คุย อ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ รัฐศาสตร์ จุฬาฯ กับราคาที่ต้องจ่าย ในการยุบพรรคอนาคตใหม่

ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มองปรากฏการณ์หลังจากคำตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ ว่า มีส่วนที่เราเห็นและไม่เห็น อยู่ที่ว่าเราอยู่กับคนกลุ่มไหนในสังคมมากกว่า ถ้าเราอยู่ในกลุ่มฝั่งคนที่เชียร์อนาคตใหม่ เราก็จะเห็นความรู้สึกเสียใจ คับแค้นข้องใจ

แต่ถ้าเรามองจากฝั่งที่ไม่ชอบอนาคตใหม่ เราจะเห็นความรื่นเริง ความดีใจ

ขณะที่คนกลางๆ ก็มีจำนวนมากเขาอาจจะเลือกเงียบต่อไป ท่ามกลางความขัดแย้งที่มันเกิดขึ้น เขาเองอาจจะไม่เห็นด้วยกับบางเรื่อง แต่เขาก็รู้สึกว่าหาทางออกในเรื่องนี้ไม่ได้เหมือนกัน

ฉะนั้น ในสถานการณ์ที่มันมีความขัดแย้ง สิ่งที่ทุกคนชอบอธิบายก็คือ การโฟกัสเฉพาะในเรื่องของความขัดแย้ง แต่ลืมไปว่ามันยังมีพลังในสังคมอีกจำนวนหนึ่งที่เขาไม่ได้อยู่ฝั่งใดฝั่งหนึ่งเขาอาจจะเห็นใจอนาคตใหม่ แต่เขาเองก็ไม่สามารถที่จะตอบได้ว่าถ้าอนาคตใหม่ไม่ถูกลงโทษแบบนี้ถูกฟ้องแบบนี้มันจะมีวิธีการลงโทษแบบไหนได้อีก เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันได้ด้วย

มันก็เลยมีทั้ง 3 ส่วน ส่วนคนที่แฮปปี้ไปเลย คุณก็ดูช่อง Nation เสพ Facebook ฝ่ายมวลชน ที่เขาไม่ชอบอนาคตใหม่แต่ไหนแต่ไร

ส่วนที่เป็นติ่งส้ม ก็อาจจะมาอีกทางหนึ่ง

คนที่อยู่กลางก็ยังไม่มีที่ระบายออกเหมือนเดิม

ขณะที่ท่าทีจากต่างประเทศ ที่ออกแถลงการณ์ต่างๆ มองว่าเขาก็คงมีความรู้สึก ว่า ส่วนที่สำคัญที่สุดของสถานการณ์และการตัดสิน มันมีแรงจูงใจทางการเมืองมากกว่าตัวบท หรือไม่

เขาอาจจะมองการตัดสินรอบนี้มันมีหลายส่วนที่มันเป็นการขยายขอบเขตการตีความคำพิพากษาของศาลเอง เนื่องจากกฎระเบียบมันไม่ชัดเจน

การตัดสินคดีรอบนี้จึงเป็นเรื่องของการให้คำจำกัดความของศาลเองและนำมาสู่การตัดสินให้คุณให้โทษ ซึ่งมันก็มีผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งรัฐบาลเองอาจจะไม่ได้มองส่วนนี้ชัด ว่าต่างประเทศเขาจับตาดูอยู่ว่าคำตัดสินเช่นนี้มันมีผลอย่างไรต่อสถานการณ์และเสถียรภาพในบ้านเมืองในระยะยาวของประเทศไทย

แต่ถ้ามองระยะสั้นแบบนักลงทุนไทยก็อาจจะมองว่ามันเคลียร์จบเร็วซะที

อ.พิชญ์ ชี้ว่า คำว่าเสถียรภาพ อาจจะต้องมอง 2 มุม

มุมมองแรกคือ มองในประเทศเราคือคนอาจจะคิดแค่ว่าอะไรก็ได้ให้มันจบ ถ้ามุมมองต่างประเทศเป็นมุมมองที่ 2 คือเสถียรภาพมันมากับสิ่งที่เรียกว่า ความเป็นพหุสังคมความหลากหลาย ของความคิดเห็นทางการเมืองซึ่งมันก็ปรากฏอยู่ในแถลงการณ์ มันขึ้นอยู่กับว่าเรามองในสภาพไหนอย่างไร

ฝรั่งเขามองว่าเสถียรภาพมันก็เกิดจากการแข่งขัน ที่พอดีระหว่างทุกฝ่าย แต่คนของเรา แค่ว่าถ้าทำให้เงียบได้ ไปในทิศทางนี้ ไม่มีใครขัดขวางขัดแย้งตั้งคำถาม นั่นคือเสถียรภาพแล้ว

ขณะที่ชาวบ้านหรือคนทั่วไปในสังคมอาจมองว่าบทเรียนและการใช้กระบวนการยุติธรรมในบ้านเรานั้น มีราคาที่ต้องจ่ายแพงมาก คนในกระบวนการก็ต้องรักษาเกียรติภูมิของเขา

อย่างเช่นผู้ที่ออกมาพูดเรื่องถนนลูกรังตอนนั้น ก็ถือว่าเขามีต้นทุนที่ต้องจ่ายสูงเหมือนกัน ในการที่จะสามารถออกมาใช้ชีวิตเดินถนนทั่วๆ ไป

ฉะนั้น การที่จะอธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้ให้สังคมเข้าใจ มันกลายเป็นว่าการอธิบายที่เกิดขึ้นมันจะต้องเชียร์ฝั่งไหน?

เราก็ทราบดีว่าบ้านเมืองเรามีความขัดแย้งมาโดยตลอด ความขัดแย้งหลักเหลือง-แดงที่อาจจะยังหลงเหลืออยู่บ้าง แต่มันก็คลายตัวมาเป็นความขัดแย้งคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า / ความขัดแย้งในสภา ก็จะเห็นว่ามันมีข้อช่องโหว่ ทั้งปัจจัยในการกำหนดกติกาในการแข่งขัน

ซึ่งถ้าเราย้อนกลับไปมันสะท้อนให้เห็นว่าทุกครั้งที่มีการยึดอำนาจเป็นทางออก เราจะเห็นว่ากฎหมายที่เกิดจากคณะยึดอำนาจ ไม่ครบถ้วนรอบคอบ ซึ่งผมเองก็ไม่สามารถไปก้าวล่วง แต่แค่มองว่าที่มีอยู่มันไม่ครบถ้วน ไม่ครอบคลุม และก่อให้เกิดการตีความที่แตกต่างกันในระหว่างฝ่าย

แค่เรื่องง่ายๆ แค่เรื่องการเงิน การสนับสนุนทางการเงินของพรรค ในขณะที่พรรคอื่นๆ ใช้วิธีหลบเลี่ยงในแบบฉบับที่เห็นกันต่อหน้าว่าคนบริจาคไม่ถึง 10 ล้านก็จริงแต่แตกแบงก์ย่อย ได้ มีบริษัทย่อยมาบริจาครวมๆ กันหลายบริษัทจากทุนใหญ่

ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่งเขาก็ตีความอีกแบบหนึ่ง มันลำบากอยู่ เมื่อเห็นว่าคำตัดสินฝั่งหนึ่งหลุดอีกฝั่งไม่หลุด ถ้าประชาชนทั่วไป-ชาวบ้านมองเรื่องแบบนี้ดู กฎระเบียบในปัจจุบันมันไม่เอื้อให้เกิดความเป็นธรรมต่อคนในกลุ่มต่างๆ

สําหรับมุมมองต่อผลกระทบนั้น ในระยะสั้นการยุบพรรคอนาคตใหม่ก็ชัดเจนว่ามีผลต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจ รวมถึงความใฝ่ฝันความหวังของคนรุ่นใหม่ที่จะมีเสียงสะท้อนของเขา แต่คนไปโฟกัสที่พรรคกล้าของคุณกรณ์ จาติกวณิช ว่าจะมาช่วงชิงพื้นที่เหล่านี้หรือไม่ อ.พิชญ์มองว่า เขายังตีโจทย์ไม่แตก เพราะคุณต้องไม่ลืมว่าอนาคตใหม่ไม่ใช่พรรคการเมืองพรรคแรกที่พูดถึงคนรุ่นใหม่ เพียงแต่ว่าคนรุ่นใหม่ของพรรคอนาคตใหม่ไม่เหมือนกับคนรุ่นใหม่ของพรรคอื่นๆ

คนรุ่นใหม่ของพรรคอื่นเป็นเพียงแค่ผู้ลงคะแนนเสียง โดยเลือกคนที่มีประวัติการเรียนศึกษาสูงจบเมืองนอก มีความสำเร็จในระบบเราก็จะมองเห็นว่าในพรรคประชาธิปัตย์จะมียุวประชาธิปัตย์ พรรคคนอื่นๆ ก็จะมีตัวแทนของคนรุ่นใหม่เข้าไปทำงาน

แต่อนาคตใหม่มันมีคนรุ่นใหม่ที่เป็นในส่วนของประชากรและอัตลักษณ์ทางการเมืองว่าเขาต้องการคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้อยู่ที่โครงสร้างอำนาจเดิม แต่มันต้องเป็นคำถามถึงเป้าหมายทางการเมือง ในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจให้เท่าเทียม ไม่ใช่แค่ต้องการคนมีประวัติที่ดีการศึกษาสูงเข้าไปบริหารประเทศ high profile

ฉะนั้น เมื่อคุณไปยุบพรรคนี้ ความใฝ่ฝันของคนรุ่นใหม่ ที่เขาต้องการแสดงออกทางการเมือง มันเลยกลายเป็นการปะทะและความโต้แย้งอย่างเดียว

เช่น เกมในสภา การมีพรรคอนาคตใหม่เราจะเห็นได้ว่ามันช่วยให้นักกิจกรรมจำนวนมากมีที่ยืนและก็ไม่เปราะบางต่อการใช้อำนาจรัฐถ้าเทียบกับช่วงก่อนมีอนาคตใหม่ นักกิจกรรมต่างๆ ถูกจับดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก

แต่ในเมื่อมีพรรคนักกิจกรรมต่างๆ ได้มีสถานที่ในการทำงานและทำในระบบ มันก็ชี้ให้เห็นว่าในสภาแม้จะมีความขัดแย้งมีคนอย่างสิระ-ปารีณา แต่ว่าแต่ละฝ่ายก็มีกฎกติกาในการทดลองอย่างหนึ่งว่าให้ทุกฝ่ายเพราะอยู่ด้วยกันได้

นี่แหละคือคุณค่าของการเมืองรัฐสภาที่เรามักจะมองไม่เห็น พวกเรามักจะไปซื้อคำอธิบายว่า รัฐสภามีแต่นักการเมืองเลวทุกครั้ง

ทั้งที่ในสภามีกรรมาธิการ มีชุดทำงานที่ออกไปพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่

ส่วนถ้ามองถึงความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของคะแนนนิยมก็มองว่าเปลี่ยนแน่ๆ อย่างน้อยที่สุดก็ในกรุงเทพฯ พลังประชารัฐไม่น่าจะได้เยอะเท่าเดิมแน่

ขณะที่ปรากฏการณ์อภิปรายนอกสภาของ ช่อพรรณิการ์เรื่อง 1MDB นั้น ถือว่าเป็นราคาที่รัฐต้องจ่ายเพราะคุณไปยุบพรรคเขา เขาก็จัดเต็มกันนอกสภา แล้วไม่มีใครประท้วงขัดขวางได้ แล้วมันก็กระจายกันเป็นไวรัล ต่อให้คุณมาฟ้องคนก็เชื่อไปแล้ว

วิธีการสำคัญที่สุดคือคุณต้องชี้แจง แต่คุณเลือกฟ้อง มันก็มองได้ว่าการฟ้องเป็นการปิดปากและปิดหูปิดตาประชาชนไปในเวลาเดียวกัน

ดังนั้น สิ่งที่ควรทำคือการแถลง เปิดข้อมูลที่ถูกต้อง การเลือกใช้วิธีฟ้องมันมีผลทางจิตวิทยาให้ความรู้สึกว่าคุณต้องเกี่ยวข้อง ไม่งั้นจะฟ้องทำไม คุณควรจะต้องชี้แจงให้ชัดเจน แล้วต้องบอกว่าการเลือกเล่นเรื่องนี้มีความฉลาดหลักแหลมมาก ลำพังรัฐบาลเราก็มีปัญหาในประเทศเยอะอยู่แล้ว ต่างชาติโดยเฉพาะระดับใหญ่ๆ ก็ไม่ยอมรับ ยิ่งมีประเด็นนี้คุณก็จะเห็นอีกว่าเพื่อนบ้านของคุณ ถูกทำลายผลประโยชน์

ข้อกล่าวหานี้มันร้าวลึกแล้วทำให้เพื่อนบ้านเขามองประเทศเราเปลี่ยนไป การฟ้องไม่มีผลมันต้องอยู่ที่การชี้แจงเท่านั้น ต่อให้คุณจับใครที่มาพูดเรื่องนี้ติดคุก

แต่คุณแก้ข้อกล่าวหา ไม่ได้ ฉะนั้น การฟ้องไม่ใช่ทางออก