คนมองหนัง | เมื่อ “เศก ดุสิต” และ “ตรี อภิรุม” ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ

คนมองหนัง

นอกจาก “ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง” และ “อารีย์ นักดนตรี” ซึ่งได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ประเภทภาพยนตร์และละครประจำปี 2562 แล้ว

ศิลปินแห่งชาติประจำปี 2562 อีกสองรายที่มีความข้องเกี่ยวกับ/ทรงอิทธิพลอย่างสูงต่ออุตสาหกรรมบันเทิงไทย โดยเฉพาะแวดวงละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ก็คือ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ อันได้แก่ “เริงชัย ประภาษานนท์” และ “เทพ ชุมสาย ณ อยุธยา”

ชื่อจริงของศิลปินแห่งชาติสองท่านนี้อาจไม่ค่อยคุ้นหูคุ้นตาคนส่วนใหญ่

แต่ถ้าบอกว่า “เริงชัย” คือเจ้าของนามปากกา “เศก ดุสิต” ส่วน “เทพ” เป็นเจ้าของนามปากกา “ตรี อภิรุม”

แฟนหนังแฟนละครหลากรุ่นหลายรายย่อมรู้สึกหรือหวนระลึกได้ว่าพวกตนเคยผ่านหูผ่านตานามปากกาเหล่านี้มาบ้างพอสมควร

ผลงานแนวนิยายบู๊และอาชญนิยายของ “เศก ดุสิต” นั้นถูกนำมาผลิตเป็นภาพยนตร์ไทยหลายต่อหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น “สี่คิงส์” “ครุฑดำ” (หรือ “เหยี่ยวดำ”) “พยัคฆ์ร้ายไทยถีบ” รวมถึงหนังในชุด “อินทรีแดง” (ที่นำแสดงโดย “มิตร ชัยบัญชา”) ได้แก่ “จ้าวนักเลง “ทับสมิงคลา” “อวสานอินทรีแดง” “ปีศาจดำ” “จ้าวอินทรี” และ “อินทรีทอง”

“อินทรีแดง” คือหนึ่งในตัวละครซูเปอร์ฮีโร่แบบไทยๆ ซึ่งถูกนำมาผลิตซ้ำเป็นหนังละครโดยต่อเนื่อง เห็นได้จากการดำรงอยู่ของละครโทรทัศน์ “อินทรีแดง” ในปี 2540 และ 2562 ตลอดจนภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน (กำกับฯ โดย “วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง”) ในปี 2553

เนื้อหาส่วนหนึ่งในคำประกาศเกียรติคุณศิลปินแห่งชาติ บรรยายถึง “เริงชัย” หรือ “เศก ดุสิต” และ “อินทรีแดง” เอาไว้ว่า

“ผลงานชุด “อินทรีแดง” เป็นหมุดหมายของอาชญนิยายไทย เริงชัยสามารถสร้างตัวละคร “อินทรีแดง” ให้เป็นบุคคลในอุดมคติเชิงสัญลักษณ์ เพื่อเยียวยาจิตใจของผู้คนในสังคมให้มีพลังและแกร่งกล้า เพื่อต่อสู้กับอำนาจความชั่วร้าย

“อินทรีแดงเป็นวีรบุรุษในหัวใจนักอ่าน เป็นคนดี คนเก่งที่ช่วยแก้ปัญหา ไม่แต่ในสังคมเล็กๆ หรือชุมชน หากหมายรวมถึงปัญหาของบ้านเมืองด้วย เป็นตัวแทนของคนไทยในการปราบปรามความชั่วร้ายในสังคม

“ผลงานของเริงชัยมีพลังทางวรรณศิลป์ ผ่านโครงสร้างนวนิยายอันซับซ้อน และด้วยภาษาอันทรงประสิทธิภาพ ผลงานจึงได้รับความนิยมและยืนยงข้ามกาลเวลา อยู่ในความทรงจำของนักอ่านมาทุกยุคทุกสมัย”

นิยายแนวลึกลับสยองขวัญของ “ตรี อภิรุม” ก็ถูกนำมาสร้างเป็นหนังและละครอย่างแพร่หลายข้ามกาลเวลาไม่แพ้ผลงานของ “เศก ดุสิต” อาทิ “แก้วขนเหล็ก” “จอมเมฆินทร์” “เทพบุตรสุดเวหา” “อนิลทิตา” “ทายาทอสูร” “นาคี” และ “นาคี 2” เป็นต้น

ดังข้อมูลซึ่งบ่งชี้ว่ามีนวนิยายของ “เทพ” หรือ “ตรี อภิรุม” จำนวนมากถึง 19 เรื่อง ซึ่งถูกนำมาสร้างสรรค์เป็นละครวิทยุ ละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์

เนื้อหาส่วนหนึ่งในคำประกาศเกียรติคุณศิลปินแห่งชาติ บรรยายถึงเจ้าของนามปากกา “ตรี อภิรุม” เอาไว้ว่า

“ผลงานนวนิยายลึกลับสยองขวัญของเทพ เป็นหมุดหมายเรื่องลึกลับสยองขวัญของไทย เทพมีความสามารถทางวรรณศิลป์ สร้างสัญลักษณ์เชิงอำนาจที่ก่อให้เกิดความสยองขวัญ

“เทพสร้างสรรค์ผลงานนับร้อยเรื่องจนได้สมญาว่า “ราชานวนิยายลึกลับสยองขวัญแห่งประเทศไทย” ยืนหยัดในความเป็นนักเขียนอาชีพที่มีผลงานตั้งแต่อายุ 24 ปี จนถึงอายุ 90 ปี และยังคงทำงานอยู่อย่างสม่ำเสมอ

“กล่าวได้ว่า เทพ ชุมสาย ณ อยุธยา เป็นนักเขียนผู้สร้างสรรค์วรรณศิลป์ข้ามผ่านกาลเวลาอย่างแท้จริง”

แม้ชื่อของ “เศก ดุสิต” ดูคล้ายจะผูกติดอยู่กับยุคทองของหนังไทยสมัย “มิตร ชัยบัญชา” เมื่อครั้งกระโน้นเป็นหลัก ขณะที่นามของ “ตรี อภิรุม” ยังโลดแล่นเรืองรองอยู่ในวงการบันเทิงร่วมสมัย กระทั่งละครโทรทัศน์ยอดฮิตเช่น “นาคี” (2559) และหนังไทยรายได้หลายร้อยล้านบาทอย่าง “นาคี 2” (2561) ก็ดัดแปลงมาจากผลงานปลายปากกาของเขา

แต่ “จุดร่วม” ข้อหนึ่ง ที่วรรณกรรมของ “เศก ดุสิต” กับ “ตรี อภิรุม” มีร่วมกันก็คือการเป็นงานเขียนแนวบันเทิงคดี ซึ่งจับกลุ่มคนอ่าน (และคนดูหนัง-ละครที่ดัดแปลงจากนิยายเหล่านี้) ผู้เป็นมวลชน/ชาวบ้านวงกว้าง

ตัวอย่างที่ช่วยฉายส่องให้เห็นสถานภาพเช่นนี้โดยเด่นชัดคือ เวทีเผยแพร่งานเขียนของ “ตรี อภิรุม” ซึ่งไล่มาตั้งแต่บางกอกรายสัปดาห์ จนถึง ชีวิตจริง, อัลบั้มชีวิตดารา, คู่รักคู่ชีวิต และดาราภาพยนตร์ ฯลฯ

ดังนั้น การได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติของ “เศก ดุสิต” และ “ตรี อภิรุม” ในวัย 91 และ 90 ปี ตามลำดับ จึงถือเป็นการขยับขยายขอบเขตของ “ศิลปะวรรณกรรม” แห่งชาติไทยให้มีความหมายกว้างขวางและแนบแน่นกับสามัญชนยิ่งขึ้น