Ashmina Ranjit ศิลปินหลากสื่อผู้ขับเคลื่อนโลกด้วยศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา เราบังเอิญได้ไปเยี่ยมเยือนศิลปินร่วมสมัยคนสำคัญของเอเชียผู้หนึ่งถึงสตูดิโอ (ทางออนไลน์) และได้ฟังบรรยายเกี่ยวกับตัวตนและผลงานของเธอทางวิดีโอคอลส์

ในตอนนี้เลยถือโอกาสหยิบเอาเรื่องราวของเธอมาเล่าสู่ให้อ่านกัน

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

แอชมินา รานจิต (Ashmina Ranjit)

ศิลปินหลากสื่อ (Multidisciplinary) ชาวเนปาล ผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ

เธอทำงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบทบาททางวัฒนธรรม สิทธิมนุษยชน ประเด็นทางเพศ เพศสภาวะในสังคม และประเด็นเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมการเมืองต่างๆ

เธอแสดงผลงานและสร้างสรรค์โครงการศิลปะหลากหลาย ทั้งในเอเชีย, สหรัฐอเมริกา, ยุโรป และออสเตรเลีย

แอชมินายังเป็นผู้ก่อตั้งพื้นที่ศิลปวัฒนธรรมทางเลือกอย่าง LASANAA, ASMITA (องค์กรผลิตสิ่งพิมพ์และทรัพยากรสื่อเกี่ยวกับสตรี)

และเป็นตัวแทนของประเทศเนปาล ในเทศกาลศิลปะนานาชาติกาฐมาณฑุ (Kathmandu International Art Festival) ครั้งแรก ในปี 2009

แอชมินาเป็นศิลปินศิลปะแสดงสดแนวคอนเซ็ปช่วลระดับแนวหน้าของเนปาล

Beyond Recognition (2014)

ผู้ผลักพรมแดนของนิยามแห่งความเป็นโพสต์โมเดิร์นในวงการศิลปะร่วมสมัยของเนปาลให้กว้างไกลออกไป

ด้วยผลงานศิลปะแสดงสดและศิลปะจัดวางที่ปะทะและตั้งคำถามต่อผู้ชมอย่างตรงไปตรงมาของเธอ ที่ท้าทายและเผชิญหน้ากับค่านิยมอันคับแคบทางวัฒนธรรมเนปาลอย่างมหาศาล

แอชมินาแสดงออกถึงความมุ่งมั่นในฐานะศิลปินและนักเคลื่อนไหวทางสังคม ด้วยสิ่งที่เธอนิยามว่าเป็น “artivism” หรือ “การขับเคลื่อนด้วยศิลปะ” ที่เธอปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

เธอจงใจวางตัวเองเป็นศิลปินโลกที่สาม ด้วยผลกระทบจากการถูกผลักให้เป็นอื่นในวัฒนธรรมของตัวเอง สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นผ่านผลงานของเธอตลอดมา

ผลงานของเธอมักสื่อสารเกี่ยวกับประเด็นทางวัฒนธรรมในเอเชียใต้ ทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ความคับแคบทางวัฒนธรรมและการเมืองทางเพศผ่านสื่ออันหลากหลายกว้างไกล ไม่ว่าจะเป็นงานจิตรกรรม, ภาพพิมพ์, ศิลปะจัดวาง, ศิลปะแสดงสด ฯลฯ

เธอยังทำงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางเพศและความปรารถนาของผู้หญิง โดยนำเสนอผ่านเนื้อหาอันแหวกขนบ ที่ไม่เพียงสร้างประสบการณ์ทางสุนทรียะให้แก่ผู้ชม หากแต่ยังมุ่งเน้นในการกระตุ้นเร้าให้ผู้ชมรู้สึกตึงเครียดและกระอักกระอ่วน เพื่อตั้งคำถามถึงประเด็นที่ว่า รวมถึงประเด็นอื่นๆ อย่างสังคมการเมือง การอพยพพลัดถิ่น

และความทรงจำทางวัฒนธรรมอีกด้วย

Adhikaar (2008)

“การเกิดมาพร้อมกับมดลูก มอบประสบการณ์อันแตกต่างให้ฉันอย่างแท้จริง ไม่เพียงกับร่างกาย แต่ในประเทศเนปาลที่ฉันอยู่ เป็นสังคมชายเป็นใหญ่ ถ้าคุณเกิดเป็นผู้หญิง คุณก็จะถูกปฏิบัติอย่างแตกต่าง ไม่เท่าเทียมกับผู้ชาย สิ่งนี้เป็นประสบการณ์ที่ส่งอิทธิพลให้ฉันสร้างงานออกมาอย่างที่มันเป็น”

เมื่อครั้งที่แอชมินายังเล็ก เธอกำลังมองไปที่ก้อนเมฆบนท้องฟ้าเพราะเธอต้องการเป็นอิสระ แต่ย่าของเธอกลับบอกให้เธอหยุดมองเมฆ เพราะผู้หญิงเราไม่ได้เป็นอิสระเหมือนก้อนเมฆ มันรังแต่จะทำให้เธอเศร้าเสียเปล่าๆ

หลังจากนั้นเธอก็เฝ้ามอง เสาะหา และเฝ้าฝันถึงอิสรภาพที่ว่านั้นเป็นเวลาหลายต่อหลายปี

ด้วยเหตุนี้เธอจึงเคยใฝ่ฝันอยากเป็นนักบิน เพื่อจะได้อยู่ท่ามกลางมวลหมู่เมฆ แต่ด้วยความที่เธอเติบโตในแวดล้อมของหมู่ศิลปินในครอบครัวของเธอ

ท้ายที่สุด เธอจึงต้องเข้าเรียนที่โรงเรียนศิลปะ ซึ่งเธอเองก็ประหลาดใจที่พบว่าตัวเองนั้นชอบศิลปะ

เธอเริ่มหลงใหลในการวาดภาพ และวาดในสิ่งที่เธอสนใจที่สุด นั่นก็คือ “ผู้หญิง”

Glocal We and Our Kathmandu (2012)

ถึงแม้เธอจะฝึกฝนการวาดภาพสีน้ำมันและลายเส้นจนเชี่ยวชาญ แต่ด้วยข้อจำกัดของสื่อประเภทนี้ที่ไม่อาจตอบสนองแก่นแท้ของสิ่งที่เธอเฝ้าเพียรเสาะหาได้

เพราะเธอปรารถนาที่จะก้าวเดินไปข้างหน้าและเป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง

เธอไม่ต้องการเป็นเช่นเดียวกับศิลปินชั้นครูในอดีต

ดังนั้น เธอจึงไม่ต้องการเสาะหาสื่อวัสดุในการทำงานศิลปะอื่นใด

Passage – Search Interdefinite (2014

หากแต่ต้องการเสาะหาว่าอะไรเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดเสียงที่แท้จริงของเธอออกมาได้

ผลลัพธ์ของการเสาะหาคือการที่เธอค้นพบสื่อใหม่ๆ โดยไม่รู้ตัว อย่างศิลปะจัดวาง และศิลปะที่สัมพันธ์กับพื้นที่และเวลา อย่างศิลปะเสียง, วิดีโอ

และท้ายที่สุด เธอใช้ร่างกายตัวเองเป็นสื่อในการทำงานในงานศิลปะแสดงสด (Performance art) นั่นเอง

ด้วยบริบททางสังคมการเมืองของเนปาล “artivism” (การขับเคลื่อนด้วยศิลปะ) ของเธอ เปิดโอกาสให้เธอสร้างนิยามใหม่ๆ เกี่ยวกับแนวคิดทางศิลปะ รวมถึงยกระดับสถานภาพที่เคยด้อยโอกาสและถูกกดทับของผู้หญิง

Nepals Present Situation (2004)

และตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนและนโยบายของรัฐ

นอกจากทำงานศิลปะในรูปแบบต่างๆ แล้ว แอชมินายังริเริ่มเวิร์กช็อปต่างๆ ที่สร้างความเชื่อมโยงสมาชิกของชุมชนเข้าไว้ด้วยกัน และสร้างสภาพแวดล้อมทางศิลปวัฒนธรรมสำหรับผู้คนชาวเนปาลและศิลปะนานาชาติ ด้วยองค์กรที่ขับเคลื่อนสังคมด้วยศิลปะต่างๆ ของเธอ

ปัจจุบันแอชมินาสร้างสรรค์ผลงานจากสิ่งรอบๆ ตัวที่มีอยู่ในสภาพแวดล้อมอย่างชุมชน ท้องถนน อากาศ ไปจนถึงท้องฟ้า

เมื่อมองย้อนกลับไป ความปรารถนาวัยเด็กที่อยากจะล่องลอยอย่างอิสระเช่นเดียวกับก้อนเมฆของเธออาจไม่ได้เป็นจริงทางกายภาพ หากแต่เป็นจิตวิญญาณของเธอต่างหาก

“ศิลปะของฉันมีรากเหง้าอยู่ที่ความต้องการที่จะกลับไปเยี่ยมเยือนวัฒนธรรมของเอเชียจากมุมมองของผู้หญิงและความเป็นชุมชน สิ่งเหล่านี้เป็นพลังที่ผลักดันให้ฉันสร้างสรรค์งานศิลปะ สำหรับฉัน ความรัก, ความยุติธรรมทางสังคม, เสรีภาพ, ความเท่าเทียม, และสิทธิความเป็นมนุษย์, การอยู่อาศัยในสังคม, ในประเทศ และในโลกใบนี้ เป็นแง่มุมที่สำคัญที่สุดของชีวิต

Feminine Force (2010)

ฉันสร้างงานภาพเขียน งานวาดเส้น งานวิดีโอ ศิลปะจัดวาง ศิลปะเสียง และศิลปะแสดงสดเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมการเมืองที่มุ่งเน้นไปที่อัตลักษณ์และตัวตนของเพศหญิงอย่างมาก ผลงานของฉันตั้งคำถามกับบทบาททางวัฒนธรรมและบทบาททางเพศของผู้หญิง

และในขณะเดียวกันก็เรียกร้องสิทธิในการมีปากมีเสียงทางสังคมการเมือง และเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้แสดงออกถึงความปรารถนา ความสุข และความสมหวัง ทั้งประสบการณ์ทางกาย ทางเพศ และทางจิตใจ”

แอชมินาทำงานศิลปะทั้งในโครงการเดี่ยวและร่วมงานกับศิลปินหลายต่อหลายคน เธอยังเชื้อเชิญให้ผู้ชมมีส่วนร่วมในผลงานของเธอ ที่ตั้งคำถามกับความอยุติธรรมทางสังคม, การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการใช้ความรุนแรงที่มีอย่างต่อเนื่องทั้งในเนปาลและรอบโลก และเปิดโอกาสให้พวกเขาแสดงออกถึงความเป็นตัวตนของตัวเอง และหยิบยกประเด็นปัญหาต่างๆ ของพวกเขาออกมาเพื่อสร้างความตระหนักรู้และหาทางแก้ปัญหาเหล่านั้น

Nepals Present Situation (2004)

จริงอยู่ ที่ผลงานศิลปะของเธออาจไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชน สังคม และโลกรอบตัวโดยฉับพลันทันใด แต่พลังอันเปี่ยมล้นและการเข้าถึงคนทุกชนชั้นของมันก็ค่อยๆ สร้างความเคลื่อนไหวทีละเล็กทีละน้อย และส่งแรงบันดาลใจที่กระตุ้นให้ผู้คนตระหนักรู้และลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในที่สุด

เข้าไปชมผลงานของเธอได้ที่ http://ashminaranjit.com.np/, https://bit.ly/3fGG29K

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก http://ashminaranjit.com.np/, https://ashmina.wordpress.com/, https://bit.ly/3bsFUai ขอบคุณคุณกฤติยา กาวีวงศ์ ที่เชื้อเชิญให้ร่วมเข้าเยี่ยมสตูดิโอศิลปิน