ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 มิถุนายน 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ |
เผยแพร่ |
บทความในอาทิตย์ที่แล้วผมเสนอข้อคิดใหม่อันเนื่องมาจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ.2646 อันเป็นกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับระดับประถมศึกษาขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศ มีผลในการทำให้ผู้ปกครองนักเรียนอายุระหว่าง 7-14 ปีทั้งหญิงและชายต้องนำตัวไปเข้าโรงเรียนประถมในพื้นที่ ไม่เช่นนั้นจะมีความผิดตามกฎหมายถูกลงโทษได้ เป็นการบังคับใช้กฎหมายต่อพลเมืองทั้งประเทศอย่างเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ไม่มีอะไรที่บอกให้รู้ว่ามีอะไรสำคัญเกิดขึ้น แม้มีการคัดค้าน ต่อต้าน กระทั่งประท้วงอย่างสันติ
แต่เหตุการณ์ทั้งหมดก็จบลงด้วยการเคลื่อนตัวไปของประวัติศาสตร์และการจัดการศึกษาสมัยใหม่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งไม่มีบทเรียนอะไรแก่คนรุ่นหลังต่อมา
หลังจากอ่านและพิจารณาข้อมูลเรื่องการศึกษาภาคบังคับในมณฑลปัตตานีใหม่ ผมพบว่ามีข้อสังเกตที่มีผลกระเทือนต่อเนื่องมาอีกยาวนาน
และนั่นคือสิ่งที่ผมเรียกว่า “ข้อค้นพบใหม่” อันจะนำไปสู่การวิเคราะห์และประเมินประวัติศาสตร์ไทยในทรรศนะและมิติที่ไม่เหมือนเดิม
ข้อนี้คือสิ่งที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ต้องการให้นักวิชาการไทยสร้างผลงานวิชาการที่มีคุณภาพระดับดีเยี่ยม (A+)
“1) มีลักษณะเป็นงานที่มีการสังเคราะห์และสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ทางวิชาการในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง 2) มีการกระตุ้นให้เกิดความคิดและค้นคว้าต่อเนื่อง เป็นที่เชื่อถือและยอมรับในวงวิชาการหรือวิชาชีพที่เกี่ยวข้องในระดับชาติหรือนานาชาติ”
การที่จะบรรลุจุดหมายดังกล่าวนี้ได้ นักวิจัยต้องสามารถเสนอข้อมูลใหม่ที่หักล้างหรือเปลี่ยนแปลงการตีความและการบรรยายแบบเก่าลงไปให้ได้ก่อน
ไม่เช่นนั้นก็ยากที่จะสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมาได้
ข้อค้นพบที่ผมว่าใหม่คือการที่พระราชบัญญัติประถมศึกษานี้ ร่างขึ้นมาอย่างเร่งรีบเพื่อตอบสนองคำเรียกร้องของเทศาภิบาลมณฑลปัตตานีที่มีปัญหาในการดำเนินการให้ผู้ปกครองส่งนักเรียนมลายูมุสลิมไปเข้าโรงเรียนไทยที่เรียนด้วยภาษาไทยและสอนโดยครูไทย อันเป็นนโยบายการศึกษาที่ริเริ่มมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ดำเนินไปได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพและมีแนวโน้มว่าจะล้มเหลว เพราะราษฎรมลายูมุสลิมไม่ให้ความร่วมมือ
การที่ผู้ปกครองไทยมองว่าปัญหาเรื่องการศึกษาไม่ใช่ปัญหาของรัฐบาลหรือเทศาภิบาล หากแต่เป็นปัญหาของราษฎรมลายูมุสลิมเอง เพราะนโยบายนี้ได้ใช้ไปในมณฑลอื่นๆ ทั่วประเทศซึ่งก็ได้รับผลดีพอประมาณ ไม่มีใครคัดค้านหรือต่อต้านการเรียนและพูดภาษาไทยเลย นอกจากคนมลายูมุสลิมเท่านั้น
นี่เองคือเป็นวิธีคิดและวิธีการแก้ปัญหาของทางการสยาม ทำให้คำเรียกร้องของปัตตานีต่อกรุงเทพฯ มีน้ำหนัก เพราะคิดว่าราษฎรไม่ทำตามเพราะด้วยความไม่รู้และไม่เข้าใจในเจตนารมณ์ที่สูงส่งของรัฐบาลส่วนกลาง
หากบังคับไปก่อนอาจช่วยให้คนเหล่านั้นค่อยยอมรับได้ในบั้นปลายเมื่อเห็นผลของการศึกษาที่แตกดอกออกผลมา
ตรงนี้คือปัญหาสำคัญของการเป็นผู้นำรัฐชาติสมัยใหม่ที่ไม่ใช่รัฐราชสมบัติแบบเก่าอีกต่อไป ว่าจะใช้ทัศนะและวิธีการในการจัดการต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมและระบบการทำงานที่เรียกว่าระบบราชการอย่างไรถึงจะทำให้นโยบายรัฐสามารถบรรลุผลได้อย่างมีประสิทธิภาพคือทำให้รัฐเติบใหญ่มีคุณภาพและราษฎรมีชีวิตที่ก้าวหน้ามีหลักประกันและมีคุณธรรม
ทว่า การเริ่มใช้กำลังบังคับแม้ผ่านกฎหมายก็ตาม ก็เริ่มเป็นสัญญาณของการมุ่งจะบรรลุเป้าหมายของการสร้างรัฐให้เข้มแข็งในขณะที่ละเลยการสร้างความก้าวหน้าและบทบาทของราษฎรเองไปพร้อมกัน
สิ่งที่ผมพบในข้อมูลใหม่นี้คือการที่ราษฎรปัตตานีตอนนั้นมีความกระตือรือร้นในการศึกษาของลูกหลานของพวกเขา แสดงออกในการที่มีการตั้งโรงเรียนของพวกเขากันเองในรูปของปอเนาะซึ่งจัดสอนกันในบ้านของโต๊ะครูหรืออีกแห่งที่ทางการเรียกว่าโรงเรียนสุเหร่า
เพียงแต่ว่าหลักสูตรและภาษาที่ใช้เรียนและสอนนั้นเป็นเรื่องของศาสนาอิสลามในภาษาพูดยาวีและตัวเขียนอาหรับ
ปาตานีมีชื่อเสียงนานแล้วในคาบสมุทรมลายาว่าเป็น “ระเบียงของการศึกษาอิสลาม”
แต่เมื่อรัฐบาลไทยรวมศูนย์อำนาจการปกครอง การดำรงอยู่ของสถาบันเก่ากลายเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสถาบันการศึกษาแบบใหม่คือโรงเรียนไทยคำถามคือปอเนาะและมัสยิดเป็นอุปสรรคหรือขัดขวางการปฏิรูประบบการศึกษาของรัฐไทยจริงหรือ
คิดว่าคำถามนี้คงไม่เคยมีการถามมาก่อนในพื้นที่หรือในกรุงเทพฯ เพราะว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่และรัฐไทยมีคำตอบหรือมีธงนำอยู่ก่อนแล้วเมื่อนำนโยบายส่วนกลางไปดำเนินการในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
สิ่งที่ผมพบคือในวาระแรกของการปฏิรูปสยาม คือการสกัดและยุติการแสดงออกไม่ว่าในรูปแบบหรือเนื้อหาใดๆ ทั้งสิ้นของราษฎรอย่างเป็นทางการหรือถูกต้องตามกฎหมายสมัยใหม่ของสยาม
ก่อนหน้าการประกาศใช้ พ.ร.บ.ประถมศึกษา 2464 มีการตั้งโรงเรียนราษฎร์ในมณฑลปัตตานีแล้วตามพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ.2461 คือโรงเรียนเพ่งมิ้น ต.บางนรา อ.บางนรา จ.นราธิวาส
และในปี 2473 มีการตั้งอีกโรงเรียนคือโรงเรียนเตียงฮั่ว ในต.อาเนาะรู อ.สะบารัง จ.ปัตตานี
ทั้งสองโรงเรียนเป็นของคนจีน (นพดล โรจนอุดมศาสตร์, 2523) จากนั้นก็ไม่มีการจัดตั้งโรงเรียนราษฎร์อีกเพราะตาม พ.ร.บ.2464 การตั้งโดยราษฎรต้องเป็นผู้เสียเงินให้แก่การศึกษามากกว่าที่ถูกเก็บตามภาษีพลีคือปีละ 1 บาทสำหรับชายฉกรรจ์ทุกคน แล้วตั้งเป็นคณะกรรมการศึกษา 5 คนมีการเลือกตั้งเปลี่ยนไปทุกปี การประท้วงภาษีพลีทำให้ราษฎรไม่อาจจัดตั้งโรงเรียนราษฎร์ได้ ว่าไปแล้วการเลือกคณะกรรมการศึกษานี่เป็นแนวคิดที่ก้าวหน้าหากมีการปฏิบัติจริงจัง
นี่จะเป็นต้นแบบของการปฏิรูปการศึกษาในระดับพื้นที่อย่างจริงจัง คือการให้ราษฎรในพื้นที่รับผิดชอบดูแลการศึกษาของลูกหลานพวกเขากันเอง กระทรวงการศึกษาฯ ก็จะไม่ต้องเที่ยวออกกฎระเบียบบังคับให้ครูและนักเรียนทำโน่นทำนี่อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จนกลายเป็นกระทรวงไดโนเสาร์ที่ใหญ่เกินตัวแต่ทำภารกิจในพื้นที่เชิงบวกแทบไม่ได้เลย
หากกล่าวให้ถึงที่สุด ปัญหาของการปฏิรูปสยามนั้น ก่อตัวขึ้นในระบบราชการสมัยใหม่ทันทีที่มันได้รับอำนาจทางกฎหมายจากรัฐมา เพราะบรรดาข้าราชการล้วนประพฤติปฏิบัตินโยบายตาม “แนวความคิดและหลักปฏิบัติ” เก่าที่เคยกระทำมาก่อนแล้วทั้งสิ้น นั่นคือการใช้อำนาจบังคับเอาแก่ราษฎรเป็นประการแรก
ดังนั้น ในกรณีการศึกษาภาคบังคับในปัตตานี แทนที่ทางการจะมองด้วยสายตาที่ทันสมัยว่าการมีหลากหลายวัฒนธรรมและภาษานั้นเป็นคุณลักษณะใหม่ของรัฐชาติที่ฝรั่งเรียกว่า “pluralism” ซึ่งในฝั่งมลายานั้นอังกฤษก็ปฏิบัตินโยบายพหุนิยมแก่คนมลายา ไม่มีการบังคับให้เรียนภาษาอังกฤษแต่ประการใด
หากสมุหเทศาภิบาลมณฑลปัตตานีท่านนั้นดำเนินการให้โรงเรียนปอเนาะและสุเหร่ากลายเป็นโรงเรียนราษฎร์ขึ้นมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สถานการณ์และสภาพการณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะพลิกผันไปอีกอย่าง
เพราะตอนนั้นก็เริ่มมีนักเรียนเข้าโรงเรียนรัฐหลายร้อยคนแล้ว แทนที่จะยึดมั่นตายตัวว่าต้องเปลี่ยนโรงเรียนปอเนาะและสุเหร่าให้เป็นโรงเรียนไทย ไม่ใช่เป็นโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม
ทว่า การจะคิดอย่างนี้ได้เจ้าหน้าที่จำต้องมีความรู้ที่เป็นแบบใหม่ด้วย ไม่ใช่รู้แค่การสร้างสถาบันใหม่ที่เป็นรูปแบบแต่ไม่เอาเนื้อหาของมันมาด้วย
อันนี้เป็นความย้อนแย้งที่ความสำเร็จในการสร้างอุดมการณ์แห่งความเป็นชาติสมัยใหม่ในเรื่องความเป็นไทย ซึ่งสมัยโน้นอาจเพียงแค่จินตนาการไม่ให้ชาติฝรั่งตะวันตกอ้างดินแดนชายขอบทั้งหลายไปได้นั้น บัดนี้ได้ค่อยๆ แข็งตัวกลายเป็นความเชื่อมั่นจนเป็นทิฏฐิมานะว่าความคิดนั่นเป็นของเราเป็นตัวตนเรา ไม่ยอมรับฟังความคิดความเห็นคนอื่นเลย
กระทั่งชนชั้นนำที่มีประสบการณ์ในอาณานิคมฝรั่งเช่นสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ยังทรงเห็นว่า “การที่จะยุบโรงเรียนให้เหลือแต่น้อยแห่งนั้นไม่ควรยิ่ง สอนกันแพร่หลายทั่วไปได้เท่าไรก็ยิ่งดี เมื่อสอนภาษาไทยด้วยรัฐบาลก็ให้ความอุดหนุน ถ้าขัดด้วยไม่มีครูก็ตั้งโรงเรียนกลางขึ้นสำหรับเพาะครูแล้วส่งออกไปสอนในที่ต่างๆ จะให้เงินเดือนพอเป็นกำลังราชการบ้างเล็กน้อยก็ควร ให้มีหน้าที่สอนแต่ภาษาไทยอย่างเดียว ในที่สุดให้พูดไทยได้ทั่วกันก่อน การรู้หนังสือไทยนั้นจะยกเอาไว้เป็นชั้นที่ 2 ให้ค่อยเป็นค่อยไปภายหลังก็ได้”
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเสนาบดีกระทรวงธรรมการก็เคยให้คำแนะนำในการจัดการศึกษาในมณฑลปัตตานีว่า
“การจัดการศึกษาสำหรับมณฑลปัตตานีเพื่อให้ประชาชนรู้จักเคารพนับถือประเทศบ้านเมืองของตนและไม่ถือเป็นเราเป็นเขา หรือเพื่อสะดวกแก่การปกครอง จะต้องชี้แจงความจริงให้เข้าใจความจริงนั้นได้แก่ ประเทศสยามมีคนอยู่ 2 จำพวกคือชาวสยามกับชาวต่างประเทศ ใครๆ ที่เป็นเจ้าของประเทศสยาม คนคนนั้นคือชาวสยาม…อะไรที่จะให้ชาวสยามมีความรู้ความเจริญในวิทยาศาสตร์ อันเป็นเครื่องประกอบอาชีพประกอบความเจริญของชาวสยามได้ก็อุดหนุนเสมอหน้ากัน…”
การเผชิญหน้ากันระหว่างวัฒนธรรมและอัตลักษณ์เชื้อชาติเป็นเรื่องละเอียดอ่อน สยามโชคดีที่สามารถใช้วัฒนธรรมไทยชนะเหนือวัฒนธรรมล้านนาและล้านช้างได้
แต่โชคไม่ดีที่สามจังหวัดชายแดนใต้เป็นอารยธรรมอิสลามที่เข้มแข็งและกำลังเติบใหญ่ในภูมิรัฐศาสตร์โลกขณะนั้นและต่อมาถึงปัจจุบัน ทำให้ทิฏฐิมานะของเจ้าหน้าที่และรัฐไทยเพิ่มมากขึ้นเพราะเชื่อว่าตัวมีกำลังอำนาจมากกว่า
แต่โลกยุคดิจิทัลทุกประเทศเรียนรู้ใหม่แล้วว่า ความเจริญก้าวหน้าและความมั่งคั่งของชาติไม่ได้อยู่ที่กำลังอำนาจ แม้ยังจำเป็นก็ตาม หากแต่อยู่ที่ “ซอฟต์เพาเวอร์” หรืออำนาจทางวัฒนธรรมความคิดเห็นต่างหาก รัฐไทยต้องเลือกว่าจะเป็นรัฐพันลึกที่เก่าดักดานหรือเป็นรัฐทันสมัยที่ใหม่เสมอ
บรรณานุกรม
นพดล โรจนอุดมศาสตร์, ปัญหาการจัดการศึกษาในมณฑลปัตตานี พ.ศ.2449-2474 ปริญญามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร. 2523.
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022