คนมองหนัง : คำถามตกค้าง จาก “All Things Must Pass”

คนมองหนัง

นิยามของความเป็น “หนังสารคดีที่ดี” อาจมีอยู่สองนัย

นัยแรก คือ การเป็นหนังที่มอบคำตอบหรือไขข้อข้องใจบางอย่างให้แก่ผู้ชม ต่อประเด็นคำถาม ซึ่งพวกเขาสงสัยใคร่รู้มาเนิ่นนาน

นัยที่สอง คือ การเป็นหนังที่ก่อให้เกิดคำถามชุดใหม่ๆ ซ้อนทับลงบนคำถามตั้งต้นดั้งเดิม อันเป็นโจทย์หลักของสร้างภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ

ผมไม่แน่ใจว่า “โคลิน แฮงก์ส” (ลูกชายของนักแสดงดัง “ทอม แฮงก์ส”) ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “All Things Must Pass” ที่บอกเล่าเรื่องราวความรุ่งโรจน์และร่วงโรยของ “ทาวเวอร์เร็กคอร์ดส” ตั้งใจจะวางตำแหน่งแห่งที่ของหนังเรื่องนี้ไว้ตรงจุดไหน?

แต่โดยส่วนตัว ผมรู้สึกว่า ถ้าภาพยนตร์ของแฮงก์สจะมีส่วนเสี้ยวที่ดีงามอย่างยิ่ง ส่วนเสี้ยวดังกล่าวก็เกิดจากการทำหน้าที่เป็นหนังสารคดี ตามนัยยะความหมายประการที่สอง

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าหนังจะละเลยภาระหน้าที่ตามนัยยะความหมายแรก

คนดูย่อมสัมผัสได้ชัดเจนว่า แฮงก์สพยายามแสวงหาคำตอบอย่างซีเรียส ว่าทำไมกิจการร้านขายแผ่นเสียง-แผ่นซีดีเพลงระดับโลกถึงพังทลายลงมาเรียบวุธ (ยกเว้นที่ญี่ปุ่น และในกรณีเล็กๆ ที่ไอร์แลนด์)

ยิ่งกว่านั้น เขายังพาผู้ชมย้อนกลับไปทบทวนความรู้สึกดีๆ เชิงโหยหาอดีต ของคนทำงานรุ่นแรก ที่ร่วมกันก่อร่างสร้างทาวเวอร์เร็กคอร์ดสขึ้นมา ภายใต้การนำของ “รัสส์ โซโลมอน” ตลอดจนความประทับใจ ซึ่งศิลปินชื่อดังบางรายมีต่อร้านขายแผ่นเสียง-ซีดีเจ้านี้

อาทิ เอลตัน จอห์น และ บรูซ สปริงส์ทีน ที่มองทาวเวอร์เร็กคอร์ดส จากสายตาของลูกค้ารายใหญ่ และ เดฟ โกรล ที่มองผ่านประสบการณ์ของการเป็นอดีตพนักงานภายในร้าน

 

“All Things Must Pass” เผยให้เห็นถึงปัญหาของทาวเวอร์เร็กคอร์ดส ว่ากิจการอุตสาหกรรมบันเทิงดังกล่าวมิได้ล่มสลายลงเพียงเพราะวัฒนธรรมฟังเพลงฟรีผ่านช่องทางออนไลน์ อันมีจุดกำเนิดอยู่ที่บริการอย่าง “แนปสเตอร์”

เท่าที่ผมจับประเด็นจากหนังได้ ดูเหมือนจะมี “สามปัจจัยใหญ่ๆ” ซึ่งส่งผลต่อภาวะอวสานของทาวเวอร์เร็กคอร์ดส

ปัจจัยข้อแรก อาจเกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมการฟังเพลงฟรีในโลกออนไลน์ แต่หนังและผู้เกี่ยวข้อง ก็ไม่ได้มองอินเตอร์เน็ต เป็นเอเลี่ยนตัวร้ายผู้บุกมารุกรานวัฒนธรรมดนตรีเสียทีเดียว

หากพวกเขามีมุมมองที่สอดคล้องต้องตรงกันว่า ทาวเวอร์เร็กคอร์ดส คือหนึ่งในกิจการขนาดใหญ่ ซึ่งปรับตัวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี

เช่น การยืนกรานจะขายซีดีเป็นอัลบั้ม โดยละทิ้งการจำหน่ายแผ่นซิงเกิลเพลงฮิตจำนวน 2-3 เพลง/แผ่น ซึ่งมีราคาถูกกว่า ขณะเดียวกัน ก็ยังคิดค้นรูปแบบการขายเพลงผ่านระบบออนไลน์เป็นรายเพลง ดังในกรณีของแอปเปิ้ล ไม่ออก (ซึ่งเป็นสิ่งที่ทาวเวอร์เร็กคอร์ดสและบรรดาค่ายเพลงต้องรับผิดชอบร่วมกัน)

หรือการตั้งราคาแผ่นซีดีให้แพงกว่าร้านอื่นๆ (ซึ่งข้อนี้ ทาวเวอร์เร็กคอร์ดสต้องแบกรับความบกพร่องไปเต็มๆ)

ปัจจัยที่สองและสาม น่าจะมีความเกี่ยวพันกันอยู่ นั่นคือ ทาวเวอร์เร็กคอร์ดสล้มเพราะขยายกิจการเกินตัว โดยเฉพาะการเปิดสาขามากมายในต่างประเทศ และผู้บริหารรุ่นบุกเบิกเองก็คล้ายจะจัดการกับธุรกิจของบรรษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกได้ไม่อยู่มือนัก

 

ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ถ่ายทอดให้เห็นอย่างอ้อมๆ (ผ่านคำบอกเล่าของผู้เกี่ยวข้องกับบริษัทหลายต่อหลายราย) ว่าการบริหารจัดการงานภายในทาวเวอร์เร็กคอร์ดสมีลักษณะเป็นแบบบ้านๆ (ซึ่งจะค่อยๆ ผันตัวเองกลายเป็นองค์กรอนุรักษนิยม/ครอบครัวนิยม ณ เบื้องท้าย) และไม่เป็นทางการ

ผิดกับรูปแบบการบริหารงานของบรรษัทข้ามชาติใหญ่ๆ หลังปี 2000 เป็นต้นมา

พวกเขามีหัวเรือใหญ่ คือ รัสส์ โซโลมอน ซึ่งเป็นทั้งเจ้าไอเดีย, เสี่ยสั่งลุย และผู้พร้อมรับฟังความเห็นแปลกๆ แหวกแนวจากน้องๆ ในร้าน/บริษัท ขณะที่มี “บัด มาร์ติน” เป็นคนคอยควบคุมวินัยทางการเงินของบริษัทอย่างเข้มงวดกวดขัน

ครั้นพอดุลอำนาจระหว่าง “สองผู้นำ” พังลง สัญญาณความเสื่อมเบื้องต้นก็เริ่มปรากฏขึ้น

การขยายตัวของกิจการทาวเวอร์เร็กคอร์ดสดำเนินไปอย่างง่ายๆ โดยมีกำลังสำคัญยุคแรกเริ่มเป็นเครือญาติและเด็กๆ แถวร้านขายยาของครอบครัวโซโลมอน รวมถึงเพื่อนๆ ของเด็กเหล่านั้นอีกที

รัสส์ตัดสินใจเปิดสาขาใหม่ๆ อย่างง่ายดาย หลังขับรถไปหลับนอนกับหญิงสาวที่ต่างเมือง แล้วตื่นขึ้นมาเห็นตึกว่างซึ่งถูกประกาศขาย

สาขาแรกๆ ของทาวเวอร์เร็กคอร์ดส ใช้จ่ายเงินในการปรับปรุงตกแต่งร้านอย่างถูกแสนถูก จากฝีมือช่างของญาติใกล้ตัวรัสส์

ต่อมา พนักงานขายแผ่นรุ่นแรกก็เติบโตกลายเป็นผู้จัดการร้าน, ผู้จัดการภูมิภาค และรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านต่างๆ ตามลำดับ ก่อนที่ทั้งหมดจะถูกบีบบังคับให้ต้องแยกย้ายจากกัน เพราะสถานะล้มละลายของกิจการ

วงจรชีวิตของทาวเวอร์เร็กคอร์ดส จึงเริ่มต้นจากความสนุก, ความมัน, ความเป็นกันเอง อันนำไปสู่การประคับประคองกิจการขนาดเล็ก/กลาง ได้อย่างอยู่มือและประสบความสำเร็จ

แต่เมื่อธุรกิจถูกขยายใหญ่โตจนครอบคลุมฝั่งตะวันตกและตะวันออกของสหรัฐอเมริกา รวมทั้งอีกหลายสิบประเทศทั่วโลก

การทำงาน “สนุกๆ” แบบเดิม ก็คล้ายจะ “ไม่เวิร์ก” อีกต่อไป

 

หลังดูหนังจบ เกิดคำถามสองชุดใหญ่ๆ ขึ้นในหัวของผม

คำถามชุดแรก คือ ขณะที่พวกผู้บริหารทาวเวอร์เร็กคอร์ดส ซึ่งเติบโตมาจากการเป็นพนักงานขายแผ่นเสียงในยุคต้น กล่าวโทษการตัดสินใจขยายกิจการเกินตัวและการปรับตัวไม่ทันของตนเอง

พวกเขาแสดงความไม่เชื่อมั่นในตัวลูกชายของ รัสส์ โซโลมอน ที่ขึ้นมาสืบทอดกิจการแทนบิดา และไม่ยอมรับผู้บริหารหญิง “คนนอก” รายหนึ่ง ซึ่งเข้ามาทำงาน ภายหลังบริษัทถูกควบคุมกิจการโดยธนาคาร

จนสรุปว่าปัจจัยทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้นำไปสู่ความล่มสลายของธุรกิจ

สิ่งที่ผมรู้สึกสงสัยกลับกลายเป็นว่า จริงๆ แล้ว พวกพนักงานรุ่นแรก ซึ่งสุดท้ายได้ขยับขึ้นมาดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทฝ่ายต่างๆ ก่อนปิดกิจการนั้น เป็นผู้บริหารที่มีความสามารถขนาดไหน?

แน่นอน ไม่มีใครปฏิเสธว่าพวกเขาเป็นคนรักเสียงเพลงและเป็นพนักงานหรือผู้จัดการร้านขายแผ่นเสียง-ซีดีที่ดี เหมือนที่ เอลตัน จอห์น แสดงความประทับใจอย่างใหญ่หลวงต่อ “สแตน โกแมน” ในฐานะพนักงานขายระดับดีเยี่ยมประจำร้านสาขาแรกสุด (ไม่ใช่ในฐานะรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร)

ไม่มีใครปฏิเสธเช่นกันว่าพวกเขาบางคนเป็นนักบุกเบิกผู้มีลูกบ้าเหลือล้น อาทิ คุณพี่หนวดเฟิ้มอย่าง “มาร์ก วิดูซิช” อดีตพนักงานจัดจำหน่าย ที่หาญกล้าบินเดี่ยวไปแผ้วถางกิจการถึงในญี่ปุ่น

แต่คำถามสำคัญสุดท้ายที่ต้องย้ำชัดๆ (และหนังเองก็ไม่ได้ให้คำตอบอย่างกระจ่างเอาไว้) ก็คือ คนรักเสียงเพลงเหล่านี้เป็นผู้บริหารบรรษัทยักษ์ใหญ่ที่ดีแค่ไหน?

ทั้งในแง่ที่ว่าพวกเขารับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีได้ดีเพียงใด? และในทางกลับกัน พวกเขารักคนฟังเพลง/ผู้บริโภคจริงๆ หรือ? (ถ้ารัก ทำไมช่วงท้ายของยุคซีดี ทาวเวอร์เร็กคอร์ดสจึงขายแผ่นแพงกว่าร้านค้าเจ้าอื่น?)

หรือถ้ามองในอีกแง่มุมหนึ่ง ผู้บริหารหญิงที่เข้ามาหลังการควบคุมกิจการของธนาคาร ก็อาจตัดสินใจทำบางอย่างที่ถูกต้อง เพียงแต่กอบกู้ธุรกิจเอาไว้ไม่ทัน

เช่น กรณีที่เธอตัดสินใจเลิกผลิตนิตยสาร “พัลส์” ซึ่งเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ของทาวเวอร์เร็กคอร์ดส จนโดนรัสส์ โซโลมอน ให้สัมภาษณ์ด่าอย่างสาดเสียเทเสีย

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณากันแบบแฟร์ๆ ว่า ถ้าทาวเวอร์เร็กคอร์ดสมีอายุยืนยาวมาถึงปัจจุบัน และต้องปรับเปลี่ยนกิจการเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจใน ค.ศ. นี้ การยุบแผนกสื่อสิ่งพิมพ์ ก็อาจเป็นนโยบายประการแรกๆ ที่พวกเขา “ต้องทำ” อยู่ดี

 

คําถามชุดที่สอง คือ สรุปแล้ว คนญี่ปุ่นมีรูปแบบการบริโภคเพลงต่างจากคนในหลายประเทศทั่วโลกหรือไม่? อย่างไร?

ทำไมทาวเวอร์เร็กคอร์ดสจึงอยู่รอด และขยายสาขากว่า 80 แห่งไปทั่วประเทศญี่ปุ่น แต่ล้มเหลวในประเทศอื่นๆ

รัสส์ โซโลมอน พูดเอาไว้ในหนังว่า กิจการทาวเวอร์เร็กคอร์ดสที่ญี่ปุ่น (ซึ่งถูกขายให้บริษัทท้องถิ่น หลังจากธนาคารเข้ามาควบคุมธุรกิจของบริษัทแม่ที่สหรัฐ) ก็ทำเหมือนกับที่ “เรา” (บริษัทแม่) ทำนั่นแหละ แต่พวกเขาดันรอด

สำหรับผม เราอาจคิดต่อจากคำพูดของโซโลมอนได้สองแง่

แง่มุมแรก ใน “ความเหมือน” ย่อมต้องมี “ความต่าง” แฝงเร้นอยู่

หรืออาจกล่าวได้ว่า พวกผู้บริหารบริษัทแม่ที่อเมริกา คงต้องทำอะไรบางอย่างผิดพลาด กิจการจึงล้มลงไม่เป็นท่า ขณะที่ผู้บริหารทาวเวอร์เร็กคอร์ดสที่ญี่ปุ่น ซึ่งจัดการธุรกิจคล้ายๆ กัน กลับไม่ก่อความผิดพลาดตรงจุดนั้น กิจการที่นั่นจึงไม่ล้มเหลว แถมยังขยายตัวใหญ่โต

แง่มุมที่สอง ผู้บริหารทาวเวอร์เร็กคอร์ดสของทั้งสองประเทศอาจทำงานไม่แตกต่างกันเลยก็ได้ ทว่า วิถีการบริโภคของคนฟังเพลง ซึ่งมาจากคนละประเทศ/วัฒนธรรมต่างหากที่ผิดแผกกัน กระทั่งส่งผลต่อความอยู่รอดของกิจการเจ้าหนึ่ง และการปิดฉากลงของกิจการอีกเจ้า

หรือถ้าถึงที่สุด คนญี่ปุ่นยังนิยมฟังเพลงผ่านแผ่นซีดี/แผ่นเสียงกันอยู่ ก็น่าถามต่อว่า ทำไมพวกเขาจึงมีรสนิยมแบบนั้น? เพราะพวกเขาเคารพสิทธิของศิลปินดังที่วิเคราะห์กันคร่าวๆ หรือเพราะเหตุผล/ความแตกต่างทางวัฒนธรรมข้ออื่นๆ?

แม้จะยังไม่ค้นพบ “คำตอบ” อีกมากมายจาก “All Things Must Pass” แต่เพียงแค่ได้คิดตั้งคำถามชุดแล้วชุดเล่าต่อยอดจากหนัง

เท่านี้ ก็อาจคุ้มค่าตั๋วที่เสียไปแล้ว