ขีปนาวุธอแวนการ์ดของรัสเซีย – จรวดตงเฟิงของจีน : การป้องปรามการโจมตีก่อนของสหรัฐ

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : สู่ขั้นใช้ยาแรง (26)

จรวดตงเฟิงของจีน : การป้องปรามการโจมตีก่อนของสหรัฐ

ในงานสวนสนามฉลองวันชาติจีนครบรอบ 70 ปี จีนได้แสดงแสนยานุภาพของตนว่าสามารถป้องปรามการโจมตีก่อนของสหรัฐโดยไม่ยาก

อาวุธที่นำมาแสดงและเป็นข่าวเด่นคือขีปนาวุธตงเฟิง-41 ซึ่งเป็นขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงยิ่ง หรือไฮเปอร์โซนิก (มีอัตราเร็วเหนือเสียงกว่า 5 เท่าขึ้นไปมากกว่า 6,100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)

นอกจากนี้ ยังมีขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกอื่น และเครื่องบินความเร็วสูงทั้งมีคนขับและไร้คนขับแบบล่องหนอีกจำนวนหนึ่ง เมื่อรวมกันเข้ากับอาวุธอื่นที่นำมาแสดงในครั้งนี้แล้ว ก็ประกอบขึ้นเป็นระบบอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูง จนน่าจะทำให้ผู้นำสหรัฐล้มเลิกความคิดในการเข้าปะทะทางทหารกับจีน

การพัฒนาขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกเป็นสิ่งที่จีนถือว่ามีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ในการหยุดยั้งไม่ให้สหรัฐแผ่อำนาจเข้ามาครอบงำพื้นที่ที่จีนถือว่าเป็นเขตอิทธิพลของตน ได้แก่ ทะเลจีนตะวันออก ทะเลจีนใต้ มหาสมุทรอินเดีย รวมไปถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งจีนสามารถกระทำสำเร็จได้ในเวลารวดเร็วเกินความคาดหมายของนักการทหารสหรัฐและตะวันตก

เป็นการใช้ความไม่สมดุลให้เกิดประโยชน์ เพราะเป็นการยากและใช้เวลานานที่จีนจะไล่ทันแสนยานุภาพของสหรัฐ

นายพันเอกเกษียณคนหนึ่งแห่งกองทัพจีนกล่าวว่า “เราต้องการใช้ระเบิดทำลายล้างสูงแบบนี้เพื่อหยุดยั้งอเมริกา แม้ว่าเราจะแข่งขันกับพวกคุณยังไม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้เรากำลังพัฒนาอาวุธพิเศษที่จะทำให้สหรัฐไม่กล้าโจมตีเราก่อน”

(ดูบทความของ Kathrin Hille และเพื่อน ชื่อ China displays military advances in show of strength to rivals ใน ft.com 01/10/2019)

อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยอานุภาพทำลายรุนแรงของตงเฟิง-41 มันไม่เพียงช่วยซื้อเวลาให้แก่จีนในการปฏิรูปการทหารและการสงครามของตนเท่านั้น ขีปนาวุธนี้ยังมีศักยภาพในการเอาชนะสงครามแบบชี้ขาด หากต้องทำสงครามกับสหรัฐเต็มรูปแบบในอนาคต

การรายงานหรือเล่าเรื่องเกี่ยวกับอาวุธสงครามทันสมัย มีความยากลำบากอยู่บางประการ

ความลำบากข้อแรก คือการไม่มีคำจำกัดความหรือมาตรฐานที่ยอมรับกันทั่วไป ต่างกับมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรมที่ปฏิบัติทั่วโลก แต่ละประเทศพัฒนาอาวุธที่มีลักษณะเฉพาะตามความต้องการจำเป็นของตน ซึ่งมีความผิดแผกแตกต่างกันไปและไม่มีข้อกำหนดว่าที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร

สำหรับขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกของจีนพอสรุปได้ว่ามีจุดเด่นอยู่สองประการ

ข้อแรก ได้แก่ การมีความเร็วสูงมาก เช่น ตงเฟิง-41 มีความเร็วถึงราว 25 เท่าของความเร็วเสียง (กว่า 36,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ทำให้มีเวลาเตรียมตัวป้องกันหรือเคลื่อนย้ายเป้าหมายน้อยมาก

ในข้อที่สอง ขีปนาวุธเหล่านี้สามารถบังคับได้ตลอดวิถีการบิน สามารถหลบเลี่ยงหรือเร่งความเร็วได้ในอัตราที่ต้องการ ทำให้การบินมีความนุ่มนวล สามารถทำลายเป้าหมายระยะไกลได้อย่างแม่นยำ และการตรวจจับวิถีการบินทำได้ยากกว่าขีปนาวุธแบบเดิมเป็นอันมาก

และท้ายสุดที่คาดว่าจะเกิดขึ้นคือการทำให้มันล่องหน ตรวจจับด้วยอุปกรณ์ป้องกันทางอากาศต่างๆ ยากขึ้นไปอีก

ความยากลำบากข้อที่สอง เกิดจากลักษณะความลับทางการทหาร ทางจีนเองก็แถลงแต่สั้นๆ พอให้รู้ว่าชื่ออะไร เป็นอาวุธแบบไหน เรียกว่าพูดเฉพาะที่อยากจะพูด แม้อาวุธที่นำออกแสดงก็แสดงเฉพาะที่อยากแสดง ที่ซุ่มซ่อน หรือแอบพัฒนาไว้ขั้นใดก็ยากจะหยั่งรู้ได้

ข่าวข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธทันสมัยของจีนในที่สาธารณะ เกือบทั้งหมดเป็นแหล่งข่าวตะวันตก ซึ่งมักอยากฟังเฉพาะที่ต้องการให้สาธารณชนของตนฟัง

เห็นได้จากท่าทีในการเสนอข่าวที่เอนเอียงไปสองขั้ว

ขั้วหนึ่งกล่าวถึงแสนยานุภาพของจีนที่น่าตกใจเพื่อให้สหรัฐเตรียมตัวรับมือหรือเพิ่มงบประมาณเพื่อเอาชนะการแข่งขันอาวุธใหม่นี้

อีกขั้วหนึ่งออกไปในด้านปลอบประโลมว่า ที่จีนนำออกมาแสดงนั้นเป็นการอวดเกินจริง แท้จริงแล้วก็ไม่เท่าไหร่ สหรัฐยังคงเป็นมหาอำนาจทางทหารอันดับหนึ่งของโลกที่ไม่มีใครต่อกรได้

อย่างไรก็ตาม พอสรุปเป็นเบื้องต้นว่า จากการที่มีขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกประจำการใช้มากขึ้นทุกที แสดงว่าอากาศยานหรือขีปนาวุธความเร็วต่ำกว่าเสียง จะสามารถใช้ในสมรภูมิหรือพื้นที่ขนาดเล็กเป็นสำคัญ ถ้าหากใช้โจมตีทางยุทธศาสตร์ก็อาจถูกยิงร่วงก่อน

รายละเอียดบางประการเกี่ยวกับขีปนาวุธตงเฟิง-41 ตามที่พบในสื่อตะวันตก คือขีปนาวุธข้ามทวีปที่ก้าวหน้า ที่ทรงพลังที่สุดของจีน มีพิสัยทำการ 12,000-15,000 ก.ม. ความเร็วเหนือเสียงกว่า 25 มัค สามารถถล่มเป้าหมายในสหรัฐได้เกือบทั่วทวีปในเวลาเพียง 30 นาที

ขีปนาวุธหนึ่งลูกสามารถแตกออกได้ 10 หัวรบโจมตีได้ 10 เป้าหมาย

บรรทุกอาวุธทั้งแบบธรรมดาและนิวเคลียร์ได้ 2,500 กิโลกรัม

พร้อมกับติดตั้งอุปกรณ์ลวงให้ระบบป้องกันทางอากาศของศัตรูเข้าใจผิด ไปโจมตีเป้าลวง แทนที่จะเป็นหัวรบจริง

นครใหญ่อย่างนิวยอร์กจะถูกทำลายราบเรียบในการโจมตีเพียงครั้งเดียว ใช้เชื้อเพลิงแข็งจรวดยิงมี 3 ขั้น สะดวกในการเคลื่อนย้าย สามารถยิงจากฐานยิงเคลื่อนที่ได้บนถนน ทางรถไฟ และจากฐานยิงไซโล

เป็นที่สังเกตว่าการขนส่งโดยผ่านทางรถไฟ ทำให้ติดตามความเคลื่อนไหวของการติดตั้งใช้งานได้ยากมาก

ขีปนาวุธที่เคลื่อนย้ายทางรถไฟนี้ยังสามารถซ่อนไว้ในถ้ำ เพื่อการเก็บรักษาและติดตั้งอุปกรณ์ และเคลื่อนย้ายสู่ฐานยิงในยามจำเป็น และปฏิบัติการได้ตามลำพัง (ดูหัวข้อ Dongfeng-41(CSS-X-20) ใน missiledefenseadvocacy.org และหัวข้อ DF-41 ในวิกิพีเดีย)

อนึ่ง อิหร่านที่เป็นอริยืดเยื้อกับสหรัฐ ก็ใช้วิธีพัฒนาและติดตั้งจรวดของตนใต้ดิน และตามอุโมงค์ต่างๆ ทั่วประเทศ ฐานใต้ดินนี้หลายแห่งมีขนาดใหญ่เหมือนเมืองย่อมๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการสอดแนมตรวจจับจากสหรัฐ

นายพลแห่งหน่วยอวกาศอิหร่านคนหนึ่งเปิดเผยว่า อิหร่านยังคงขุดโมงค์สำหรับขีปนาวุธวันละ 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ ต่อเนื่องเป็นเวลา 35 ปี (นับแต่เริ่มโครงการในปี 1984-1985)

อิหร่านได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเมืองใต้ดินนี้ตั้งแต่ปี 2015 นายพลผู้นี้กล่าวว่า “วันนี้เรามีอำนาจทางขีปนาวุธเป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาคและเป็นอันดับ 7-8 ของโลก”

ผลงานสำคัญของขีปนาวุธป้องกันทางอากาศอิหร่าน ได้แก่ การยิงโดรนสอดแนมไฮเทคของสหรัฐ “เหยี่ยวพิภพ” ตกในเดือนมิถุนายน 2019

(ดูรายงานข่าวชื่อ General : Iran still digging missile tunnels 24/7 ใน teharantimes.com 01/10/2019)

กลับมากล่าวถึงขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกที่เป็นข่าวอีกสองตัว

ตัวแรก ได้แก่ ตงเฟิง-17 รุ่นล่าสุด ที่นำมาแสดงในงานนี้เป็นครั้งแรก เป็นขีปนาวุธพิสัยปานกลาง (1,800-2,500 กิโลเมตร) ออกแบบให้มีความเร็วสูงมาก (บางแหล่งกล่าวว่ากว่า 12,800 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) สามารถบินสู่เป้าหมายได้ในระดับต่ำ และเปลี่ยนเส้นทางได้อย่างฉับพลัน

เชื่อกันว่าผ่านระบบป้องกันทางอากาศของสหรัฐและพันธมิตรได้ทุกระบบ

มีนักวิเคราะห์สหรัฐบางคนเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวล เพราะระบบป้องกันทางอากาศของสหรัฐก็ไม่ได้มีการทดสอบอย่างเข้มงวด เคยมีการทดสอบในสถานการณ์ที่ดียิ่ง นั่นคือลมฟ้าอากาศดีและไม่มีการตอบโต้ ปรากฏว่าจรวดต้านขีปนาวุธของสหรัฐยิงโดนเป้าเพียง 4 ครั้งใน 10 ครั้ง

ยิ่งกว่านั้นสหรัฐยังมีจำนวนจรวดป้องกันทางอากาศอยู่ไม่มาก บางแหล่งข่าวว่ามีเพียง 44 ชุด ไม่เพียงพอที่จะป้องกันกำลังไฟอาวุธนิวเคลียร์จากจีนได้ (ดูบทความของ Rafi Letzer ชื่อ Why You Shouldn”t Worry About China”s New “Hypersonic” Nuclear Death Machine ใน livescience.com 01/10/2019)

ตัวที่สอง ได้แก่ ตงเฟิง-100 (ทางการจีนเรียก ซีเจ-100 ซีเจเป็นอักษรย่อจากภาษาจีนแปลว่า “ดาบยาว”) มีขอบเขตปฏิบัติการได้ไกล และสามารถตอบโต้ได้อย่าง รวดเร็ว ความเร็วเหนือเสียง ยิงขึ้นสูงระดับอวกาศ แล้วปล่อยตกลงมาด้วยความเร็วสูง ภายใต้การควบคุม ทำให้มีความเร็วยิ่งขึ้น และบินเรี่ยพื้นดินได้

ทำให้ระบบป้องกันขีปนาวุธของข้าศึกทำงานได้ยากขึ้น แหล่งข่าวตะวันตก คาดหมายว่าจีนอาจใช้โจมตีเป้าหมายทางทะเลคือ เรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐ (ดูบทความของ Sebastien Robin ชื่อ China New DF-100 Missile : Design to Kill U.S. Navy Aircraft Carriers? ใน nationalinterest.org 05/01/2019) ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริง และเรือบรรทุกเครื่องบินอันน่าเกรงขามกลายเป็นเหมือนเป้านิ่ง

ย่อมเกิดคำถามใหญ่ตามมาว่า สหรัฐยังสมควรจะทุ่มเงินงบประมาณในการสร้างหรือบำรุงรักษาเรือบรรทุกเครื่องบินต่อไปหรือไม่

จีนยังได้นำเครื่องบินและอากาศยานไร้คนขับอีกหลายแบบขึ้นอวด เพื่อให้ประจักษ์ว่า จีนได้ก้าวมาทันสหรัฐในด้านนี้แล้ว

มีการกล่าวถึงอากาศยานสามแบบ คือเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์เอช-6 เอ็น ความเร็วเหนือเสียงแบบซูเปอร์โซนิก สามารถเติมน้ำมันกลางอากาศได้ ปฏิบัติการได้ไกล ติดขีปนาวุธร่อนความเร็วสูง เช่น สามารถติดขีปนาวุธทำลายเรือบรรทุกเครื่องบิน เทียบชั้นกับเครื่องบินทิ้งระเบิด บี-2 ของสหรัฐที่เข้าประจำการมานานโดยไม่ยาก

เครื่องบินรบสมรรถนะสูง เฉิงตู เจ-20 (สมญาว่า “มังกรคะนอง”) ออกแบบให้ปฏิบัติการได้หลายอย่าง นักวิเคราะห์สหรัฐเห็นว่าบทบาทสำคัญได้แก่การขึ้นเผชิญหน้าต่อกรกับเครื่องบินรบของสหรัฐ และอาจเป็นการคุกคามต่อเครื่องบินรบสมรรถนะสูงของสหรัฐ อย่างเช่น เอฟ-35 หรือ เอฟ-22 ได้ (ดูบทความของ Sebastien Roblin ชื่อ Can China Chengdu J-20 Stealth Fighter Win Against American F-35 or F-22? ใน nationalinterest.org 14/09/2019)

เครื่องบินนำออกแสดงที่ได้รับความสนใจอีกแบบหนึ่ง เป็นโดรนความเร็วสูงล่องหนไร้คนขับ ขนามนามว่า “กระบี่คม” รูปร่างคล้ายปีกบินได้ เห็นแล้วก็นึกถึงคมดาบได้ การนำออกแสดงครั้งนี้ น่าจะมีเหตุผลสำคัญอยู่ที่การชี้ว่า เทคโนโลยีด้านนี้ของจีนสามารถเทียบชั้นกับสหรัฐที่ถือว่าเป็นเจ้าแห่งโดรนได้แล้ว นอกจากนี้ โดรน “เหยี่ยวพิภพ” เทคโนโลยีสูงของสหรัฐก็ถูกอิหร่านยิงตกเมื่อไม่กี่เดือนมานี้

เท่ากับเป็นการโฆษณาแก่ชาติต่างๆ ให้หันมาใช้โดรนของจีนที่เทคโนโลยีสูงและราคาถูกกว่า วิเคราะห์กันว่า โดรน “กระบี่คม” นี้ จีนจะประจำการใช้ในเรือบรรทุกเครื่องบินเพื่อการลาดตระเวนสอดแนม

ขีปนาวุธอแวนการ์ดของรัสเซีย

รัสเซียมียุทธศาสตร์การพัฒนาอาวุธและการทหารคล้ายกับจีน นั่นคือเน้นการป้องปรามการโจมตีก่อนจากสหรัฐ

รัสเซียยังมีประสบการณ์ตรงสมัยเป็นสหภาพโซเวียต ที่เดินนโยบายแย่งชิงฐานะเป็นอภิมหาอำนาจกับสหรัฐ ด้านหนึ่งเดินนโยบายจักรวรรดิเข้ายึดครองยุโรปตะวันออก ต้องเสียค่าใช้จ่ายทางทหารสูงมาก กับทั้งให้การช่วยเหลือ เพื่อซื้อใจ เช่น ขายน้ำมันในราคาถูก อีกด้านหนึ่ง ทุ่มเทแข่งขันอาวุธนิวเคลียร์กับสหรัฐโดยเฉพาะในสมัยประธานาธิบดีเรแกนจนเป็นเหตุใหญ่ให้ชาติล่มสลาย

รัสเซียใหม่จึงไม่คิดที่จะเป็นอภิมหาอำนาจเหมือนเดิมอีก เพราะว่าเป็นไปไม่ได้ กับทั้งระวังไม่ให้งบประมาณทางทหารสูงเกินไปจนเป็นภาระทางการคลังและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของตน

ทางออกที่ดีคือการพัฒนาอาวุธที่มีความเร็วสูงยิ่ง จนสามารถผ่านระบบป้องกันทางอากาศของสหรัฐและพันธมิตรได้ ในที่นี้จะกล่าวถึงอาวุธ 2 ชิ้นของรัสเซีย คือ

ก) จรวดอแวนการ์ด (แปลว่า “กองหน้า”) เป็นขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกข้ามทวีป บางแห่งกล่าวว่าทำความเร็วได้สูงถึง 27 มัค คาดว่าจะเข้าประจำการรบได้ในปลายปี 2019

ข) โดรนใต้น้ำ “โพไซดอน” เป็นตอร์ปิโดหัวรบนิวเคลียร์ ความเร็วสูง ยิงจากเรือใต้น้ำลึก หรือจากฐานยิงใต้ท้องทะเลได้ ยากที่จะตรวจจับหรือทำลายหยุดยั้ง เมื่อระเบิดแล้วจะเกิดคลื่นยักษ์สึนามิทำลายเมืองใหญ่แถบชายฝั่งทะเลของสหรัฐทั้งสองด้านราบคาบ ยิ่งกว่านั้นยังเป็นระเบิดโคบอลต์ที่มีสารกัมมันตภาพรังสีตกค้างเป็นวงกว้าง หลายแสนตารางกิโลเมตร ทำให้เมืองเหล่านั้นอยู่อาศัยไม่ได้เป็นเวลานาน

กล่าวกันว่ารัสเซียจะใช้อาวุธนี้เมื่อถึงทางสุดท้ายแล้วเท่านั้น

การพัฒนาขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกของจีนรัสเซียดังกล่าวก่อปัญหาใหญ่ทางยุทธศาสตร์การสงครามของสหรัฐ จำต้องปรับตัวครั้งใหญ่

หาไม่แล้วก็อาจรบแพ้จีน-รัสเซียได้

แต่การพัฒนาการทหารเพื่อรักษาฐานะอภิมหาอำนาจของตนก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายมหาศาล

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงเขตเศรษฐกิจโลกดวงจันทร์ แผนเจ้าอวกาศของจีน ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ และสงครามเทคโนโลยีควอนตัม