ทราย เจริญปุระ | ห้องทดลอง “มาร์ชแมลโลว์”

ถ้าจะถือหลักตามหนังสือที่ฉันจะเขียนถึงวันนี้ ฉันจะว่าง ไม่อ่าน ไม่เขียน ไม่ส่งงาน ไม่รีบ ไม่พยายาม ไม่รู้สึกผิด

แต่เอาจริงๆ ฉันก็รู้ว่าถ้าทำอย่างนั้น นอกจากจะเป็นการตีความเกินจริงเพื่อให้ผลลัพธ์ตอบสนองความขี้เกียจแล้ว ยังสุดแสนจะไม่รับผิดชอบ

ดังนั้น เราก็จะมาคุยกัน

สําหรับคนที่ได้หยุดอยู่บ้าน คุณมีทักษะอะไรเพิ่มขึ้นบ้างมั้ยคะ?

นี่ถามอย่างชนชั้นกลางที่มีเวลาเล่นเฟซบุ๊กพูดคุยกันน่ะนะ เพราะคนที่เหน็ดเหนื่อยหนักหนากับชีวิตที่ต้องแก้โจทย์ประจำกันทุกวันคงไม่สนุกด้วย ก็ต้องขออภัยไว้ตรงนี้

หลายคนทำกับข้าวได้ เต้นได้ ออกกำลังได้ สารพัดทักษะที่เพิ่มพูนขึ้นมาตอนกักตัว

กระทั่งฉันซึ่งแสนจะขี้เกียจ ก็ยังไปลงเรียนแต่งหน้าออนไลน์

เพิ่งคิดจะเรียนตอนวัย 40 นี่ละ

เอาจริงๆ ฉันว่าคนยุคเราๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ ยังต้องทำงานอยู่ เหมือนจะถูกสาปด้วยคาถาหนึ่ง

คาถาที่ว่าเราไม่ควรอยู่เฉยๆ เราต้องมีอะไรทำ ถ้าไม่ทำงานก็ต้องมีงานอดิเรก ต้องแตกต่าง ต้องมีตัวตน ต้องมีความฝัน ต้องมีแพสชั่น ต้องบริหารการเงิน ต้องมีเวลาพักผ่อน ต้องเป็นลูกที่ดี และประชาชนผู้ดูแลตัวเองได้ของรัฐ

มีไลฟ์โค้ชเกิดขึ้นมากมาย เพื่อจะมาบอกว่า คุณอย่าคิดสิ่งที่คุณคิด คุณอย่าชอบสิ่งที่เป็นอยู่ คุณต้องคิดต่าง คิดบวก คุณไปได้ไกลกว่านี้ คุณทำได้ดีกว่านี้

คนที่ตกรางตกรถคือคนที่ไม่เปลี่ยน ไม่พยายาม ไม่มีแพสชั่น

เอาจริงๆ ฉันฟังแล้วก็น่าเหนื่อย

ฉันนั้นโดนถามมาตลอด ว่าจะเป็นดาราอย่างเดียวไปตลอดเหรอ

ซึ่งฉันก็บอกทุกทีว่า, ใช่

ก็เป็นไปจนกว่าจะไม่มีใครจ้าง

เพราะนี่ไม่ใช่อาชีพที่จะกำหนดได้ด้วยตัวเอง ว่าปีหนึ่งจะทำงานกี่ชิ้น จะเล่นแนวไหน เล่นกับใคร

ก็ได้แต่ทำงานไป (ถ้ามีงาน) ตั้งใจทำงานให้ดี และหวังว่ากุศลแห่งความตั้งใจทำงานนี้ จะส่งไปถึงผู้จัดผู้จ้าง ให้เขาได้มองเห็น

และเรียกฉันไปทำงานต่อ

พอตอบแบบนี้ก็ต้องมีคำถามต่อ

ว่าแล้วทำไมฉันไม่ผันตัวเป็นผู้จัดละครหรือผู้กำกับฯ เองเลยเล่า จะได้เป็นคนกำหนดว่าจะทำเมื่อไหร่ ทำอย่างไร เอาใครมาทำงานบ้าง

ซึ่งฉันก็ตอบไปแบบโง่ๆ ว่าไม่ละ ฉันชอบเป็นลูกจ้าง

โลกนี้มันต้องมีลูกจ้างดีๆ บ้างสิ ถ้าทุกคนอยากจะไปเป็นนายตัวเองกันหมดแล้ว เขาจะไปจ้างใคร

มันต้องมีคนต้องการลูกจ้างที่ตั้งใจทำงาน มีวินัย ไม่สร้างปัญหาบ้างละน่า

ซึ่งฉันมั่นใจว่าเป็นเช่นนั้นได้ทุกประการ

ติดแต่ว่า, ชีวิตเดี๋ยวนี้ไม่มีใครอยากย่ำอยู่กับที่ หรือที่เลวกว่านั้นคือไม่พัฒนาไปทางไหนเลย

ฟังบ่อยๆ ฉันก็ชักจะใจเหี่ยว

หรือจริงๆ แล้วฉันเข้าใจผิด คิดผิด และอยู่ในตำแหน่งผิดๆ ในห่วงโซ่ของการทำงาน

ฉันควรทะเยอะทะยานกว่านี้ ทำให้ได้มากกว่านี้ คนอื่นทำได้ ทำไมฉันไม่ทำ ทำไมขี้เกียจ ทำไมอ่อนแอ ทำไมไม่เปิดใจให้ทางเลือกใหม่ๆ หรือต่างๆ ในชีวิต

เป็นเรื่องง่ายมากๆ ที่เราจะตัดสินใครสักคน ยิ่งในสถานการณ์โรคระบาดแบบนี้ที่ทุกคนต้องเผชิญกับเงื่อนไขหลักคือตัวโรคชนิดเดียวกัน ก็ยิ่งเป็นเหตุให้เราสอดส่ายสายตามองหาว่าคนอื่นๆ เขารับมือหรือจัดการกันยังไง

ทำไมคนนั้นทำแบบนั้น

ทำไมต้องอยากออกไปทำงาน

ทำไมไม่หยิบของบริจาคทีละชิ้น

ทำไมไม่รู้สึกขอบคุณ

ทำไม ทำไม ทำไม

ผู้คนล้วนแตกต่าง ชุดมารยาทศีลธรรมบางอย่างก็ใช้ไม่ได้เวลาท้องหิว ความต้องการหรือความปรารถนาบางอย่างก็ละวางไม่ได้เมื่อมีเงื่อนไขในชีวิตค้ำคอ

หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องเหล่านั้น

“ทำไมยิ่งพยายามมีความสุข เราถึงยิ่งทุกข์ลงทุกวัน?

ทำไมอดทนและขยันแทบตาย แต่ยังไม่สุขสบายอีก?

แล้วจะเป็นไรไหม ถ้าเราไม่ได้เดินตามแพสชั่น?”*

พิชญา โชนะโต เคยเขียนเรื่องราวเหล่านี้ลงในเพจ The Matter แต่นี่เป็นการนำบทความมารวมได้อย่างมีทิศทางและให้คำตอบกับชุดคำถามบางอย่างที่ต่อเนื่องอยู่ในใจหลายๆ คน รวมถึงฉันด้วย

เช่น ทำไมการขี้เกียจและการเสียเวลาเป็นบาปที่ต้องชดใช้?

ทำไมเราต้องรู้สึกผิดหากเรานั่งเฉยไม่ทำอะไร?

ทำไมเราต้องพยายามบอกตัวเองว่าเราเติบโตก้าวไปข้างหน้า?

หากไม่ทำอะไร ชีวิตของเราจะหมดความหมายลงไปหรือ?

กับการทดลองคลาสสิคที่บอกอะไรบางอย่างกับฉัน และตอบบางคำถามให้กับเรื่องที่เกิดขึ้น

ตั้งแต่มีตู้ปันสุข-ซึ่งฉันจะไม่เล่าที่มาและที่ไป เพราะคาดว่าทุกคนคงพอจะรู้แนวคิดของมันแล้ว- สังคมก็เพิ่มความเข้มข้นของการตรวจสอบทางศีลธรรมกับผู้คนที่มาหยิบข้าวของในตู้มากขึ้น

คนนั้นไหว้ขอบคุณนะ

คนนั้นดูจนมาก แต่เค้าหยิบนมแค่กล่องเดียวเอง

ป้านั่นกวาดของไปหมดเลย

คนนี้เอาของบริจาคไปขายต่อ ทุเรศจัง

ฯลฯ

ฉันนั้นไม่เชื่อในระบบบริจาค และคิดตลอดว่าระบบนี้ไม่ควรเป็นระบบหลักในการช่วยเหลือผู้คน เพราะมันผูกพันกับอารมณ์ ศีลธรรม มนุษยธรรมแบบปัจเจกมากเกินไป แถมทำให้รัฐซึ่ง “ต้อง” เป็นผู้ดูแลหลักของชีวิตประชาชนทุกคนสบายตัวไปเสียอีก จะทำหรือไม่ทำก็ยังเดินลอยดอกเชิ้บๆ สบายใจ ว่ายังไงพวกมันก็ดูแลกันได้ แค่คอยออกมาชื่นชมนิดๆ หน่อยๆ ก็พอ ซึ่งก็มีแต่จะทำให้ผู้คนเข้มงวดกับน้ำใจมากขึ้น เคร่งเครียดกับการเพ่งโทษคนที่ทำไปต่างจากที่ตัวเองต้องการมากขึ้น โดยลืมไปว่าผู้ร้ายตัวจริงไม่ใช่คนที่มากวาดของในตู้ และคนที่ดีไม่ใช่คนที่เอาของไปใส่มากที่สุด

พิชญากล่าวถึงการทดลองคลาสสิค

เรื่องมาร์ชแมลโลว์

ก็คือการทดลองกับเด็กวัย 3-5 ขวบ เด็กแต่ละคนจะได้ขนมนี้คนละหนึ่งชิ้น โดยสามารถเลือกได้ว่าจะกินเลยหรือรออีก 15 นาที และหากเลือกทางรอ สุดท้ายเด็กคนนั้นจะได้ขนมเพิ่มอีกชิ้น

ความใจเย็นจะทำให้พวกเขาได้รางวัล

จุดประสงค์ของการทดลองนี้คือการศึกษาลักษณะนิสัย Delayed Gratification ที่แปลเป็นสำนวนไทยๆ ว่า การ “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” ซึ่งเมื่อติดตามผลต่อ ก็จะพบว่าเด็กที่ยอมรอ 15 นาทีนั้น ล้วนเป็นผู้ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะในแง่การเรียน การงาน หรือชีวิต

และเด็กที่ไม่ยอมรอนั้นก็กลายเป็นกลุ่มตัวอย่างของพวกรักสบาย ไม่อดทน และต้องผจญกับความล้มเหลว

จนที่สุดก็มีคนทดลองใต้เงื่อนไขแบบเดียวกัน แต่เพิ่มจำนวนเด็กและความหลากหลาย โดยการทดลองครั้งแรกนั้นใช้เด็กเพียง 90 คนจากโรงเรียนอนุบาลแห่งเดียวกัน แต่การทดลองครั้งนี้ใช้เด็ก 900 คน ที่มีความต่างทั้งจากโรงเรียน พ่อ-แม่ สังคม เชื้อชาติ

และเมื่อทดลองแล้ว กลับพบข้อสรุปใหม่ว่า ความสามารถที่จะอดใจเพื่อรางวัลในภายภาคหน้านั้น ไม่ได้มีผลต่อความสำเร็จของเด็กเท่ากับตัวแปรสำคัญอย่างพื้นฐานครอบครัวและระดับการศึกษาของพ่อ-แม่เด็ก

ปัจจัยเช่นรายได้ครัวเรือนนั้นส่งผลอย่างมากต่อการตัดสินใจของเด็กว่าจะกินเลย หรือจะรอไปก่อน

นอกจากนี้ยังพบว่า หากเด็กรู้สึกไม่ไว้ใจสถานการณ์ พวกเขาก็มักเลือกกินมาร์ชแมลโลว์ชิ้นแรกโดยไม่รอ

เพราะกลัวโดนหลอก

“เมื่อลองนึกดูว่า หากเราเป็นเด็กน้อยผู้เกิดในครอบครัวยากจน ฐานะทางบ้านขัดสน การอดทนรอมาร์ชแมลโลว์ไม่สามารถยืนยันความมั่นใจได้เลยว่าวันหน้าจะมีขนมชิ้นใหม่มาให้จริงไหม เด็กที่ครอบครัวขัดสนและลำบาก อาจชินชากับคำสัญญาว่าวันหน้าจะดีขึ้นที่ไม่เคยเป็นจริง ติดอยู่ในชีวิตที่การบอกให้รอมักไม่รับประกันว่าจะได้รางวัลดังคำสัญญา”*

คนจนนั้นดูเหมือนจะเป็นตัวร้ายในทุกสถานการณ์ของสังคม

โดยบางทีเราก็จงใจลืมไป ว่าคนระดับบริหารหรือชนชั้นปกครองนั้น ทั้งที่กินอิ่มนอนหลับ สินทรัพย์เต็มกำมือ ก็ยังทำตัวน่ารังเกียจในทุกมิติได้ยิ่งไปกว่าคนที่ขาดแคลน

เพราะพวกเขาไม่ได้โลภแต่ทรัพย์สิน

แต่ยังตักตวงเอาความดีงาม ความเหนือกว่าทุกเหตุทางโลกย์และทางธรรม ความถูกต้อง ความมั่งคั่งและเป็นฝ่ายถูกเสมอมาเป็นของพวกตนเท่านั้น

ไม่ใช่แค่มาร์ชแมลโลว์อันเดียว

“No Hurry No Worry” ขออภัย แต่ไม่ต้องรีบ เขียนโดยพิชญา โชนะโต ฉบับพิมพ์ครั้งแรก โดยสำนักพิมพ์ Broccoli, พฤษภาคม 2563

*ข้อความจากในหนังสือ


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่