คำ ผกา | โรงเรียน ไม่ได้มีไว้เพื่อให้เด็กเกลียดตัวเอง

คำ ผกา

“เมื่อประตูโรงเรียนปิดใส่เด็ก ประตูคุกจะเปิดทันที”

คนที่พูดประโยคนี้คือ คุณทิชา ณ นคร ที่มักจะเรียกตัวเองว่า “ป้า”

และถ้าจะถามต่อไปว่า ป้าทิชาเป็นใคร ทำอะไร เราอาจจะรู้ว่าป้าทิชาคือ ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก

แต่ถ้าถามฉันว่า ป้าทิชาเป็นใคร

ฉันอยากจะบอกว่าฉันยังไม่เคยเห็นใครที่จะมีหัวใจดวงใหญ่เท่าป้าทิชามาก่อนเลยในชีวิต

ขอให้จินตนาการถึงเด็กๆ ที่ในสังคมไทยและในภาษาไทยมีถ้อยคำไว้เรียกพวกเขาอย่างโหดร้าย ตั้งแต่เด็กเหลือขอ เด็กไม่เอาถ่าน เด็กนรกส่งมาเกิด และอื่นๆ และอื่นๆ ที่โหดร้าย

เลวร้ายเสียจนฉันไม่สามารถจะพิมพ์ตัวอักษรเหล่านั้นออกมาได้

แต่ป้าทิชาคือคนที่ทุ่มเทชีวิตของป้าทั้งชีวิต เพื่อจะบอกว่า เด็กเหล่านี้คือมนุษย์ และสังคมต่างหากที่ทำร้ายพวกเขาก่อนที่พวกเขาจะออกไปทำร้ายสังคม

ลองจินตนาการถึงเด็กสักคนที่ออกไปปล้นแล้วฆ่าใครสักคนตาย

ในขณะที่มนุษย์คนอื่นๆ กรูเข้าไปรุมประชาทัณฑ์ สาปแช่ง ก่นด่า เคียดแค้น

และอยากจะฆ่าเด็กคนนี้ให้ตายๆ ไปเสีย

ป้าทิชาแทบจะเป็นมนุษย์คนเดียวในประเทศนี้ที่จะเข้าไปโอบกอดเด็กคนนั้นเอาไว้ สอนให้เขารู้จักสิ่งที่เรียกว่า “ความรัก” อีกครั้ง และบอกพวกเขาว่า ชีวิตแก้ไขได้

เขาสามารถตั้งหลักกอบกู้จิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ได้

ป้าทิชาพูดและทำในสิ่งที่สังคมไทยเข้าใจยากมากโดยตลอด

นั่นคือ เราไม่อาจสร้างสังคมที่เต็มไปด้วยความรักและความเคารพต่อกันและกันขึ้นมาได้บนความเกลียดชังและอยากเข่นฆ่า “คนอื่น” อยู่ตลอดเวลา

แม้ “คนอื่น” นั้นจะเป็นคนชั่วช้าสามานย์เหลือทนในสายตาของเรา

ฉันเคยเจอป้าทิชาในงานสัมมนาหนึ่งพร้อมกับกลุ่มเด็กจากบ้านกาญจนาภิเษก แล้วได้สัมผัสถึงพลังแห่งความรักความเมตตาที่มันใหญ่โตมากของป้าทิชาที่มีต่อเด็กที่ถูกสังคมตราหน้าว่า “เหลือขอ” เหล่านั้น

และได้สัมผัสถึงพลังชีวิตที่เต็มไปด้วยความ “ใฝ่ดี” ของเด็กเหล่านั้น ได้เห็นประกายตาระยิบระยับจากพวกเขาเมื่อพบว่ามีคน “ฟัง” ในสิ่งเขาพูดโดยไม่พิพากษา และยังฟังด้วยความรู้สึกว่า สิ่งที่พวกเขาพูดมันช่างน่าฟัง มันช่างเต็มไปด้วย wisdom ที่เราหาไม่เจอจากหนังสือ ที่สำคัญมันคือประกายวาววับจากการที่พวกเขาพบว่า เขาไม่ใช่อะไรเลย แต่คือมนุษย์ที่งดงามและมีค่า พวกเขายังเต็มไปด้วยพลังงานที่อยากจะบอกกับสังคมว่า เขาไม่อยากให้ใครต้องมาเจอหรือมาเป็นแบบเขา

พลังงานที่อยากจะตะโกนบอกสังคมไทยทั้งสังคมว่า ทำไมถึงจะทำความผิดต่อ “เด็ก” ซ้ำๆ ซากๆ

แล้วในที่สุด เราก็ได้เด็กที่สูญเสียส่วนเสี้ยวแห่งความเป็นคนของพวกเขาไปและกลายเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการออกไปก่ออาชญากรรม กลายเป็นเด็กติดยา กลายเป็นเศษเดนของสังคมไปในที่สุด

ทําไมป้าทิชาถึงพูดว่า “เมื่อประตูโรงเรียนปิดใส่เด็ก ประตูคุกจะเปิดทันที”

ในคลิปสั้นๆ ประมาณ 7 นาทีของ Workpoint News ป้าทิชาบอกว่า ร้อยละ 70 ของเยาวชนที่ทำผิดกฎหมายแล้วต้องติดคุกติดตะราง ล้วนแต่มีสิ่งที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ เป็นกลุ่มที่ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน หรือถูกไล่ออก

และเมื่อดูสถิติประกอบแล้วจะยิ่งเพิ่มความตระหนกแก่ตัวเรา นั่นคือ ในช่วงปี 2551-2560 มีเด็กไทยที่ออกจากโรงเรียนกลางคันมากถึง 4 แสนคน ย้ำว่า 4 แสนคน

ลองคิดดูสิว่า เด็กสี่แสนคนนี้จะทำอะไร และจะกลายเป็นอะไร?

ในการสำรวจประวัติของเด็กที่อยู่ในบ้านกาจนาภิเษก ป้าทิชาบอกว่าอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเหมือนกันไปหมดคือ เด็กเหล่านี้จะไปทำความผิดอะไรบางอย่างแล้วทำให้ต้องถูกลงโทษด้วยการ “พักการเรียน”

ถามว่าในช่วงที่ถูก “พักการเรียน” เด็กจะได้ทำอะไร?

ฉันจินตนาการว่า เด็กเมื่อถูกพักการเรียนก็อาจต้องกลับมานั่งอยู่บ้านเฉยๆ แบบจ๋อยๆ – แต่อาจแสร้งทำเป็นซ่าส์ ก้าวร้าว กลบเกลื่อนความจ๋อย – และอาจต้องเผชิญกับคำด่าทอจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง คำเย้ยหยันจากคนข้างบ้าน คำประชดประชัน เสียดสีที่ยิ่งทำให้พวกเขาสูญเสียความรู้สึกดีๆ กับตัวเอง

เมื่อไม่มีอะไรทำก็คงเล่นเกม และเมื่อเบื่อบ้านก็ออกไปหาเพื่อน หากลุ่มที่มี “ที่ทาง” ให้กับพวกเขา ที่ไหนก็ได้ที่ไม่รังเกียจเรา

และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นแห่งการเดินไปสู่โลก “ใต้ดิน” ทั้งหลาย

ทีนี้เมื่อพวกเขากลับมาโรงเรียนอีกครั้ง ก็กลับมาพร้อมกับการถูกแปะป้ายตีตราว่า เป็นเด็ก “ร้าย” เป็นเด็กที่ไม่มีใครเอา ครูก็มองพวกเขาแปลกๆ เพื่อนก็มองพวกเขาแปลกๆ ผู้ปกครองของเด็กหลายคนอาจจะสั่งห้ามไม่ให้คบกับเขา

และความแปลกแยกนั้นก็ผลักให้เขาทำความผิดอีก อาจจะหนีไปสูบบุหรี่ในห้องน้ำ อาจจะทำอะไรบ้าๆ บอๆ ได้อีก

(และทั้งหมดนี้เราอย่าลืมว่าพวกเขาล้วนเป็นเด็กที่เพิ่งเห็นโลกมาสิบกว่าปี เราจะคาดหวังให้เขาคิดหรือทำอะไรที่สร้างสรรค์หรือดีกว่าชีวิตได้หรือ? ผู้ใหญ่บางคนเมื่อเป๋กับชีวิตยังทำอะไรโง่ๆ ไปตั้องเยอะตั้งแยะ)

เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปคือครูฝ่ายปกครองเรียกไปพบแล้วบอกว่า “ลาออกเถอะ อย่ารอให้ถูกไล่ออกแล้วเสียประวัติ”

เราอาจเคยได้ยินตำนาน ประวัติชีวิตของคนที่ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงโด่งดัง นักเทนนิสระดับโลก ต่างๆ นานาที่มีประวัติว่า ตอนเด็กถูกครูไล่ออกจากโรงเรียน โรงเรียนแล้ว โรงเรียนเล่า แต่พ่อแม่ไม่ท้อแท้ พ่อแม่เชื่อมั่นในตัวลูก พยายามหา “โรงเรียน” หรือ การฝึกฝนอะไรบางอย่างที่เหมาะสมกับลูกของตัวเอง จนท้ายที่สุด ค้นพบสิ่งที่ตนเองถนัด และประสบความสำเร็จได้ เช่น กลายเป็นนักดนตรี นักแต่งเพลงที่มีชื่อเสียง เป็นนักเทนนิส เป็นศิลปิน หรืออะไรก็แล้ว

แต่คำถามคือ

จะมีสักกี่ครอบครัวโดยเฉพาะในเมืองไทยจะสามารถโอบอุ้มลูกหลานที่ถูกบังคับให้ลาออกจากโรงเรียน หรือถูกไล่ออก จะมีสักกี่ครอบครัวที่มีความรู้มีความเข้าใจ มีเวลามากพอ มีเงิน มีต้นทุนจะแก้ไขอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับชีวิตลูกหลานของตน

เด็กที่กลายเป็นอาชญากรจำนวนไม่น้อย ถูกให้ออกจากโรงเรียนตอน ม.1 ม.2 หรือแก่กว่านั้นอีกเล็กน้อย เมื่อออกมาเขาก็ถูกใส่ยี่ห้อว่าเป็นไอ้เวรตะไล ไอ้เด็กไม่รักดี เด็กใฝ่ชั่ว เด็กไม่เอาไหน ไม่เอาถ่าน เลี้ยงเสียข้าวสุก เป็นตัวบาปตัวกรรมของพ่อแม่ สังคมรังเกียจ นำไปสู่วงจร “โรงเรียนให้ออก พ่อแม่รับไม่ได้ และไม่รู้จะรับอย่างไร บ้านไม่น่าอยู่”

เมื่อเป็นเสียอย่างนี้ จะเหลือถนนอีกสักกี่เส้นให้พวกเขาได้เดิน จะเหลือพื้นที่แบบไหนที่ยังต้อนรับเขา

เด็กที่อายุสิบสาม สิบสี่ สิบห้า เราคาดหวังให้เขาไปไหนในเงื่อนไขชีวิตที่เขาเผชิญอยู่นี้

และยิ่งในสังคมไทยที่โดยสภาพของมันฟอนเฟะอยู่แล้ว เป็นสังคมที่รุ่มรวยไปด้วยยาเสพติด อาชญากรม การค้าประเวณี ความรุนแรง กฎหมายสองมาตรฐานที่เอื้อให้มีแต่มาเฟียและโจรครองอำนาจ ฯลฯ ทั้งไม่มีพื้นที่สาธารณะสำหรับทำกิจกรรมสร้างสรรค์ ไม่มีที่ให้เล่นกีฬา ไม่มีพื้นที่ห้องสมุด ศูนย์การเรียนรู้ที่เป็นมิตร ไม่มีตัวช่วยทางสังคมใดๆ เลยที่จะให้เด็กกลุ่มที่กลายเป็น “ผู้แพ้” นี้ได้เดินมาในถนนที่สว่างไสวบ้าง

และเมื่อรู้และเข้าใจเสียอย่างนี้แล้ว คำถามต่อไปที่สำคัญมากๆ คือ เราจะไม่ทำอะไรกับระบบการศึกษาและโรงเรียนเลยหรือ?

ทุกวันนี้เราเห็นโรงเรียนเป็นอะไร?

โรงเรียนในไทยที่ครูเอารองเท้าวางบนหัวเด็ก

สั่งนักเรียนไปนั่งกับพื้นกราบเป็นทิวแถวต้อนรับผู้อำนวยการโรงเรียนคนใหม่

โรงเรียนที่ถ้าเด็กมาโรงเรียนสายจับปรับเงินเด็กโดยไม่สนใจว่า ทำไมเด็กถึงมาสาย เด็กจะมีเงินกินข้าวไหม

โรงเรียนที่สั่งให้เด็กตัดผมเท่านั้นเท่านี้

ผมยาวต้องใช้โบสีนั้น สีนี้เท่านั้น

ถุงเท้าแบบนี้เท่านั้น รองเท้าแบบนี้เท่านั้น ต้องเข้าแถว ต้องท่องอะไรก็ไม่รู้

ทุกวันนี้โรงเรียนส่วนใหญ่ในสังคมไทยมีสภาพคล้ายโรงเรียนดัดสันดาน มีสภาพคล้ายค่ายฝึกทหารเกณฑ์

หนักกว่านั้น โรงเรียนในไทยส่วนใหญ่รังเกียจเด็กเหลือขอ รังเกียจเด็กเรียนไม่เก่ง รังเกียจเด็กมีปัญหา รังเกียจเด็กที่ไม่น่ารัก รังเกียจเด็กดื้อ รังเกียจเด็กหัวแข็ง รังเกียจเด็กที่ไม่ประจบครู รังเกียจเด็กที่มีพฤติกรรมไม่เป็นไปตาม “ขนบ” เด็กดี

โรงเรียนไทยจึงเป็นสถานที่ “สอนหนังสือ” (ที่ห่วยด้วยเพราะล้มเหลวที่สุดในการสร้าง literacy หรือ “ความรู้เรื่อง” ให้แก่ผู้เรียน) บวกกับเป็นสถานที่บ่มเพาะวัฒนธรรมอำนาจนิยม ระบบอุปถัมภ์ ประจบประแจง

สุดท้าย เป็นสถานที่อันแก้ไขปัญหาทุกอย่างด้วยระบบ “คัดของเสียออก” เช่น เกรดไม่ถึง ไม่ให้เรียนต่อ ความประพฤติไม่ดีไล่ออก

โรงเรียนไทยสวมวิญญาณ มาริเอะ คอนโด ว่าอะไรที่ไม่สปาร์กจอย อะไรที่ไม่สร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน อะไรที่ทำลายชื่อเสียงของโรงเรียน ง่ายมาก ไล่ออกแม่ง แค่นี้ โรงเรียนเราก็โอเคละ มีแต่เด็กดี เด็กเก่ง ว่าง่าย กลายเป็นโรงเรียนดัง ใครๆ ก็ชมว่า โรงเรียนนี้ดีจังเลย ครูเก่งจังเลย โอ๊ย โรงเรียนนี้มีแต่เด็กได้คะแนนโอเน็ต เอเน็ตสูงลิบลิ่วนะตัว มีแต่เด็กพูดไม่เพราะ กิจกรรมเริ่ด เรียนก็รุ่ง

แต่ไม่มีใครถามต่อว่า อีโรงเรียนประเภทนี้มันเจ๋งยังไงวะ เพราะทั้งหมดที่มันทำก็แค่คัดเอาเด็กเก่งไว้ แล้วไล่เด็กไม่ดี เด็กไม่เก่งออก

แบบนี้เรียกว่าโรงเรียนดี โรงเรียนเก่งเหรอ?

จากนั้นก็จะมีโรงเรียนประเภทไม่มีทางเลือกมากนัก ไม่ค่อยเป็นที่นิยม ไม่มีชื่อเสียงก็จะเป็นแหล่งรับ “ของเสีย” จากที่อื่น เด็กที่เป็น “ผู้แพ้” ก็มาเจอ “ผู้แพ้” ด้วยกันที่นี้ โรงเรียนแบบนี้ก็ไม่มีครูเก่งๆ อยากมาทำงาน

ผู้บริหารก็ทำงานไปวันๆ ช่วยไม่ได้นี่หว่า ก็มีแต่เด็กเหลือขอ จะให้ทำไง ก็อยู่กันไปลุ่มๆ ดอนๆ เด็กที่ถูก “คัดออก” มาอยู่รวมกันแล้วไม่มีโค้ชชีวิตใดๆ ให้เขา มีแต่การตราหน้าว่าพวกเขาคือเดนตาย ไปไหนใครก็ไม่รับ

เราทำกันแบบนี้ แล้วเรายังจะมีหน้าไปคาดหวังให้เด็กเหล่านี้เขารักเรา รักเพื่อนมนุษย์ รักสังคมที่อยู่รอบตัวเขาหรือ?

แล้วที่เป็นกันอย่างนี้อย่าคิดว่าเด็กดี เด็กเรียนเก่งทั้งหลายจะไม่มีปัญหา

เพราะความกดดันและความคาดหวังจากสังคม บวกลัทธิอำนาจนิยมที่ครอบหัวพวกเราไว้ทุกคน บวกความโหดร้ายของการแข่งขันในระบบทุนนิยมอันเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำอย่างมโหฬารพันลึกอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็ทำให้เด็กที่เรียนเก่งและ “คิดซับซ้อน” จำนวนมาก ทั้งเครียด ทั้งหดหู่ จนกลายเป็นภาวะซึมเศร้า รู้สึกตนเองไร้ค่า เรียนเก่งแล้วไงเหรอ?

หรือหาตัวเองไม่เจอ เพราะทั้งชีวิตก็ถูกสอนมาให้เรียนไปเรื่อยๆ นอกเหนือไปจากเรียนตามคำสั่งก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรยังไงดีกับชีวิต

แล้วโรงเรียนไทยต้องไปต่ออย่างไร?

อันดับแรก เราต้องเข้าใจเสียใหม่ว่า โรงเรียนไม่ใช่ที่ดัดสันดาน

โรงเรียนไม่ใช่ที่ที่จะให้เด็กไปแข่งกันเรียนเก่งด้วยการวัดผลแบบเดียว แต่ใช้กับเด็กทุกคนทั่วประเทศไทย

อย่างน้อยที่สุด เราต้องเห็นเสียก่อนว่า โรงเรียนคือสถานที่อันมีไว้แบ่งเบา ทั้งเป็นผู้ช่วยของพ่อ-แม่ ผู้ปกครองในการสร้างมนุษย์ที่มีความสุข สามารถใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ได้อย่างสมเหตุสมผล

มีเครื่องมือในการค้นหาหนทางและทักษะเพื่อจะนำไปประกอบอาชีพการงานอะไรสักอย่างเพื่อให้เลี้ยงตัวเองได้ เสียภาษีให้รัฐบาลได้

โรงเรียนควรจะเป็นอะไรแบบนี้ใช่ไหม?

ดังนั้น จึงไม่ใช่หน้าที่ของโรงเรียนที่จะไปตัดสิน พิพากษา แปะป้ายตีตราเด็กว่า เด็กคนนี้โง่ คนนี้ขี้เกียจ คนนี้เลวชอบแกล้งเพื่อน คนนี้ปัญญาทึบ คนนี้ดื้อด้าน คนนั้นเก่ง คนนี้ว่าง่าย คนนี้น่ารัก คนนี้อ่อนน้อม

ทุกโรงเรียนและครูทุกคนต้องเลิกตีตราเด็ก

หน้าที่ของครูและโรงเรียนมีอย่างเดียวเท่านั้นคือค้นหาวิธีการเรียนการสอนที่จะทำให้เด็กทุกคนที่ล้วนแตกต่างกันทั้งในทางนิสัย ทักษะ ความสนใจ สมาธิ พื้นฐานทางบ้านและครอบครัวเหล่านั้นหาศักยภาพและความถนัดของพวกเขาให้เจอ

โรงเรียนและครูมีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน ความสามารถอันแตกต่างหลากหลายของเด็กแต่ละคน หาพื้นที่ที่พวกเขาจะได้ฉายแสงออกมา

ที่สำคัญโรงเรียนไม่มีหน้าที่ปิดประตูใส่เด็ก โรงเรียนไม่มีหน้าที่ไล่เขาออกไป หรือขอให้เขาลาออก

โรงเรียนควรยกเลิกระบบคัดเข้าเรียนต่อ ม.ปลายด้วยการใช้เกรด เพียงเพราะไปคิดเป็นสูตรสำเร็จว่า เรียนไม่ไหวก็ไปสายอาชีพสิ

ซึ่งผลเสียของมันก็ทำให้การเรียนสายอาชีพดูด้อยค่าและเด็กเก่งแม้อยากเรียนสายอาชีพก็ไม่ยอมไปเรียน หรือเด็กที่เรียนแย่ตอน ม.ต้น ถ้าเขาอยากเรียนต่อ ม.ปลาย ถามว่าโรงเรียนมีสิทธิอะไรไปกีดกันไม่ให้เขาได้เรียนและลองเรียน

หรือต่อให้เขาไม่ชอบเรียนจริงๆ ทำไมโรงเรียนจะคิดว่า ตัวเองมีหน้าที่ดูแลเด็กไปจนถึงวัยที่เขามีวุฒิภาวะ

ถ้าเขาไม่เรียนก็ต้องหากิจกรรมอื่นๆ ให้เขาทำ ไม่ใช่ไล่เขาไปเลี้ยงควาย อย่างที่ชอบพูดกัน

การที่เด็กเรียนไม่ได้ เรียนไม่เก่ง ไม่ส่งงาน นอกจากจะโทษเด็กแล้วโรงเรียนเคยหันกลับมาถามตัวเองหรือเปล่าว่า ตัวฉันนั้นได้พยายามคิดหากลยุทธ์ กลอุบายในการสอนให้มันดีขึ้น สนุกขึ้น มีประสิทธิภาพขึ้นแล้วหรือยัง

โรงเรียนมีหน้าที่ดูแลกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูเด็กทุกคน ยิ่งเด็กที่มีปัญหา โรงเรียนยิ่งต้องหาทางปกป้องและใช้ความรักในการดูแลพวกเขาให้มากขึ้น ไม่ใช่ขับไล่ไสส่ง เพราะเด็กคือมนุษย์ ไม่ใช่สิ่งของที่หากมันไม่สปาร์กจอยแล้วเราจะขนไปทิ้งเมื่อไหร่ก็ได้

สังคมไทยและรัฐไทยต้องเปลี่ยนกระบวนการคิดใหม่ทั้งหมดว่าโรงเรียนไม่ใช่พื้นที่แห่งการเรียนรู้เรื่อง “อำนาจ” แต่โรงเรียนคือพื้นที่แห่งการเรียนรู้เรื่อง ความรักในมนุษย์ ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์

ความเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์

สำหรับการจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในสังคมประชาธิปไตยอันเปี่ยมไปด้วยสำนึกแห่งการเคารพกันและกัน โดยไม่เอาเรื่องความดี ความชั่วจากการตัดสินจากอคติของตนเองไปตัดสินคุณค่าของผู้อื่น

โรงเรียนและครูไม่ได้มีหน้าที่เกลียดเด็ก ไม่ว่าเด็กเหล่านั้นจะเหลือขอและสอนยากแค่ไหน เพราะมันคือหน้าที่ของโรงเรียนและครูที่จะต้องทำให้เขา “ดีขึ้น”

สุดท้ายมันเป็นนโยบายของรัฐที่จะรื้อกระบวนทัศน์เก่าว่าด้วยการศึกษาและโรงเรียนออกและสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ว่าการศึกษาคือการ “ให้” ไม่ใช่การ “ไล่” และ “เลือกขุน” แต่บางตัวที่เลี้ยงง่าย ขายได้ราคาดีเท่านั้น