คนมองหนัง | เปิดมุมคิด “2 ผู้กำกับหนังไทย” กลางสถานการณ์ “โควิด-19”

คนมองหนัง

ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ย่อมเป็นเรื่องปกติ ที่สื่อมวลชนสายบันเทิง-วัฒนธรรมทั่วโลก จะทำสกู๊ปสัมภาษณ์เหล่าคนทำหนัง ซึ่งส่วนใหญ่กำลังกักตัวเองอยู่ที่บ้านและไม่สามารถออกกองไปถ่ายทำภาพยนตร์ได้

มีคนทำหนังไทยหลายรายที่ได้เปิดมุมคิดว่าด้วยสภาวะอ่อนไหว ณ ปัจจุบันกับสื่อต่างชาติ

เริ่มต้นด้วย “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” นักทำหนังระดับโลกชาวไทย ที่ได้บอกเล่าถึงเรื่องราวการใช้ชีวิตของเขาในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนากับทางบริษัทจัดจำหน่ายภาพยนตร์ “แสตรนด์ รีลีสซิ่ง”

คำบอกเล่าของผู้กำกับฯ ดีกรีปาล์มทองคำ ถูกรายงานผ่านเว็บไซต์ “อินดี้ไวร์” ดังรายละเอียดต่อไปนี้

“ผมปลูกต้นมะยงชิดไว้ที่บ้าน ก่อนหน้านี้ผมแทบไม่เคยใส่ใจมันเลย เพราะผมมักต้องเดินทางไปอยู่อาศัยที่อื่นเกือบตลอดเวลา

“กระทั่งเมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อน ซึ่งผมเริ่มกลับมาใช้ชีวิตที่บ้าน ผมจึงได้ลองชิมมะยงชิดจากต้นไม้ดังกล่าว ผมพบว่ามันมีรสชาติที่น่าพอใจอย่างยิ่ง ทั้งหวาน, เปรี้ยว, สด นี่คือรสชาติแห่งฤดูร้อน

“ตอนนี้ผมเลยกินมะยงชิดทุกวัน ทั้งในระหว่างอาหารมื้อเช้าและมื้อค่ำ แล้วผมก็ส่งมะยงชิดจำนวนหนึ่งไปให้พี่สาวและแฟนเก่า จนถึงปัจจุบัน ผมยังสามารถเก็บเกี่ยวผลมะยงชิดจากต้นได้อย่างไม่รู้จบสิ้น เพราะมันยังคงออกผลใหม่ๆ มาอย่างไม่ยอมหยุดหย่อน

“ผมมองปรากฏการณ์นี้ในฐานะความพิศวงลึกลับที่ละม้ายคล้ายเวทมนตร์ ผมจ้องมองต้นมะยงชิดในยามค่ำคืนและพบจุดสีส้มมากมายปรากฏขึ้นท่ามกลางความมืดมิด

“โดยปกติ หากต้นไม้ที่บ้านของเราได้ผลิดอกออกผลในจำนวนมหาศาลผิดปกติ นั่นมักเป็นสัญญาณบอกว่าพวกมันกำลังพยายามแพร่ขยายพันธุ์ ก่อนที่จะต้องเผชิญหน้ากับความตาย

“ดังนั้น ผมจึงเฝ้ามองดอกไม้ไปพร้อมๆ กับการพิจารณาถึงมรณกรรม และผมก็กังวลว่าต้นมะยงชิดที่บ้านกำลังบ่งบอกถึงสารในลักษณะเดียวกัน ทั้งๆ ที่ผมเพิ่งจะได้เริ่มตระหนักถึงคุณค่าของมัน

“การครุ่นคำนึงถึงประเด็นดังกล่าวได้ส่งผลให้มะยงชิดแต่ละลูกมีรสชาติยอดเยี่ยมยิ่งขึ้นไปอีก ผมให้เกียรติแก่บทสนทนาที่ตนเองมีกับต้นไม้ต้นนี้ ด้วยการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ของผลมะยงชิดจำนวนมากเอาไว้เพื่อนำไปเพาะปลูก

“พวกมันจะเจริญเติบโตงอกงามในฤดูฝนที่กำลังย่างกรายเข้ามา” อภิชาติพงศ์ปิดท้ายเรื่องเล่าอย่างเปี่ยมความหวัง

เวลาใกล้เคียงกัน “ซินดี้” เว็บไซต์ว่าด้วยวงการภาพยนตร์อาเซียนจากประเทศสิงคโปร์ก็ได้พูดคุยกับบรรดานักทำหนังอิสระทั่วภูมิภาคนี้ ถึงประเด็นการใช้ชีวิต การทำงาน และความคาดหวังของพวกเขา ท่ามกลางการต้องกักตัวเองในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีคนทำหนังอินดี้ชาวไทยจำนวน 6 รายร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะด้วย

หนึ่งในนั้นคือ “อนุชา บุญยวรรธนะ” ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “อนธการ” และ “มะลิลา” และผู้ก่อตั้งบริษัท “จี-โมทีฟ โปรดักชั่น” บริษัทผลิตสื่อวิดีโอเจ้าใหญ่ของประเทศไทย

คำตอบของอนุชาสะท้อนความวิตกกังวลที่กำลังเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้เป็นอย่างดี

: ตอนนี้คุณกังวลเรื่องอะไรมากที่สุด?

“ฉันไม่รู้สึกหวาดกลัวเชื้อไวรัส ส่วนหนึ่งคงเพราะฉันเป็น LGBT และเคยมีประสบการณ์ช่วงเอชไอวีระบาดในทศวรรษ 1990 และ 2000 แม้ไวรัสโคโรนาจะมีความแตกต่างกับเชื้อเอชไอวีเป็นอย่างมาก แต่ประสบการณ์เมื่อครั้งนั้นก็ทำให้ฉันคุ้นเคยกับภาวะป่วยไข้และความตาย

“อย่างไรก็ดี ตอนนี้ฉันอาศัยอยู่กับพ่อและป้าๆ อาๆ พวกเขามีอายุเยอะและอ่อนไหวต่อเชื้อโรคเป็นพิเศษ ดังนั้น ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา พวกเราจึงจัดเตรียมมาตรการหลายๆ อย่างที่บ้าน เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา (ในกรณีที่ฉันไปติดเชื้อมาจากข้างนอก)

“อีกสิ่งหนึ่งที่ฉันกังวลมากๆ ก็คือ บริษัทของตัวเองและทีมงาน พวกเราต้องแสวงหาหนทางที่จะอยู่รอดจากไวรัส รวมทั้งอยู่รอดในการดำรงชีวิตและในทางเศรษฐกิจ”

: ตอนนี้คุณได้ดูหรือลงมือทำอะไรบ้าง?

“แน่นอน ฉันมีเวลาในการดูหนังและซีรี่ส์มากขึ้น ฉันเพิ่งได้ดู Kingdom of Heaven (director”s cut) ภาพยนตร์มหากาพย์เมื่อปี 2005 ของริดลีย์ สกอตต์ น่าแปลกใจที่หนังฉบับนี้มีคุณภาพดีกว่าเวอร์ชั่นที่ออกฉายในโรงภาพยนตร์

“นี่เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการเรียนรู้เรื่องการลำดับภาพ เพราะเราสามารถนำหนังสองฉบับมาเปรียบเทียบกัน เพื่อพิจารณาว่าอะไรถูกตัดออกไป และมันส่งผลอย่างไรต่อวิธีการเล่าเรื่อง

“ฉันยังมีโครงการสร้างภาพยนตร์ของตัวเอง ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาบท ดังนั้น นี่จึงเป็นเรื่องค่อนข้างดี ที่จะได้มีโอกาสประชุมทางออนไลน์กับทีมเขียนบท

“อย่างไรก็ตาม ฉันยังมีภาระต้องทำหนังโฆษณาจำนวนหนึ่ง และก็ประสบปัญหาแบบเดียวกันกับที่หลายๆ คนเจอ นั่นคืองานโฆษณาเหล่านั้นถูกยกเลิกทั้งหมด พวกเราไม่สามารถออกกองได้ เมื่อลูกค้าตัดสินใจระงับทุกโปรเจ็กต์เอาไว้ เพราะไม่ต้องการจะใช้จ่ายเงินในช่วงเวลานี้”

: คุณเฝ้ารออะไร หลังจากสถานการณ์นี้สิ้นสุดลง?

“เมื่อไม่นานนี้ ฉันได้ปรึกษาหารือกับนักทำหนัง, ผู้กำกับฯ, โปรดิวเซอร์ และบุคลากรในวงการภาพยนตร์อีกหลายคน พวกเราพยายามจัดทำข้อกำหนดมาตรฐานเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในกองถ่ายหนังและทีวี

“ข้อกำหนดดังกล่าวจะต้องมีรายละเอียดมากกว่าการให้ใส่หน้ากากและล้างมือ นี่เป็นความท้าทาย เพราะกองถ่ายคือสถานที่ที่ผู้คนเข้ามารวมตัวและสัมผัสกัน (ผ่านการแสดง, การกำกับฯ, การจัดการกอง และการกินอยู่) รวมถึงใช้สิ่งของร่วมกัน (กล้อง, เครื่องไม้เครื่องมืออื่นๆ, เครื่องแต่งกาย, อุปกรณ์ประกอบฉาก และเครื่องสำอาง เป็นต้น)

“ข้อกำหนดที่เราจัดทำได้ถูกเสนอไปยังกระทรวงสาธารณสุขเรียบร้อยแล้ว และอาจต้องใช้เวลาอีกระยะเพื่อรอการอนุมัติและประกาศใช้

“ฉันยังพูดคุยถึงสถานการณ์ในช่วง 1-3 เดือน (หรือยาวนานกว่านั้น) ภายหลังจากห้วงเวลาของการป้องกันการแพร่ระบาดในระดับเข้มข้นได้ยุติลง

“ตอนนั้น โรงภาพยนตร์อาจยังต้องปิดทำการต่อ แต่ฉันคิดว่ามันมีความจำเป็นที่กองถ่ายจะต้องกลับมาทำงานกันอีกครั้ง อย่างน้อยก็สำหรับสื่อโทรทัศน์และออนไลน์ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้คนที่ทำงานในกองถ่ายจำนวนมากต้องว่างงานนานจนเกินไป และยังเป็นการช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมภาพยนตร์อีกด้วย”

เนื้อหา-ภาพประกอบจาก

https://www.indiewire.com/2020/04/apichatpong-weerasethakul-coronavirus-message-1202222960/

https://www.sindie.sg/2020/04/much-ado-about-nothing-southeast-asian.html

http://www.kickthemachine.com/