ทำไมการแปรรูปองค์กรตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้ตลาดหุ้นไทยเจริญ (1)

ตอนที่ 2 ตอน 3 ตอนจบ

ทศวรรษที่ผ่านมา การแปรรูปตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้เป็นองค์กรใหม่ในรูปแบบบริษัทจำกัด (มหาชน) เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาหลายต่อหลายครั้งโดยให้เหตุผลว่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ขยายตลาด เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

พูดง่ายๆ คือเชื่อว่า “แปรรูปองค์กรตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้กลายเป็นบริษัทจำกัด (มหาชน) แล้วจะเจริญ” (จริงหรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง)

แต่ที่แปลกคือ การพูดคุยถึงข้อดี-ข้อเสีย หรือหลักการที่ควรจะเป็นในเรื่องนี้กลับอยู่ในวงจำกัดทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญของประเทศ

และข้อมูลในสื่อส่วนใหญ่ก็มาจากฝ่ายสนับสนุนเพราะอยู่ในกระแสข่าวขณะนั้นๆ หรือเพราะอะไรต่างๆ ยากจะรู้ชัด

ที่สำคัญ พัฒนาการของเรื่องนี้ไปไกลจนกระทั่งมีการ “ร่าง” พระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์ขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับการแปรรูปตามหลักการข้างต้น และเข้าไปถึงขั้นการพิจารณาของกฤษฎีกาซึ่งขั้นตอนนี้ต้องใช้เวลาพอสมควร

และโดยมารยาทเมื่อเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งถือเป็น “เจ้าของเรื่อง” ก็ต้องมีการยืนยันนโยบายของกฎหมายก่อนจะพิจารณาต่อไป

ซึ่งเมืองไทยขณะนั้นก็มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีคลังบ่อย และโดยธรรมชาติ ถ้าไม่ใช่ประเด็นที่รัฐมนตรีท่านใหม่มี “จุดยืน” มาตั้งแต่ต้น หรือเป็นประเด็นที่มี “ประสบการณ์” ที่เจนจัดในวงการก็มักจะ “ยืนยันให้ยกร่างต่อ” ตามที่รัฐมนตรีท่านเดิมเสนอหรือยืนยันไว้

“ร่าง” พระราชบัญญัตินี้ก็ได้รับการยืนยันจากรัฐมนตรีคลังหลายต่อหลายท่าน

จนกระทั่งเมื่อ “คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง” มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง วันหนึ่งท่านก็ให้ความเห็นผ่านผู้แทนกระทรวงการคลังมาบอกว่า “ของเก่ามีความสมดุลดีอยู่แล้วจะเปลี่ยนไปทำไม”

“ผม (หม่อมเต่า) ดีใจสุดๆ เลยเพราะของบางอย่างเป็นของส่วนรวมจะมาให้คนคนหนึ่งหรือคนหลายคนทำก็ไม่น่าจะดี โดยเฉพาะในเรื่องที่มีผลประโยชน์มหาศาลอย่างนี้”

สดุดี (คนอื่น) โดย ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล

ที่สำคัญคำตอบว่า “ของเก่ามีความสมดุลดีอยู่แล้ว” แสดงถึงความรู้ ความเข้าใจตลาดทุนอย่างลึกซึ้ง มิฉะนั้น คงไม่กล้าฟันธงด้วยคำตอบนี้

และเมื่อย้อนดูประวัติการทำงานของท่านยิ่งเห็นความพิเศษในเรื่องนี้

เพราะท่านเป็นหนึ่งในผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่กี่คนที่เคยทำงานในบริษัทโบรกเกอร์ และเป็นคนเดียวที่เคยไปเป็นผู้บริหารระดับสูงของโบรกเกอร์ต่างประเทศ และเป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนแรกที่นั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงมีความเจนจัดทันเกมตลาดทุนชนิดหาตัวจับยาก

แต่เสียดายที่การขยายความเรื่องนี้กลับมีจำกัด ท่านเล่าว่า “ตอนอยู่ในตำแหน่งไม่มีเวลาขยายความให้ชัดเจน”

วันนี้ เราจึงมาพูดคุยกับท่านว่า “อะไรที่สมดุลดีอยู่แล้ว” และ “ทำไมการแปรรูปองค์กรตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เจริญ”

 

แนวคิดต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ผมเคยให้เป้าหมายในการบริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อเพื่อนพนักงานในช่วงที่ผมดำรงตำแหน่งผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ผมต้องการให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ดี คือ ทำให้เป็นไปตามความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ทุกกลุ่ม ซึ่งมีตั้งแต่ ก.ล.ต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) บริษัทสมาชิก กองทุนรวมต่างๆ บริษัทจดทะเบียน นักลงทุน จนถึงประชาชนทั่วไป ที่สำคัญ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นหน่วยงานที่อยู่ในสายตาของสาธารณชนมาโดยตลอด นั่นหมายความว่า ทุกกลุ่มมีความคาดหวังต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ในหลากหลายมิติ

เพื่อให้บรรลุความคาดหวังของทุกกลุ่ม

เมื่อเป็นผู้จัดการ ผมพยายามทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นตลาดรอง (Secondary Market) ซึ่งมีหน้าที่ให้บริการต่อความต้องการซื้อและขายหลักทรัพย์ที่ได้ออกไว้แล้ว ที่มีสภาพคล่องสูง ซึ่งหมายถึงการสร้างความมั่นใจดีกับนักลงทุนในตลาดแรก (Primary Market) เมื่อมีการซื้อหลักทรัพย์ออกใหม่ และบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ได้ระดมทุนไปใช้ในกิจการ

เพราะการลงทุนในหลักทรัพย์ คือ “เกิดความเป็นเจ้าของที่ถอนตัวได้ยาก” ต่างจากการฝากเงินธนาคาร ที่หากต้องการได้เงินคืนก็ไปขอเบิกถอนได้โดยง่าย

ดังนั้น หัวใจของการเติบโตของการลงทุนในตลาดแรกคือ การมีตลาดรองที่มีสภาพคล่องสูง เพื่อสนับสนุนการลงทุนในตลาดแรกให้ผู้ลงทุนสามารถขายหลักทรัพย์ให้ผู้อื่นได้อย่างสะดวกเมื่อต้องการใช้เงิน

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเติบโตได้จำเป็นที่จะต้องมีผลิตภัณฑ์จำนวนมากและหลากหลาย

นั่นคือแนวคิดของผมในหน้าที่ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ

ทำอย่างไร

ปรับโฉมและปรับทัศนคติ

ตอนที่ผมมาตลาดหลักทรัพย์ฯ ครั้งแรก พอเดินเข้าไปในตึกก็มีเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์และมีบานสไลด์อันหนึ่ง เลื่อนปุ๊บ เจ้าหน้าที่ก็เอียงหน้ามาถามว่า “มาหาใครครับ”

ผมก็บอกท่านรองผู้จัดการว่า ท่านครับ เราน่าจะไปดูที่แบงก์ชาติ พวกเขาเป็นองค์กรที่ขรึมขนาดนั้น เวลาเดินเข้าไป เรายังรู้สึกว่า เคาน์เตอร์ที่ต้อนรับผู้มาเยือน เขายังเปิดกว้างขนาดนั้น เขาอาจจะใช้ รปภ. ที่แต่งเครื่องแบบที่น่าเกรงขาม แต่เขายังพร้อมที่จะรับรู้ว่า “คุณจะมาทำอะไร อย่างมีอัธยาศัย” แต่ของเราที่ติดต่อกับภาคเอกชนโดยตรง เรากลับซ่อนตัวหลังบานเลื่อนแบบแคบๆ

ผมนับถือ รปภ. แบงก์ชาติยุคนั้น (คุณมงคล หงส์เจริญ) ผมนับถือเขาเลยนะ เพราะเขาสุภาพแต่ก็แฝงไว้ด้วยความน่าเกรงขามโดยไม่ต้องพูดออกมาว่า “อย่ามาทำอะไรไม่เรียบร้อยนะ” ขณะที่กิริยามารยาทนุ่มนวล ผมก็เชื่อว่า ก็ต้องมีคนแปลกๆ เข้ามา แล้วบอกว่า อยากมาพบผู้ว่าการ และผมก็เชื่อว่า เขาก็สามารถจะรับมือได้ว่า จะต้องทำอย่างไรถึงจะเหมาะสม ผมมั่นใจนะ

ความจริงในชีวิตผม ผมเน้นเรื่อง “ดี” นะ

ดีก็ไม่ต้องไปเทียบอะไรกับใคร แต่ให้ไปเทียบกับ “ความคาดหวัง” ในโลกแห่งความเป็นจริง

อะไรดีๆ ที่พวกเขาทำๆ กัน เราก็ทำบ้าง มันไม่เห็นจะเป็นวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่

โอ้โห ดูแบงก์ชาติทำแบบนี้ แค่เราทำให้ได้ดีเท่าเขา หรือทำให้ได้ดีเหมือนเขาก็ไม่น่าจะยากนัก ในขณะที่ทำให้ได้ดีเท่าเขาเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่ผมว่าที่สำคัญกว่า คือทำให้ได้ดีเท่ากับที่ผู้คนเขา “คาดหวัง” ว่าเราน่าจะทำได้น่าจะสำคัญกว่า แนวคิดนี้สามารถแฝงเข้าไปได้ในทุกเรื่องซึ่งมันจะท้าทายกว่าเพียงจะทำให้ได้ดีเท่า หรือดีกว่าคนอื่น

 

สร้างความคุ้นเคยกับ Stakeholders

ยกตัวอย่าง ห้องสมุดมารวย ผมไปหาท่าน ดร.มารวย ผดุงสิทธิ์ อดีตผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นบุคคลที่วงการตลาดทุนเคารพนับถือ และทราบดีว่าท่านเป็นนักการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับพลังของความรู้

ท่านถามผมว่า “คุณโต้ง ทำไมมาเอาชื่อผมล่ะ”

ผมเรียนท่านตรงๆ เลยว่า ชื่อท่านเป็นมงคล “มารวย”

และผมก็เรียนต่อว่า ผมจะเปิด 7 โมงเช้าถึง 5 ทุ่ม

ท่านยังถามผมว่า “ไหวเหรอ” ในเวลานั้น ไม่มีห้องสมุดที่ไหนเปิดตลอดทั้ง 7 วันและเปิดถึง 5 ทุ่ม ทุกวันนี้ก็ประสบความสำเร็จ มีเด็กนักเรียนนักศึกษาและประชาชนมาใช้บริการกันมาก

ดังนั้น ผลของงานจะเป็นอย่างไร ก็อยู่ที่วิธีคิด