โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/เหรียญกองพันลำปาง หลวงพ่อเกษม เขมโก สำนักสุสานไตรลักษณ์

หลวงพ่อเกษม เขมโก

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

เหรียญกองพันลำปาง

หลวงพ่อเกษม เขมโก

สำนักสุสานไตรลักษณ์

 

“หลวงพ่อเกษม เขมโก” สุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง พระเถราจารย์ปูชนียบุคคลอีกรูป ที่มีผู้มีความเคารพศรัทธาเป็นจำนวนมาก

อีกทั้งยังเป็นเจ้านายในราชวงศ์ทิพย์จักร ที่ออกผนวชอีกด้วย

สำหรับวัตถุมงคลต่างๆ ที่สร้างและปลุกเสก ล้วนเป็นที่นิยมสะสมและแสวงหา ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง หนึ่งในนั้นคือ “เหรียญหลวงพ่อเกษม เขมโก รุ่นกองพันลำปาง”

เหรียญหลวงพ่อเกษม เขมโก สำนักสุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง รุ่นกองพันลำปาง จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2517 สร้างโดยสามเณรนิติรัตน์ ศิษย์ใกล้ชิดร่วมกับจังหวัดทหารบกลำปาง สร้างเพื่อแจกทหาร

จำนวนการสร้างรวมทั้งหมด 2,513 เหรียญ ประกอบด้วย เนื้อทองคำ 13 เหรียญ, เนื้อเงิน 300 เหรียญ, เนื้อนวะโลหะ 200 เหรียญ และเนื้อทองแดง 2,000 เหรียญ

ลักษณะเป็นเหรียญกลมรูปไข่ มีหูห่วง ด้านหน้าเหรียญ เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อเกษมครึ่งองค์หันหน้าตรง ด้านบนจารึกเป็นภาษาบาลี อ่านว่า “เขมโก”

ด้านหลัง ตรงกลางเป็นอักขระยันต์ภาษาบาลี ด้านล่างยันต์ จารึก “๒๓ ต.ค.๑๗” หมายถึงปี พ.ศ.ที่จัดสร้าง บริเวณรอบขอบเหรียญ เขียนคำว่า “หลวงพ่อเกษม เขมโก สำนักสุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง”

เหรียญรุ่นดังกล่าว มีโค้ดตอกกำกับทุกเหรียญ

ได้รับความนิยมไม่แพ้เหรียญหลวงพ่อเกษมรุ่นแรกแต่อย่างใด เนื่องจากมีจำนวนการสร้างน้อย ประกอบกับผู้นำไปบูชามีประสบการณ์ จึงทำให้เหรียญนี้ได้รับความนิยมมาก

จัดเป็นอีกเหรียญที่หายากในปัจจุบัน

เหรียญหลวงพ่อเกษม รุ่นกองพันลำปาง

 

มีนามว่า เจ้าเกษม ณ ลำปาง เกิดเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2455 ตรงกับวันพุธ เดือนยี่ (เหนือ) ปีชวด ร.ศ.131 เป็นบุตรในเจ้าน้อยหนู ณ ลำปาง (ภายหลังเปลี่ยนนามสกุลใหม่เป็น มณีอรุณ) ปลัดอำเภอ กับเจ้าแม่บัวจ้อน ณ ลำปาง และเป็นราชปนัดดาในเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าหลวงผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย

สมัยตอนเด็ก มีคนเล่าว่าท่านซนมาก มีอยู่ครั้งหนึ่งปีนต้นบ่ามั่น (ต้นฝรั่ง) เกิดผลัดตกจนมีแผลเป็นที่ศีรษะ

เมื่ออายุ 13 ปี บรรพชา ซึ่งเป็นการบรรพชาหน้าศพ (บวชหน้าไฟ) ของเจ้าอาวาสวัดป่าดั๊ว 7 วัน ได้ลาสิกขาและบรรพชาอีกครั้งเมื่ออายุ 15 ปี อยู่ที่วัดบุญยืน จังหวัดลำปาง ศึกษาด้านพระปริยัติธรรม จนสามารถสอบนักธรรมชั้นโทได้ในปี พ.ศ.2474 เข้าพิธีอุปสมบทในปีถัดมา มีพระธรรมจินดานายก เจ้าอาวาสวัดบุญวาทย์วิหาร อดีตเจ้าคณะจังหวัดลำปาง เป็นพระอุปัชฌาย์

ได้รับฉายาว่า เขมโก แปลว่า ผู้มีธรรมอันเกษม

 

พระภิกษุเจ้าเกษม ศึกษาภาษาบาลีที่สำนักวัดศรีล้อม ต่อมาได้ย้ายมาศึกษาแผนกนักธรรมที่สำนักวัดเชียงราย

พ.ศ.2479 สอบได้นักธรรมชั้นเอก เรียนรู้ภาษาบาลีจนสามารถเขียนและแปลได้ แต่ไม่ได้สอบเอาวุฒิ จนครูบาอาจารย์ทุกรูปต่างเข้าใจว่า ไม่ต้องการมีสมณศักดิ์สูง เรียนเพื่อจะนำเอาวิชาความรู้มาใช้ในการศึกษาค้นคว้าพระธรรมคำสอนเท่านั้น

หลังสำเร็จทางด้านพระปริยัติธรรมแล้ว เสาะแสวงหาครูบาอาจารย์ที่มีความรู้และมีความเชี่ยวชาญในด้านวิปัสสนา จนกระทั่งทราบข่าวว่ามีพระเกจิรูปหนึ่งมีชื่อเสียงในด้านวิปัสสนา คือ ครูบาแก่น สุมโน จึงฝากตัวเป็นศิษย์

ตามครูบาแก่นออกท่องธุดงค์ไปแสวงหาความวิเวกและบำเพ็ญเพียรตามป่าลึก จนถึงช่วงเข้าพรรษาจึงต้องแยกทางกับพระอาจารย์ และกลับมาจำพรรษาที่วัดบุญยืนตามเดิม พอครบกำหนดออก ก็ติดตามอาจารย์ออกธุดงค์บำเพ็ญภาวนา

ต่อมา เจ้าอธิการคำเหมย เจ้าอาวาสวัดบุญยืน มรณภาพลง คณะสงฆ์ได้ประชุมกันเพื่อหาเจ้าอาวาสรูปใหม่ และต่างลงความเห็นพ้องต้องกันเห็นควรว่า พระภิกษุเจ้าเกษม มีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งเจ้าอาวาส

ครั้นเมื่อได้รับเลือกเป็นเจ้าอาวาสวัดบุญยืน ก็ไม่ยินดียินร้าย แต่ท่านก็ห่วงทางวัด เพราะเคยจำพรรษาที่วัดแห่งนี้ เห็นว่าถือเป็นภารกิจทางศาสนา ต้องการให้พระศาสนานี้ดำรงอยู่

หลังจากนั้น ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสหลายครั้ง เนื่องจากต้องการจะออกธุดงค์ แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ดังนั้น จึงออกจากวัดบุญยืนไปที่ศาลาวังทาน พร้อมเขียนข้อความลาออกจากการเป็นเจ้าอาวาสไว้ด้วย

 

เป็นพระสายวิปัสสนาธุระ ไม่ยึดติดแม้แต่สถานที่ ปฏิบัติธรรม ณ สุสานไตรลักษณ์ ตลอดชีพ เป็นพระที่เป็นที่เคารพสักการะทั้งจังหวัดลำปางและทั่วประเทศ

วิธีสอนของท่านมักเน้นอุปมาอุปไมยให้ไปขบคิด เรื่องที่เทศนา มุ่งเอาพุทธวจนะเป็นที่ตั้ง

ครั้งหนึ่งในการเทศน์งานศพ มีคนมิตั้งใจฟัง นั่งคุยกันจนหนวกหู หลวงพ่อเกษมจึงใช้กระป๋องเนยเปล่า เป็นอุปกรณ์ช่วยขยายเสียงด้วยการสะท้อนเสียงเข้าไปในกระป๋อง เท่านั้นเสียงท่านก็ดังกังวานคล้ายวิทยุ

เป็นกุศโลบายแบบหนึ่งที่ใช้จูงใจให้ใฝ่ธรรม

เวลา 19.40 น. วันจันทร์ที่ 15 มกราคม 2539 มรณภาพลงอย่างสงบ ที่ห้องไอซียู โรงพยาบาลลำปาง จ.ลำปาง

สิริอายุ 84 ปี พรรษา 64