ระวังไวรัสตู่ฮั่น / ฉบับประจำวันที่ 31 ม.ค. – 6 ก.พ. 2563

ขณะที่ทุกฝ่ายกำลังเฝ้าระวังไม่ให้ไวรัสโคโรนา หรือไวรัสอู่ฮั่น แพร่กระจายออกไป
ในทางการเมือง ก็ต้องเฝ้าระวัง
ไวรัสตู่ฮั่น
ไม่ให้ระบาดเช่นกัน
ทั้งนี้ โปรดอย่าเข้าใจผิดว่าจะเป็นการเหยียดผู้นำ ลงไปเป็นเชื้อโรค
แต่เป็นการเปรียบเปรยถึงภาวะแห่งความเชื่อมั่นในตัวผู้นำ หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มากกว่า
ด้วยระยะหลังมีการตั้งข้อสังเกตว่า ความเชื่อมั่นในตัวผู้นำลดน้อยถอยลงตามลำดับ
โดยเฉพาะหลังจากบริหารประเทศ ในช่วงปีที่ 5 ภาวะดังกล่าวชัดเจน
หากหยุดยั้งความไม่เชื่อมั่น ไม่ได้ปล่อยให้ไวรัสตู่ฮั่นแพร่กระจายออกไปเรื่อยๆ
รัฐบาลผสม 19 พรรค มีโอกาสพังพาบลงได้
ด้วยพรรคฝ่ายค้านกำลังเตรียมจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์เป็นเป้าหมายใหญ่
ซึ่งแน่นอน คงจะช่วยกัน “ขยายภาพ” ความเป็นอันตรายของไวรัสตู่ฮั่น ให้คนไทยได้เห็นชัดขึ้น

แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะเรียกร้อง
“ขอให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นกับผมและรัฐบาลต่อไป”
แต่ดูเหมือนว่า ความเห็นแย้งจากฝ่ายต่างๆ นับวันจะทวี “ความเห็นต่าง” มากขึ้น
ตั้งแต่ในเรื่องเชิงหลักการ อย่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ประกาศว่า จะเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง
แต่เอาเข้าจริงนับตั้งแต่ใช้รัฐธรรมนูญ ปัญหาคอร์รัปชั่นก็ยังเป็นปัญหาหลักและมีทิศทางเลวร้ายลง
‘ดัชนีคอร์รัปชั่นโลก’ ปี 2019 หรือ พ.ศ.2562 ที่ประกาศออกมา
ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 101 ได้ 36 คะแนนอันดับร่วงลง 2 อันดับ
ยิ่งกว่านั้น การที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งถูกร่างมา “เพื่อพวกเรา”
พวกเรา ซึ่งหมายถึงรัฐบาลผสมถึง 19 พรรค
แต่ก็มีเสียง “ปริ่มน้ำ” ที่ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ติดตามมากมาย
โดยเฉพาะความเป็นเอกภาพ ที่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่สามารถกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันได้
ตรงกันข้าม กลับปรากฏรอยร้าวให้เห็นทั้งในและนอกพรรครัฐบาลอย่างต่อเนื่อง
ที่เป็นปัญหาวิกฤตอยู่ตอนนี้ก็คือ การแฉโพยกันเองของคนในพรรคประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย ที่นำไปสู่การเปิดโปงเรื่องการเสียบบัตรแทนกัน
ทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 เกิดปัญหาว่าจะโมฆะหรือไม่
ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งก็ยังไม่ทราบว่าผลจะออกมาอย่างไร
แต่ก็สร้างความกังวลให้กับรัฐบาลอย่างสูง ว่าจะส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจทั่วประเทศอย่างรุนแรง
และถ้าเป็นเช่นนั้น ความเชื่อมั่นในรัฐบาลและในตัว พล.อ.ประยุทธ์ก็จะต่ำลงไปอีก
ไวรัสตู่ฮั่น ก็จะระบาดออกไปอีกมาก

ขณะที่ปัญหาไวรัสจริงอย่างไวรัสอู่ฮั่นหรือไวรัสไคโรนา ก็เข้ามาช่วยซ้ำเติม อีก
หากเครื่องยนต์เศรษฐกิจ เครื่องเดียวที่ยังติดอยู่คือการท่องเที่ยว ดับลง ก็ย่อมทำให้วิกฤตเศรษฐกิจหนักหนาสากรรจ์ขึ้นอีกหลายเท่า
คำถามก็คือ รัฐบาลจะรับมืออย่างมีประสิทธิภาพอย่างไร
ขณะที่ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ปัญหาภัยแล้ง ก็รุมเร้าเข้ามา ซึ่งล้วนแต่ไม่เป็นผลดีทั้งสิ้น
แต่ฝ่ายรัฐบาลก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า ดูเหมือนจะรับมือได้ไม่ดีเท่าที่ควร
คืออยู่ในภาวะตั้งรับ มิได้รุก
จึงกลายเป็นฝ่ายถูกกระทำอย่างต่อเนื่อง

พล.อ.ประยุทธ์พยายามออกตัว
“ที่ผ่านมามีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ แต่ก็พยายามเดินหน้าต่อไป จึงขอให้ช่วยกันสร้างความเข้าใจว่า รัฐบาลทำงานในทุกมิติ ”
แต่กระนั้นก็ตาม หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตและวิจารณ์ว่า น้ำหนักแห่งคำพูด ดูจะเบาลง
ความเชื่อมั่นหรือตอบสนอง ไม่ได้เป็นเหมือนเก่า
แถมยังมีการตั้งข้อสังเกตอีกว่า ในทุกเวทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ไปพูด มักจะมีการตั้งคำถามว่ายังรักกันอยู่หรือไม่ รวมถึงการขอกำลังใจที่จะทำงานต่อไป
อันสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการกำลังใจ และความเชื่อมั่นว่าประชาชนกลุ่มต่างๆ ยังยืนอยู่กับตนเอง
ซึ่งจะได้รับการตอบสนองเช่นเดิมหรือไม่ ยังเป็นคำถามอยู่
คำถามเช่นเดียวกับเสียงที่ดังขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ที่เคยแข็งแกร่ง มีอำนาจเบ็ดเสร็จ
ในนาทีนี้ ยังรักษาความแข็งแกร่งนี้ไว้ได้หรือไม่
สิ่งที่เคยพูดและมีคนฟังและมีคนเชื่อ ยังเป็นเช่นนั้นหรือไม่
หรือจะเป็นอย่างที่นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ทุบโต๊ะกล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์คือศูนย์กลางของปัญหาเสียเอง
และปัญหานั้น เปรียบประหนึ่งไวรัสตู่ฮั่น
ที่จำเป็นจะต้องควบคุมไม่ให้ระบาดเป็นภัยร้ายต่อประเทศอีกต่อไป?!?!
———————–