลจริตฟันท่านด้วยมีดตอก ได้รับบาดเจ็บตามร่างกายหลายแห่ง

ผลจากการถูกทำร้ายอย่างสาหัสในคราวนั้น ทำให้ท่านอาพาธหนักไปพักหนึ่ง ประมาณ 3 เดือน เมื่อหายจากการอาพาธ กลับคืนอยู่ที่วัดสุทัศน์ตามเดิม และเมื่อมาถึงได้ขึ้นไปเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสสฺเทโว) ทรงรับสั่งว่า “อ๋อ! มหาสนธิ์ เธอหายดีแล้วหรือ” แล้วท่านก็รับสั่งเรียกให้เข้าไปใกล้ ทรงจับศีรษะท่านไว้แล้วทรงเป่าให้ 3 ครั้ง พร้อมกับทรงรับสั่งต่อไปอีกว่า “ตั้งแต่นี้ต่อไปจะไม่มีอะไรอีกแล้ว”

พ.ศ.2474 สอบได้นักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 7 ประโยค

รับตำแหน่งฐานานุกรมต่างๆ ตามลำดับ พร้อมกับได้ศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ รวมทั้งโหรศาสตร์ ไสยศาสตร์ เวทมนตร์คาถา ฯลฯ

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2481 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระศรีสัจจญาณมุนี

วันที่ 8 ธันวาคม 2493 ได้เลื่อนจากตำแหน่งพระราชาคณะสามัญ ขึ้นเป็นพระราชาคณะเสมอชั้นราชที่ พระมงคลราชมุนี

 

เป็นผู้เรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ หลายแขนง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมเด็จพระสังฆราช (แพ) พระอุปัชฌาย์ ทรงประสาทศิลปวิทยาการ คือ ตำรับและพิธีกรรมการสร้างพระพุทธรูปและพระกริ่งให้แก่ท่านจนหมดสิ้น

สืบสานพิธีกรรมต่างๆ เหล่านี้ในเวลาต่อมาอย่างถูกต้องตามตำราทุกประการ

ต่อมาภายหลังเมื่อว่างในด้านศึกษา กลับเพิ่มภารกิจในหน้าที่ของพระมหาเถราจารย์ ได้รับนิมนต์ให้ไปประกอบพิธีกรรมต่างๆ เสมอเป็นเนืองนิตย์ รวมทั้งต้องนั่งปรกเข้าพิธีสวดพุทธาภิเษก นั่งปรกไปจนกว่าจะได้ฤกษ์เททอง การประกอบพิธีเช่นนี้แต่ละครั้งทำให้สุขภาพของท่านค่อยๆ เสื่อมทรุดลงทุกที

ท้ายที่สุด เมื่ออาการอาพาธกำเริบ ทรุดหนัก จนสุดที่คณะแพทย์จะเยียวยา คืนวันที่ 16 มกราคม 2495 เวลา 21.20 น.

มรณภาพลงด้วยอาการอันสงบ

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่