ทำไมการแปรรูปองค์กรตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้ตลาดหุ้นไทยเจริญ (3)

ตอนที่1 ตอนที่ 2 ตอนจบ

แนวคิดการแปรรูป เกิดขึ้นเพราะอะไร

ผม (กิตติรัตน์ ณ ระนอง) คิดว่า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากความเข้าใจแบบหลวมๆ ว่า การแปรรูปมีข้อดี มันเป็นบรรทัดฐานปกติ (Text book) ฟังดูแล้วเหมือนกับโน้มน้าวได้ง่าย (Very easily convincing) ว่า องค์กรที่เป็น “แห่งประเทศไทย” ดูเหมือนไม่มีเจ้าของ มันคงไม่มีประสิทธิภาพหรอก สู้แปรรูปเสียจะได้ดูมีประสิทธิภาพขึ้นมา ฟังดูแล้วรู้สึกว่าเป็นคนเชื่อทั่วไปกลางๆ ที่รับได้ง่าย

ทำไมคิดว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ สมดุลดีอยู่แล้ว

ผมคิดว่า เวลากิจการใดต้องการแปรรูป กิจการนั้นมีความต้องการ 3 อย่าง

1. เงินทุนผ่านการเพิ่มทุน

2. เพิ่มจำนวนผู้มีส่วนได้เสีย หรือ Stakeholders เพื่อผลักดันให้ผู้บริหารขยันขันแข็ง

3. สร้างการยอมรับจากสังคม

คำถามว่า ในวันนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีเงินทุนเพียงพอหรือไม่

เงินกองทุน 22,000 ล้านบาทในปัจจุบันน่าจะเพียงพออยู่แล้ว และ

มี Stakeholders จำนวนมาก ที่แวดล้อมอยู่ด้วยความใส่ใจ และ

ได้รับการยอมรับจากสังคมเป็นอย่างดีอยู่แล้ว

ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงมีความสมบูรณ์ในตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องแปรรูปภายใต้เงื่อนไขนี้

ผมคิดว่า คงมีคนอยากได้ความมั่งคั่งจากเงินกองทุนของตลาดหลักทรัพย์ฯ ก้อนโตนี้อยู่ ผมก็พอมองเห็นแต่ผมพยายามไม่รับรู้เพราะเรื่องนี้เป็นเพียงการรับรู้ แต่กล่าวหาใครก็ไม่มีใครยอมรับหรอก และถ้าต้องการเถียงกัน เราก็มีเหตุผลมากมายหลายประการที่ต้องถกเถียงกัน ผมสู้บนหลักการ 3 ข้อของผมนี้มาโดยตลอด

นี่ยังไม่ได้พูดถึงว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นองค์กรเดียวในประเทศไทยที่ถูกจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะและไม่มีลักษณะที่เป็นรัฐวิสาหกิจ หรือไม่มีลักษณะเป็นของเอกชน

นั่นคือ “ความพิเศษ” ที่สำคัญ

ทำไมผมพูดคำนี้

 

องค์กรของรัฐที่มีการจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะ แบงก์ชาติก็เช่นเดียวกัน ทุนประเดิมมาจากรัฐบาลทั้งนั้น จึงมีลักษณะรัฐเป็นเจ้าของ เพราะรัฐเป็นเจ้าของทุนประเดิม

แต่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์ปี 2517 ปรากฏว่า คณะผู้ก่อตั้ง “ไม่ยอมรับ” เงินทุนประเดิมของรัฐบาล แต่เป็นเงินยืมแทน คงรู้ว่า ถ้ารับก็จะเป็นรัฐวิสาหกิจ

อาจารย์ศุกรีย์ แก้วเจริญ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนแรกบอกว่า ผู้ก่อตั้งซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการ นักธุรกิจการเงินในเวลานั้นมีแนวคิดว่า “ถ้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นรัฐวิสาหกิจมีโอกาสจะขาดประสิทธิภาพเยอะ” หมายความว่า ภาครัฐจะมีส่วนในการบริหาร โดยกรรมการก็จะตั้งโดยฝ่ายราชการ

ในเวลานั้น จึงมีการวางโครงสร้างการบริหารพิเศษ คือ มีกรรมการจากภาคเอกชนครึ่งหนึ่ง และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ขณะนั้นก็มีอยู่กลุ่มเดียวคือ บริษัทหลักทรัพย์ เป็นสมาชิกตลาด และรัฐก็ตั้งกรรมการเพียงครึ่งเดียวก็พอ

วันนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงไม่มีใครเหมือน แต่ก็อาจมีคนทักว่ารัฐวิสาหกิจแต่เดิมที่จัดตั้งโดยกฎหมายก็ดำเนินการแปรรูปไปแล้วหลายแห่งอย่างได้รับความสำเร็จ ตัวอย่างเช่น

บริษัท ปตท. เดิมเป็น “การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย”

ถามว่า แปรรูปเหมาะสมไหม?

คำตอบคือ “เหมาะสม” เพราะ ปตท. ต้องการ 3 อย่างคือ

ต้องการเงินทุน

ต้องการให้มีผู้ถือหุ้นในวงกว้าง และ

ต้องการให้บริษัทที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในสังคมธุรกิจที่เขาแวดล้อมอยู่ เขาสามารถบอกได้ว่า เขาเป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในประเทศไทย

 

บนหลักการเดียวกันนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่มีความจำเป็นต้องแปรรูป ที่สำคัญ เมื่อองค์กรมีความสมบูรณ์โดยตัวมันเองอยู่แล้ว และการเพิ่ม Stakeholder เข้าไป ความสมดุลของมัน จะนำไปสู่ความเสี่ยงของการเสียสมดุล!!!

อันดับแรก ด้วยทุนที่มี ถ้าเผอิญมีการเข้าใจผิดและเปลี่ยนเป็นบริษัทมหาชนและมีการออกหุ้นใหม่ ระดมเงินเข้ามาเพิ่มในตลาดหลักทรัพย์ฯ ความเสียสมดุลจะเกิดขึ้น เพราะทุนที่มากขึ้น ย่อมเกิดขึ้นมาควบคู่กับผลกำไรที่มากขึ้นด้วย มิฉะนั้น มันไม่สามารถจะให้ผลตอบแทนที่ถูกต้องและยุติธรรมแก่นักลงทุน ดังนั้น ในการดำเนินการจะต้องมีความพยายามในการดำเนินการเพิ่มอัตรา เพิ่มราคาค่าธรรมเนียม เพื่อให้สามารถสร้างกำไรที่เหมาะสมกับทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของการก่อตั้งและความคาดหวังต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างที่กล่าวในตอนแรก

อันดับต่อมา ถ้าหากนำไปสู่เรื่องที่เรากังวลว่า มีคนจ้องเงินกองทุนนี้อยู่ การแปรรูปก็อาจจะเกิดการแบ่งทุนที่มีอยู่ออกไป ก็มีแนวคิดที่เกิดขึ้นว่า ตรงนี้น่าจะแยกไปเป็น “กองทุนพัฒนาตลาดทุน” ที่เหลือเป็นเงินสำหรับการดำเนินการในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งผมก็เคยชี้ว่า ทำแบบนี้ จะเกิดกองทุนพัฒนาตลาดทุนที่ด้อยประสิทธิภาพขึ้นมาเลย

เพราะอะไร

สมมติว่า เรามีเงินอยู่ 10,000 ล้านบาท แบ่งให้กองทุน หรือมูลนิธิ ก็เหมือนกับจะดูดีนะ แต่เมื่อคิดให้ดี ภายใต้เงินก้อนใหญ่ที่แบ่งออกไปนี้จะไม่มีผู้กำกับดูแลที่ใกล้ชิดและเป็นองค์รวม แต่ถึงแม้จะมีผู้กำกับดูแล แต่การแยกกันเช่นนี้ก็จะทำให้ภาพรวมด้อยประสิทธิภาพลง เพราะเดิม Stakeholders ทั้งหมดอยู่ด้วยกัน แล้วคุณจะแยกส่วนนี้ออกไป เพื่อไปตั้งกองทุนพัฒนาตลาดทุน และก็ตั้ง Stakeholders ใหม่ขึ้นมา ผมว่าประสิทธิภาพจะตกทันที กล่าวคือ

ทุกวันนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีหน้าที่ให้ความรู้ หน้าที่ทำให้นักลงทุนสามารถซื้อขายได้โดยไม่สะดุด (Operation) หน้าที่ทำให้ตลาดเติบโต และหน้าที่พัฒนาตลาด จึงมีทั้งงานเชิงรุก งานตั้งรับและงานพัฒนาที่จะเดินเคียงข้างกันไปเพื่อสนับสนุนเป้าหมายร่วมกันคือให้ตลาดทุนเติบโตอย่างยั่งยืน ในทางตรงข้าม ถ้าแยกว่า พวกหนึ่งจะทำให้นักลงทุนซื้อขายได้อย่างไม่สะดุดไปวันๆ อีกพวกหนึ่งก็พัฒนาอย่างเดียว เท่ากับว่าคุณกำลังจะแยกเป้าหมายที่ควรเดินไปด้วยกันออกจากกัน

เพราะสุดท้ายเมื่อไม่ได้เดินหน้าไปพร้อมๆ กันก็จะเกิดปัญหาการรับส่งไม้ต่อกันไม่สนิทและปัญหาลักษณะนี้นานวันก็จะยิ่งบานปลาย อาทิ ทางหนึ่งกำลังดำเนินงานอยู่แล้ว รู้ว่าควรพัฒนาเรื่องนั้นเรื่องนี้ ไปบอกอีกทางหนึ่งให้ช่วยมาพัฒนาตรงนี้หน่อย ทางนั้นอาจอ้างว่า คนหรือทุนของผมกำลังพัฒนาอีกเรื่องหนึ่งอยู่ไม่มีพอจะมาช่วยพัฒนาด้านนี้แล้ว ซึ่งปัญหาเช่นนี้ พวกเราคงพอจะจินตนาการได้ไม่ยาก แล้ววันนี้ทั้งหมดอยู่ด้วยกันอยู่แล้ว อย่างมีหน้าที่ทำงานคู่กันอยู่แล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องแยกขาดจากกัน

อันดับสาม ดุลอำนาจ หรือ Balance of Power จากวันนี้กรรมการจากภาครัฐและเอกชนอย่างละครึ่งหรือ 50:50 เวลามีการปรับโครงสร้างความเป็นเจ้าของใหม่ (Restructure ownership) ย่อมกระทบดุลอำนาจ และแน่นอนว่า วันนี้ 50:50 มีข้อดีและข้อเสีย

ข้อเสียคือ มันเป็น 50:50 กรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ มี 11 คน คนที่ 11 คือ ผู้จัดการ ตอนผู้จัดการหมดหน้าที่ไป กรรมการเหลือ 10 คน ซึ่งเขาก็เคยลงคะแนนสู้กัน ประชุมกันเป็นหลายชั่วโมง ยันกันไม่ยอมขยับ เพราะ 50:50 ก็กินกันไม่ลง จึงมีภาวะสุญญากาศทุก 4 ปีที่ผู้จัดการหมดวาระ เมื่อเป็นเช่นนั้น หากกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ 10 คน ไม่สามารถหาผู้จัดการคนใหม่ที่เป็นคนที่ทำให้กรรมการทั้งสองฝ่ายยอมรับ ก็เกิดความล่าช้าในการแก้ปัญหา ซึ่งบางคนก็ว่าเป็นข้อเสีย

ผมเชื่อว่า ในโลกนี้ ทุกสิ่งล้วนมีข้อเสีย และในสิ่งที่ดีที่สุดย่อมมีข้อเสีย ซึ่งถามว่า ตรงนี้ ข้อเสียคืออะไร ถ้าจะมีข้อเสียคือ 50:50 แต่ถ้าถามว่า ข้อดีคืออะไร ข้อดีคือ 50:50

ดังนั้น ถ้ากรรมการ 10 คนเป็นวิญญูชน เวลาเลือกผู้จัดการถึงต้องหามาให้ได้บนข้อเสียนั้น มันไม่เคยเป็นข้อเสียที่รุนแรงเกินไป แต่ถ้าถามว่า ใช้เวลาในการต่อสู้ทุกรอบไหม คำตอบคือ ทุกรอบ และก็ยังได้คนที่ลงตัวทุกรอบ ทางออกคือ ต้องหาคนที่ทั้ง 2 ข้างยอมรับ ดังนั้น นี่มันคือจุดแข็งด้วย

แต่ว่า องค์กรหลายแห่งก็ภูมิใจในข้อดีของเขาคือ 51:49 แล้วถามว่าข้อเสียคืออะไร ก็คือ 51:49 เพราะ 49% จะไม่ได้รับการรับฟังจาก 51% เท่าที่ควร ถ้า 51% ไม่เป็นวิญญูชนที่ดี

ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยระบบมันจึงจำเป็นต้องมีวิญญูชนที่ดีมานั่งเป็นกรรมการ เวลาที่ 50:50 อำนาจต่อรองแบบนี้ก็ต้องสู้กัน และสุดท้ายระบบนี้จะไม่ปล่อยให้ความไม่เรียบร้อยมันเกิดขึ้นง่ายๆ หรอก

จึงเป็นข้อดีเช่นกัน