เพ็ญสุภา สุขคตะ : ฝรั่งเข้าใจสยาม ในนามนักการทูต “ซาโตว”

เพ็ญสุภา สุขคตะ

เซอร์ เออร์เนสต์ เมสัน ซาโตว (Sir Ernest Mason Satow) เป็นนักการทูตชาวอังกฤษที่เคยเดินทางมาประจำสยาม มีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.2386-2472 เขาเกิดที่แคลมตัน ลอนดอน มีมารดาเป็นชาวอังกฤษชื่อ มาร์กาเรต เน เมสัน (Margaret Nee Mason)

ส่วนบิดาเป็นชาวเยอรมันชื่อ ฮันส์ เดวิด คริสตรอฟ ซาโตว (Hans David Christoph Satow)

นักประวัติศาสตร์บางท่านถอดเสียงคำว่า Satow เป็น “ซาโทว” ส่วนสำเนียงภาษาญี่ปุ่นออกเสียงว่า “ซาเตา”

ในที่นี้ดิฉันขอพบกันครึ่งทาง โดยใช้คำว่า “ซาโตว” 

 

ผู้รื้อฟื้นชีวิตและวิญญาณ “ออกญาเสนาภิมุข”

ซาโตวเป็นคนเรียนดี หน้าตาดี บุคลิกดี เขาจบการศึกษาระดับมัธยมที่ Mill Hill School และระดับอุดมศึกษาจาก University College London

เมื่ออายุได้ 18 ปี (พ.ศ.2405) ซาโตวถูกส่งตัวไปประจำที่ประเทศญี่ปุ่นในฐานะนักเรียนฝึกแปล เมื่ออายุ 20 ปีเขาเริ่มเขียนบทความในหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับประเด็นประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่เขาค้นคว้า อายุได้ 24 ปี เดินทางกลับประเทศอังกฤษ

หนึ่งปีให้หลังในวัยเบญจเพสเขากลับมาญี่ปุ่นอีกครั้ง คราวนี้เขาได้ก่อตั้ง Asiatic Society ที่ญี่ปุ่น เป็นสมาคมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรวมพลคนหัวก้าวหน้า ถกเถียง เสวนา ศึกษา ค้นคว้าเรื่องภาษา วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของชาวเอเชีย

เมื่อตกผลึกเกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านญี่ปุ่นศึกษาในระดับหนึ่ง เขาจึงเขียนหนังสือเรื่อง “A Diplomat in Japan” ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังสือที่เขียนโดยชาวต่างชาติผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องญี่ปุ่นดีที่สุดในสมัยนั้น

นอกจากนี้ ซาโตวยังได้หยิบชีวิตของ “วีรบุรุษญี่ปุ่นในสยาม” ผู้หนึ่งมาปัดฝุ่นและยกย่องให้เป็นที่ประจักษ์ต่อชาวโลก

นั่นคือเรื่องราวของ “ยะมะดะ นะงะมะซะ” หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในราชทินนาม “ออกญาเสนาภิมุข” ซึ่งเป็นบุคคลในสมัยอยุธยาตอนกลางสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่แทบจะไม่เป็นรู้จักของชาวญี่ปุ่นในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นอีกเลย

ซาโตวได้นำเรื่องราวของยะมะดะ นะงะมะซะ มาตีแผ่ ปรากฏอยู่ในหนังสือเรื่อง Intercourse Between Japan and Siam พิมพ์เมื่อปี 2428 โดยเขาทำการค้นคว้าวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารโบราณคือ “จดหมายเหตุวันวลิต” (เยเรเมียส ฟานฟลีต) ชาวฮอลันดา หัวหน้าสถานีการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกที่ถูกส่งมาประจำการในอยุธยาระหว่างปี พ.ศ.2172-2177

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหลังจากงานเขียนเรื่องยะมะดะ นะงะมะซะ ผู้บังคับบัญชาการทหารญี่ปุ่นในประเทศสยาม ของซาโตวได้รับการเผยแพร่ในวงกว้างที่ญี่ปุ่นแล้ว ได้เกิดแรงกระเพื่อมต่อวงการศึกษาประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นอย่างคาดไม่ถึง

นักประวัติศาสตร์หันมาให้ความสนใจต่อชีวิตโลดโผนของยะมะดะ นะงะมะซะ รวมไปถึงนักประพันธ์นิยายอิงประวัติศาสตร์ นักการละคร และนักผจญภัย ต่างใฝ่ฝันอยากมาตามรอยวีรบุรุษของพวกเขาในแผ่นดินสยาม

ซาโตวเดินทางมารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงสยามระหว่าง พ.ศ.2428-2431 จากนั้นย้ายไปอุรุกวัย โมร็อกโก กลับมาญี่ปุ่นอีกครั้ง พ.ศ.1438-2443 ในฐานะอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็ม หลังจากนั้นย้ายไปเป็นข้าหลวงใหญ่แห่งอังกฤษในประเทศจีน ระหว่าง พ.ศ.2443-2449

ประสบการณ์ชีวิตของซาโตว สุภาพบุรุษเมืองผู้ดี ผู้หลงใหลในประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมของทุกชนเผ่าชาติพันธุ์ การที่เขาได้มาใช้ชีวิตในแถบเอเชียตะวันออกไกล เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อเมริกาใต้ และแอฟริกา จึงย่อมถือเป็นสิ่งที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง

 

ซาโตวกับเมืองจันทบูรณ์
กรณีรักต้องห้ามของพระปรีชากลการ

ซาโตวเขียนบันทึกเรื่องเยือนเมืองจันทบูรณ์ (ปัจจุบันเรียกจังหวัดจันทบุรี) ในปี พ.ศ.2427 เป็นการเดินทางไปยังภูมิภาคตะวันออกของเขาเพื่อดูแลคนในบังคับอังกฤษ ก่อนที่เมืองจันทบูรณ์จะถูกฝรั่งเศสยึดในปี 2436

นอกเหนือไปจากซาโตวจะพรรณนาถึงกลุ่มชนชาติพันธุ์เผ่าต่างๆ ที่อาศัยปะปนกับคนไทยพื้นถิ่น อาทิ มีชาวชองอยู่แถวเขาสอยดาว ชาวญวนทอเสื่อกก ชาวพม่าปะหล่องต่องสู้คนในบังคับอังกฤษ ค้าแรงงานในเหมืองพลอย ชาวจีนทำไร่อ้อยและประมง ชาวเขมรขมุหาของป่า

หรือบรรยายเรื่องสถานที่สำคัญในเมืองจันทบูรณ์ เช่น น้ำตกพลิ้ว เขาสระบาป เขาพระบาท (ภายหลังรู้จักกันในนามเขาคิชฌกูฏ) แล้ว

เขายังได้เปิดประเด็นเรื่อง “รักต้องห้าม” ของพระปรีชากลการอีกด้วย

พระปรีชากลการ นามเดิม “สำอาง อมาตยกุล” เป็นบุตรของพระญากสาปนกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) พระปรีชากลการสำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ จากสกอตแลนด์

ถือว่าเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง ทำงานเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นอย่างมาก ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองปราจีนบุรี และผู้ควบคุมการทำเหมืองทองที่ปราจีนบุรี

โศกนาฏกรรมเกิดขึ้นเนื่องจากพระปรีชากลการไปรักใคร่ชอบพอกับ “แฟนนี น็อกซ์” ลูกครึ่งสาวสวยผู้มีมารดาเป็นชาวสยาม บิดาคือโทมัส ยอร์จ น็อกซ์ กงสุลอังกฤษประจำประเทศสยาม

ความรักของทั้งคู่ดำเนินไปท่ามกลางความขัดแย้งระหว่าง “วังหลวง” กับ “วังหน้า” วังหลวงหมายถึงล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ซึ่งยังเป็นยุวกษัตริย์ แต่อำนาจการปกครองบ้านเมืองขณะนั้นอยู่ในมือของ “อดีตผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน” กับกลุ่มวังหน้า นั่นคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้ให้การสนับสนุนกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ

โทมัส ยอร์จ น็อกซ์ ก่อนจะเป็นกงสุล เขาเคยทำหน้าที่ครูฝึกทหารแบบยุโรปให้กับวังหน้าระยะหนึ่ง จนมีความสนิทสนมกับสายอดีตผู้สำเร็จราชการและกลุ่มวังหน้า โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มีความประสงค์จะให้แฟนนี น็อกซ์ แต่งงานกับบุตรของตนเพื่อกระชับอำนาจของกลุ่มวังหน้ากับกงสุลอังกฤษให้แน่นแฟ้น

พระปรีชากลการเป็นคนที่มีความคิดอิสระแบบตะวันตก จึงได้สมรสกับแฟนนี น็อกซ์ อย่างเงียบๆ ไม่ได้ขอพระบรมราชานุญาตจากรัชกาลที่ 5

เรื่องนี้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ถือโอกาสใช้เป็นช่องทางในการเอาผิด จึงกราบบังคมทูลต่อรัชกาลที่ 5 ว่าการกระทำของพระปรีชากลการทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ

การที่ข้าราชบริพารระดับสูงไปสมรสกับสตรีลูกครึ่งต่างชาติที่บิดามีผลประโยชน์ทางการเมือง ถือเป็นการละเมิดอำนาจแผ่นดินอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่เคยมีผู้ใดประพฤติมาก่อน

กลุ่มวังหน้าจึงเสนอให้จับกุมตัวพระปรีชากลการ

ในที่สุด โทมัส ยอร์จ น็อกซ์ แม้จะเคยสนิทสนมกับกลุ่มวังหน้ามาก่อน จำต้องตัดสินใจช่วยลูกเขยด้วยการขู่ราชสำนักสยามว่าจะเอาเรือปืนมาปิดปากอ่าวไทยตามอำนาจกงสุลอังกฤษที่ถูกทางการไทยละเมิด

เรื่องนี้ส่งผลให้ฝ่ายสยามต้องส่งคณะทูตพิเศษเดินทางไปชี้แจงยังรัฐบาลอังกฤษ

การพิจารณาคดีพระปรีชากลการยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ โถมทับด้วยข้อหาสารพัดสารเพประเดประดังกระหน่ำรุมเร้า ทั้งโจทก์แท้ โจทก์เทียม พยานเท็จ พยานจริง ว่าด้วยเรื่องที่พระปรีชากลการกระทำทารุณต่อกรรมกรเหมืองทองและปวงราษฎรปราจีนด้วยประการต่างๆ

ในที่สุดพระปรีชากลการก็ถูกสั่งให้ลงโทษถึงขั้นประหารชีวิต อันเป็นอีกหนึ่งชนวนที่มาของความขัดแย้งระหว่างสยาม-อังกฤษซึ่งเฝ้ารอวันปะทุในเวลาต่อมา เรื่องราวทั้งหมดซาโตวได้บันทึกไว้ด้วยใจที่เป็นกลาง โดยไม่พยายามใส่ความเห็นส่วนตัวว่าใครถูกใครผิด

 

ซาโตวตระเวนทั่วล้านนา
จากคุ้มหลวงถึงดอยคว่ำหล้อง

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ล้านนามีฐานะเป็นประเทศราชของสยาม ซาโตวออกเดินทางมาล้านนาด้วยเรือหางแมงป่องจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2428 และกลับถึงกรุงเทพฯ อีกครั้งวันที่ 11 มีนาคม 2429

จากปากน้ำโพ เขาไม่ได้เลือกใช้เส้นแม่น้ำปิงทางกำแพงเพชร แต่เลือกใช้แม่น้ำยมแทน เขาจึงผ่านสุโขทัย ศรีสัชนาลัย อุตรดิตถ์ ท่าอิฐ ท่าเสา แพร่ จากนั้นต้องขึ้นช้างและเดินบกเข้าสู่ละคร (ลำปาง) ลำพูน และเชียงใหม่ ใช้เวลาพำนักในเชียงใหม่ 1 เดือนเต็มๆ ระหว่างวันที่ 12 มกราคม ถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2429

ในขณะที่เส้นทางขากลับ เขาตัดสินใจเสี่ยงลงไปทางลำน้ำปิงดูบ้าง ซึ่งแถวเมืองตากเต็มไปด้วยเกาะแก่งเชี่ยวกราก (ยุคก่อนสร้างเขื่อนยันฮี) เข้ากำแพงเพชร บรรจบปากน้ำโพ ถือเป็นการเดินทางสองเส้นที่ไม่ซ้ำเมืองกัน

เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ขณะนั้นคือ เจ้าหลวงอินทวิชยานนท์ (พระบิดาของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี) ในวัย 67 พรรษา ได้ให้การต้อนรับซาโตวอย่างดี ณ คุ้มหลวง (สันนิษฐานว่าช่วงนั้นคืออาคารทรงตะวันตกหลังหนึ่ง ปัจจุบันอยู่ในสถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาประจำเชียงใหม่)

นอกจากนี้ ยังมีพระมนตรีพจนกิจ ผู้เป็นข้าหลวงต่างพระเนตรพระกรรณ (ต่อมาตำแหน่งนี้จะเปลี่ยนเป็น “อุปราชเทศาภิบาลมณฑลพายัพ”) ที่สยามส่งมาดูแลความเป็นไปของล้านนา คอยให้คำแนะนำซาโตวระหว่างอยู่เชียงใหม่อีกด้วย

ซาโตวพรรณนาว่าคุ้มหลวงเชียงใหม่เป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป เฟอร์นิเจอร์ภายในคุ้มเป็นของยุโรป พื้นปูด้วยพรมหรูหราราคาแพงจากกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม

ส่วนเจ้าหลวงนั้น ซาโตวมองว่า แม้จะสูงวัยแต่ก็เป็นคนกระฉับกระเฉง ไม่ถือพระองค์ คุยสนุก มีความรอบรู้ในเรื่องท้องถิ่นพอสมควร

เมื่อเจ้าหลวงพบซาโตวครั้งแรก ท่านต้อนรับนักการทูตผู้นี้ด้วยการส่งดอกกล้วยไม้ให้ 1 ดอก เพื่อจะให้ซาโตวเอาไปเสียบในรูปหูที่เจาะไว้เหมือนกับความนิยมของผู้ชายล้านนาในยุคนั้น แต่ซาโตวบอกว่าเขาไม่ได้เจาะติ่งหู เจ้าหลวงจึงบอกว่าให้เอาดอกไม้ทัดไว้เหนือใบหูแทน

และเมื่อซาโตวถามว่าในอาณาจักรของพระองค์มีสถานที่แห่งใดควรไปเยี่ยมชมบ้าง เจ้าหลวงอินทวิชยานนท์ตอบว่า มีวัดเก่าที่เมืองจอมทอง (หมายถึงพระธาตุศรีจอมทอง) กับพระธาตุดอยสุเทพ น้ำพุร้อนบ้านโป่งกุ่ม บ้านป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด ส่วนดอยหลวงเชียงดาวนั้นห้ามขึ้น เนื่องจากมีผีปกป้องอยู่

ซาโตวเดินทางไปทุกจุดตามที่เจ้าหลวงแนะนำ และไปไกลจนถึงดอยคว่ำหล้อง อำเภอสะเมิง (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นม่อนแจ่ม) จุดที่ฝังศพขุนหลวงวิลังคะ

พระมนตรีพจนกิจ เป็นมัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ พาซาโตวพบวัดพระสิงห์ พร้อมบรรยายความเป็นมาของพระพุทธสิหิงค์ไว้อย่างน่าสนใจ สอดคล้องกับเรื่อง “สิหิงคนิทาน” ของพระโพธิรังสีที่รจนาไว้เมื่อ 500 กว่าปีก่อนว่า

ในสมัยพระญาแสนเมืองมา ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาจากเมืองเชียงราย โดยตั้งใจจะให้ประดิษฐานไว้ที่วัดนอกคูเมืองเชียงใหม่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งกำลังสร้างรอไว้อยู่ (หมายถึงวัดฟ้าฮ่าม)

ครั้นเมื่อกระบวนแห่พระพุทธสิหิงค์ผ่านมาถึงบริเวณที่เป็นวัดลีเชียงพระ (ปัจจุบันคือวัดพระสิงห์) จู่ๆ พระพุทธรูปก็หันหน้ากลับหลังมาที่วัด คล้ายกับต้องการส่งสัญญาณให้ทราบว่า ไม่ประสงค์ไปต่ออีกแล้ว จะประทับที่วัดนี้ พร้อมกันนั้นทุกคนได้เห็นลำแสงสว่างบนท้องฟ้าอร่ามเรืองรอง ลำแสงพุ่งไปที่วัดซึ่งตอนแรกจะอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐาน

จึงอาราธนาพระพุทธสิหิงค์ลงจากเสลี่ยง ประดิษฐานไว้ที่วัดลีเชียงพระ และให้ชื่อว่าวัดพระสิงห์แทน ส่วนวัดแรกที่ตั้งใจไว้นั้นให้ชื่อว่าวัดฟ้าอร่าม หรือภาษาพื้นเมืองเรียกฟ้าฮ่าม

อันที่จริง มุมมองของซาโตวยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจอีกมากมาย กล่าวโดยสรุปได้ว่า เขาเป็นนักการทูตชาวอังกฤษที่บันทึกทุกเรื่องราวตามตาเห็นแบบตรงไปตรงมา ไม่ใส่อคติ เหยียดหยามวัฒนธรรมพื้นถิ่น มีความเห็นอกเห็นใจชาวสยามที่เสียเปรียบชาวตะวันตกเรื่องสนธิสัญญาเบาริ่ง เขาไม่ได้ปฏิบัติต่อคนพื้นเมืองอุษาคเนย์ที่เป็นเป้าหมายในการล่าอาณานิคมเยี่ยงคนต่ำต้อยกว่า ด้วยความทระนงตนว่าเป็นชาวผิวขาวอารยันแต่อย่างใด

หากสนใจโปรดหาอ่านเรื่องราวของสุภาพบุรุษนักการทูตผู้นี้ได้ในหนังสือเรื่อง A Diplomat in Siam. Introduce and edited by Nigel Brailey. United Kingdom : Paul Strachan – Kiscadale Ltd., 1994.