คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : จากการเสด็จเยือน ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ทิ้งสิ่งใดไว้ให้เรา

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

แม้จะไม่ใช่ชาวคาทอลิก

แต่ผมและภรรยาก็ถือว่าตัวเองเป็นแฟนคลับของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสมาโดยตลอด

แล้วโชคดีได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสสองครั้ง

ครั้งแรกที่เมียนมาเมื่อปี 2017 โดยติดสอยห้อยตามชาวคณะสื่อมวลชนคาทอลิกไป

ส่วนการเสด็จเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ ผมได้รับความอนุเคราะห์จากคุณพ่ออนุชา ไชยเดช ผู้ดูแลสื่อมวลชนคาทอลิกอีกครั้ง

จึงได้ไปร่วมพิธีสหบูชาขอบพระคุณที่สนามศุภชลาศัย

อยากจะเล่าสู่กันฟังกับท่านผู้อ่าน

 

พระสันตะปาปาพระองค์นี้เป็นที่รักของคนจำนวนมาก

เนื่องด้วยพระจริยวัตรที่เรียบง่าย ถ่อมพระองค์

รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงหลายประการที่เกิดขึ้นในพระศาสนจักรโดยพระดำริ

เมื่อขึ้นครองบัลลังก์ พระองค์สร้างความแปลกใจแก่ผู้คนนับแต่วินาทีแรก

เพราะแทนที่จะรีบอวยพระพร “แด่โรมและโลก” ตามประเพณีในฐานะพระประมุขศาสนจักร

กลับค้อมพระเศียรลงและขอให้ผู้มาเฝ้าทั้งหมดสวดอธิษฐานให้กับพระองค์

พระองค์ปฏิเสธที่จะพักในวัง แต่ประสงค์จะอยู่ที่หอพักเล็กๆ ชื่อซานตามาร์ธา

ไม่โปรดจะใช้กางเขนและแหวนประจำตำแหน่งที่ทำด้วยทองคำ

และมักจะทรงทักทายคนเล็กคนน้อยที่ทำงานในหอพักนั้นเสมอ

พระจริยวัตรอันงามต่างๆ ค่อยๆ ปรากฏให้เห็น เช่น ความรักต่อผู้ด้อยโอกาส เด็กๆ ผู้พิการ

และล่าสุดทรงก้มลงจุมพิต “เท้า” ของผู้นำซูดานใต้ทั้งสองฝ่ายซึ่งรบพุ่งกันอยู่ เพื่อขอให้ทั้งสองฝ่ายหาทางเจรจายุติความรุนแรงไม่ให้ผู้คนล้มตายไปมากกว่านี้

 

แค่นี้ท่านก็กุมเอาหัวใจคนทั้งหลายรวมทั้งผมไปแล้วครับ การได้เห็นบุญบุคคลหรือกรุณาบุคคลเป็นสิ่งประเสริฐ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะนับถือศาสนาอะไร หรือมีศาสนาหรือไม่ หรือเป็นชนเชื้อชาติใดก็ตาม

ที่จริงก่อนการเสด็จเยือนประเทศไทย ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณพ่ออนุชา นอกเหนือจากเรื่องการเสด็จแล้วยังมีประเด็นเกี่ยวกับการปรับตัวของพระศาสนจักรด้วย

คุณพ่อบอกว่า ที่จริงพระศาสนจักรคาทอลิกนั้นพยายาม “ปรับ” แต่คงไม่ถึงกับ “เปลี่ยน” อะไรที่เป็นแกนคำสอน

เช่น ยังถือตามคำสอนที่มีในคัมภีร์ว่า พระเจ้านั้นสร้างผู้หญิงและผู้ชายขึ้นมาในปฐมกาล จึงยังอนุญาตเฉพาะให้คู่แต่งงานหญิง-ชายได้รับศีลสมรส

แต่ก็ปรับตัวโดยไม่ได้ถือว่าคนที่เป็นเพศทางเลือกต่างๆ เป็นคนบาปคนชั่วอีกต่อไป

เพราะถือว่าเขาก็ต่างเป็นเพื่อนมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีในตนเองและควรแก่การเคารพ

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือ พระศาสนจักรยังยืนแนวคิดต่อต้านการทำแท้ง

แต่พระสันตะปาปาพระองค์นี้ได้ตั้งปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรม (YEAR OF MERCY) และทรงประกาศให้บาทหลวงทุกคนสามารถอภัยบาปในกรณีทำแท้งได้ (ซึ่งแต่เดิมผู้ทำแท้งจะถูกขับจากพระศาสนจักรโดยอัตโนมัติในฐานะฆ่ามนุษย์ และบาทหลวงทั่วไปไม่มีสิทธิอภัยบาปในเรื่องนี้)

ต้องเข้าใจเรื่องการโปรดศีลอภัยบาปของคริสต์ศาสนานิดหนึ่งครับ

หลายคนมักกล่าวหาว่า คริสต์ศาสนานี่ช่างง่ายดาย คือทำผิดอะไรไปสารภาพบาปกับคุณพ่อก็จบ

ที่จริงการอภัยบาปในคริสต์ศาสนานั้นมีองค์ประกอบสำคัญคือผู้กระทำผิดนั้น มีความรู้สึกผิดอย่างแท้จริง

เรียกว่า “มีความทุกข์ถึงบาป” และไม่ปรารถนาจะทำผิดซ้ำอีกและต้องทำกิจใช้โทษบาปด้วย การอภัยบาปจึงเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้

และก็มีเป้าหมายเพื่อให้มนุษย์ได้คืนดีกับพระเจ้า กลับตัวกลับใจใหม่ คือให้โอกาสเขานั่นเอง

ความเปลี่ยนแปลงจากตัวอย่างข้างต้น ผมคิดว่าเป็นการยอมรับตำแหน่งแห่งที่ตนเองขององค์กรศาสนา

คือถ้าถือว่าตนเองจะมีท่าที “อนุรักษนิยม” ก็เป็นอนุรักษนิยมที่เป้าหมายชัดเจน มีเหตุผล และมองตนเองในฐานะที่เป็น “ทางเลือก” อย่างหนึ่งในท่ามกลางอุดมการณ์อื่นๆ

แต่ก็ยังอนุโลมตามความเปลี่ยนแปลงของโลกบ้าง โดยเน้นศีลธรรมที่ไปกันได้กับคุณค่าร่วมสมัย เช่น ความรัก ความเท่าเทียม

พระสันตะปาปาฟรานซิสตรัสหลายครั้งว่า ภารกิจของมิสซัง (มิชชันนารี) ไม่ใช่การพยายามหาศาสนิกเพิ่ม แต่ศาสนิกและนักบวชควรดำเนินชีวิตเป็นแบบอย่าง เป็นแรงบันดาลใจแก่เขา

หากเขาประสงค์จะดำเนินชีวิตตามก็นับเป็นเรื่องที่ดี ไม่ใช่ไปพยายามชักชวนให้เขาเข้ารีต

 

สิ่งหนึ่งที่คุณพ่ออนุชาพูดแล้วสะกิดใจผมมาก คือท่านบอกว่า สิ่งที่ท่านสนใจมากกว่าการที่พระองค์เสด็จมาทำไม คือ สุดท้ายแล้วการเสด็จมาของสมเด็จพระสันตะปาปาได้ทิ้งสิ่งใดไว้ให้เรามากกว่า

อะไรคือสิ่งที่พระองค์ทิ้งไว้ ผมคิดว่าสำหรับหลายๆ คน การได้เห็น “บิดาผู้ศักดิ์สิทธิ์” ก็อาจเพียงพอแล้ว จากแง่มุมความเชื่อการได้พบบุคคลศักดิ์สิทธิ์มากๆ ก็อาจช่วยให้เขาได้วิงวอนคำอธิษฐานต่อพระเจ้าผ่านพระสันตะปาปาได้ง่ายขึ้น

แต่นอกจากความศักดิ์สิทธิ์ในข้างต้นและความประทับใจที่เกิดจากพระอุปนิสัยและพระจริยวัตรส่วนพระองค์ เช่น การยื่นพระหัตถ์ให้นิสิตจุฬาฯ ผู้ทำหน้าที่เปิดประตู

การถอดฉลองพระบาทเพื่อเข้าไปยังพระอุโบสถวัดราชบพิตร ฯลฯ ซึ่งคือการเอาใจใส่ต่อสิ่งเล็กๆ น้อยๆ และคนเล็กคนน้อยแล้ว

ผมคิดว่า “สาร” ที่พระสันตะปาปาส่งมาเป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครก็ไม่ควรละเลยอย่างยิ่ง

แน่นอนว่าเป้าหมายหลักของพระองค์คือการมาเยี่ยมเยือนบรรเทาใจบรรดาศาสนิกชนคาทอลิกที่มีชีวิตในประเทศที่นับถือศาสนาพุทธเป็นศาสนาหลัก

การเชื่อมสัมพันธ์และการชูประเด็นความอดทนอดกลั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญในพระดำรัสของพระองค์

 

สถานการณ์ชาวคริสต์ในประเทศไทยดีกว่าอีกหลายประเทศ แม้ว่าจะเป็นคนส่วนน้อย แต่การเบียดเบียนศาสนาแทบจะไม่เกิดขึ้น

ชาวคริสต์ในบ้านเราส่วนมากมีสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจค่อนข้างดี โดยเฉพาะกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีน โรงเรียนและโรงพยาบาลของคริสต์ศาสนาเป็นกิจการเอกชนที่มีรายได้สูง

แต่ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา ชาวคริสต์นั้นนอกจากจะเป็นคนกลุ่มน้อยแล้ว ยังมีปัญหาอีกมากเพราะมักกระจายไปอยู่กับชาติพันธุ์ต่างๆ ที่รัฐบาลเพ่งเล็ง

ผมถึงสังเกตว่า ไม่ว่าตอนที่ผมไปเมียนมาหรือตอนที่พระองค์มาทำพิธีมิสซาในไทย ผู้เข้าร่วมพิธีซึ่งทำหน้าที่ถวายเครื่องบูชาหรืออ่านบทภาวนาเพื่อมวลชน มักมีการเลือกบุคคลจากชาติพันธุ์ต่างๆ ที่เป็นชนกลุ่มน้อย เช่น ไทใหญ่ ม้ง กะเหรี่ยง

ส่วนในไทยก็มีเช่นเดียวกัน และมีบทภาวนาในภาษาปกากะญอตีพิมพ์ในหนังสือมิสซาด้วย

ไม่ว่าสิ่งนี้จะเป็นยุทธศาสตร์สำหรับการเผยแผ่ความเชื่อ “ประกาศข่าวดี” ให้แพร่ไปพร้อมกับโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนชายขอบหรือไม่ก็ตาม แต่มันก็มีประโยชน์ในแง่ที่ช่วยทำให้หน้าตาของคนเล็กคนน้อยเหล่านั้นปรากฏขึ้นมา

ซึ่งคนเหล่านี้มักจะถูกหลงลืมเสมอไม่ว่าจากผู้มีอำนาจหรือจากพี่น้องศาสนิกด้วยกัน

สำหรับชาวคริสต์ คำสอนเกี่ยวกับความรัก การให้ความสำคัญกับคนเล็กคนน้อยและคนยากคนจนเหมือนกับพระเยซู รวมทั้งการไม่ประณามหยามเหยียดผู้ที่ต่างความเชื่อ หรือการเปิดใจให้กว้างไว้

และการดำเนินชีวิตเยี่ยงอัครสาวกของพระเยซูดูจะเป็นสิ่งที่พระองค์ทิ้งไว้ให้ได้ขบคิดโดยเฉพาะ

 


แต่สำหรับพวกเราผู้เป็นเพื่อน “ต่างความเชื่อ” พระองค์ได้มอบสิ่งใดไว้ในการเดินทางครั้งนี้ ผมคิดว่ามีอยู่สองอย่างด้วยกัน

อย่างแรก มาจากพระจริยวัตรและแนวโน้มในสมณสมัยของพระองค์ คือการปรับตัวของผู้นำทางศาสนาและพระศาสนจักรที่จะต้องโน้มเข้าหาคุณค่าสากลยิ่งขึ้น เพื่อจะคุยกับคนที่เขา “ไม่เชื่อ” อย่างเรา แต่พร้อมจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ และไม่ละเลยที่จะเอาใจใส่ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่

อย่างที่สองคือ สิ่งซึ่งปรากฏอยู่ในพระดำรัส ได้แก่ บรรดาคำสำคัญ เช่น ความเท่าเทียม ความรัก ความยุติธรรม ความแตกต่างหลากหลาย การยอมรับ ฯลฯ

คำเหล่านี้คือคุณค่าร่วมสมัยที่ทุกๆ คนไม่ว่าจะนับถือศาสนาไหนหรือไม่ ควรที่จะต้องยึดถือในฐานะคุณค่าร่วมกันของสังคม เพื่อที่จะทำให้สังคมมี “ความหวัง” ที่จะเดินต่อไปได้

ผมคิดว่า ถ้าเราระลึกนึกถึงสิ่งเหล่านี้ การเสด็จเยือนของพระสันตะปาปาจะไม่ได้เป็นเพียงหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ หรือเป็นความประทับใจใหญ่หลวงในชีวิตเท่านั้น

แต่จะเป็นรอยจุมพิตอ่อนนุ่มบนหัวใจ ที่พระองค์ทิ้งไว้เป็นของขวัญแก่ทุกคน

ในสังคมไทยที่รุ่มร้อนเหลือเกิน