นิธิ เอียวศรีวงศ์ | ผู้หญิง ผู้ชาย กับงานช่าง

นิธิ เอียวศรีวงศ์

หนังสือสารคดีฉบับเดือนมกราคมปีนี้ลงเรื่องเกี่ยวกับของจิ๋ว (รถไฟจิ๋ว, บ้านจิ๋ว, ร้านจิ๋ว, เมืองจิ๋ว, หุ่นจิ๋วที่เป็นตัวละครของรูปภาพ ฯลฯ) ซึ่งทั้งผู้สร้างและผู้เล่นต่างเป็น “นักประดิษฐ์” คิดค้นที่คึกคักทั้งสิ้น อ่านสนุกและน่าสนใจในทุกๆ ชนิดของของจิ๋ว

ภรรยาผมซึ่งอ่านมาก่อน ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมนักประดิษฐ์ผู้สร้างสรรค์เหล่านี้จึงมีแต่ผู้ชาย ไม่มีผู้หญิงรวมอยู่ในบรรดานักสร้างสรรค์เหล่านั้นเลย

เออ จริงสิ ไม่มีผู้หญิงสักคนจริงๆ ด้วย ก็อย่างผู้ชายไทยทั่วไปแหละครับ มักขาดความรู้สึกฉับไวกับเรื่องเพศสภาพ ก็สถานะเหนือกว่าซึ่งเรายึดครองมานานจนเหมือนเป็นธรรมชาติ จะไปสนใจกับบทบาททางเพศของกิจกรรมต่างๆ ไปทำไม

เมื่อผมเริ่มคิดหาคำตอบให้ตนเอง ผมก็นึกได้ด้วยว่า ในยุคสมัยที่ล่วงไปแล้ว แม้เราพอจะมีกวีหญิงอยู่บ้าง แต่เราไม่มีหรือไม่รู้ว่ามีจิตรกรหญิง, สถาปนิกหญิง, หรือประติมากรหญิงอยู่เลย

“ช่าง” ผู้หญิงคงมีอยู่เต็มวัง เพราะงานจัดดอกไม้, ปักเย็บ, หรือทำครัว ล้วนเป็นฝีมือผู้หญิงทั้งสิ้น แต่วังจะแกะสลักลวดลาย ปะทองล่องกระจกเมื่อไร เป็นต้องเรียก “ช่าง” ผู้ชายทุกที ในหมู่บ้านก็เหมือนกัน ผู้หญิงเป็น “ช่าง” ประเภทต่างๆ ในเรือน นับตั้งแต่ครัว, ที่หลับที่นอน, ความสะอาดทั่วไป และเครื่องนุ่งห่ม ไปจนถึงจัดดอกไม้ถวายพระ แต่ไม่เคยได้ยินว่ามีช่างไม้, ช่างเหล็ก, ช่างปูน, ช่างเขียน ที่เป็นหญิงเลย

และเอาเข้าจริง ที่เราเรียกว่ากวีหญิงนั้น ก็มีไม่กี่คน และทั้งหมดล้วนเชื่อมโยงกับคนชั้นสูงในวังทั้งนั้น ในความเป็นจริงแล้ว คงมีผู้หญิงเป็นกวีปากเปล่าอีกมากในหมู่บ้าน หากจะนับคงเป็นหลายร้อยหรือพัน เฉพาะที่คุณเอนก นาวิกมูล นับไว้เท่าที่อาจนับได้ในช่วงชีวิตของท่านก็เข้าไปหลายสิบแล้ว

หากถือว่ากวีคือ “ช่าง” ชนิดหนึ่งก็นับว่าน่าสนใจนะครับ เพราะที่ตั้งข้อสังเกตไว้ข้างต้นนั้นอาจสรุปได้ว่า แม้ผู้หญิงไทยเป็น “ช่าง” ในชีวิตจริง แต่ผู้หญิงไม่เป็น “ช่าง” ที่ทำงานสาธารณะ (ผลงานเป็นสาธารณะ หรือทำในที่สาธารณะ) ยกเว้นอย่างเดียวคือเป็นกวี ซ้ำชาวบ้านไม่รู้สึกผิดปรกติอย่างไรด้วย แม่เพลงจะมีฝีปากโลดโผนอย่างไร ก็ไม่มีใครรู้สึกว่าเธอจะสูญเสีย “ความเป็นผู้หญิง” ของเธอไปตรงไหน ยิ่งโลดโผนและคมคายมากๆ เสียอีก ยิ่งมีชื่อเสียงจนเป็นที่รู้จักทั่วไปในละแวกนั้นๆ

ตอนแรกที่ผมพยายามคิดหาคำตอบให้ตนเอง ผมคิดไปว่า เพราะงานช่างประเภทช่างก่อสร้าง, จิตรกร, หรือประติมากร ฯลฯ ล้วนต้องปีนป่ายผาดโผน (ทางกาย) ในการทำงาน จึงทำให้ผู้หญิงไทยซึ่งถูกคาดหวังให้เป็น “กุลสตรี” ทำไม่ได้ แต่ก็นึกค้านตัวเองว่า เครื่องนุ่งห่มของผู้หญิงไทย (ภาคกลาง) สมัยก่อนก็รัดกุมเท่ากับผู้ชาย ถึงจะปีนป่ายโลดโผนอย่างไรก็ไม่น่าจะเป็นไร ยิ่งกว่านี้ผู้หญิงในหมู่บ้านก็มีงานในนาที่ต้องทำเกือบไม่ต่างอะไรจากผู้ชาย ยกเว้นไถนาแล้ว งานอะไรที่เหลือซึ่งต้องทำในท้องนา ผู้หญิงก็ร่วมทำหมด ตั้งแต่ดำนา เกี่ยวข้าว ไปจนถึงฝัดข้าวและช่วยผัวขนข้าวเข้ายุ้งฉาง ล้วนโลดโผนทั้งนั้น

ผมจึงเข้าใจว่า พื้นที่ของกิจกรรมสำคัญกว่าตัวกิจกรรมเอง หมายความว่าบทบาทของผู้หญิงไทยถูกกำหนดจากพื้นที่ ไม่ใช่ประเภทของกิจกรรม พื้นที่ประกอบด้วยสามอย่างคือ พื้นที่ส่วนตัว, พื้นที่ในครอบครัว และพื้นที่สาธารณะ

(เหตุที่กวีหญิงในวัฒนธรรมของชนชั้นสูงมีน้อย ย่อมสะท้อนให้เห็นระเบียบกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดตายตัวของชนชั้นสูงที่มีต่อพื้นที่สาธารณะ อย่าว่าแต่ผู้หญิงเลยครับ ผู้ชายเองก็ถูกบังคับพฤติกรรมไว้หลายเรื่องเหมือนกัน… เช่น อย่านุ่งผ้าลอยชายเมื่อสนทนาหรือสัมพันธ์กับชนชั้นสูง ความผาดโผนนอกรีตนอกรอยของกวีนิพนธ์ที่ผู้หญิงแต่งขึ้นในต้นรัตนโกสินทร์ ส่วนหนึ่งก็เป็นการต่อต้านกฎระเบียบเหล่านั้นอยู่ในที)

ผมเข้าใจว่า พื้นที่ส่วนตัวในทุกวัฒนธรรมคือพื้นที่แห่งเสรีภาพเต็มเปี่ยม จะต่างกันก็อยู่ที่พื้นที่นี้จะใหญ่หรือเล็กแค่ไหนเท่านั้น เรือนไทยซึ่งแบ่งห้องไม่มาก และไม่มีประเพณีมีห้องส่วนตัว พื้นที่ส่วนตัวของผู้หญิงจึงมีน้อยบนเรือน แต่ผิดจากผู้ชาย ผู้หญิงไม่อาจไปสร้างพื้นที่ส่วนตัวต่างหากของตนเองนอกเรือนได้มากเท่าผู้ชาย (เช่น บวชไม่ได้ ก็ไม่มีวันมีกุฏิของตนเอง, ไม่ได้เข้าป่าล่าสัตว์, ไม่ต้องเฝ้าข้าวที่เถียงนา ฯลฯ)

อีกอย่างหนึ่งที่ต่างจากผู้ชายในวัฒนธรรมไทยอย่างมากก็คือ อะไรที่เป็น “ส่วนตัว” ของผู้หญิง มักเอาไปแสดงในที่สาธารณะไม่ค่อยได้ ผมไม่ได้หมายถึงอวัยวะเนื้อตัวของผู้หญิงเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงอะไรอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น อารมณ์ความรู้สึก, แม้แต่ความใฝ่ฝันส่วนตัวบางอย่างก็ไม่พึงเผยให้คนทั่วไปรู้ (ผู้ชายบอกใครก็ได้ว่า กูอยากได้อีนั่นเป็นเมีย แต่ผู้หญิงจะบอกว่าอยากได้ไอ้นั่นเป็นผัวไม่ได้ ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น ผู้ชายเสียอีกที่ถูกห้ามมิให้แสดงอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวในที่สาธารณะ)

อาจารย์สุธิวงศ์ พงษ์ไพบูลย์ เคยบอกผมว่า ในภาคใต้สมัยก่อนคู่ผัวเมียเดินไปไหนต่อไหนด้วยกัน ไม่มีวันเดินเคียงกันเป็นอันขาด แต่ผู้หญิงจะเดินตามหลังผัวในระยะที่ห่างพอน่าดู หากเพิ่งแต่งงานใหม่ๆ เมียยิ่งเดินห่างไปลิบเลย แม้แต่ความใกล้ชิด (intimacy) ผู้หญิงก็ถูกกำกับมิให้แสดงออกอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ

บทบาทหน้าที่ของผู้หญิงในครอบครัวหรือครัวเรือนก็ต่างจากผู้ชาย ข้อนี้อาจดูไม่แปลกเพราะเราพบได้ในวัฒนธรรมทั่วไป แต่ผมรู้สึกเอาเองโดยขาดการวิจัยรองรับว่า บทบาทหน้าที่ของเด็กผู้หญิงที่ยังไม่ออกเรือนว่า ดูจะหนัก (ทั้งกายและใจ) กว่าเด็กผู้ชายมาก เช่นระหว่างการเลี้ยงน้องกับการเลี้ยงควาย ผมคิดว่าเลี้ยงควายน่าจะสนุกกว่า อย่างน้อยก็เป็นงานที่เบากว่าต้องเอาน้องเข้าสะเอวไปทั้งวัน ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงการดูแลบ้านเรือนซึ่งล้วนเป็นงานจุกจิกที่ทำไปไม่สิ้นสุด นอกจากนี้ในภาคเหนือ นอกจาก “อีหล้า” (“อีสุด” ของไทยภาคกลาง?) หรือลูกสาวคนเล็กจะเป็นผู้ได้รับมรดกเรือนและที่นาผืนสุดท้ายจากพ่อ-แม่ เธอจึงมีหน้าที่ดูแลพ่อ-แม่ยามแก่ชราด้วย

บทบาทหน้าที่ของผู้หญิงในสองพื้นที่ดังกล่าว ปิดล้อมให้ผู้หญิงมีบทบาทในที่สาธารณะได้ไม่มากนัก งานสร้างสรรค์ทั้งหลายที่ผู้หญิงไทยทำสำเร็จล้วนเป็นงานที่ทำในพื้นที่ส่วนตัวและครัวเรือนทั้งสิ้น ที่ออกมาทำงานสร้างสรรค์ในทางกวีนิพนธ์ได้ ก็อาศัยพื้นที่และโอกาสที่ถือได้ว่า “พิเศษ” ทั้งสิ้น อันล้วนเป็นพื้นที่และโอกาสที่ไม่ปรกติธรรมดา แต่มีเหตุให้เปิดเครื่องปิดล้อมของผู้หญิงเป็นการชั่วคราว เช่น ในระหว่างสงกรานต์หรืองานรื่นเริงต่างๆ ของชุมชน (เช่น แห่นาคหรืองานประจำปีของหลวงพ่อ)

กวีหญิงที่เชื่อมโยงกับราชสำนักในต้นรัตนโกสินทร์ มีฝีปากกล้าในงานเล่นสักรวา หรือบางท่านก็สร้างโอกาสพิเศษให้ตนเองด้วยการทำให้คนอื่นเชื่อว่าสติไม่สมประกอบ แต่จะฝึกตนเองให้เป็นจิตรกรหรือช่างแต้มภาพเขียนฝาผนังวัด พื้นที่ส่วนตัวและครอบครัวที่ผู้หญิงโตมา ไม่เปิดให้ได้เรียนรู้ ถึงได้เรียนรู้ก็ไม่อาจทำได้ในพื้นที่สาธารณะอยู่นั่นเอง เพราะไม่มีคนบุญหนักศักดิ์ใหญ่คนไหนเลี้ยงดูผู้หญิงให้เป็นช่างในกรมหรือในวังของตน

(ส่วนจะมีความเชื่อทางศาสนาอยู่ด้วยหรือไม่ว่า ผู้หญิงจะไปยุ่งในงานก่อสร้างศาสนสถานไม่ได้ ผมไม่รู้)

อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงควรเปลี่ยนไปเมื่อความเป็นสมัยใหม่เข้ามาครอบงำสังคมไทย แม้กระนั้นผมก็ให้สงสัยอย่างยิ่งว่า ความเป็นสมัยใหม่กระทบต่อผู้หญิงและผู้ชายในสังคมไทยไม่เท่ากันและไม่เหมือนกัน เพราะต่างฝ่ายต่างแบกอะไรที่ไม่เหมือนกัน เช่น โอกาสทางด้านต่างๆ, บทบาทในแต่ละพื้นที่, อีกทั้งต่างฝ่ายต่างรับแบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างเพศของตะวันตก ซึ่งก็ให้โอกาสและบทบาทที่ไม่เท่าเทียมกันเช่นเดิม ต่างไปแต่ด้านเนื้อหาเท่านั้น

หนึ่งในความเป็นสมัยใหม่ที่ผู้หญิง-ผู้ชายไทยรับผลกระทบไม่เท่ากัน หรือไม่เหมือนกัน คือสำนึกความเป็นปัจเจกของบุคคล สำนึกเช่นนี้ผ่านเข้ามาในการศึกษา, สื่อโดยเฉพาะสื่อบันเทิง และปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่แต่ละคนต้องเผชิญ (เช่น รัฐเองก็ปฏิบัติต่อประชาชนของตนในฐานะเป็นปัจเจกมากขึ้น บัตรประจำตัวประชาชนไปจนถึงโทษทางอาญาในกฎหมาย เป็นต้น)

ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความเป็นปัจเจก คงได้รับไม่สู้จะต่างกันนักระหว่างหญิง-ชาย แต่ในวัฒนธรรมไทยแต่ก่อน ผู้ชายมีอนาคตที่อาจต่างกันในแต่ละคนมากกว่าผู้หญิง ผมหมายความว่าผู้ชายมีความคิดหรือความฝันว่า ตนอาจเป็นนายฮ้อยที่มีเครือข่ายกว้างไกลหลายหมู่บ้าน, อาจเป็นมหาบาเรียนที่มีชื่อเสียง, อาจเป็นเจ้าเมือง, อาจเป็นชาวนารวย, อาจเป็นชาวนาธรรมดา ฯลฯ ในขณะที่ผู้หญิงคิดหรือฝันไปได้ไม่มากนัก ความสำเร็จของชีวิตคือมีผัวดีมีลูกดี พอมีทรัพย์จะทำบุญให้ไม่น้อยหน้าใคร ฯลฯ

อนาคตที่ใฝ่ฝันของผู้หญิงส่วนใหญ่ไปไม่ไกลจากบ้านเรือนและครอบครัว

ความต่างระหว่างหญิง-ชายซึ่งมีมาแต่เดิมเช่นนี้ ย่อมทำให้ทั้งสองฝ่ายตอบสนองต่อสำนึกใหม่คือความเป็นปัจเจกต่างกันเป็นธรรมดา นอกจากนี้ ในระยะแรกของการเปลี่ยนเข้าสู่ความทันสมัย อาชีพใหม่ๆ ที่เปิดให้ “ปัจเจก” แต่ละคนไต่เต้าไปสู่ทรัพย์และอำนาจ ยังเปิดให้แต่เพียงผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ เช่น รับราชการ, เป็นทหาร, เป็นนักกฎหมาย, เป็นหมอ ฯลฯ คงทราบกันอยู่แล้วว่า กว่าผู้หญิงจะได้รับโอกาสให้เข้าเรียนในโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมได้ ต้องต่อสู้รณรงค์กันเป็นเวลานาน ทั้งหมดเหล่านี้ย่อมตอกย้ำให้ผู้หญิงไทยฝันถึงอนาคตของตนเองไปได้ไม่เกินแม่พลอยในสี่แผ่นดินเป็นธรรมดา

ยิ่งกว่านี้ ในการศึกษา ทั้งในแบบและนอกแบบ ยังวางพื้นฐานของสำนึกความเป็นปัจเจกระหว่างหญิง-ชายไว้ต่างกันด้วย เด็กผู้ชายถูกสอนให้สำนึกถึงศักยภาพของตนในฐานะปัจเจก โดยไม่ต้องคำนึงถึง “ความเป็นไทย” มากนัก ในขณะที่เด็กผู้หญิง แม้ได้รับคำสอนถึงศักยภาพของตนในฐานะปัจเจกเหมือนกัน แต่กลับถูกย้ำเรื่องคุณสมบัติของ “สตรีไทย” ไว้สูงมาก (ที่จริงแล้ว “สตรีไทย” ก็เป็นอุดมคติใหม่ที่ผูกไว้กับอุดมคติของชนชั้นสูงสมัยก่อน)

นักเรียนชายถูกตรวจเพียงทรงผมและความยาวของขากางเกง ในขณะที่นักเรียนหญิงถูกตรวจถี่ถ้วนละเอียดลออกว่า จนล้วงลึกเข้าไปในเนื้อตัวร่างกายด้วย เช่นสมัยหนึ่งห้ามมิให้สวมยกทรง

ผู้หญิงคือเสาหลักของการธำรงรักษา “ความเป็นไทย” ไว้ในสังคม

นอกจากสังคมไทยแล้ว ในอีกหลายสังคม ผู้หญิงมักถูกใช้ให้เป็นตัวแทนของอัตลักษณ์ความเป็นชาติ นับตั้งแต่เครื่องแต่งกายไปจนถึงอากัปกิริยา ในชั้นนี้ผมออกจะสงสัยว่าเป็นอิทธิพลของวัฒนธรรมการท่องเที่ยว

ผู้หญิงในอุดมคติไทยจึงเป็นวัดโพธิ์อีกวัดหนึ่งที่พูดได้ยิ้มได้เท่านั้น

ดังนั้น ผมจึงเข้าใจว่า ผู้หญิงในสังคมไทยถูกวางเงื่อนไขให้มีสำนึกความเป็นปัจเจกไม่แหลมคมเท่าผู้ชาย

การสร้างสรรค์ในงานศิลปะตามมาตรฐานปัจจุบันตั้งอยู่บนรากฐานของสำนึกความเป็นปัจเจก ศิลปินสร้างงานที่เป็นหนึ่งไม่เหมือนใคร เพราะถ้าเหมือนใคร ก็ถือว่าเป็นศิลปกรรมชั้นรองเท่านั้น ผู้ชายจึงครอบครองตำแหน่งศิลปินแห่งชาติสาขาจิตรกรรม, ประติมากรรม, สถาปัตยกรรม ฯลฯ มากกว่าผู้หญิงหลายเท่าตัว (ผมไม่แน่ใจว่า “ศิลปินแห่งชาติ” ใช้เป็นมาตรฐานในการวัดความดีเด่นได้มากน้อยเพียงใด แต่แม้ใช้มาตรฐานความสำเร็จและการยกย่องจากนานาชาติแทน ก็ได้ผลไม่ต่างกัน)

ทำไม “ช่าง” ของจิ๋วดังๆ ที่นิตยสารสารคดีนำมาเสนอจึงมีแต่ผู้ชาย อาจเกิดจาก “ช่าง” ผู้หญิงไม่ยินยอมให้กอง บ.ก.เข้าสัมภาษณ์ก็ได้ แม้กระนั้นผมยังเชื่อว่า โดยพื้นฐานแล้ว “ช่าง” ผู้ชายมีมากกว่า