อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : บันทึกร่วมสมัย

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์
นาย​ฮุน​เซน นายก ฯ เขมร​เฮง​สัม​ริน แวะ​เยือน​ไทย​ก่อน​เดินทาง​ไป​ประชุม​แก้​ปัญหา​เขมร​ที่​ปารีส ฝรั่งเศส มี​ทีม​ที่​ปรึกษา​บ้าน​พิษณุโลก​มา​ให้การ​ต้อนรับ​ที่​ดอนเมือง

หากใครมีโอกาสไปเยือนนครเวียงจันทน์ เมืองหลวงแห่ง สปป.ลาว เยือนพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา รวมทั้งได้เยือนโฮจิมินห์ ซิตี้ เมืองท่าและเมืองการค้าของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

คงดื่มด่ำกับวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจอันพลุกพล่นไปด้วยผู้คนจากทั่วทุกสารทิศ ชีวิตคนท้องถิ่นทั้งคนลาว กัมพูชาและคนเวียดนามสะดวกสบาย มีกินมีใช้

ส่วนบ้านเมืองของพวกเขาก็เจริญด้วยถนน ตึกราม ตึกสูง ในอีกไม่นานนักทั้งฮานอยและโฮจิมินห์ ซิตี้ จะมีรถไฟใต้ดินเพื่อลดความแออัดของการจราจร อีกทั้งยังมีโครงข่ายการสื่อสารทันสมัยเหมือนกับเมืองใหญ่ของชาติตะวันตกทั้งหลาย

พนมเปญก็เปลี่ยนแปลงไปมากโดยเฉพาะการมีถนนไฮเวย์เชื่อมต่อเมืองหลวงไปยังเมืองข้างเคียงอันเต็มไปด้วยโรงงานสิ่งทอ นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ

ภาพความเจริญของประเทศอนุลุ่มแม่น้ำโขงดังที่ผมกล่าวถึง อาจทำให้เราๆ ท่านๆ นึกไม่ออก ถึงประเทศที่ต้องเผชิญความขัดแย้งทั้งทางอุดมการณ์ในยุคสงครามเย็นช่วงทศวรรษ 1960-1970

และยังมีความขัดแย้งทั้งสงครามตัวแทนและสงครามกลางเมืองซึ่งเป็นความขัดแย้งภายในปลายทศวรรษ 1970 ถึงต้นทศวรรษ 1980

ด้วยพัฒนาการความขัดแย้งดังกล่าวซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงง่ายๆ นอกจากชีวิตผู้คนต้องทนทุกข์ทรมานจากภัยของสงครามอันยาวนานแล้ว ยังส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียสมัยนั้นด้วย

 

กว่าจะถึงวันนี้

ท่ามกลางความขัดแย้งในอินโดจีนที่ยังลุกโชนช่วงนั้น เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศไทย

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ตัดสินใจยุติบทบาททางการเมืองช่วงปี พ.ศ.2531 รัฐบาลที่ตั้งขึ้นใหม่นำโดย พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนักการทูต ทายาทกลุ่มซอยราชครูและนักการเมืองผู้คร่ำวอด ทว่าเขาเป็นนายกรัฐมนตรีนอกสายตาที่มีแต่คนปรามาสในความสามารถทางการเมืองว่าจะนำรัฐนาวาของไทยซึ่งเต็มไปด้วยนักการเมืองเขี้ยวลากดินและพลังของระบอบอำมาตยาธิปไตยให้เดินหน้าอย่างไร

ท่ามกลางขวากหนามของการเมืองภายในของไทยและคำสบประมาทต่างๆ นานา นายกฯ ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้อาศัยประสบการณ์ของนักการทูต นักการทหารและนักการเมืองที่มองการณ์ไกลและมีความยืดหยุ่นสูงมาผลักดันในอินโดจีน

คนที่มีบทบาทในช่วงนั้นคือ นายกฯ ชาติชาย ชุณหะวัณ อาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ และพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ซึ่งมองว่า ปัญหาหลักของภูมิภาคตอนนั้นคือ ปัญหาสันติภาพในอินโดจีน เราจะทำอย่างไรให้เกิดสันติภาพในอินโดจีนเกิดขึ้นได้

ประเด็นต่อมาคือ การพัฒนาทั้งเศรษฐกิจและสังคมอินโดจีนซึ่งเป็นผลดีต่อผู้คนในอินโดจีนเอง เป็นผลดีต่อไทยให้การกลับมาเป็นผู้นำของภูมิภาคอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ไทยเคยแสดงบทบาทนำในฐานะผู้นำอาเซียนมาก่อน

ในความเป็นจริงทางการเมืองเวลานั้นคือ เขมรแดง ซึ่งเป็นกองกำลังที่ได้รับการสนับสนุนอย่างไม่เป็นทางการจากหลายฝ่ายทั้งในระบบคิดความมั่นคงไทยเพราะมองว่า เขมรแดงช่วยต่อต้านเวียดนามในสนามรบนอกบ้านไทย เขมรแดงเป็นกำแพงสกัดกั้นเวียดนาม ในเวลาเดียวกัน ยังมีฝ่ายความมั่งคั่งทำมาค้าขายกับเขมรแดงหลายระดับ เมื่อเขมรแดงมั่นคง พวกเขาก็มั่งคั่งยั่งยืนชั่วนาตาปี

แล้วใครที่ไหนจะมาบังอาจทุบหม้อข้าวของพวกเขาได้

แล้วไอ้เปี๊ยกบ้านพิษก็เข้ามา…

 

ศึกในใหญ่หลวง

อาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ เล่าให้ผมฟังว่า

“…มีคนไม่ชอบพ่อมากอยู่แล้ว พ่อบอกว่าพ่อเป็นนายกฯ แก่แล้ว ต้องการความคิดใหม่ๆ ของคนรุ่นหนุ่มสาว อยากได้คนมากลั่นกรองข้อมูลจากฝ่ายราชการและฝ่ายการเมือง แกมาช่วยพ่อนะ…”

ด้วยอาจารย์ไกรศักดิ์เรียนมาทางด้านรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ อีกทั้งสนใจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมีอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์กำลังทำวิจัยเกี่ยวกับเขมรแดง และได้รับการติดต่อกับผู้นำเขมรแดงให้เขาไปพูดคุยด้วยหลายครั้ง อาจารย์ไกรศักดิ์จึงตัดสินใจเข้าช่วยงาน แกบอกว่า

“…เขาเรียกว่า บ้านพิษณุโลก ไม่รู้ใครตั้ง แต่เป็นบ้านพิษของใครๆ เลยถูกใครต่อใครรุม…จนยับเยินเลย…”

ไม่น่าเชื่อ คนไม่เห็นด้วยเรื่องอินโดจีนและปัญหากัมพูชามากเหลือเกิน ประเด็นสำคัญคือ การยังคงบทบาทของเวียดนามผ่านระบอบเฮง สัมริน ต่อไป หรือเปลี่ยนสมการการเมืองใหม่ เมื่อปลดปัญหากัมพูชา

ขั้นต่อไปคือ บูรณะ ฟื้นฟูและพัฒนาอินโดจีนขึ้นมาใหม่

ทว่าไม่ง่ายอย่างที่คิด ศึกในใหญ่หลวงนัก

ฝ่ายหนึ่งคือ หน่วยงานด้านนโยบายต่างประเทศ ฝ่ายความมั่นคงและบางส่วนของกองทัพคานเวียดนามในระดับนานาชาติ ร่วมมือกันอย่างลับๆ กับเขมรแดงซึ่งเป็น ตัวแทน ทางอำนาจและกองกำลังที่แท้จริงในอินโดจีนเวลานั้น

น่าสนใจ บ้านผู้นำต่างอยู่ใกล้กันนิดเดียวในซอยราชครู แต่ไม่เคยพูดคุยกันเรื่องนี้เลย

ช่วงนั้นตกลงกันว่าหากมีการเคลื่อนไหวโดยทีมของนายกรัฐมนตรีจะต้องแจ้งให้กับหน่วยงานด้านความมั่นคงรู้ด้วย

ตรงกันข้าม อาจารย์ไกรศักดิ์เดินทางลับๆ ไปแล้ว แล้วค่อยส่งจดหมายราชการทางไปรษณีย์ ติดแสตมป์ส่ง

หน่วยนโยบายก็เต้นนะซิครับ เพราะไม่รู้ว่าเขาไปเจรจาอะไรกัน

พาฮุน เซน พันธมิตรเวียดนามมาพักที่โรงแรมใหญ่ในกรุงเทพฯ โดยเลือกโรงแรมตึกสูง เพื่อให้ผู้นำเห็นความเจริญของกรุงเทพฯ ฝ่ายนโยบายก็เต้นเพราะไม่รู้เรื่องมาก่อน ผมถามอาจารย์ไกรศักดิ์ว่าทำเช่นนั้นทำไม แกตอบผมว่า

“…ฮุน เซน ไม่ใช่แค่ชาวนา เขาผ่านการเมืองโชกโชนทั้งในป่า ในเมืองและนานาชาติ แถมฉลาดมาก ที่สำคัญเขายังหนุ่มแน่น สำคัญมากเขาเป็นคนคุมกำลังหลักแท้จริงในกัมพูชาเวลานั้น ตรงนี้ไม่มีใครมองเลย…วันนั้นฮุน เซน เอ่ยปากออกมาว่า เมืองไทยช่างเจริญเหลือเกิน เมื่อไรกัมพูชาจะเจริญแบบนี้มั่ง…”

แล้วสหบาทาก็รุมถล่มอาจารย์ไกรศักดิ์ แต่ว่า ศึกนอกใหญ่หลวงกว่า

 

ศึกนอกใหญ่หลวงกว่า

ตอนนั้น สมการการเมืองเป็นดังนี้ คนที่สนับสนุนเขมรแดงแท้จริงคือจีน แล้วจะทำอย่างไรจึงจะให้จีนลดบทบาทความช่วยเหลือเขมรแดง

การเดินทางลับๆ ไปปักกิ่งของอาจารย์ไกรศักดิ์ก็เกิดขึ้น

อาจารย์เล่าให้ฟังว่า ทางการจีนโกรธเรามาก ทว่าก็ต้อนรับเราอย่างดี

คนวงในแนะนำว่า ต้องไปขอความช่วยเหลือครูของผู้นำจีนท่านนั้น ธรรมเนียมจีนเคารพครู อาจารย์ไกรศักดิ์เล่าให้ฟังว่า

“…ผมได้ไปบ้านพักเล็กๆ ของครูผู้นำจีนท่านนั้น ครูคนนี้เป็นที่เคารพอย่างสูง บ้านของท่านเล็กนิดเดียว เป็นบ้านเก่าแก่ที่ซ่อนอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ในเมืองใหญ่นั่นเอง…แต่ท่านก็เมตตา แล้วจีนก็ลดและเลิกสนับสนุนเขมรแดง…”

นี่คือที่มาของการเปลี่ยนสมการการเมืองในอินโดจีนที่ใจกลางปัญหา

แล้วแสงสว่างแห่งสันติภาพก็เริ่มฉายออกมา ผมถามด้วยความโง่ว่า แล้วสันติภาพในอินโดจีนก็บรรเจิดเลยใช่ไหม

แกบอกว่า มันไม่ง่ายอย่างนั้นเลย พวกเรายังเหนื่อยอีกนาน ยังถูกกล่าวหาต่างๆ นานา เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายอีกหลายครั้งหลายหน สำเร็จบ้าง เจ็บปวดบ้าง คนกล่าวหาบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง

แต่พวกเราก็ต้องอดทน รอ รอและรอต่อไป

เบื้องหลังสันติภาพยังมีอีกมาก

โปรดติดตามด้วยใจระทึก

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่