เธอมากับฝน…รวม “โรคหน้าฝน” มีอะไรบ้าง?

ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน
Blood sample positive with respiratory syncytial virus (RSV)

บ้านเราได้เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเต็มรูปแบบแล้ว ซึ่งเป็นประจำทุกปีที่หน้าฝนจะต้องมาพร้อมกับคำเตือนต่างๆ เกี่ยวกับสุขภาพ ปีนี้ก็เช่นกัน

เพราะปีที่ผ่านๆ มา และทุกๆ ปี นับจากนี้ มีแนวโน้มที่จะพบผู้ป่วย “โรคหน้าฝน” เพิ่มขึ้น และโดยปกติแล้ว “โรคหน้าฝน” สามารถแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ๆ ได้ ดังนี้

กลุ่ม 1 โรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ ได้แก่

1. ไข้หวัดธรรมดา หรือไข้หวัดเล็ก เกิดจากเชื้อไวรัสที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ แม้จะดูไม่อันตราย เพราะเป็นโรคทั่วไปที่พบได้ทุกฤดู แต่ห้ามประมาทเพราะอาจลุกลามต่อไปได้ ต้องรีบรักษาให้หายโดยเร็ว

2. ไข้หวัดใหญ่ โดยปกติแล้ว ไข้หวัดใหญ่พบได้ทุกกลุ่มอายุ แต่จะพบมากในเด็ก และผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวมีอัตราการเสียชีวิตสูง

ไข้หวัดใหญ่เป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อกันได้จากการหายใจ หรือสัมผัสละอองฝอยจากน้ำมูก และน้ำลายที่เจือปนเปื้อนเชื้อโรค หากได้รับเชื้อ จะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อคล้ายปวดกระดูก อ่อนเพลีย ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล

3. ต่อมทอนซิลอักเสบ เป็นติดเชื้อทางระบบหายใจที่เกิดจากไวรัสหรือแบคทีเรีย

4. โรคปอดอักเสบ ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย พบได้ทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ที่มีโรคประจำตัว ติดต่อจากการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ หรือการหายใจนำเชื้อที่ปนเปื้อนในอากาศเข้าไป หากได้รับเชื้อมักจะมีไข้ ไอ และหายใจหอบอย่างเฉียบพลัน

5. ไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจทั้งส่วนบน และส่วนล่าง สามารถเกิดการติดเชื้อได้ทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่ แต่ส่วนมากแล้วมักเกิดในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปี สำหรับในประเทศไทยอาจพบการระบาดได้บ่อยในช่วงฤดูฝนไปจนถึงช่วงปลายฝนต้นหนาว

ทั้ง 5 โรค สามารถป้องกันได้ด้วยการรักษาสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำร่างกายให้อบอุ่น หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำ และสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น และสวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน

 

กลุ่ม 2 โรคติดต่อในระบบทางเดินอาหาร ได้แก่

1. โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน เป็นโรคที่มักเกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อน

2. โรคอุจจาระร่วง ติดต่อโดยการรับประทานอาหาร หรือน้ำ ที่มีการปนเปื้อนโดยจะมีอาการถ่ายเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำ อย่างน้อย 3 ครั้ง ถ่ายปนมูกเลือด สำหรับการป้องกัน ล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนประกอบอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หรือหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง

ดื่มน้ำสะอาด น้ำต้มสุก หรือน้ำดื่มบรรจุขวดที่มีฝาปิดสนิท รับประทานอาหารที่สะอาด และปรุงสุกใหม่ หากต้องการรับประทานอาหารที่เหลือค้างคืน ควรอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทานทุกครั้ง

และไม่ควรรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ หรืออาหารที่มีแมลงวันตอม

 

กลุ่ม 3 โรคติดต่อจากการสัมผัส ได้แก่

1. โรคเยื่อบุตาอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสทำให้ตาแดง มีน้ำตาไหล

2. โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อยในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย ผื่น ตุ่มน้ำใส อุจจาระของผู้ป่วย มักมีอาการไข้แต่อาจไม่ทุกราย มีตุ่มพองใส หรือแผลในช่องปาก กระพุ้งแก้ม ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือก้น โรคมือ เท้า ปากส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง และหายเองได้

ผู้ปกครอง และครู ควรหมั่นสังเกตอาการป่วยของบุตรหลาน หากพบว่ามีอาการสงสัยว่าจะป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ให้แยกเด็กที่สงสัยจะป่วย ออกจากเด็กปกติทันที และรีบส่งตัวเข้าพบแพทย์ โดยให้หยุดเรียนจนกว่าจะหาย

3. โรคเลปโตสไปโรซิส หรือโรคไข้ฉี่หนู หรือโรคฉี่หนู เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์ (เช่น หนู) กับมนุษย์ พบบ่อยในเกษตรกรที่ทำงานสัมผัสกับน้ำ แม้กระทั่งดินอยู่เป็นประจำ อาการของโรคฉี่หนูคือมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง หนาวสั่น ตาแดง และปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กล้ามเนื้อน่อง

แนวทางป้องกัน ให้หลีกเลี่ยงการเดินย่ำน้ำนานๆ หรือลุยน้ำ-ลุยโคลนแบบเท้าเปล่าเป็นเวลานาน และควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม เช่น ถุงมือยาว หรือรองเท้าบูตยาว

ส่วนใหญ่แล้ว โรคฉี่หนู มักติดต่อทางบาดแผล โดยมีน้ำเป็นพาหะ จึงไม่ควรเดินในน้ำขังนานๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีบาดแผลที่เท้า

 

กลุ่ม 4 โรคติดต่อที่นำโดยยุงลาย ได้แก่

1. โรคไข้เลือดออก โรคยอดฮิตอมตะนิรันดร์กาล มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งมักจะแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วเป็นเท่าทวีคูณในฤดูนี้ เพราะเป็นฤดูน้ำขัง เอื้อต่อการวางไข่ยิ่งนัก

อาการของโรคไข้เลือดออก ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก มีจุดแดงที่ผิวหนัง ตับโต เมื่อกดก็อาจจะเจ็บบริเวณชายโครงขวา หากมีอาการรุนแรงอาจถึงขั้นเป็นลมช็อคหมดสติได้

2. โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือชิคุนกุนย่า มียุงลายสวน และยุงลายบ้าน เป็นพาหะนำโรค อาการคล้ายไข้เลือดออก แต่ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นช็อก หรือเสียชีวิต

3. โรคติดเชื้อไวรัสซิก้า มียุงลายเป็นพาหะ อาการโรคจะไม่รุนแรง แต่หากติดเชื้อในสตรีมีครรภ์ อาจทำให้เกิดภาวะศีรษะเล็กในเด็กแรกเกิด เด็กอาจมีพัฒนาการช้า หรือตัวเล็ก และมักมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์

การป้องกัน ขอให้ประชาชนสำรวจพื้นที่ที่มีน้ำขัง และร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณรอบๆ ตัวบ้าน และในชุมชน เช่น ใช้มาตรการ “3 เก็บ เพื่อป้องกัน 3 โรค” ดังนี้

1. เก็บ 1 คือเก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้ หรือแขวนให้เรียบร้อย ไม่ให้มีมุมอับทึบ

2. เก็บ 2 คือเก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน

3. เก็บ 3 คือเก็บภาชนะที่ใส่น้ำที่ใช้อุปโภคบริโภค ปิดฝาให้มิดชิด ล้าง-คว่ำภาชนะเสมอ และเปลี่ยนน้ำในกระถาง หรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายไปวางไข่

 

กลุ่ม 5 ภัยทั่วไป

1. การบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากฟ้าผ่า เมื่อมีฝนตกฟ้าคะนอง ให้หลบในที่ปลอดภัย เช่น ภายในบ้าน หรือตัวอาคาร และหลีกเลี่ยงการอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่

2. อันตรายจากเห็ดพิษ หากไม่มั่นใจว่าเป็นเห็ดพิษ หรือเห็ดที่รับประทานได้กันแน่ ก็ไม่ควรนำมารับประทาน หรืออาจเลือกรับประทานเห็ดที่มาจากการเพาะเลี้ยง เช่น เห็ดฟาง เป็นต้น

3. อันตรายจากสัตว์เลื้อยคลานมีพิษ ควรจัดบ้านให้สะอาด ไม่ให้เอื้อต่อการเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์เลื้อยคลานมีพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งูพิษ

ให้หมั่นสอดส่อง และสังเกตมุมอับของบ้าน โพรงไม้ กอหญ้า หรือกองไม้ เพราะอาจมีงูพิษ หรือสัตว์เลื้อยคลานมีพิษอาศัยอยู่

หากถูกงูพิษกัด ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที ลดการเคลื่อนไหวอวัยวะที่ถูกงูกัด ไม่ควรขันชะเนาะ เพราะอาจทำให้เนื้อเยื่อขาดเลือดนำไปสู่ภาวะเนื้อตายได้ พร้อมทั้งถ่ายรูป หรือจดจำลักษณะชนิดของงูที่กัด เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง และรวดเร็ว