คาถาบังสุกุลครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อย่างไร ?

สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (38)

คราวที่แล้วพูดถึงคาถาบังสุกุลเป็น ที่ (เชื่อว่า) เป็นต้นเหตุประเพณีสวดบังสุกุลแก่คนป่วยหนัก คราวนี้ก็ต้องพูดถึงบังสุกุลคนตาย เพื่อให้ครบเซ็ต (set)

นอกเรื่องนิดหน่อย สมัยเขาสร้างทางรถไฟผ่านดงพระยาเย็น (สมัย ร.5) มีคนตายจำนวนมาก เพราะถูกผีหลอกเป็นไข้หัวโกร๋น นายคนหนึ่งขณะนอนอยู่ ผีมาหลอกหลอน ค่าที่บวชมานานก็สวดคาถาต่างๆ มากมาย ผีไม่กลัว ไม่หนี แกนึกขึ้นมาได้ว่าสมัยบวชเคยสวดบังสุกุลบ่อยจึงสวดคาถาบังสุกุล “อนิจจา วะตะ สังขารา…” เท่านั้นแหละครับ ผีเปิดแน่บเลย

เพราะฉะนั้น ใครที่ถูกผีอำหรือหลอกหลอน ไม่ต้องกลัว สวด “อนิจจา วะตะ สังขารา…” เข้าไว้ ไม่เชื่ออย่าลบหลู่

สมัยพุทธกาล (อรรถกถาธรรมบทเล่าไว้ ฉากเรื่องนี้เกิดขึ้นสมัยพุทธกาล) พี่ชายน้องชายสองคนเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาออกบวชพร้อมกัน พี่ชายบวชแล้วก็เรียนกรรมฐาน เข้าป่าบำเพ็ญสมณธรรม ไม่นานก็บรรลุพระอรหัต

ส่วนน้องชายบวชมาแล้วก็ปฏิบัติไม่เป็นมรรคเป็นผลอะไร วันๆ ครุ่นคิดแต่เรื่องโลกๆ ทั้งๆ ที่บวชมาแล้ว ดีว่าเป็นสมัยก่อน ถ้าเป็นสมัยนี้คงมีเครื่องเล่นมากกว่าสมัยพุทธกาลมากมาย เช่น เกม (เผลอๆ อาจเป็นซีดี ไม่ผ่านการเซ็นเซอร์) คาราโอเกะเพลงสาวเต้นหวือหวา หลวงพี่เพ่งยังไงก็ไม่เห็นอนิจจัง

วันหนึ่งหลวงพี่ พระน้องชาย ดูเหมือนจะชื่อจุลกาล ไปบิณฑบาตในเมือง อดีต “เดอะเมีย” พบเข้า ก็มาซุบซิบกัน รู้กันสองต่อสอง แล้วก็ส่งเด็กไปนิมนต์หลวงพี่มาบ้านบอกว่าจะถวายภัตตาหาร พอหลวงพี่มาถึงเดอะเมียทั้งสองก็ล็อกห้อง

ต่อไปนี้คือคำสนทนาระหว่างทั้งสาม (ผู้มีเทปอัดเทปมาให้)

“หลวงพี่หนีเราไปบวช ใครอนุญาตมิทราบ”

“ก็ขออนุญาตไม่ทัน เพราะพี่ชายชวนกะทันหัน ก็เลยตามไป” หลวงพี่แก้ตัว

“ถ้าเช่นนั้น หลวงพี่ก็ไม่เต็มใจบวชสิ” ทั้งสองซัก

“ก็ประมาณนั้นแหละ” หลวงพี่กล่าว นึกว่าเธอทั้งสองจะเห็นใจ

“ดีแล้ว ไม่อยากบวชแล้วบวชทำไม สึกเดี๋ยวนี้” ว่าแล้ว เดอะเมียทั้งสองก็ช่วยกันจับถอดจีวรออก เอากางเกงให้นุ่ง พี่ทิดแกก็คงอยากสึกอยู่แล้วด้วย จึงกระทำสำเร็จได้โดยง่าย เมื่อสึกอดีตสามีสำเร็จก็ส่งไปนิมนต์พระพุทธองค์เสด็จมาเสวยภัตตาหารที่บ้านของตน

ภิกษุทั้งหลายทราบสาเหตุก็พากันซุบซิบ พระพุทธองค์ทรงทราบความคิดของพระสงฆ์ ก็ตรัสคาถาเทศน์สอนว่า “จุลกาล เธอนั่งคิดนอนคิดแต่เรื่องสวยๆ งามๆ ในที่สุดก็ถูกมารผจญ เพราะใจไม่แข็งพอ ดุจต้นไม้อ่อน ถูกลมพัดได้ง่าย”

ทำนองจะตรัสบอกว่า อย่าเอาอย่างจุลการ

ฝ่ายเดอะเมียพระมหากาล ทราบข่าวว่าอดีตภรรยาพระน้องชายสามีได้พากันจับสามีสึกก็อยากเอาตามอย่างบ้าง จึงให้คนไปนิมนต์พระมหากาลมารับบิณฑบาตที่บ้านตน พระสงฆ์ทราบข่าวก็เป็นห่วง กลัวประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย แต่ดูเหมือนว่าพระพุทธองค์ก็ทรงรู้แต่ก็ไม่เห็นทรงห้ามปรามอะไร พระทั้งหลายจึงไม่กล้าทัดทานอะไร

เมื่อไปถึงบ้าน เดอะเมียทั้งสอง ทานโทษ ดูเหมือนจะสี่คนด้วยซ้ำก็ดาหน้าเข้ามา จะล็อกคอหลวงพี่เหมือนกับที่ภรรยาจุลกาลทำกับสามี แต่ขออภัย หลวงพี่มหากาลท่านเป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญา รู้อะไรเป็นอะไร ก็นั่งสมาธิเหาะหนีไปได้อย่างปลอดภัย

พระพุทธองค์ทรงสอนภิกษุทั้งหลายภายหลังว่า

“มหากาลนั้น ไม่ได้มองสรรพสิ่งว่าน่ารักน่าใคร่ จึงมิได้ไยดีในกามคุณ คนเช่นนี้มารย่อมทำลายไม่ได้ ดุจต้นไม้ใหญ่ ลมจะแรงขนาดไหนก็ไม่สามารถโค่นได้”

มีข้อมูลเกี่ยวกับการบรรลุพระอรหัตผลของพระมหากาลน่าสนใจ

ท่านเรียนกรรมฐานจากพระพุทธองค์แล้วได้เข้าไปอยู่ที่ป่าช้า มีนางสัปเหร่อชื่อกาลีคอยดูแลป่าช้าอยู่ นางจะทำหน้าที่เผาศพ

ท่านขอกับนางว่า ก่อนเผาศพ ขอให้ท่านไปพิจารณาศพก่อน

วันหนึ่งท่านเห็นศพคนตายอายุยังน้อยเป็นสาววัยรุ่นอยู่ ก็พิจารณาไป ปลงธรรมสังเวชไปด้วย ว่ากันว่าความตายนี้ไม่ยกเว้นใครเลยนะ เด็กก็ตาย หนุ่มสาวก็ตาย แก่ก็ตาย โง่ก็ตาย ฉลาดก็ตาย ที่แก่แล้วตายก็ช่างเถิด เราเองก็คงจะตายในไม่ช้า จึงไม่ควรประมาทในสมณธรรม

แล้วท่านก็เจริญอสุภกรรมฐาน โดยกล่าวคาถาว่า

อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน

อุปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ เตสํ วูปสมโม สุโข

สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีการเกิดและเสื่อมเป็นธรรมดา

เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป การระงับสังขารได้เป็นสุข

พิจารณาด้วยคาถานี้แหละ ทำให้ท่านได้เข้าถึงไตรลักษณ์ แล้วก็เจริญตามทางแห่งวิปัสสนาจนถึงที่สุด

คาถานี้ ชาวพุทธได้นำมาเป็นคาถาบังสุกุลมาจนบัดนี้

ข้อมูลอีกแห่งหนึ่ง สมัยพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน มีบุคคลสำคัญได้กล่าวคาถาแสดงธรรมสังเวชหลายท่าน เช่น พระอานนท์ พระอนุรุทธะ ท้าวสักเทวราชก็ได้มากล่าวด้วยเช่นกัน ว่ากันว่าท้าวเธอได้ยกเอาคาถา “อนิจจา…” นั้นมาแสดงด้วย