เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | แดนนี่และผองเพื่อน

วิกฤตห่าโควิด-19 แผลงฤทธิ์เอากับคนเป็นผลร้ายวายป่วงไปทั้งโลก

แต่ผลดีก็มีเกินคาด ด้วยมันทำให้โลกสะอาด เมืองสงบ ผู้คนได้เก็บเนื้อเก็บตัว ครอบครัวอบอุ่น

โลกเหมือนจะพลิกกลับสู่ด้านตรงข้าม ที่คนดูจะเคยโหยหากันมาก่อน

ข่าวเมืองเวนิส อิตาลีว่า แม่น้ำลำคลองกลับมาสะอาดใส ปลาโลมากลับมาผุดว่ายอยู่ชายฝั่งให้คนได้ชื่นชมกัน

นี่ถ้าโควิดซา คนจะได้รับบทเรียนเรื่องรักโลกรักชีวิตมากขึ้นสักปานใด

อย่างน้อยครูสลา คุณวุฒิ มีเพลงใหม่ออกมาแล้ว ชื่อ “โควิดซา สิมากอด”

โอกาสได้หมกตัวอยู่กับบ้าน เป็นเวลาดียิ่งที่จะได้ค้นหนังสือเก่าเก็บออกมาอ่านอย่างละเอียดกันอีก แม้จะเคยอ่านแล้ว แต่ก็เหมือนได้อ่านใหม่อย่างจริงจังไม่เบื่อเลย

เล่มนี้คือ “โลกียชน” สำนวนแปลของประมูล อุณหธูป จากเรื่อง TORTILLA FLAT แต่งโดยจอห์น สไตน์เบ็ค นักเขียนอเมริกันรางวัลโนเบลไพรซ์

ประมูล อุณหธูป หรือ “คุณมูล” ของเหล่านักเขียนนั้นเป็นยอดนักวรรณศิลป์ชั้นเอกอุ ภาษาของคุณมูลคือเพชรยอดมงกุฎของวรรณกรรมไทยโดยแท้

หนึ่งในเพชรน้ำเอกของจอห์น สไตน์เบ็ค คือเรื่อง ทอร์ทีย่า แฟลต นี้

และหนึ่งในเพชรน้ำเอกงานแปลของประมูล อุณหธูป ก็คือโลกียชน เล่มนี้

อาจินต์ ปัญจพรรค์ เขียนถึง “คุณมูล” จากงานแปลเรื่องนี้ว่า

“ผมสามารถอ้อยอิ่งอยู่กับประโยคที่คุณมูลแปลเรื่องนี้อย่างอภิรมย์…”

อ่านประโยคนี้แล้ว ก็เลยลองพลิกหน้าหนังสือได้มาประโยคหนึ่ง ดังนี้

“…ดวงตะวันพบรูเรี้ยวตามร่มพฤกษาเข้าก็สาดแสงเจิดจ้าลงระดาษลวดลายกับพรมฝอยสน…”

กมล ทัศนาญชลี ศิลปินสองแผ่นดิน คือ ไทย-อเมริกาเคยพาตระเวนถึงถิ่นมอนเทอเร่ย์ เมืองริมทะเลที่บริเวณเทอร์ทีย่า แฟลต อยู่เหนือเนินป่าสนขึ้นไป ได้แต่เห็นหมู่หินริมหาดมีปูสีแดงตัวเล็กตัวน้อยไต่กันยุบยับ เสียดายไม่มีเวลาได้ละเลียดบรรยากาศ ดังสองนักประพันธ์เอกอุเขียนและแปลไว้อย่างมีชีวิตชีวานั้น

โดยเฉพาะชีวิตชีวาของชาวพายซาโน ที่ว่า

“…พวกนี้เป็นชนเผ่าเลือดผสมสเปน อินเดียน เม็กซิกัน และจัดว่าเป็นฝรั่งพันธุ์หนึ่ง บรรพบุรุษของเขาตั้งรกรากอยู่ที่แคลิฟอร์เนียมาสักร้อยหรือสองร้อยปีได้แล้ว เขาพูดภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงพายซาโน และพูดสเปนก็ด้วยสำเนียงพายซาโน เวลาเกิดปัญหาพาดพิงไปถึงเรื่องเชื้อชาติของเขา เขาก็จะอ้างอย่างเคืองๆ ว่าเขาเป็นเลือดสเปนแท้ และจะถกแขนเสื้อให้ดูว่าผิวที่ท้องแขนของเขาใกล้ขาวเข้าไปเต็มที ที่จริงผิวของเขาคล้ำไปข้างสีน้ำตาลเรื่อ เหมือนผิวกล้องยาสูบเมียร์โชม แต่เขาเถียงว่านั่นเป็นเพราะตากแดดต่างหากเล่า นี่แหละพวกพายซาโนซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่บนละแวกเขาเหนือตัวเมืองมอนเทอเร่ย์อันมีนามกรว่าที่ราบตอร์ตีญ่า ทั้งที่หาได้มีลักษณะเป็นที่ราบแต่อย่างใดไม่”

อธิบายมานี้แหละคือสำนวนที่คุณมูลแปลจากบทแรกอันจอห์น สไตน์เบ็ค ร่ายไว้

คําทอร์ทีย่า จากศัพท์ TORTILLA ซึ่งเป็นขนมสเปนชนิดหนึ่ง ลักษณะกลมและแบนอย่างโรตี แต่เล็กและบางกว่า คุณมูลสะกดเป็น “ตอร์ตีญา” ซึ่งได้กลิ่นอายของพายซาโนดีนัก

โลกียชนเป็นเรื่องเล่าของกลุ่มเพื่อนพ้องชาวพายซาโน ซึ่งมีตัวเอกชื่อแดนนี่ อาศัยอยู่ในกระท่อมทับหับห้องหลังเดียวกัน อันเป็นบ้านมรดกของแดนนี่ผู้เร่ร่อนจรจัด ครั้นโชคดีได้มรดกจากคุณปู่จึงชวนผองเพื่อนจรจัดชาวพายซาโนมาร่วมอีหลุกขลุกขลุ่ยหมกหมักอยู่ด้วยกัน

กลายเป็นตำนานเรื่องเล่าที่นัยว่าเข้าถึงแก่นแท้ของปุถุชนสนุกนัก

อย่างเพื่อนเจ้าปัญญาจอมเจ้าเล่ห์ชื่อปิลอง จำต้องออกหาอาหาร เจอไก่กระทงตัวหนึ่งเข้าก็เดินไล่นต้อนพลางรำพึงรำพัน

“โถไก่เอ๋ย ขนเจ้าล่อนจ้อนน่าเวทนา ตอนเช้าตรู่เจ้ามิหนาวแย่หรือนี่ น้ำค้างหรือก็ลงจัด อากาศตอนใกล้รุ่งมันหนาวเย็นยังกะอะไรดี พระเป็นเจ้าผู้ทรงมหากรุณา หาได้กรุณาแก่สัตว์กระจ้อยร่อยเหล่านี้เสมอไปหรอกหนา”

เขาคิดต่อไปอีก “ไก่อ่อนเอ๋ย เจ้าชะล่าออกมาเล่นอยู่ตามถนน รถยนต์มันคงทับเอาสักวันหรอก ทับให้ตายเสียรู้แล้วรู้รอดไปก็ยังนับว่าดี สำคัญมันจะเพียงแต่หักขาหักปีกเจ้าเท่านั้นน่ะซี ทีนี้เจ้าก๊อจะต้องเที่ยวถัดแกรกๆ น่าทุเรศทุรัง ไปจนตายเท่านั้นเอง ชีวิตเจ้าลำเค็ญนัก ไก่อ่อนเอ๋ย”

เจ้าเหตุเจ้าผล เจ้าเล่ห์เจ้ากลดีนัก กว่าจะขโมยแล้วฆ่าไก่สักตัวมาเป็นอาหารเลี้ยงผองเพื่อน

เรื่องเล่าหลากหลายของแดนนี่และผองเพื่อนดำเนินไปในทำนองนี้ แต่ละเรื่องล้วนแสบสะใจและเสียดเย้ยศีลธรรมจอมปลอมของผู้คนดีนัก

นี่แหละโลกียชน

นี่แหละคือผองเราผู้เพ่นพ่านอยู่ในผองเพื่อนของแดนนี่ ซึ่งท้ายสุดฉากจบ

“…พวกเขาก็ผละเดินเงื่องๆ ออกไปโดยไม่มีใครร่วมทางไปกับใครเลยสักคู่เดียว”