ทัพฟิลิปปินส์วางแผนสู้จีน รอวันทะเลจีนใต้ ‘เดือด’

(Photo by JAM STA ROSA / AFP)

รามอน โรยันโดยัน ผู้สื่อข่าวของนิกเกอิ เอเชีย รายงานเอาไว้เมื่อ 8 พฤษภาคมนี้ว่า ฟิลิปปินส์ได้ตระหนักในที่สุดว่า ภัยที่คุกคามต่อตนมากที่สุด และปัจจุบันทันด่วนที่สุด เป็นภัยคุกคามทางทะเล ที่เกิดจากการแสดงตัวอย่างชัดเจนของกองทัพเรือจีนที่รักษาการอยู่ในทะเลจีนใต้

ปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นชัดเจนถึงความเป็นจริงนี้ เกิดขึ้นเมื่อ 30 เมษายนที่ผ่านมา เมื่อเรือ 2 ลำของฟิลิปปินส์ หนึ่งเป็นเรือจากสำนักงานทรัพยากรทางน้ำและการประมง อีกหนึ่งเป็นเรือของหน่วยลาดตระเวนชายฝั่ง (พีจีซี) ที่ทำหน้าที่เป็นเรือคุ้มกัน พร้อมผู้สื่อข่าวบนเรืออีกกว่าสิบราย ถูกกองเรือของจีนโจมตีด้วยปืนใหญ่น้ำ (water cannons) และพุ่งเข้าชน ระหว่างที่กำลังเดินทางไปยังแนวปะการัง สคาร์โบโรห์ จุดขัดแย้งสำคัญระหว่างฟิลิปปินส์กับจีน

เจย์ ทาร์รีลญา โฆษกของพีจีซี แถลงในเวลาต่อมาว่า เป้าหมายของการเดินทางดังกล่าวเป็นการนำส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและอาหารไปให้กับชาวประมงฟิลิปปินส์ที่พำนักอาศัยอยู่บนแนวปะการังดังกล่าว ซึ่งดำเนินไปจนบรรลุผลสำเร็จ

ทาร์รีลญาย้ำว่า วิธีการนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “ยุทธศาสตร์โปร่งใส” ที่พีจีซีริเริ่มมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2023 การเชื้อเชิญผู้สื่อข่าวไปด้วยก็เพื่อสร้างความตื่นรู้ให้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในน่านน้ำที่เป็นปมขัดแย้ง ซึ่งฟิลิปปินส์อ้างว่า เป็นพื้นที่ภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของตนเอง

 

นิกเกอิระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าว นำไปสู่การ “พลิกผันแนวทางในการป้องกันประเทศ” และ “การจัดลำดับความสำคัญ” ทางด้านกลาโหมโดยสิ้นเชิง ฟิลิปปินส์เริ่มปรับระดับความสำคัญของภัยคุกคามเสียใหม่ ลดนัยของภัยคุกคามภายใน อาทิ การก่อความไม่สงบของกองกำลังติดอาวุธนิยมคอมมิวนิสต์ และกลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่งอิงศาสนา แม้ว่าจะเผชิญกับการคุกคามร้ายแรงระดับการยึดเมืองมาราวี โดยกลุ่มกองกำลังติดอาวุธอิสลามในปี 2017 หรือการระบิดมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมินดาเนา เมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมาก็ตามที

แต่ในเวลาเดียวกัน รายงานของนิกเกอิระบุว่า ฟิลิปปินส์เผชิญกับภัยคุกคามทางทะเลหนักหน่วงและรุนแรงมากขึ้นทุกที เมื่อปี 2023 เรือยามฝั่งของฟิลิปปินส์เผชิญหน้ากับกองเรือของจีนถึง 10 ครั้งด้วยกัน ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2024 นี้ การเผชิญหน้าก็ยังเกิดขึ้นถึง 3 ครั้ง 3 ครา ในขณะที่ประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ มาร์คอส จูเนียร์ นำประเทศเอนเอียงเข้าใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกามากยิ่งขึ้น

นำมาสู่การประกาศ “แนวคิดป้องกันหมู่เกาะอย่างทั่วถึง” (ซีเอดีซี) เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ดินโด แมนฮิต ประธานองค์กรวิชาการอิสระ “สถาบัน สแตรตเบส เอดีอาร์” ระบุว่า ซีเอดีซีของฟิลิปปินส์ สอดคล้องกับนโยบายต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงใหม่ของรัฐบาลฟิลิปปินส์ในชุดปัจจุบัน ที่ยึดถือเอา “ทะเลตะวันตก” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทะเลจีนใต้ เป็นผลประโยชน์ที่เป็นแกนหลักของประเทศ

“ยุทธศาสตร์ใหม่นี้ จะอำนวยให้ฟิลิปปินส์สามารถปกป้องอธิปไตยของประเทศ บูรณภาพแห่งดินแดน และสิทธิประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศเอาไว้ได้” แมนฮิตระบุ

 

ฮูลิโอ อามาดอร์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยอามาดอร์ในฟิลิปปินส์ ระบุว่า ซีเอดีซีเป็น “ความจำเป็น” สำหรับฟิลิปปินส์ ทั้งในแง่ของการ “ป้องปรามจีนไม่ให้ก่อความตึงเครียดให้ลุกลามออกไป” และ “ป้องกันไม่ให้จีนครอบงำทะเลจีนใต้โดยสมบูรณ์แบบได้”

พล.อ.โรเมโอ บราวเนอร์ ผู้บัญชาการกองทัพฟิลิปปินส์ เปิดเผยไว้ก่อนหน้านี้ว่า ซีเอดีซีกำลังอยู่ใน “ระยะที่ 3” อันเป็นระยะที่มุ่งเน้นในการ “ครอบครองเรือรบให้มากขึ้น มีเครื่องบินรบมากขึ้น รวมทั้งเรดาร์” เพื่อกิจการทหารเพิ่มเติม

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนธันวาคม ฟิลปปินส์เสริมสร้างสมรรถนะทางทหารของตนด้วยระบบเรดาร์ชุดใหม่จากญี่ปุ่นติดตั้งไว้ที่ฐานทัพอากาศซึ่งรับผิดชอบในการดูแลน่านน้ำทะเลตะวันตกของตนเอง ต่อมาในเดือนเมษายนปีนี้ก็มีรายงานว่า ระบบจรวดต่อต้านเรือรบชุดใหม่ที่พัฒนาโดยบริษัทร่วมทุนอินเดีย-รัสเซีย ชุดแรกก็เดินทางมาถึง

เท่านั้นยังไม่พอ ผู้สันทัดกรณีเชื่อว่า ฟิลิปปินส์จำเป็นต้องแสวงหา “ทางลัด” เพื่อให้ได้ครอบครองยุทโธปกรณ์ที่จำเป็นอื่นๆ อีกต่อไป

เพราะซีเอดีซี “มีนัยสำคัญอย่างยิ่งทั้งในแง่การเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม และภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน”

การเปลี่ยนแปลงท่าทีครั้งใหญ่ของฟิลิปปินส์นี้ สะท้อนข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติที่ว่า สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ยามนี้ ได้เขม็งเกลียวถึงจุดรอวันระเบิดกลายเป็นศึกใหญ่แล้ว