อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : เซี่ย ซิง ศิลปินผู้ท้าทายความจริงของสังคม ด้วยงานศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

หลังจากปลายปีที่แล้ว ที่มีศิลปินบิ๊กเนมจากต่างประเทศหลายต่อหลายคนแวะเวียนมาแสดงนิทรรศการศิลปะในบ้านเรามาหมาดๆ

ไม่ว่าจะเป็น อ้ายเหว่ยเหว่ย, จ้าว จ้าว หรือ แอร์วิน วูร์ม เป็นอาทิ

ต้นปีใหม่นี้ก็มีศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติอีกคนมาแสดงในบ้านเราอีกเหมือนกัน

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า เซี่ย ซิง (Xia Xing)

ศิลปินชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่ถือกำเนิดในเมืองฉือเหอจื่อ เขตปกครองตนเองซินเจียง

ปัจจุบันเขาอาศัยและทำงานอยู่ในกรุงปักกิ่ง เขามีผลงานแสดงทั้งในประเทศจีนและในหลายประเทศทั่วโลก

อาทิ ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา, สวิตเซอร์แลนด์, โตเกียว ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, เนเธอร์แลนด์, สเปน ฯลฯ

นิทรรศการนี้เป็นนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเขาในประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยผลงานศิลปะสามชุดด้วยกัน

ผลงานชุดแรกเป็นภาพวาดบนเฟรมขนาดย่อมจำนวนหลายเฟรมที่แขวนเรียงรายเป็นแถวๆ บนผนังด้านหน้าหอศิลป์ และอีกสามผนังด้านในหอศิลป์

ซึ่งภาพเหล่านี้เป็นภาพที่ศิลปินคัดเลือกมาจากภาพที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง เดอะ เป่ยจิง นิวส์ (The Beijing News)

โดยศิลปินคัดลอกภาพเหล่านั้นขึ้นมาใหม่ด้วยเทคนิคสีน้ำมัน ด้วยการใช้แม่สีเพียงสามสีคือ สีน้ำเงิน (cyan) แดง (magenta) เหลือง (yellow) หรือ CMY(K) ซึ่งเป็นค่าสีที่ใช้ในระบบการพิมพ์ออฟเซ็ตที่ใช้ในสิ่งพิมพ์อย่างหนังสือพิมพ์นั่นเอง

ซึ่งเทคนิคการใช้ฝีแปรงของเขาก็มีลักษณะเป็นการใช้ฝีแปรงเล็กๆ จำนวนนับไม่ถ้วนวาดออกมาในลักษณะที่คล้ายกับเม็ดสีของภาพที่ตีพิมพ์ลงบนหน้าหนังสือพิมพ์

เดอะ เป่ยจิง นิวส์ เป็นหนังสือพิมพ์ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2003 จากการรวมตัวกันของหนังสือยักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง กวง หมิง เดลี่ (Guang Ming Daily) และ เซาเทิร์น เดลี่ (Southern Metropolis Daily) ที่ผนึกขุมกำลังโดยได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายโฆษณาการของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และสำนักงานบริหารกิจการสิ่งพิมพ์และการพิมพ์แห่งชาติ ในการทำหนังสือพิมพ์ระหว่างภูมิภาค

ซึ่งแน่นอนว่ามันย่อมต้องนำเสนอข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลจีน

ในยุคสมัยนั้นที่อินเตอร์เน็ตยังไม่แพร่หลาย ประชาชนไม่สามารถเสพข้อมูลข่าวสารได้จากแหล่งอื่น

หนังสือพิมพ์จึงเป็นสื่อที่ทรงอิทธิพลต่อประชาชนจีนอย่างมาก

“ผมเลยวาดภาพเหล่านี้ โดยเลือกที่จะหยิบมาแต่ภาพโดยไม่มีตัวหนังสือหรือเนื้อหาข่าว เพื่อให้คนดูเกิดความสงสัยและตั้งคำถามกับมัน”

นับแต่ปี 2004 เซี่ย ซิง วาดภาพเหล่านี้เกือบทุกวันเป็นเวลาเก้าปีติดต่อกัน คล้ายกับการบันทึกไดอารี่ส่วนตัว โดยเขาเลือกเหตุการณ์ข่าวที่สะเทือนใจในแต่ละปี ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นข่าวการเมือง

ไม่ว่าจะเป็นความเคลื่อนไหวและความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและผู้มีอำนาจในสังคมกับประชาชนที่ถูกควบคุมและจำกัดสิทธิเสรีภาพ

ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกับพ่อค้าแม่ค้าข้างถนน บริษัทยักษ์ใหญ่กับคนงาน หรือทนายสิทธิมนุษยชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ

ภาพชีวิตของประชาชนชาวจีนในยุคสมัยใหม่เหล่านี้ ถูกนำมาจัดแสดงเป็นกลุ่มโดยไม่ระบุที่มา

ซึ่งโดยปกติภาพถ่ายเหล่านี้จะถูกอธิบายโดยพาดหัวและเนื้อหาข่าวในหนังสือพิมพ์

แต่ศิลปินกลับนำมันมาเสนอโดดๆ เพื่อให้ผู้ชมทำความเข้าใจและตีความภาพเหล่านี้ด้วยจินตนาการและความทรงจำของตัวเอง

ผลงานชิ้นนี้ของเขาเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การนำเสนอข่าวของสื่อสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่ที่เป็นเหมือนกระบอกเสียงของรัฐบาลจีน ว่าสิ่งที่มันนำเสนอนั้นเป็นข้อเท็จจริง หรือเป็นความลวงที่ปั้นแต่งขึ้นมาโดยผู้มีอำนาจในสังคมกันแน่?

เขาเชื่อว่าภาพวาดของเขาจะแสดงให้เห็นถึงความจริงและความลวงที่ซ่อนอยู่ภายใต้พื้นผิวของข่าวเหล่านั้น

และกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวของเหตุผลและสามัญสำนึกขึ้นมาได้

ผลงานชุดที่สองปรากฏให้เห็นบนพื้นกลางหอศิลป์

มันเป็นงานศิลปะจัดวางที่ประกอบขึ้นจากผืนผ้าจากพรมเก่าแก่จำนวนหลายสิบผืน ที่ถูกตัดออกมาเป็นผืนผ้าสี่เหลี่ยมจัตุรัสแล้วนำมาเย็บต่อๆ กันเป็นผืนพรมขนาดใหญ่

ซึ่งผลงานชิ้นนี้แสดงให้เห็นถึงสีสันและลวดลาย และความเป็นเอกภาพของพรมโบราณที่ถูกทำลายระหว่างการตัดมันออกมาเป็นชิ้นเล็กๆ

โดยเขาเลือกลวดลายและรูปแบบของพรมที่หลากหลายตั้งแต่พรมที่ใช้กันในหมู่นักบวชและชนชั้นสูงของทิเบตไปจนถึงพรมของสามัญชน เพื่อนำเสนอมุมมองของเขาที่มีต่อสังคมจีน

“พรมเหล่านี้เป็นพรมของทิเบตในยุคสมัยก่อนปฏิวัติวัฒนธรรม ผมซื้อมันมาสองสามโหล และเอากองไว้ด้วยกัน แล้วบอกคนงานให้ตัดพรมนี้เป็นชิ้นๆ ในขนาด 50 x 50 ซ.ม. โดยให้เขาตัดสินใจเองว่าจะตัดมันตรงไหน แล้วให้พวกเขานำมาเย็บต่อกันเป็นผืนพรมขนาดใหญ่ 4 x 6 เมตร”

“พรมแต่ละผืนบรรจุข้อมูลทางประวัติศาสตร์ สังคม เอาไว้ในสีสันอันหนักแน่น และลวดลายอันหลากหลายที่แสดงถึงความหมายทางศาสนาอันลึกซึ้ง อันเป็นตัวแทนของความหวัง ความปรารถนา และจินตนาการถึงอนาคตที่ดีกว่าของชาวทิเบต”

“พรมที่ถูกตัดเป็นชิ้นเล็กๆ และนำมาต่อกันนี้ เป็นตัวแทนของศาสนาและวัฒนธรรมอันหลากหลายของทิเบตที่ถูกรัฐบาลจีนทำลายและเข้าควบคุมในช่วงยุคหลังปฏิวัติวัฒนธรรม และเป็นอุปมาถึงคนเล็กคนน้อยในสังคมที่ถูกอำนาจรัฐกดทับโดยไม่ไยดีต่อความแตกต่างของวิถีชีวิตและความเป็นอยู่อย่างที่เคยเป็นมาของพวกเขา”

ผลงานชุดสุดท้ายเป็นภาพข่าวที่ถูกตัดมาจากหนังสือพิมพ์ เดอะ เป่ยจิง นิวส์ ของจริง เอามาใส่กรอบแขวนไว้บนผนังในห้องแสดงงานด้านใน ซึ่งเป็นเหมือนการเก็บบันทึกข่าวต่างๆ ที่เป็นต้นแบบของภาพวาดเหล่านั้นเอาไว้

“มันเป็นข้อมูลข่าวสาร และสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว และข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นก็จำเป็นที่จะต้องถูกนำเสนอ ไม่ว่ามันจะถูกหรือผิด ผมไม่ใช่คนที่จะตัดสินมัน เพราะผมไม่ใช่คนที่มีอำนาจในการควบคุมสิ่งต่างๆ หน้าที่ของผมมีเพียงแค่กระตุ้นให้คนเสพข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นเกิดความสงสัยและตั้งคำถามกับมันเท่านั้นเอง”

อ้ายเหว่ยเห่วย ศิลปินจีนผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในยุคสมัยนี้ กล่าวถึงผลงานของศิลปินรุ่นน้องและอดีตผู้ร่วมงานผู้นี้ว่า

“หลังจากผ่านซากปรักหักพังของศิลปะร่วมสมัยของจีนที่เต็มไปด้วยความเสแสร้งจอมปลอม งานศิลปะในทุกวันนี้สามารถช่วยให้เราเผชิญหน้ากับโฉมหน้าของยุคสมัยนี้และความเป็นไปได้ที่แท้จริงของมัน ในที่สุด ปัจจุบันย่อมต้องกลายเป็นอดีตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อนั้น ความอัปยศและความเสื่อมถอยของยุคสมัยนี้ก็จะถูกจารึกอย่างซื่อตรงในฝีแปรงบนภาพวาดเหล่านี้ของเขา”

“สำหรับผม ไม่ว่าอย่างไร ศิลปะก็หลีกหนีจากการเมืองไม่ได้ ยังไงมันก็เกี่ยวกับการเมืองอยู่วันยังค่ำ ศิลปินควรจะเป็นกระบอกเสียงให้กับคนที่ไม่มีโอกาสในสังคม พวกเขาควรจะเป็นปากเสียงให้กับคนยากคนจน คนด้อยโอกาสที่รัฐไม่ใส่ใจไยดี สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของศิลปิน”

“คุณค่าของศิลปินปรากฏอยู่ในผลงานศิลปะ ชีวิต และทัศนคติของพวกเขา”

“ศิลปินที่ทำงานศิลปะโดยไร้ทัศนคติทางการเมือง หรือพยายามหลบเลี่ยงและปฏิเสธที่จะพูดถึงประเด็นทางการเมืองในงานของพวกเขา วันหนึ่ง เมื่อคนเหล่านั้นได้ส่องกระจกมองตัวเอง พวกเขาจะพบว่ามันเป็นงานที่อ่อนแอและไม่มีความจริงแท้อยู่ภายใน” – เซี่ย ซิง

 

นิทรรศการ XIA XING – Solo Exhibition คัดสรรโดยภัณฑารักษ์อิสระชาวจีนอย่าง ชุย ช่าน ช่าน (Cui Cancan) และจัดแสดงที่แกลเลอรี ถัง (Tang Contemporary Art) ชั้น 3 Golden Place Plaza ถ.ราชดำริ

ใครสนใจเข้าชมก็สอบถามข้อมูลได้ที่ 0-2652-2732, [email protected] หรือเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.tangcontemporary.com

ขอบคุณภาพจาก แกลเลอรี ถัง (Tang Contemporary Art)