วิกฤติศตวรรษที่21 : สงครามการค้าสหรัฐ-จีน วิเคราะห์ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ตลาดทองและสกุลเงินต่างๆ

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : สู่ขั้นใช้ยาแรง (38)

ความเข้าใจบางประการเกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์

มีความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ที่ควรกล่าวถึงดังนี้คือ

1) สินค้าโภคภัณฑ์เป็นสินค้าวัตถุดิบหรือผลผลิตการเกษตรขั้นต้น นิยมแบ่งเป็นสามชนิดใหญ่คือ

ก) โลหะ ซึ่งมีสองกลุ่มย่อย ได้แก่ โลหะมีค่า เช่น เงินและทอง โลหะใช้ในอุตสาหกรรม เช่น เหล็ก ทองแดงที่กำลังนิยม และราคาแพงลิ่วถึงขั้นจะเป็นฟองสบู่ ได้แก่ แพลลาเดียม ที่ใช้ทำเครื่องประดับ

ข) ผลผลิตการเกษตรเบื้องต้นได้จากการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ ประกอบด้วยเมล็ดธัญพืช ผลไม้ ผัก เครื่องเทศ และเนื้อสัตว์ต่างๆ

ค) สินค้ากลุ่มพลังงาน ได้แก่ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น รวมความว่าสินค้าโภคภัณฑ์เป็นความมั่งคั่งที่มนุษย์สร้างจากแผ่นดิน

2) สินค้าโภคภัณฑ์เป็นสิ่งจำเป็นยิ่งต่อมนุษย์ เป็นเหมือนกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจ เป็นสิ่งหล่อเลี้ยงสังคมและอารยธรรมมนุษย์ ถ้าหากโซ่อุปทานสินค้าโภคภัณฑ์มีอันต้องหยุดชะงักหรือถูกทำลายถาวร ก็จะทำให้อารยธรรมอุตสาหกรรมที่เป็นอยู่ล่มสลาย

นิยมถือกันว่าอุปสงค์และอุปทานเป็นตัวกำหนดราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาดยามปกติ หรือตามทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติยังมีเหตุปัจจัยอื่นที่กระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ที่ควรกล่าวถึงสามประการ ได้แก่

ก) ภัยธรรมชาติ มีน้ำท่วม ฝนแล้งและพายุใหญ่ เป็นต้น ทั้งเห็นกันว่าภาวะโลกร้อนจะกระทบต่อการผลิตภาคเกษตรอย่างรุนแรง โรคระบาดพืชและสัตว์ก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง เช่น การเกิดไข้หวัดนกและไข้หวัดหมู ในต้นปี 2020 นี้ ฝูงตั๊กแตนทะเลทรายหลายพันล้านตัวได้โจมตีไร่ในหลายประเทศของแอฟริกาตะวันออก ประเมินว่าทำให้ผู้คนกว่า 20 ล้านคนต้องการความช่วยเหลือทางอาหาร เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดในขณะนี้ ถ้าต้านไม่อยู่อาจขยายสู่การเป็นโรคระบาดโลก ส่งผลกระทบต่อการผลิตและสายโซ่อุปทานโลกอย่างคาดไม่ถึง

ข) การเก็งกำไร เป็นการสร้างราคาเทียมให้แก่สินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีการซื้อ-ขายมากที่สุด ซึ่งจะได้กล่าวในรายละเอียดต่อไป

ค) เหตุปัจจัยทางการเมือง จากการแย่งชิงและเบียดขับคู่แข่งในการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ เห็นชัดในด้านพลังงาน

เช่น มีขบวนการโบโกฮาราม ศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศไนจีเรียที่อุดมด้วยน้ำมันมากที่สุดในแอฟริกาตอนใต้ ทะเลทรายสะฮารา มีอุดมการณ์ต่อต้านวัฒนธรรมตะวันตก และชาตินิยมทางทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้การผลิตน้ำมันในประเทศนี้ต้องมีความเสี่ยงสูงขึ้นมาก

หรือกรณีที่สหรัฐขัดขวางโครงการท่อก๊าซธรรมชาตินอร์ดสตรีม-2 จากรัสเซียไปยังเยอรมนี ก็ทำให้โครงการนี้ต้องสะดุดหยุดชะงักและล่าช้ากว่ากำหนด

จากเหตุปัจจัยดังกล่าวทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีความผันผวนเกิดความไม่แน่นอน มีความเสี่ยงสูงทั้งต่อการลงทุนและการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ไปจนถึงสินค้าคงทุนประเภททุน ในอีกด้านหนึ่งมีความพยายามในการประกันความเสี่ยง และรักษาห่วงโซ่อุปทานของสินค้าโภคภัณฑ์ให้คงทน

ซึ่งหมายถึงต้องมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องปริมาณมหาศาลในการพัฒนาการผลิตและสร้างห่วงโซ่อุปทานนี้

3) กฎของสินค้าโภคภัณฑ์ สินค้าโภคภัณฑ์มีการเคลื่อนไหวที่เป็นแบบรูปบางอย่าง จนคล้ายเป็นกฎว่ามันจะต้องเป็นเช่นนั้น แบบรูปนี้เกิดจากความสัมพันธ์หลายฝ่าย ได้แก่ ทุน แรงงาน ธรรมชาติแวดล้อม และการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น กฎดังกล่าวขัดแย้งกันในตัวและดำเนินไปด้วยความยากลำบาก ควรกล่าวถึงอยู่ 4 ประการด้วยกัน ได้แก่

ก) สินค้าโภคภัณฑ์จำต้องมีราคาถูก เพื่อจะได้มีวัตถุดิบและพลังงานราคาถูก ซึ่งทำให้ประเทศนั้นๆ ได้เปรียบทางการค้าระหว่างประเทศและสามารถรักษาความกินดีอยู่ดีของประชาชนพลเมืองได้ง่ายขึ้น ในช่วงของการสะสมทุน เบื้องต้น เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรม รัฐบาลทั้งหลายดำเนินนโยบายกดราคาอาหารให้ต่ำ เพื่อทำให้ค่าครองชีพไม่สูง เหมาะแก่คนงานที่มีรายได้น้อย หรือใช้เงินจากการส่งออกผลผลิตการเกษตรเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมของตน เมื่อได้พัฒนาอุตสาหกรรมไปพอสมควรแล้ว จุดเน้นย้ายไปอยู่ที่การมีแร่ธาตุและพลังงานราคาถูก

ข) จำต้องมีการสนองสินค้าอุปโภคในปริมาณพอดี ทันเวลา และได้คุณภาพ เป็นที่พอใจของผู้บริโภค มีช่วงของการเก็บสต๊อกให้สั้นที่สุด เพราะว่าสินค้าโภคภัณฑ์ที่ถืออยู่ในมือไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ยกเว้นเพื่อการเก็งกำไร) มันจะก่อรายได้ก็ต่อเมื่อมีการแปรเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค แต่การจะบรรลุเป้าประสงค์เช่นว่าต้องมีระบบโลจิสติกส์ที่ดี มีการลงทุนพอสมควร การบริหารจัดการที่ดี และมีการเมืองที่สงบมั่นคง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะปฏิบัติได้ง่าย

ค) ความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นไปตามความเรียกร้องของระบบทุนที่ต้องการ การเติบโตเสมอเพื่อให้ทุนได้ทำงานและสร้างกำไร ทุกประเทศต้องการให้จีดีพีของตนขยายตัวในอัตราสูง มีการบริโภคมากขึ้นจากการขยายตัวของชนชั้นกลางและจำนวนประชากร

ง) การสนองสินค้าโภคภัณฑ์ดำเนินไปได้ยากขึ้น เนื่องจากต้องเผชิญกับปัญหาความไม่สมบูรณ์ของแผ่นดิน และความเสื่อมสูญของแหล่งแร่ธาตุพลังงาน นอกจากนี้ยังมีปัญหามลพิษ ทำให้ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายและมูลค่าของสินค้าโภคภัณฑ์ ขัดกับกฎข้ออื่นที่กล่าวมา การแย่งชิงแผ่นดินและแหล่งแร่ธาตุพลังงานมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเพื่อให้ชาติของตนได้มีสินค้าโภคภัณฑ์ในราคาถูก

4) การค้าและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ของโลกในขณะนี้

การค้าและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ของโลกสมัยใหม่ได้พัฒนาไปก่อนใคร ในยุโรปและอเมริกาที่เป็นศูนย์กลางปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่ต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ปริมาณมากและสม่ำเสมอ สหรัฐที่เป็นผู้สืบทอดการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สองและที่สามได้มีตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ใหญ่อยู่หลายแห่ง ประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียได้พัฒนาตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ในภายหลัง

ในปัจจุบันตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ใหญ่ของโลก 10 แห่ง กระจายไปในภูมิภาคต่างๆ คือ ในสหรัฐ 3 แห่ง คือ

1) ตลาดหอการค้าแห่งชิคาโก (CBOT) ซื้อ-ขายสินค้าเกษตรกรรมการเพาะปลูกเป็นหลัก เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง ข้าวสาลี และสินค้าทางการเงิน เช่น อัตราดอกเบี้ย

2) ตลาดกลางสินค้าโภคภัณฑ์ชิคาโก (CME) ซื้อ-ขายสินค้าด้านการเลี้ยงสัตว์ ป่าไม้ โลหะและพลังงาน และเป็นตลาดซื้อ-ขายสินค้าล่วงหน้า ซึ่งถือว่าเป็นแห่งแรกของโลก ทั้งสองตลาดนี้บริหารโดยบริษัทซีเอ็มอี บางแห่งถือเป็นตลาดเดียวกัน

3) ตลาดกลางสินค้าโภคภัณฑ์นิวยอร์ก (NYMEX) ซึ่งถือกันว่าเป็นตลาดกลางสินค้าล่วงหน้าใหญ่ที่สุดของโลก ในยุโรปมี 2 แห่ง ได้แก่ ตลาดกลางโลหะลอนดอน (LME) เป็นตลาดค้าทองใหญ่ของโลก และตลาดไคลแมกซ์ (Climax) ในเนเธอร์แลนด์ค้าสัญญาว่าจะขายสินค้าประเภทพลังงาน ในเอเชียมี 5 แห่ง ได้แก่ ตลาดกลางดูไบ เน้นด้านน้ำมัน ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์เจิ้งโจวของจีน เน้นสินค้าการเกษตร ตลาดกลางนานาสินค้าที่มุมไบของอินเดีย ตลาดกลางสินค้าโภคภัณฑ์ในญี่ปุ่น (TOCOM) และตลาดกลางสินค้าในสิงคโปร์ (SGX) ในออสเตรเลียมี 1 แห่งได้แก่ ตลาดกลางออสเตรเลีย (ASX) (ดู street-finance.com)

ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ปัจจุบันมีความขัดแย้งในตัวรุนแรง โดยด้านหนึ่งเป็นแบบระหว่างประเทศ อีกด้านหนึ่งเป็นแบบชาตินิยม ต้องการรักษาทรัพยากรธรรมชาติของตน และรักษาความมั่นคงทางอาหารและการอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหัวใจของอำนาจแห่งชาติที่เป็นมาตั้งแต่โบราณ และกระแสชาตินิยมกำลังพัดแรงในขณะนี้

ศึกสินค้าโภคภัณฑ์-จากอดีตถึงปัจจุบัน

ศึกชิงสินค้าโภคภัณฑ์มีมาตั้งแต่โบราณ ผู้ครอบครองสินค้าประเภทนี้ได้มากก็ตั้งตัวเป็นมหาอำนาจ สามารถสร้างจักรวรรดิใหญ่ เป็นเสาหลักแห่งอารยธรรม

เริ่มต้นตั้งแต่จักรวรรดิโรมัน มีหลักฐานให้เชื่อได้ว่าจักรวรรดิโรมันที่เจริญอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 201 ก่อนคริสตกาลเนื่องจากรบชนะอาณาจักรคาร์เธจ (ตั้งอยู่บริเวณประเทศตูนิเซียปัจจุบัน) ในสงครามพิวนิกครั้งที่สอง (218-201 ก่อนคริสตกาล บางทีเรียกสงครามฮันนิบาล) สามารถเข้าครอบครองคาบสมุทรไอบีเรีย (สเปน) ที่เคยเป็นของคาร์เธจมาก่อน บริเวณทางตะวันออกเฉียงใต้ของคาบสมุทรนี้อุดมด้วยแร่เงินที่ขุดสกัดทำเหรียญเงินที่ทำให้การค้าและการทหารของโรมันขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้โรมกลายเป็นอภิมหาอำนาจในขณะนั้น (ดูบทความของ Theodoros Karasavvas ชื่อ Analysis of Roman Coins Proves Roman Empire Got Rich on Iberian Silver ใน ancient-empire,net 16/08/2017)

วิเคราะห์กันว่าการเสื่อมและการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันเกิดขึ้นพร้อมกับการเสื่อมค่าของเหรียญเงินโรมันโดยใช้โลหะอื่นมาเจือเพิ่มขึ้น จนท้ายสุดแทบไม่มีแร่เงินเหลืออยู่เนื่องจากแหล่งแร่เสื่อมโทรม

นักวิชาการบางคนให้สมญาจักรวรรดิโรมันว่าเป็นจักรวรรดิแห่งแร่เงิน เติบโตจากแร่นี้และล่มสลายลงไปเพราะมัน

หลังการล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน ยุโรปได้เกิดมหาอำนาจต่อเนื่องกันไปตั้งแต่เวนิส เนเธอร์แลนด์ สเปน ไปจนถึงอังกฤษ

ศูนย์กลางอำนาจเหล่านี้มีความคล้ายกันอยู่ที่ต่างเป็นเมืองท่าสำคัญ มีกองเรือพาณิชย์และกองเรือรบขนาดใหญ่ในการสร้างอำนาจและอาณานิคม

ที่โดดเด่นได้แก่อังกฤษที่สร้างจักรวรรดิใหญ่กว่าใคร

อังกฤษมีทรัพยากรสำคัญได้แก่ถ่านหินและเหล็กกล้า มีส่วนสำคัญให้เป็นศูนย์การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่หนึ่ง

มีอุตสาหกรรมหลักได้แก่สิ่งทอ อังกฤษได้ใช้อาณานิคมของตนเป็นพื้นที่เพาะปลูกฝ้ายในอินเดียและอียิปต์ เป็นต้น

อังกฤษนำเข้าฝ้ายจากอินเดีย และส่งผ้าจากโรงงานอังกฤษไปขายที่อินเดีย

แต่ศึกสินค้าโภคภัณฑ์ที่โด่งดังกว่านั้น ได้แก่ สงครามฝิ่น หลายครั้งระหว่างอังกฤษและยุโรปกับจีน (1839-1860) สาเหตุเนื่องจากอังกฤษเกิดเสพติดชาของจีน ต้องเสียเปรียบดุลการค้า คือต้องเสียเหรียญทองของตนให้แก่จีนจำนวนมาก

อังกฤษได้แก้ไขด้วยการสนับสนุนการเพาะปลูกชาในลังกา (ตั้งแต่ปี 1824) และอินเดีย (ต้นทศวรรษ 1820 ในแคว้นอัสสัม) โดยลักลอบนำพันธุ์ชามาจากจีน ซึ่งย่อมได้ผลอย่างจำกัด เพราะว่าเป็นพันธุ์ของจีน

ที่สุดอังกฤษได้สินค้าโภคภัณฑ์ที่สามารถนำมาค้าขายกับจีนได้ นั่นคือฝิ่น

อังกฤษสนับสนุนให้อินเดีย ที่สำคัญคือแคว้นเบงกอลเป็นที่ปลูกฝิ่นและใช้เมืองกัลกัตตา (ปัจจุบันเรียกโกลกาตา) เป็นศูนย์กลางค้าฝิ่นกับจีน

แต่ฝิ่นเป็นยาเสพติดร้ายแรง รัฐบาลจีนจึงต่อต้านจนเกิดเป็นสงครามและพ่ายแพ้ สร้างศตวรรษแห่งความอัปยศของจีนขึ้น

อุตสาหกรรมสิ่งทอได้ช่วยสร้างจักรวรรดิใหม่ขึ้นคืออเมริกา ที่มีพื้นที่อันอุดม แรงงานทาสผิวดำจำนวนมาก และแหล่งสินเชื่อที่เหมือนไม่จำกัด ขึ้นเป็นผู้ผลิตฝ้ายรายใหญ่ที่สุดของโลก

มีนักเขียนบางคนชี้ว่าในปี 1862 ประชากรถึง 20 ล้านคน หรือราวหนึ่งในทุก 65 คนของผู้คนในขณะนั้นทำงานเกี่ยวกับการปลูกฝ้ายและผลิตผ้าฝ้าย

อุตสาหกรรมนี้สร้างความมั่งคั่งให้แก่ผู้ประกอบการและพ่อค้าในยุโรป และส่งเสริมให้สหรัฐก้าวสู่การเป็นประเทศชั้นนำทางเศรษฐกิจของโลกด้วยการส่งออกฝ้าย

เมื่อถึงปี 1861 อังกฤษที่ถือว่าเป็นเรือธงแห่งระบบทุนนิยมโลกต้องพึ่งพาสินค้าปุยขาวของฝ้ายที่ส่งออกจากนิวยอร์ก นิวออร์ลีนส์ และเมืองท่าอื่นของสหรัฐอย่างดิ้นไม่หลุด อังกฤษต้องพึ่งพาฝ้ายจากสหรัฐถึงราวร้อยละ 77 ของจำนวนฝ้ายที่ใช้ทั้งหมดในอังกฤษ ก่อนสงครามกลางเมือง (1861-1865) มูลค่าการส่งออกฝ้ายของสหรัฐสูงถึงร้อยละ 61 ของมูลค่าสินค้าออกทั้งหมด

ความรุ่งเรืองจากการผลิตฝ้ายเองได้ก่อความขัดแย้งจนกระทั่งนำมาสู่สงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายเหนือ ที่มีการอุตสาหกรรมโรงงานมาก และต้องการแรงงานที่เสรี และฝ่ายใต้ที่ชำนาญการเกษตรและต้องการแรงงานทาส ชัยชนะของฝ่ายเหนือไม่ได้ทำให้การผลิตฝ้ายของสหรัฐลดลง เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนวิธีการเกษตรให้เป็นแบบใช้เครื่องจักรกลและแรงงานเสรีเท่านั้น

นักสังเกตการณ์ชาวฝรั่งเศสได้ทำนายไว้ในปี 1863 ว่า “จักรวรรดิแห่งฝ้ายจะมั่นคง และกษัตริย์แห่งฝ้ายไม่ได้ถูกขับออกจากบัลลังก์” (ดูบทความของ Sven Beckert ชื่อ Empire of Cotton ใน theatlantic.com 12/12/2014)

สหรัฐยังเป็นผู้นำพาโลกสู่ยุคน้ำมัน โดยการตั้งบริษัทน้ำมันสแตนดาร์ดในปี 1870 และเป็นศูนย์กลางการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สองและสาม แต่การเป็นจักรวรรดิโดยมีน้ำมันเป็นฐานได้เสื่อมถอยในปี 1973 จากการท้าทายของกลุ่มประเทศโอเปค เป็นสัญญาณว่าศึกสินค้าโภคภัณฑ์จักร้อนแรงขึ้น

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการแปรสินค้าโภคภัณฑ์เป็นเชิงการเงินและการพัฒนาตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ของจีน