E-DUANG : ความสะเทือนใจ จากชะตากรรรม”น้องชัยพร”

การตัดสินใจปล่อยตัว “น้องชัยพร” จากสถานพินิจและคุ้มครองเด็กของสภ.คลองหลวงเหมือนกับเป็นการแสดงความเมตตา

แต่ภายใน”ความเมตตา” ก็สะท้อน “ปัญหา”

หากว่า สภ.คลองหลวงเปี่ยมด้วย “ความเมตตา” คงไม่จับกุม “น้องชัยพร”ไปและส่งไปยัง”สถานพินิจและคุ้มครองเด็ก”ตั้งแต่แรก

สภ.อาจอ้างว่า เพราะ”น้องชัยพร” ผิดคำสั่งคสช.ฉบับที่ 5/2560

ที่บังอาจไปยกป้ายซึ่งมีข้อความให้”ยกเลิก มาตรา 44″ เหมือนกับเป็นการท้าทายต่อ “คำสั่งคสช.”

หากสภ.คลองหลวงไม่จัดการก็อาจผิดมาตรา 157

ยิ่งสอบสวนทวนความไปมากเท่าใด ยิ่งทำให้เห็นว่าการเกิดขึ้นของ”มาตรา 44″ส่งผลข้างเคียงที่น่ากลัว

น่ากลัวและน่าวิตก

 

เพราะผลจาก “มาตรา 44” อันมาพร้อมกับคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 5/2560 เมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 15 กุมภาพันธ์ มิใช่หรือ

ส่งผลให้มีการเสียชีวิตไปแล้ว 2

คน 1 เสียชีวิตโดยการประท้วงและเรียกร้องให้ยกเลิก”มาตรา 44″ด้วยการเสียสละชีวิตของตนเอง

ผูกคอตายบนเสาโทรศัพท์

อีกคน 1 เสียชีวิตจากมาตรการอันเนื่องแต่”มาตรา 44″ ทำให้หน่วยกู้ชีพไม่อาจเข้าไปกู้ชีพได้อย่างทันท่วงที

ถือว่าเป็นการเสียชีวิตอย่างทรมาน

เมื่อมาถึงกรณีของ”น้องชัยพร” แม้จะเป็นเพียงการจับกุม แต่ก็สร้างความสะเทือนใจเป็นอย่างสูง

เพราะว่า”น้องชัยพร”อายุเพียง 14 ปี

 

กรณีของ”น้องชัยพร”บ่งชี้อย่างเด่นชัดในเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกของเจ้าพนัก งานที่ปฏิบัติตาม “กฎหมาย”

มี “ตัวอย่าง”ให้เห็นมากมายจากเรื่องราวใน “อดีต”

กล่าวสำหรับกรณีของ “น้องชัยพร” นำไปสู่การเปรียบเทียบให้ตระหนักว่า การออกมาต่อต้านและเรียกร้องให้ยกเลิก”มาตรา 44″ไม่ได้มีแต่ “น้องชาย”

หากปรากฏให้เห็นเป็นจำนวนมากมายบริเวณตลาดกลาง คลองหลวง

ไม่ว่าจะเป็นการเปล่งเสียงออกมาดังๆ ไม่ว่าจะเป็นการยืนและชูป้ายเพื่อบ่งบอกให้รับรู้ในความต้องการ

คำถามอยู่ที่ว่าทำไมต้องเป็น”น้องชัยพร”