ลึกแต่ไม่ลับ : ลุ้นกินเนสส์บุ๊ก “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯ ไทย 10 ปี

จรัญ พงษ์จีน

สถานการณ์การออกเสียงประชามติ “ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559” ในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม ขยับใกล้เข้ามามากเพียงใด “ความเคลื่อนไหว” ยิ่งมากไปด้วยความดุเดือดเร้าใจ อดใจรอกันแค่ 7 วันเท่านั้น แล้วจะรู้ผล “แพ้-ชนะ”

ลุ้นระทึกกันว่า ประชามติ จะ “ผ่าน” หรือ “ไม่ผ่าน” จากความเห็นชอบด้วย “เสียงข้างมาก” ของประชาชนชาวไทย

ย้ำอีกครั้ง กับ 2 คำถาม 1.เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 และ 2.เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ที่จะให้ “ส.ว.แต่งตั้ง” ร่วมกับ ส.ส. เลือกนายกรัฐมนตรีในระหว่าง 5 ปีแรกของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

ว่ากันไปแล้ว การทำประชามติในคาบนี้ “คสช.” ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” สุ่มเสี่ยงมากเอาการเลยทีเดียว หาก “ไม่ทำประชามติ” พลันที่ ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ที่ “คณะกรรมการร่าง” ภายใต้ร่มเงาของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ยกร่างแล้วเสร็จ สามารถ “ข้ามขั้นตอน” ออกเสียงประชามติ ไปสู่โรดแม็ปเลือกตั้งในปี พ.ศ.2560 ตามกรอบที่วางไว้ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องหยั่งเสียงให้เปลืองตัวโดยเปล่าประโยชน์

เพราะผลจากการออกเสียง ซึ่งมี 2 ช้อยส์ให้เลือก ระหว่าง “เห็นชอบ” กับ “ไม่เห็นชอบ” ทาง “คสช.” ก็สามารถ “อยู่ยาว” ได้โดยอัตโนมัติ สบายบรื๋อ สะดือบานกว่า เพราะไม่มี “เงื่อนไขใหม่” งอกเพิ่มขึ้นมาอีก เอาเวลาที่เสียเปล่า กับงบประมาณที่เสียไป ไปจัดการแก้ไขปัญหาอื่น ที่ผุดขึ้นมาร้อยแปดพันประการ น่าจะถูกที่ถูกเวลากว่า

ดังที่บอกว่า การออกเสียงประชามติ มี 2 ทางเลือก คือ “ผ่าน-ไม่ผ่าน” ไม่ว่าผลจะลงเอย วนซ้าย เวียนขวา 7 สิงหาคม “คสช.” ก็มิได้บุบสลาย เต้นฟุตเวิร์ก “อยู่ยาว” ได้ทุกเม็ด อยู่แล้ว

กรณีที่ 1 “ประชามติไม่ผ่าน” ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับ พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 39/1 ระบุว่า

“ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือนับแต่วันที่ร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไป ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ แต่งตั้งคณะกาารการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 20 คน เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง”

นับจากจุดสตาร์ต “วันหกล้ม” คือ 7 สิงหาคม 2559 “วันออกเสียงประชามติ” เท่ากับว่า 8 สิงหาคม “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ต้องตั้งคณะกรรมการยกร่างชุดใหม่ให้แล้วเสร็จ 6 เดือนถัดไป ที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องสมบูรณ์ตามกรอบเวลา จึงไม่เกิน 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560

ยกร่างแล้วเสร็จ หากต้องทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้ง โรดแม็ปเลือกตั้งที่วางไว้ พ.ศ.2560 ก็ต้องเลื่อนโปรแกรมไปเป็นปี 2561 แล้วแต่ลีลาและจังหวะว่า ต้นหรือปลาย พ.ศ.2561

 

กรณีที่ 2 “ประชามติผ่าน” ต้องดำเนินการตาม “กฎเหล็ก” แห่งบทเฉพาะกาล เริ่มจาก มาตรา 265 ระบุว่า “ให้ คสช. อยู่ในตำแหน่งต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งจะเข้ามารับหน้าที่ โดยในขณะที่ คสช. ยังอยู่ในตำแหน่ง จะยังคงมีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557”

หมายความว่า “คสช.” ไม่ได้ยืนดูแบบมือเปล่า ยังเป็นยักษ์ถือกระบองต่อไป นั่นก็คือ “มาตรา 44 ยังคงดำรงอยู่”

โดยมีเหตุผลประกอบว่า เมื่อคุณมีตำรวจ แต่การจะให้ตำรวจถอดปืน ถอดเข็มขัด ถอดกระบอง แล้วจะมีตำรวจไว้ทำอะไร ช่วงบ้านเมืองเปลี่ยนผ่าน การดูแลโดย คสช. ต้องเข้มข้นมากขึ้น ไม่เช่นนั้นหากเกิดอะไรขึ้นมา จะทำให้บ้านเมืองชะงักอีก ใครจะแก้ได้ ต้องรักษาสถานภาพปัจจุบันไว้ก่อน

นั่นคือเหตุและผล แห่งความจำเป็นที่มี คสช. ไว้ใช้งาน มายืนคุมเชิง พร้อมอาวุธพิเศษ “มาตรา 44”

ก้าวถัดไป ตามไปดูมาตรา 267 ระบุไว้ว่า “ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่แต่งตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อ เพื่อทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ จำนวน 10 ฉบับให้แล้วเสร็จ”

โดยร่างนี้จะเริ่มต้นภายใน 8 เดือนหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2559 หมายความว่า เมื่อ “ร่าง รธน.ฉบับมีชัย” ผ่านขั้นตอนประชามติเรียบร้อยแล้ว จะเริ่มร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ

เมื่อ กรธ. ร่างเสร็จ ต้องส่งต่อให้ สนช. พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเวลา 2 เดือน กรณีที่มีการพิจารณาไม่แล้วเสร็จ จะถือว่า สนช. เห็นชอบร่าง และส่งร่างต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง และ กรธ. เพื่อพิจารณา

กรณีนี้ หากเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ ก็ต้องแจ้งให้ประธาน สนช. ทราบภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่าง และให้ สนช. ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาคณะหนึ่งมีจำนวน 11 คน

สรุปคือ “กรณีที่ 2 “การออกเสียงประชามติผ่านด้วยเสียงข้างมากในวันที่ 7 สิงหาคม และร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2559 ถูกประกาศใช้ หัวชนท้าย เวลาที่ “คสช.” จะอยู่ในฐานะ “พี่เลี้ยง” เหยียบ 16 เดือน โรดแม็ปเลือกตั้ง ต้องเลื่อนโปรแกรมไปปี 2561 กรอบเวลาใกล้เคียงกับ “กรณีที่ 1…ไม่ผ่านประชามติ”

ที่ “โกโซบิ๊ก” คือ มาตรา 269 ซึ่งระบุว่า “ในวาระแรกเริ่ม ให้มี ส.ว. แต่งตั้งโดยคำแนะนำจาก “คสช.” จำนวน 250 คน เข้ามารับตำแหน่งมีวาระ 5 ปี วิธีการสรรหาคือให้ คสช. เลือก 50 คนจากที่ กกต. คัดมาให้และให้เลือกอีก 200 คนจากคณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ

ทั้งนี้ หากการทำประชามติ เห็นชอบทั้ง 2 คำถาม คือ ทั้งร่างรัฐธรรมนูญและ “คำถามพ่วง “ให้ ส.ว.แต่งตั้งมีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ได้เป็นเวลา 5 ปี จะทำให้ ส.ว. จำนวน 250 คน มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีคนละ 2 สมัย คนแรกมีวาระ 4 ปี เพราะ ส.ว.แต่งตั้ง ยัง “ติดติ่ง” ครบวาระอีก 1 ปี จึงสามารถเลือกนายกฯ ได้อีก 1 สมัย

ลงเอยตามนี้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” อาจจะทุบสถิติ มีสิทธิขึ้นทำเนียบกินเนสส์บุ๊ก เป็นนายกฯ ประเทศไทย 10 ปี

ให้มันรู้มั่งว่าไผเป็นไผ (ฮา)