จิตต์สุภา ฉิน : เทคโนโลยี ช่วยปรับให้คุ้นกับ New Normal

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

งานที่ฉันทำและได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการระบาดของ COVID-19 ก็คืองานพิธีกรอีเวนต์ที่หายไปโดยสิ้นเชิงเนื่องจากไม่มีใครสามารถจัดงานที่รวมคนเยอะๆ มาอยู่ด้วยกันได้เลย

แต่บรรดาบริษัทต่างๆ ก็ยังสามารถเลี่ยงไปจัดงานในรูปแบบถ่ายทอดสดทางโซเชียลมีเดียแทนได้ ก็พอกล้อมแกล้มกันไปในช่วงที่ทุกคนต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่เขาเรียกกันว่า New Normal

การจัดงานแถลงข่าวผ่านโซเชียลมีเดียให้สื่อมวลชนและแขกดูผ่านหน้าจอก็ไม่ได้น่าขัดใจสักเท่าไหร่ เพราะสาระสำคัญก็ยังคงอยู่

แต่อีเวนต์ประเภทอื่นๆ ที่ไม่สามารถย้ายมาจัดออนไลน์และได้ความรู้สึกที่เหมือนเดิมก็คืออีเวนต์อย่างคอนเสิร์ต การเล่นละคร และการแข่งขันกีฬานี่แหละ

เพราะอีเวนต์ประเภทนี้ผู้ชมจำเป็นต้องเอาตัวเองไปอยู่ในสถานที่นั้นๆ เพื่อให้ซึมซับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้เต็มๆ และได้สัมผัสบรรยากาศของผู้ชมคนอื่นๆ ที่แวดล้อมรอบข้างด้วย จะได้ส่งเสียงเชียร์ร่วมกัน โห่ร้องไปพร้อมกัน และปรบมือให้กึกก้องสนามหรือโรงละครไปพร้อมๆ กัน

ดังนั้น จึงน่าคิดว่าหลังจากนี้ไปการจัดอีเวนต์ประเภทนี้จะต้องเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบไหน

 

Yamaha บริษัทผลิตเครื่องดนตรีของญี่ปุ่นบอกว่าตอนนี้บริษัทกำลังผลิต “ระบบเชียร์แบบทางไกล” เพื่อให้ผู้ชมรับชมการแข่งขันกีฬาจากทางบ้านแต่ยังสามารถมีส่วนร่วมในการส่งเสียงเชียร์ได้

ระบบนี้ผู้จัดการแข่งขันจะต้องติดตั้งลำโพงหลายตัวเอาไว้ตามขอบสนาม ผู้ใช้งานสามารถแตะปุ่มบนแอพพลิเคชั่นเพื่อส่งเสียงเชียร์ เสียงปรบมือ หรือแม้กระทั่งเสียงโห่ร้องด้วยความไม่พอใจ ให้เปล่งออกทางลำโพงเหล่านั้น ซึ่งผู้จัดงานสามารถเลือกได้ว่าจะให้มีเสียงเชียร์ประเภทไหน และปรับระดับความเข้มข้นของเสียงได้

เมื่อใช้ระบบนี้ ก็จะได้ไม่ต้องพาตัวเองออกมาถึงที่สนาม ไม่ต้องมาอยู่ท่ามกลางหยดน้ำมูกน้ำลายที่แน่นอนว่าจะต้องกระเด็นออกมาจากปากและจมูกของกองเชียร์ที่แวดล้อมเรา ไม่ต้องเสี่ยงไปสัมผัสพื้นผิวที่ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีเชื้ออะไรติดอยู่บนนั้นหรือเปล่า

Yamaha บอกว่า จะพัฒนาระบบนี้เสร็จภายในปีนี้ และต่อให้คนกลับมารวมตัวกันได้เหมือนเดิมก็ยังควรใช้แอพพ์นี้ในการเชียร์อยู่ดี

 

จากการหยั่งเสียงผู้ติดตามดูก็ได้พบว่า คนส่วนใหญ่ที่ได้ยินข่าวนี้ก็ไม่ค่อยจะเห็นด้วยสักเท่าไหร่ สำหรับคนที่รักการไปคอนเสิร์ต งานแข่งขันกีฬาเหล่านี้ การไม่ได้ส่งเสียงร้องเชียร์ออกมาจากลำคอของตัวเอง หรือไม่ได้เห็นภาพเหตุการณ์ดำเนินอยู่ตรงหน้า ก็ไม่คุ้มค่ากับการดูสักเท่าไหร่แล้ว

ถ้าถามว่าระบบนี้จะกลายเป็น New Normal สำหรับทุกคนไหม ก็อาจจะไม่ แต่ก็อาจจะมีผู้จัดงานบางประเภทที่รู้สึกว่าระบบนี้เหมาะกับรูปแบบงานของตัวเอง และอาจจะเอามาใช้บ้าง คงไม่ถึงขั้นที่อีเวนต์หลังจากนี้ต่อไปจะถูกเปลี่ยนเป็นรูปแบบนี้กันทั้งหมด

การระบาดของ COVID-19 ทำให้เกิดการคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมาหลายอย่าง ระบบการเชียร์ทางไกลก็เป็นอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ ก็มีอีกไม่น้อยที่เป็นของใหม่ทางเทคโนโลยีที่มนุษย์ไม่คาดคิดมาก่อนว่าเราจะต้องการ

 

ในนิวยอร์กซิตี้ แม้ว่าผู้คนจะบ่นถึงความเก่าล้าสมัยของระบบรถไฟใต้ดินแค่ไหน แต่มันก็ยังเป็นการเดินทางที่สะดวกสบายที่สุด และเมื่อไม่สามารถนั่งรถไฟใต้ดินได้ตามปกติก็ช่วยไม่ได้ที่จะเกิดอาการคิดถึงขึ้นมาเสียอย่างนั้น

ชาวนิวยอร์กหลายคนเกิดอาการคิดถึงภาพและเสียงรถไฟใต้ดินขึ้นมาหลังจากกักตัวอยู่บ้านมานาน นักพัฒนาคนหนึ่งจึงทำแอพพ์ที่ออกแบบมาให้ส่งเสียงรถไฟใต้ดินโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นเสียงล้อที่บดเอี๊ยดไปบนราง ไปจนถึงเสียงประกาศให้ผู้โดยสารออกห่างจากประตู มีให้เลือกมากถึง 26 เสียงเลยทีเดียว ใครคิดถึงรถไฟใต้ดินก็ดาวน์โหลดไปนั่งฟังอยู่บ้านตามสะดวกใจ

ขำก็ตรงที่หลายคอมเมนต์บอกว่าไม่เคยคิดมาก่อนว่าตัวเองจะคิดถึงรถไฟใต้ดินนิวยอร์กซิตี้ และเมื่อไหร่ก็ตามที่กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ จะนั่งรถไฟใต้ดินมันไปเลย 24 ชั่วโมงเต็มให้หายคิดถึง

 

อีกหนึ่งเครื่องมือที่ออกมาเพื่อให้เราปรับตัวเข้ากับยุคของการเว้นระยะทางสังคม ก็คือการใช้เทคโนโลยี Augmented Reality หรือการซ้อนความจริงเสมือน

โปรเจ็กต์ล่าสุดของ Google ที่มีชื่อว่า Sodar เป็นโปรเจ็กต์ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเปิดกล้องหลังและมองเห็นรัศมีสองเมตรรอบตัวเรา ให้เรากะประมาณได้ว่าเวลาออกไปข้างนอกเราควรจะเว้นระยะห่างระหว่างตัวเรากับคนอื่นแค่ไหน

ถ้าใครนึกไม่ออกว่าหน้าตาเป็นยังไง ลองนึกถึงเกม Pokemon Go ที่เมื่อเราเปิดกล้องโทรศัพท์มือถือแล้วส่องไปที่สิ่งแวดล้อมรอบตัว เราจะเห็นตัวโปเกมอนออกมายืนให้เราจับนั่นแหละค่ะ

Sodar สามารถใช้ได้ผ่านเว็บเบราเซอร์ Chrome เลย แบบที่ไม่ต้องดาวน์โหลดแอพพ์แยกต่างหาก แต่รองรับเฉพาะบนโทรศัพท์ระบบปฏิบัติการ Android เท่านั้น เป็นโปรเจ็กต์ทดลองของ Google ที่ทำออกมาสำหรับรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดในช่วงนี้

หรือใครที่ต้องการเครื่องมือที่จะช่วยให้เว้นระยะห่างได้แบบที่ทรงพลังกว่านั้น ก็มีแก็ดเจ็ตออกใหม่ประเภทที่เป็นสายรัดข้อมือ มีทั้งที่สั่นเตือนแบบเบาๆ ให้เราเว้นระยะห่างมากกว่านี้ หรือจะช็อร์ตให้รู้สึกเจ็บ อุปกรณ์บางชนิดทำได้มากกว่าแค่เตือนแต่ยังสามารถทำ contract tracing ซึ่งจะแจ้งเตือนได้ว่าในรอบ 14 วันที่ผ่านมา คนที่เราได้เข้าใกล้ด้วยนั้นมีที่ติดเชื้อไวรัสไปแล้วหรือไม่

และเมื่อการล้างมือกลายเป็นสิ่งที่เราต้องทำให้ติดเป็นนิสัยให้ได้มากที่สุด เราก็จะเริ่มได้เห็นเครื่องจ่ายเจลล้างมือแบบใหม่ๆ ที่ถูกคิดค้นขึ้นมา หรือแอพพ์มือถือที่จะคอยเก็บข้อมูลว่านิ้วของเราสัมผัสกับหน้าจอเยอะแล้ว ได้เวลาทำความสะอาดจอมือถือแล้ว ซึ่งก็จะเป็นแอพพ์ที่เป็นประโยชน์มากๆ

ลองเลือกหาตัวช่วยทางเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์และเหมาะกับเรามากที่สุดก็น่าจะทำให้เราผ่านการปรับตัวให้ชินกับ New Normal ได้ง่ายขึ้น จนถึงวันที่มันกลายเป็น Normal เฉยๆ ไปเลยนะคะ

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่