ทำไมการแปรรูปองค์กรตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้ตลาดหุ้นไทยเจริญ (จบ)

ตอนที่1 ตอนที่ 2 ตอนที่ 3

บนข้อเสียของระบบเดิม และถ้ามีระบบใหม่ ข้อเสียที่เกิดขึ้นคือ Stakeholder ใหม่ที่จะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้น ก็จะทำให้เกิดคำถามว่า แล้วเสียงของเขาจะเทข้างไหน เพราะขณะนั้นกรรมการเป็น 50:50 ระหว่างรัฐกับเอกชน

ดังนั้น แม้น้ำหนักน้อย แต่กลับมีอำนาจมาก เพราะเป็นเสียงตัวแปร กล่าวคือ ถ้ามี Stakeholder ใหม่เล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม เขาจะกลายเป็นใหญ่จนเกินสมควร

สมมติว่า องค์กรใดมีผู้ถือหุ้น 2 คน 50:50 แต่ถ้าสามารถชวนเขาว่า อย่าไปถือ 50:50 เลย มันยันกันอยู่อย่างนี้ เหลือ 49.9% และอีกคน 49.9% ด้วย และผมเสียสละเป็นผู้ถือหุ้นรายเล็กที่สุดเหลือ 0.2%

แต่ข้อเท็จจริงในภาคปฏิบัติ 0.2% จะเป็น Superpower ขึ้นมาทันที

แล้วโอกาสที่ 0.2% นี้ ที่เราพยายามใฝ่หา ซึ่งอาจไม่ใช่ 0.2% อาจเป็น 5% หรือ 10% ก็ตาม แต่ก็จะน้อยกว่า

แล้วคนนี้จะเป็นใคร คนนี้ก็จะเป็นเอกชน เป็นประชาชน เป็นคนที่ซึ่งมีสิทธิเต็มที่ในการแสวงหากำไรให้ตนเองใช่หรือไม่ และมันจำเป็นต้องเอาเขาเข้ามาหรือไม่

นั่นหมายความว่า จะทำให้ภาคเอกชนที่มีเป้าหมายสูงสุดคือ กำไร มีเสียงดังมากจนเป็นอันตราย

 

“ผมก็เห็นด้วยกับท่านนะ เพราะตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นของสาธารณะ รัฐบาลและเอกชนมีสิทธิคนละครึ่ง แถมผลประโยชน์อะไรเกิดขึ้นก็เก็บเป็นเงินกองทุนอย่างเดียว ไม่มีใครได้ใครเสีย แต่ถ้ามีกลุ่มอื่นเข้ามาถือหุ้น แม้เพียงเล็กน้อยก็จะเสียสมดุลไปมาก คล้ายเกิดพรรคตัวแปรทางการเมือง และถ้าตลาดหลักทรัพย์ฯ กลายเป็นเอกชน การตั้งกฎจะเน้นให้ตัวเองรวย คนอื่นช่างมันหรือเปล่า เพราะไม่ต้องคิดเป็นประโยชน์สาธารณะก็ได้ เรียกว่าเป็นธุรกิจอย่างเดียว อะไรอย่างนี้หรือไม่ ซึ่งอะไรจะเกิดขึ้นก็ไม่แน่นะครับ

นอกจากนี้ ผมเห็นว่า ปัจจุบันตลาดเปิดโอกาสให้มีการลงทุนกว้างมากแล้ว เช่น ซื้อขายตรงได้ ไม่ได้จำกัดจำนวนหุ้นที่ซื้อขาย เป็นต้น การพัฒนาจึงมีมากขึ้นเป็นลำดับ ที่สำคัญ ตลาดเราค่อนข้างมีประสิทธิภาพ ค่อนข้างสงบ และค่อนข้างเรียบร้อยดีอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องทำให้ตลาดมีประสิทธิภาพชนิดดีที่สุด เร็วที่สุด ถ้ามันต้องแลกกับปัญหาปลายเปิด หรือ Open Ended Problem ซึ่งเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า เปิดไปแล้วมันจะต้องเจอกับปัญหาอะไรที่ตามมาอีกบ้างในอนาคต”

สดุดี (คนอื่น) โดย ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล

 

ทําไมจึงมั่นใจว่าการแปรรูปไม่ใช่หนทางที่จะทำให้ตลาดเจริญขึ้น

ผม (กิตติรัตน์ ณ ระนอง) ถือว่า “ตราบเท่าที่ผมยังอยู่ในหน้าที่นั้นๆ และผมมีความรับผิดชอบต่อเรื่องนั้น ผมจะต้องทำให้ดีที่สุด”

ให้มันเป็นไปตามสิ่งที่เราเชื่ออย่างมีเหตุมีผล

แต่ถ้าหากมันไม่อยู่ในความรับผิดชอบของผมแล้ว ท่านอื่นที่เชื่ออย่างแรงกล้าว่า “มันควรเป็นอย่างอื่น” ย่อมเป็นสิทธิของท่าน

ดังนั้น จะเห็นว่า เมื่อผมหมดหน้าที่ไป มีคนพูดเรื่องแปรรูปมากมาย แล้วคุณไม่เห็นผมค่อยออกมาเถียงเลย ผมก็ถือว่า เป็นสิทธิของเขาไง แต่ทุกครั้งที่ผมออกมาเถียงก็เพราะมีคนมาถาม

ในเมื่อถาม ผมก็มีหน้าที่ตอบว่า ผมไม่เห็นด้วย และมันก็มีความคืบหน้าไปมากจนเกือบจะสำเร็จ จนกระทั่งมีผมมาเป็น รมต.คลัง และเมื่อผมเป็น รมต.คลัง ผมมีความรับผิดชอบกับเรื่องนี้ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ก็ต้องตอบว่า “ผมไม่เห็นด้วย”

เมื่อผมหมดหน้าที่ตรงนี้ แล้วท่านจะดำเนินการแปรรูปต่อไป ผมก็คิดว่า เป็นความรับผิดชอบของเขา ถ้าเขาไม่มาถาม ผมจะไม่เดินออกไปบอกว่า “ผมไม่เห็นด้วย”

แต่ตอนนั้นไม่มีเวลาอธิบายเหตุผลมากนัก

เรื่องบางเรื่องต้องถกเถียงกัน

หากบอกควรแปรรูป เขาสามารถพูด 2 นาทีเสร็จ

แต่การปฏิเสธการแปรรูป จะอธิบายยาก เพราะทวนกระแส ยากที่จะอธิบายให้จบภายในไม่กี่ประโยค แต่อย่างน้อยๆ ก็อาจมีคนสังเกตได้บ้างว่า “การที่ยังไม่ได้แปรรูป มันก็มีประสิทธิภาพสูงได้นะ”

ในครั้งที่ผมเป็นผู้จัดการอยู่ การสนับสนุนความคิดเรื่องแปรรูป ไม่ได้เกิดขึ้นภายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เอง แต่มาจากนอกองค์กร ไม่ว่าจะมาจากกระทรวงการคลัง หรือ ก.ล.ต. หรืออะไรก็แล้วแต่ ถือว่าเป็นนอกองค์กร

ผมก็มีหน้าที่ที่จะต้องอธิบายเหตุผลให้คนในและนอกองค์กรฟัง ขณะนั้นผมมั่นใจว่า ผมอธิบายได้หมดจดพอที่จะทำให้เรื่องมันถูกยุติไป และรวมทั้งในเวลาทำงาน เราก็ต้องลองมาทำงานให้มันจริงจังดูสิว่า สิ่งที่ผมพูดมันเป็นจริงได้ไหมว่า มันสามารถมีประสิทธิภาพได้ไหม ท่ามกลางโครงสร้างองค์กรเดิม ไม่ต้องแปรรูป

ท่านประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ ท่านก็เป็นอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ว่า คุณชวลิต ธนะชานันท์ คุณวิจิตร สุพินิจ ท่านก็เห็น เราก็มีหน้าที่พิสูจน์ให้คนภายนอกที่เป็นต้นคิดนั้นด้วยว่า “มันมีประสิทธิภาพได้” ภายใต้โครงสร้างเดิม แต่ถ้าตอนนั้น เรายอมรับเสียเองว่า จริงๆ ด้วย เราไม่มีประสิทธิภาพ เรื่องนั้นก็คงไม่ยุติใช่ไหม แต่พอผมหมดหน้าที่ไป เรื่องแปรรูปก็กลับเข้ามาใหม่ ก็แล้วแต่คนมีหน้าที่จะว่ากันไป

เมื่อผมกลับมาเป็น รมต.คลัง เรื่องมันถูกเสนอมา ผมก็บอกว่า “ก็ยุติไป” ผมไม่มีความกลัวอะไร เพราะผมไม่ได้ทำตามที่ชอบ ผมทำตามเหตุผล และเหตุผลในเวลานั้น ช่วงปี 2547-2549 กับเหตุผลที่ผมกลับเข้ามาในหน้าที่ รมต.คลังในปี 2554-2555 เหตุผลก็ยังดำรงคงอยู่

และทุนก็ยังเพียงพออยู่

 

สิ่งที่อยากจะฝากกับผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ รุ่นต่อๆ ไป

ผมเชื่อว่า สิ่งที่เป็นข้อถกเถียงหรือสิ่งที่เป็นประเด็น ไม่ใช่เรื่องของการแปรรูป หรือไม่แปรรูป แต่ประเด็นที่ควรจะเป็นคือ มีประสิทธิภาพหรือไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น ข้อฝากของผมสำหรับผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ ผมมีความมั่นใจว่า ทรัพยากรที่มี โครงสร้างองค์กร รูปแบบธุรกิจที่กำลังทำงานอยู่ ท่านสามารถทำให้เกิดประสิทธิภาพที่สูงกับตัวองค์กร และกับวงการในตลาดทุนได้ ก็ขอให้แสดงความสามารถให้เต็มที่ และในส่วนนี้ เมื่อประสิทธิภาพปรากฏแล้ว ผมคิดว่า เหตุผลในการที่จะอยากแปรรูป มันก็คงจะลดลงไป

ผมไม่เชื่อถึงขนาดว่า ในนาทีนี้ จะมีคนเชื่ออย่างปักใจว่า จะต้องแปรรูปให้ได้

ที่สำคัญ การแปรรูปมันยังมีอีกหลายคำถามที่ยังไม่ถูกตอบ เช่น

โครงสร้างการเป็นเจ้าของ รัฐจะเหลือกี่เปอร์เซ็นต์

บริษัทสมาชิกซึ่งแต่เดิมมีอำนาจในการตั้งกรรมการ 5 ใน 10 คน หรือไม่

ส่วนทุนที่มีอยู่เดิมมันเป็นของใครบ้าง ของรัฐเท่าใด ของบริษัทสมาชิกเท่าใด ถ้าใช่สมาชิกรายไหนจะมีส่วนแบ่งมากน้อยแค่ไหน โจทย์เหล่านี้เป็นโจทย์ที่ไม่ง่ายทั้งนั้น

ดังนั้น แทนที่จะไปเสียเวลากับส่วนนี้ ผมคิดว่า “ทำให้เต็มที่” ประสิทธิภาพเกิดขึ้นได้เชิงประจักษ์เลย และหลายคนอาจถามว่า “ประสิทธิภาพนี้จะเทียบกับอะไร” ไม่ต้องไปเทียบกับอะไร ไม่ต้องไปเทียบกับสิงคโปร์ ฮ่องกง หรือตลาดหลักทรัพย์ไหน แต่ให้เทียบกับความคาดหวัง คุณก็จะได้คำตอบแล้วว่า คุณเป็นตลาดหลักทรัพย์ที่ดีแล้วหรือยัง

“วันนี้ ทำให้มันดีสมกับความคาดหวังของทุก Stakeholders” นั่นคือสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ควรจะทำและเป็นจุดยืนของตลาดหลักทรัพย์ฯ

 

และนี่คือ คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่พร้อมลุยและทำให้สุดๆ ตามสิ่งที่ Stakeholders คาดหวัง

ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่หม่อมเต่าจับสังเกตได้และเล่าว่า

“ผมชอบตอนเขาไปเป็นโค้ชฟุตบอล เขาเป็นคนไม่เลือกงานว่า กูต้องเป็นนายใหญ่ทำเรื่องการเงินอย่างเดียว และก็ทำสุดๆ เรื่องฟุตบอลนี่เห็นชัดเลย ผมชอบเขานะ เพราะโดยนิสัยผมก็ไม่เลือกงานและก็ทำสุดๆ เช่นกัน” จึงไม่แปลกที่หม่อมเต่าจะบอกว่า

“คิดเป็นโชคดีของประเทศที่คุณกิตติรัตน์ปฏิเสธการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์ฯ”