โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/เหรียญโภคทรัพย์ 2513 ธัมมวิตักโก ภิกขุ เจ้าคุณนรรัตนราชมานิต

เจ้าคุณนรรัตนราชมานิต ธัมมวิตักโก

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

เหรียญโภคทรัพย์ 2513

ธัมมวิตักโก ภิกขุ

เจ้าคุณนรรัตนราชมานิต

“พระธัมมวิตักโกภิกขุ” หรือ “พระยานรรัตนราชมานิต” วงการพระเครื่องเรียกขานนามท่านด้วยความเคารพว่า “เจ้าคุณนรฯ”

เป็นข้าราชสำนักในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต จึงได้บวชถวายเป็นพระราชกุศลตลอดชีวิต

วัตถุมงคลล้วนเป็นที่นิยมสะสม โดยเฉพาะ “เหรียญโภคทรัพย์ เจ้าคุณนรฯ พ.ศ.2513”

เหรียญดังกล่าว จัดสร้างโดยพระมหาสงัด สุวิเวโก วัดเทพศิรินทราวาส และเจ้าคุณนรฯ อธิษฐานจิต เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2513

ออกแบบและปั๊มโดยกองกษาปณ์ มีทั้งพิมพ์เล็กและพิมพ์ใหญ่ เนื้อทองคำ เงิน นวโลหะผิวไฟ และนวโลหะ

ลักษณะเป็นเหรียญกลม ไม่มีหูห่วง

ด้านหน้าเหรียญ เป็นรูปเหมือนเจ้าคุณนรฯ หันข้างในเหรียญทรงกลม ด้านล่างใต้รูปเหมือน มีอักษรฉายาว่า “ธมฺมวิตกฺโก”

ด้านหลังเหรียญ เป็นยันต์น้ำเต้าหรือยันต์ภควัม ภายในบรรจุอักขระขอม 6 ตัว และตัวปี พ.ศ.ที่สร้าง คือ “๒๕๑๓” ด้านข้างเหรียญเป็นขอบสตางค์

สำหรับยันต์พระภควัม หรือยันต์น้ำเต้า เป็นยันต์ประจำของ “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์” (เจริญ ญาณวโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส ซึ่งเป็นพระอุปปัชฌาย์ และให้ความเลื่อมใสศรัทธาและเทิดทูนไว้อย่างสูง

ด้วยเหตุที่เหรียญรุ่นนี้มีความคล้ายกับเหรียญเงินบาทที่ใช้ในปัจจุบัน จึงอุปมาได้ว่า ใครมีเหรียญดังกล่าวไว้บูชา จะเป็นโภคทรัพย์มงคลกับชีวิต

ทำให้เรียกขานว่า เหรียญโภคทรัพย์

เหรียญโภคทรัพย์ เจ้าคุณนรฯ (หน้า)
เหรียญโภคทรัพย์ เจ้าคุณนรฯ (หลัง)

 

เดิมชื่อ ตรึก จินตยานนท์ เกิดที่หลังวัดโสมนัสวิหาร อ.ป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ เมื่อวันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2440 เป็นบุตรคนโตของพระนรราชภักดี (ตรอง จินตยานนท์) มารดาชื่อ ภุก จินตยานนท์

เมื่อเจริญวัยขึ้น ท่านได้เข้าศึกษาวิชาเบื้องต้นที่โรงเรียนวัดโสมนัสฯ จนจบชั้นประถม (ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดในสมัยนั้น) และได้เข้าศึกษาชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตรฯ

สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมด้วยการสอบได้ที่ 1 ของสนามสอบ ทั้งนี้ การสอบในสนามสอบในสมัยนั้น เป็นการสอบรวมกันหลายๆ โรงเรียน โดยใช้ข้อสอบเดียวกัน อาจจะกล่าวได้ว่าท่านสอบได้ที่ 1 ของประเทศในสมัยนั้น และได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนข้าราชการพลเรือน (ปัจจุบันคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) โดยเลือกเรียนวิชารัฐศาสตร์ ซึ่งไม่ค่อยตรงกับที่ท่านตั้งใจไว้ เพราะแต่เดิมท่านสนใจในวิชาแพทย์

แต่ด้วยบิดาท่านเป็นนักปกครอง อยากจะให้ท่านเป็นนักปกครองตาม ท่านจึงเลือกเรียนตามความประสงค์ของบิดา และในขณะที่ท่านศึกษาอยู่ เมื่อมีเวลาว่าง ท่านก็จะเข้าเรียนพิเศษภาษาอังกฤษกับครูเฉลิม

สำหรับการเรียนวิชารัฐศาสตร์ จบด้วยการสอบไล่ได้ที่ 1 ของชั้นเรียน ภายหลังจากการที่ท่านศึกษาอยู่ในปีสุดท้าย นักศึกษาในปีนั้นต้องเข้ารับการซ้อมรบเสือป่าในฐานะนักเรียนเสือป่ารักษาพระองค์ และในการซ้อมรบครั้งนี้เองทำให้ชีวิตของท่านเปลี่ยนแปลงไป

เดิมนั้นต้องการเป็นข้าราชการปกครอง กลับต้องมาเป็นข้าราชการในสำนัก เพียงเพราะล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 เห็นท่านรูปร่างเล็ก จึงรับสั่งถามว่า “ตัวเล็กๆ อย่างนี้ถ้าเกิดข้าศึกดักทำร้ายแล้วจะสู้เขาไหวหรือ”

จึงกราบบังคมทูลว่า “ต้องขอลองสู้ดูก่อน ส่วนจะไหวหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่งขอรับ”

ถ้อยคำกราบบังคมทูลในครั้งนั้นเป็นที่พอพระราชหฤทัยของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 มาก

หลังจากซ้อมรบเสือป่าเสร็จสิ้นแล้วก็ทรงโปรดให้ท่านเป็นฝ่ายในและโปรดเกล้าฯ ให้ท่านเข้าไปรับใช้ประจำห้องบรรทมในที่สุด

ด้วยความจงรักภักดีที่ท่านมีต่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 จึงปฏิบัติรับใช้ด้วยความขยันและซื่อสัตย์จนเป็นที่โปรดปรานของล้นเกล้าฯ จนได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาพานทองที่ พระยานรรัตนราชมานิต เมื่อปี พ.ศ.2462 (ขณะนั้นท่านอายุเพียง 25 ปีเท่านั้น)

และได้รับพระราชทานสายสะพาย ประถมาภรณ์มงกุฎไทย

 

ต่อมา เมื่อรัชกาลที่ 6 สวรรคต เจ้าคุณนรฯ อุปสมบทในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ เพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศล ณ วัดเทพศิรินทราวาส โดยมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวรเถร) เป็นพระอุปัชฌาย์ ขณะที่บวชมีอายุ 28 ปี

โดยครั้งแรกนั้นลาบวชเพียงพรรษาเดียว จากนั้นก็ผัดเป็นสองพรรษา สามพรรษา แม้กระทั่งรัชกาลที่ 7 ทรงเห็นว่า พระยานรรัตนราชมานิต เป็นผู้ที่ซื่อสัตย์ มั่นคง ทั้งสูงด้วยความกตัญญูกตเวที ทั้งเป็นผู้ที่มีความรู้สูง สมควรที่จะแต่งตั้งให้รับราชการต่อไป

ดังในสัญญาบัตรแต่งตั้งตอนหนึ่งมีใจความว่า “ขอประกาศแก่ท่านทั้งหลายทั้งปวงฤๅผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งจะได้พบอ่านคำประกาศนี้ให้ทราบว่า เราได้ตั้งใจให้จางวางตรี เจ้าพระยานรรัตนราชมานิต (ตรึก จินตยานนท์) ปม.ท. จมว.ม.ล.มว.ป.ร.ต. ซึ่งเป็นที่รักใคร่ไว้วางใจของเราเป็นองคมนตรีรับปรึกษาราชการในตัวเรา เพิ่มศักดินาขึ้นอีก 1,000 เพื่อจะได้ช่วยเราคิดทำนุบำรุงแผ่นดินให้เป็นคุณประโยชน์ มีความเจริญสมบูรณ์ ฯลฯ”

แต่ก็ไม่ยอมลาสิกขาออกไปรับตำแหน่ง

ให้ความสำคัญในการออกรับบิณฑบาตตอนเช้ารวมทั้งการลงโบสถ์ การสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น อย่างเคร่งครัด ตลอดเวลาที่อยู่ในสมณเพศ

จนกระทั่งถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2514 สิริอายุ 74 ปี พรรษา 46

ดังนั้น ทุกวันที่ 8 มกราคมของทุกปี ถือเป็นวันคล้ายวันมรณภาพ “พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต” วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ