E-DUANG : ลักษณะ กองหน้า สะพานเชื่อม ปฏิบัติการ # ตามหาความจริง

บทบาทของ #ตามหาความจริง คือ บทบาทของกระบวนการปักธงในทางความคิด คือ บทบาทของกองหน้าในสถานการณ์ฟื้นรำลึกสภาพการณ์อันเป็นบาดแผลในทางการเมือง

เพียงแต่คราวนี้อาศัยการยิง”เลเซอร์” เพียงแต่คราวนี้อาศัยบทบาทของ “โปรเจ็คเตอร์”

เหมือนกับยิงเข้าที่”ตึก”ทั้งๆที่เป้าแท้จริงคือ”หัวใจ”

ไม่ว่าจะเป็นท่านซุนวู ไม่ว่าจะเป็นท่านเคลาซวิทซ์ สรุปตรงกันว่า ชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมิได้อยู่ที่การยึดครองเมือง หากแต่อยู่ที่การยึดครองใจ

การต่อสู้เนื่องในวาระครบ 10 ปีของสถานการณ์เมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 จึงมิได้อยู่ที่การชุมนุมเหมือนที่เคยทำเมื่อ 10 ปีก่อน

หากแต่เป้าหมายสำคัญอย่างที่สุดก็คือ การเบียดแทรกเข้าไปยึดครองพื้นที่ในทางความคิดจากกลุ่มที่ครอง”อำนาจนำ”

การสร้างอำนาจนำผ่านกระบวนการทางความคิดจึงสำคัญ

 

ไม่ว่าความตื่นตระหนกอันมาจากทำเนียบรัฐบาล ไม่ว่าความตื่นตระหนกอันมาจากกระทรวงกลาโหม ไม่ว่าความตื่นตระหนกอันมาจากบางส่วนของพรรคและกลุ่มทางการเมือง

นั่นคือ รูปธรรมที่ตอกย้ำและยืนยันให้เห็น”บาดแผล”ในทางจิตใจซึ่งดำรงอยู่ในสังคมไทย

ปัจจัยสำคัญ คือ การสร้างภาพจำ รำลึก

ไม่ว่าวาทกรรมผังล้มเจ้า ไม่ว่าวาทกรรมขอคืนพื้นที่ ไม่ว่าวาทกรรมกระชับพื้นที่ ไม่ว่าวาทกรรมควายแดง ไม่ว่าวาทกรรมเผาบ้านเผาเมือง

เหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องมือ เป็นกองหน้าก่อรูปในทางความคิด ก่อนลงมือปฏิบัติการทางการเมือง

ไม่ว่าการเมืองที่ไม่หลั่งเลือด ไม่ว่าการเมืองที่หลั่งเลือด

การต่อสู้ในสมรภูมิเดียวกันนี้จึงจำเป็นต้องรุกเข้าไปแย่งชิงและยึดพื้นที่ในทางความคิด รื้อความคิดเก่าอันเคยเป็นอำนาจนำ และสร้างความคิดใหม่เข้าไปแทนที่

ไม่ว่าในสถานการณ์ใด มีหรือไม่มีภาวะฉุกเฉิน การรุกทางความคิด การปักธงทางความคิดสามารถก่อให้เกิดขึ้นได้

ไม่ว่าด้วยการยิง”เลเซอร์” ไม่ว่าด้วย “ไวรัล”อันร้อนแรง

 

คล้อยหลังปฏิบัติการ # ตามหาความจริง ได้เกิดการเคลื่อนไหวจาก นายจตุพร พรหมพันธุ์ จาก นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ด้วยความคึกคัก

ก่อให้เกิดการประสานระหว่างพลังใหม่กับพลังของคนรุ่นก่อนด้วยความอบอุ่น

นี่คือบทบาทของ”กองหน้า”และ”สะพานเชื่อม”