สุจิตต์ วงษ์เทศ /โหวด เครื่องดนตรีอีสาน พลังสร้างสรรค์ร่วมสมัย

หอชมเมืองรูปทรงโหวด (ควรมีห้องแสดงความเป็นมาของโหวด) กำลังก่อสร้างข้างเคียงอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญร้อยเอ็ด บนเกาะบึงพลาญชัย (ภาพเมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

โหวด เครื่องดนตรีอีสาน

พลังสร้างสรรค์ร่วมสมัย

 

งานสร้างสรรค์ร่วมสมัยที่ทรงพลังอย่างยิ่งทั้งรูปและเสียง คือโหวดซึ่งเป็นเครื่องดนตรีในอีสาน โดย ทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ (ครูดนตรีแห่ง อ.หนองพอก จ.ร้อยเอ็ด)

รูปมีลักษณะเฉพาะที่สง่าและองอาจ แต่กะทัดรัดที่ทำหีบห่อพกพาสะดวก (ปัจจุบันมีการขยายแบบก่อสร้างเป็นอาคารขนาดใหญ่ไว้กลางเมืองร้อยเอ็ด)

เสียงมีลักษณะไพเราะลุ่มลึกสร้างเสน่ห์ในเพลงดนตรีที่มีเสียงเป่าโหวดจนเป็นที่นิยมแพร่หลาย

โหวดทรงกลมเป็นที่รู้จักกว้างขวางทั่วไปในวงการเพลงดนตรีวัฒนธรรมป๊อปในไทยทุกวันนี้ ส่วนโหวดทรงแบนเรียก “โหวดแผง” ไม่เป็นที่รู้จักทั่วไป รูปร่างอย่างเดียวกับแพนไพน์ (Panpipes) เครื่องดนตรีของชาวกรีกโบราณหลายพันปีมาแล้ว

โหวดมีรูปร่างเหมือนหัวบั้งไฟโหวด [ภาพลายเส้นจาก ชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (http://www.isan.clubs.chula.ac.th/dontri/index.php?transaction=vod02.php)]

กำเนิดโหวด

โหวดมีกำเนิดตามประเพณีร่วมกับแคนในวัฒนธรรมไม้ไผ่หลายพันปีมาแล้ว

ตามคำบอกเล่าว่าโหวดมีกำเนิดคราวเดียวกับบั้งไฟนานมาแล้วในวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง ต่อมาเป็นที่รู้จักทั่วไปว่าเป็นเครื่องเล่นมีเสียงดังของเด็กเลี้ยงควายอีสาน ครั้นหลังได้รับการสร้างสรรค์จึงเป็นเครื่องดนตรีทรงกลมกับทรงแบนใช้เป่าโดยไม่มีลิ้น

โหวดมีกำเนิดในตำนานกำเนิดบั้งไฟตามนิทานเรื่องพญาคันคาก (คันคาก เป็นคำลาว แปลว่า คางคก) มีเนื้อความโดยสรุปดังนี้

พญาคันคากและสัตว์เล็กสัตว์น้อยกลุ่มหนึ่ง (เช่น มด, ปลวก ฯลฯ) ยกพวกขึ้นฟ้าไปรบชนะพญาแถน แล้วบงการให้พญาแถนปล่อยฝนตกตามฤดูกาลเพื่อมวลมนุษย์ทำนาทำไร่ พญาแถนยอมทำตามที่พญาคันคากบงการ ดังนี้

  1. เมื่อถึงฤดูทำนาทำไร่ ให้มนุษย์จัดบั้งไฟขึ้นฟ้า ครั้นพญาแถนเห็นบั้งไฟจะปล่อยน้ำจากฟ้าเป็นฝนตกลงสู่โลก
  2. เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวในนาไร่ ให้มนุษย์แกว่งโหวด (โดยเอาโหวดร้อยผูกเชือก แล้วหยิบปลายเชือกข้างหนึ่งแกว่งไปมารอบตัว เรียก “แงวโหวด”) ส่งเสียงดังถึงพญาแถนเป็นสัญญาณหยุดปล่อยน้ำจากฟ้าสุดสิ้นฝนตก

โหวด เป็นพยานสำคัญว่าวัฒนธรรมดั้งเดิมมีพลังผลักดันคนร่วมสมัยให้มีความคิดและแนวทางสร้างสรรค์จนเกิดสิ่งดีมีประโยชน์อย่างใหม่ใช้งานสร้างสรรค์ต่อเนื่องได้อีก

โดยคำแนะนำของ สนอง คลังพระศรี อาจารย์ประจำวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผมได้ข้อมูลที่เขียนมาเหล่านั้นจากงานวิจัยเรื่อง โหวด : เครื่องดนตรีพื้นบ้านภาคอีสาน โดย เชิดศักดิ์ ฉายถวิล [วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.2549]

ต่อมาได้ข้อมูลเพิ่มอีกจาก ยุทธพงศ์ มาตย์วิเศษ (หมอขวัญร้อยเอ็ด-กาฬสินธุ์) ดังนี้

 

แกว่งโหวด

โหวดที่ใช้แกว่งมีลักษณะเหมือนบั้งไฟ บางทีเรียกว่า โหวดหาง เพราะมีการต่อหางให้ยาวเพื่อเป็นศูนย์ถ่วงน้ำหนัก ตามภาพ อ.บรูซ แกสตัน ถือโหวดหาง (ภาพจากเฟสบุ๊ก อ.อานันท์ นาคคง)

คำว่า “แกว่งโหวด” ที่มักใช้โดยทั่วไปในปัจจุบัน มีหลายชื่อเรียกแตกต่างไปตามท้องถิ่น เช่น แงวโหวด (ร้อยเอ็ด) ฟาดโหวด (ศรีสะเกษ) ขว้างโหวด (นครนายก) โดยปัจจุบันมีการนำการแกว่งโหวดมาจัดเป็นประเพณีในบางท้องที่ ดังนี้

  1. หมู่บ้านเห็ดผึ้ง-หนองก่าม ต.หนองหมี อ.ราษีไศล จัดบุญประเพณีฟาดโหวด เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2559 (ข่าวจากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ)
  2. องค์การบริหารส่วนตำบลเขาพระ ต.เขาพระ อ.เมือง จ.นครนายก โดยในงานมีพิธีบายศรีสู่ขวัญข้าว และมีการแข่งขันกีฬา ขว้างโหวดระยะไกล ขว้างโหวดระดับสูง (ขว้างหอง) ขว้างแม่นยำ และแกว่งโหวดเพื่อแข่งขันว่าเสียงโหวดใครมีเสียงไพเราะชัดเจนกว่ากัน ในวันที่ 25-27 มกราคม 2563 โดยมี นายอุดมเขต ราษฎร์นุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก (ข่าวจากเว็บไซต์กระทรวงวัฒนธรรม วันที่ 27 มกราคม 2563 เผยแพร่ใน https://www.m-culture.go.th) ลักษณะการแกว่งโหวดตามภาพ