แนวโน้ม การเมือง กับ “รัฐธรรมนูญ” ใหม่ ความคาดหวังใหม่

พลันที่ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดวันประกาศและบังคับใช้ที่แน่นอนในวันที่ 6 เมษายน ภาพทางการเมืองในอนาคตก็เริ่มมีความแจ่มชัด

นี่คืออิทธิพลและผลสะเทือน

ความหมายจึงมิได้อยู่ที่ว่า แม้จะมีการฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ทิ้งไปในรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

แล้วประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญ “ฉบับชั่วคราว”

แต่ในที่สุด เมื่อถึงกาละอันเหมาะสมในอีกเกือบ 3 ปีต่อมา ก็มีความจำเป็นต้องประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญอย่างเป็นปกติ

เพราะนี่คือเงื่อนไขทางการเมือง เพราะนี่คือเงื่อนไขทางสังคม

และไม่ว่าการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็นที่แน่นอนเมื่อใด นั่นก็หมายถึงการเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองจะต้องบังเกิดตามมา

อย่างแรกสุดก็คือ จะต้องมีการเลือกตั้ง

AFP PHOTO / MIKE CLARKE

ระบอบประชาธิปไตย
การเมือง “การเลือกตั้ง”

แม้ในห้วงก่อนหน้ารัฐประหารเดือนกันยายน 2549 และในห้วงก่อนหน้ารัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 จะมีกระแสโจมตีระบบการเลือกตั้งอย่างสาดเสียเทเสีย

เป้าหมายอยู่ที่พรรคการเมือง เป้าหมายอยู่ที่นักการเมือง

แต่ไม่ว่าหลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ก็มีความจำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญ และต่อจากนั้นก็ต้องเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง

เดือนธันวาคม 2550 และเดือนกรกฎาคม 2554

การเลือกตั้งจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญซึ่งขาดมิได้ในโครงสร้างใหญ่ทางการเมือง จะต้องเกิดขึ้นอย่างประสานไปกับการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญ

นี่คือบทบาทและความหมายของ “การเลือกตั้ง”

ไม่ว่าจะหลังรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2501 ไม่ว่าจะหลังรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2520 ไม่ว่าจะหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534

เพียงแต่ว่าคณะรัฐประหารจะสามารถถ่วงเวลาได้ช้า หรือจำเป็นต้องเลือกตั้งโดยเร็ว

รัฐธรรมนูญจึงเป็นปัจจัยอันทรงความหมายและมีบทบาทเป็นอย่างสูงต่อพัฒนาการแห่งระบอบประชาธิปไตย เพราะมีความสัมพันธ์กับการเลือกตั้ง

AFP PHOTO / MIKE CLARKE

บทบาท ความหมาย
กระบวนการ เลือกตั้ง

มีความพยายามเป็นอย่างมากของคณะรัฐประหารที่จะตรารัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสืบทอดและรักษาอำนาจของตน

ไม่ว่าจะรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 ไม่ว่าจะรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 สามารถช่วยให้ จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ครองอำนาจหลังการเลือกตั้งในปี 2512 แต่อีก 3 ปีต่อมาก็ต้องทำรัฐประหารตัวเองในเดือนพฤศจิกายน 2514 และอีก 2 ปีต่อมาก็ต้องพ้นไปจากอำนาจในเดือนตุลาคม 2516

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 สามารถช่วยให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้ครองอำนาจหลังการเลือกตั้งในปี 2522 แต่อีก 1 ปีต่อมาก็ถูกสถานการณ์บีบให้ต้องสละอำนาจ

เป็นการบีบจาก ส.ว. ที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ แต่งตั้งมากับมือ

AFP PHOTO / GOVERNMENT HOUSE / AFP

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 สามารถช่วยให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ได้ครองอำนาจหลังการเลือกตั้งในปี 2535 แต่ก็อยู่ในตำแหน่งได้เพียง 40 กว่าวันก็ถูกสถานการณ์บีบให้ต้องสละอำนาจ

บทเรียนจากอดีตเช่นนี้เองทำให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ กำหนดเวลาให้กับตนเอง

เมื่อได้รับเชิญจากคณะรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ กำหนดวาระของตนเองอย่างเด่นชัดว่า เมื่อมีการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญและมีการเลือกตั้งก็พร้อมอำลา

การอำลาจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ จึงดำเนินไปอย่างสง่างาม ไม่มีใครมาขับไล่

AFP / LILLIAN SUWANRUMPHA

รัฐธรรมนูญใหม่
กับ ความหวังใหม่

การประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญในวันที่ 6 เมษายน จึงสะท้อนบทบาทและความหมายในทางการเมืองอย่างอัตโนมัติ

เด่นชัดยิ่งว่า การเลือกตั้งน่าจะมีขึ้นต้นปี 2561

หากการเลือกตั้งจะมีขึ้นในต้นปี 2561 นั่นหมายถึง แนวโน้มที่จะต้องมีการตระเตรียมในทางการเมืองล่วงหน้าให้พร้อมสรรพ

1 คือการจัดทำกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญ

ขณะเดียวกัน 1 ซึ่งมีความจำเป็นอย่างสูงคือ การปลดล็อกในทางการเมืองให้กับพรรคการเมืองและนักการเมือง

นี่ย่อมเท่ากับเป็นการเบิกสถานการณ์ใหม่