ฐากูร บุนปาน : “แนวรบทุ่งรังสิตเหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง”

จะขึ้นต้นให้คลาสสิคหน่อยก็ต้องบอกว่า “แนวรบทุ่งรังสิตเหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง”

ส่วนสถานการณ์การเผชิญหน้ากันจะยืดยาวแบบนวนิยายคลาสสิค “แนวรบด้านตะวันตกเหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง”

หรือจะยืดเยื้อยิ่งกว่ากินเวลาร่วม 10 ปีอย่างปกรณัมสงครามกรุงทรอยหรือไม่

คนนอกบอกไม่ได้ครับ

เผลอๆ คนที่เผชิญหน้ากันอยู่ก็ยังบอกไม่ได้

หรือยิ่งไปกว่านั้นคือท่านผู้ชำนาญการเรื่อง ม.44 เองก็บอกไม่ได้

เรื่องนี้ไม่ฮาเลย

 

ในตำนานสงครามกรุงทรอยนั้น มหานครที่ยิ่งยงแห่งนี้แหลกยับลงก็เพราะกลศึก “ม้าไม้”

(ซึ่งมีจริงหรือเปล่าไม่รู้ แต่ในอีกแง่หนึ่งคือสะท้อนว่า อะไรก็ตามที่ถึงเวลาจะย่อยยับจริงๆ แล้ว มันเริ่มจากข้างในตัวเองเสมอ)

ประเด็นคือว่าหนนี้ฝ่ายรุกที่เข้าโอบล้อมนั้น มีม้าไม้แทรกซึมเข้าไปได้หรือไม่

หรือในทางกลับกัน ฝ่ายที่ถูกล้อมอยู่นั้นแอบส่งม้าไม้ไปอยู่ตามหน่วยงานนั่นนี่ จนกระทั่งได้รับรายงานหรือเห็นบันทึกการประชุมฉบับเดียวกันกับที่แม่ทัพของฝ่ายโอบล้อมมีอยู่หรือไม่

อย่าทำเป็นเล่นไป กับองค์กรที่มีระบบจัดตั้งดี และเล่นกับ “ศรัทธา” ของคนมาตลอดนะครับ

ถ้าเป็นหมูให้เชือดง่ายๆ ม.44 ที่เหมือนดาบชักออกจากฝักแล้ว

จะเงื้อค้างอย่างนี้หรือ

 

และตามประสาคนชอบคิดเรื่อยเปื่อย

พอนึกถึงสงครามกรุงทรอยก็นึกต่อไปถึงหนังสือที่เกี่ยวข้อง

ต่วย”ตูนบ้าง ตำนานนิทานอื่นๆ บ้าง

แล้วก็มาฉุกคิดได้ว่า ในบรรดาหนังสือที่เกี่ยวข้องกับสงครามกรุงทรอยที่ชอบหยิบขึ้นมาอ่านที่สุดนั้น

กลายเป็นฉบับนิยายของ “ริชาร์ด พาวล์” ผู้เขียน Pioneer, go home! หรือในพากย์ไทยด้วยฝีมือระดับครูอย่าง คุณเทศภักดิ์ นิยมเหตุ ท่านตั้งชื่อให้ว่า “แผ่นดินนี้เราจอง”

ชื่อไทยว่า “สวรรค์สาป” แปลโดย คุณชาญ คำไพรัช นักแปลรุ่นใหญ่

จากชื่อฝรั่งว่า Whom the Gods would destroy ครับ

ชอบเพราะอะไร

หนึ่ง สนุก ทั้งด้วยวิธีผูกเรื่อง และสำนวนแสบๆ คันๆ

สอง ตัวละครของเขาสมจริง เขียนถึงคนเหมือนคน มีรักโลภโกรธหลง เป็นมนุษย์อย่างเราๆ ท่านๆ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกาลเวลาหรือยุคสมัย

เพราะไม่ว่าช่วงเวลาไหนๆ ในประวัติศาสตร์ เนื้อในเนื้อแท้ของมนุษย์ก็ไม่เคยเปลี่ยน

อ่านบ่อยขนาดอ่านจนหลุด ต้องเอาตัวหนีบใหญ่มาหนีบไว้น่ะครับ

อันนี้ฮาได้-เพราะเป็นเรื่องของตัวเอง

 

พาวล์เขียนนิยายเกี่ยวกับสงครามกรุงทรอยเรื่องนี้ เพราะสนใจในเรื่องโบราณคดีอยู่เป็นทุนเดิม

แต่ “วิธีเล่าเรื่อง” ของเขานั้นร้ายกาจกว่า

คือแทนที่ความเป็นไปหรือความพลิกผันทั้งหลายของเหตุการณ์และตัวละครในเรื่อง จะเกิดขึ้นจากการดลบันดาลของเทพเจ้า

ก็เขียนให้เกิดจากกิเลสตัณหา ความเห็นแก่ตัว และธรรมชาติของมนุษย์นี่เอง

อ่านจบนอกจากได้เกร็ดประวัติศาสตร์ที่เขาค้นมาอย่างดีเยี่ยมแล้ว

ยังซาบซึ้งในสันดานมนุษย์ไปด้วยพร้อมๆ กัน

เล่ามากเดี๋ยวสปอยล์ครับ

ไม่รู้ว่าจะมีสำนักพิมพ์ไหนหยิบต้นฉบับเรื่องนี้กลับมาตีพิมพ์อีกหนไหม

นอกจากจะซื้อเองแล้ว จะรับอาสาเป็นกองเชียร์ให้โดยไม่คิดสตางค์

 

แล้วก็ไพล่คิดไปว่า เมื่อเวลาผ่านไปจะมีนักเขียนไทย (หรือเทศก็ได้เอ้า) หยิบเอาสงครามธรรมกายนี้ขึ้นมาเขียนหรือไม่

และถ้าเขียน จะเขียนจากมุมไหน ด้วยจุดยืนอะไร

ด้วยวิธีการเล่าเรื่องแบบไหน

ตัวละครที่มีบทบาทแต่ละคนในสายตาของผู้เขียนแล้วจะเป็นมนุษย์ประเภทไหน

จะเขียนถึงธรรมกายที่ไม่มีปาฏิหาริย์อย่างไร จะเขียนถึงฝ่ายบ้านเมืองที่ใช้อำนาจแบบขี่ช้างจับตั๊กแตนอย่างไร

ด้วยอารมณ์ขันหรือสำนวนเสียดสี (ทั้งสองข้าง-เพราะเห็นว่าต่างฝ่ายต่างเป็นมนุษย์ขี้เหม็นเหมือนกัน) แบบไหน

นักเขียนท่านไหนมีพล็อตในใจอยู่แล้ว

ที่นี่พร้อมรับปรึกษาโดยไม่คิดค่าตัว

อาจจะแค่เปลืองเบียร์นิดหน่อย

ซึ่งควรจะรีบเจอรีบคุยรีบกินกันโดยไว

ก่อนรัฐบาลคนดีเขาจะขึ้นภาษีแบบเอาขี้เหล้าให้ตาย

ไม่ใช่เพราะถังแตกนะจ๊ะ

แต่ว่าเขาหวังดีน่ะ

เข้าใจตรงกันนะ!