ชาคร ศิริสุวรรณสิทธิ์ : แคเธอรีน จอห์นสัน มนุษย์คอมพิวเตอร์แห่งนาซ่า

แคเธอรีน จอห์นสัน นักคณิตศาสตร์หญิงแห่งองค์การบริหารการบินและอวกาศ (นาซ่า) ของสหรัฐ ผู้ได้รับการยกย่องว่ามีส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมอวกาศของสหรัฐอเมริกาในช่วงแรก เสียชีวิตลงแล้วด้วยวัย 101 ปี เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ว่ากันว่า หากไม่ได้การคำนวณที่แม่นยำของจอห์นสัน สหรัฐอเมริกาจะไม่สามารถส่งมนุษย์คนแรกขึ้นสู่อวกาศได้เป็นชาติแรกในปี 1962

ตลอดชีวิตของจอห์นสัน ผลงานอันเป็นจุดเริ่มต้นโครงการอวกาศในยุคปัจจุบันของสหรัฐอเมริกา ไม่เคยได้รับการพูดถึงมาก่อน จนกระทั่งในช่วงปีที่ผ่านมาที่อัจฉริยภาพของจอห์นสันเพิ่งจะได้รับการยอมรับในระดับชาติ รวมไปถึงระดับโลก

โดยเฉพาะเรื่องราวของเธอที่ได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดชื่อดังอย่าง “ฮิดเดนฟิกเกอร์ส” เรื่องราวของนักคณิตศาสตร์หญิงผิวสีขององค์การนาซ่าที่มีส่วนสำคัญในโครงการอวกาศสหรัฐในยุคแรกๆ แม้ต้องเผชิญกับวัฒนธรรมเหยียดผิวอย่างรุนแรงในองค์กรก็ตาม

จอห์นสันเป็นส่วนหนึ่งของ “คอมพิวเตอร์พูล” หรือกลุ่มนักคณิตศาสตร์ที่มีผลงานคำนวณข้อมูลที่ช่วยสนับสนุนให้โครงการอวกาศแรกของนาซาประสบความสำเร็จ

 

จอห์นสันเกิดในเมืองไวต์ซัลเฟอร์สปริงส์ ในเวสต์เวอร์จิเนีย มีความสามารถด้านการคำนวณที่โดดเด่นตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งได้รับเลือกเป็น 1 ใน 3 นักศึกษาผิวสีของเวสต์เวอร์จิเนียที่ได้เข้าเรียนต่อในระดับปริญญาโทในยุคนั้น

ในยุคที่เกิดการต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวในสหรัฐ จนมีคำสั่งประธานาธิบดีห้ามไม่ให้มีวัฒนธรรมเหยียดผิวในอุตสาหกรรมด้านกลาโหมของประเทศ จอห์นสันก็ได้รับเข้าทำงานให้กับ “คณะกรรมการที่ปรึกษาแห่งชาติด้านการบิน” องค์กรที่กลายมาเป็นองค์การบริหารการบินและอวกาศ หรือนาซ่า ในเวลาต่อมา โดยจอห์นสันเป็นหนึ่งในนักวิจัยที่จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยไม่กี่คนที่ได้รับเลือกให้เข้าทำงานในแล็บด้านการบิน

จอห์นสันเริ่มต้นทำงานในปี 1953 ในอาคารส่วนที่ทำงานของผู้หญิงโดยเฉพาะ ก่อนจะได้ย้ายไปในหน่วยงานวิจัยด้านการบิน หน่วยงานซึ่งจอห์นสันทำงานอยู่เป็นเวลาหลายปี

ในช่วงทศวรรษที่ 50 ช่วงเวลาที่การแข่งขันด้านอวกาศระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตเริ่มร้อนแรงขึ้น จอห์นสันก็มีความก้าวหน้ามากขึ้น ด้วยหน้าที่ในการวิเคราะห์การบินวิถีโค้งให้กับภารกิจส่ง “อลัน เชพเพิร์ด” ขึ้นสู่อวกาศในปี 1961 ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

จอห์นสันร่วมเป็นหนึ่งในทีมวิจัยการเข้าสู่วงโครจรอย่างปลอดภัยในปี 1960 และนับผู้ที่มีชื่อบันทึกการมีส่วนร่วมในงานวิจัยของหน่วยงานวิจัยการบินของนาซ่า เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์

 

จอห์นสันสร้างชื่อขึ้นมาได้ด้วยความสามารถในการคำนวณอย่างแม่นยำ จน “จอห์น เกลนน์” นักบินอวกาศร้องขอให้เธอเข้ามาร่วมคำนวณก่อนที่ภารกิจโคจรรอบโลกในอวกาศของเกลนน์จะสำเร็จอย่างสวยงามในปี 1962

เรื่องที่เป็นที่พูดถึงมากที่สุดคือการที่เกลนน์ไม่เชื่อในเครื่องคอมพิวเตอร์ จนต้องร้องขอให้วิศวกรเรียกจอห์นสันเข้ามาช่วยคำนวณยืนยันความถูกต้องของคอมพิวเตอร์อีกครั้ง

“หากเธอบอกว่าพวกมันถูก เมื่อนั้นผมก็พร้อมจะไป” เกลนน์ระบุ

จอห์นสันทำงานจนเกษียณอายุจากนาซ่าเมื่อปี 1986 โดยงานสุดท้ายเป็นการสร้างแผนที่พื้นผิวดวงจันทร์ ก่อนที่อพอลโล่ 11 จะแลนดิ้งลงบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ นอกจากนี้ การคำนวณของเธอยังช่วยให้ภารกิจอพอลโล 13 กลับสู่โลกได้อย่างปลอดภัยด้วย

ผลงานของจอห์นสันและนักคณิตศาสตร์ผิวสีอีก 2 คนอย่างโดโรธี โวกฮาน และแมรี่ แจ๊กสัน ที่เสียชีวิตไปแล้ว ได้รับยกย่องหลังจากหนังสือ “ฮิดเดนฟิกเกอร์ส” ที่ตีพิมพ์ในปี 2016 และถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในปีต่อมา

 

ล่าสุดนาซ่าเปลี่ยนชื่อถนนหน้าอาคารสำนักงานใหญ่ขององค์การนาซ่าในรัฐวอชิงตันเป็น “ฮิดเดนฟิกเกอร์สเวย์” ก่อนที่นักคณิตศาสตร์หญิงทั้ง 3 คนพร้อมกับวิศวกรอีก 1 คนจะได้รับ “เหรียญทองของรัฐสภาสหรัฐอเมริกา” ยกย่องผลงานที่มีส่วนร่วมในโครงการอวกาศของสหรัฐอเมริกาด้วย ขณะที่จอห์นสันเองได้รับเหรียญอิสรภาพประธานาธิบดีจากบารัค โอบามา ในปี 2015

แม้การได้รับยกย่องจะล่าช้าไปมาก แต่จอห์นสันก็ยังคงยกให้ความสำเร็จทั้งหมดนั้นเป็นของทีม “คอมพิวเตอร์พูล” ของเธอ

“เราทำงานกันเป็นทีมเสมอ มันไม่ใช่แค่ใครคนใดคนหนึ่ง” จอห์นสันระบุเมื่อปี 2010