ประชา สุวีรานนท์ :  ‘ธนบุรี’ ตัวมีหัว/ไม่มีหัว (จบ)

ตอน 1

 

ในปี พ.ศ.2540 มีการจัด “ทำเนียบตัวพิมพ์ไทย” โดย NECTEC ซึ่งประกาศชัดเจนว่าหัวเป็นลักษณะสำคัญถึงขั้นเป็นหัวใจของอักษรไทย

ทำเนียบนี้แบ่งตัวพิมพ์ราวร้อยห้าสิบแบบออกเป็นสามกลุ่มคือ ตัวหัวโปร่ง, ตัวหัวบอด และตัวมีหัวซ่อนเร้น และแบ่งหัวโปร่งออกเป็นสี่กลุ่มคือ กลม รี เหลี่ยม และอื่นๆ นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มย่อยต่างๆ เช่น ตัวประดิษฐ์

ในด้านหนึ่ง นับว่าก้าวหน้า นั่นคือเลิกใช้คำว่าไม่มีหัว หันมาใช้คำว่า “หัวบอด” และ “หัวซ่อนเร้น” ซึ่งเท่ากับยอมรับว่าอักษรไทย ไม่ว่าตัวไหนก็มีหัว เพียงแต่ว่าจะถูกลดทอนหรือซ่อนเร้นเอาไว้เท่านั้น

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ยังเดินตามระบบของราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งใช้หัวโปร่งเป็นตัวกำหนด และกำหนดขึ้นก่อนหน้านั้น ระบบดังกล่าวเน้นคุณสมบัติเชิงประโยชน์ใช้สอยมากกว่ารูปร่างหน้าตา

ปัญหาที่เห็นได้ชัดคือ ไม่มีความสมดุลของแต่ละกลุ่ม

เช่น ตัวหัวโปร่งและตัวมีหัวซ่อนเร้นมีฟอนต์กลุ่มละเกือบร้อย

แต่ตัวหัวบอด ทั้งๆ ที่มีชื่อกลุ่มเตรียมไว้ให้ถึง 20 กลุ่ม แต่มีจำนวนเพียง 6 ฟอนต์ แต่ตัวหัวซ่อนเร้น ทั้งๆ ที่มีแค่ 6 กลุ่ม แต่มีจำนวนถึง 62 ฟอนต์

อีกปัญหาหนึ่งคือ เป็นระบบที่ไม่พร้อมสำหรับตัวพิมพ์ที่จะเกิดขึ้นในเวลาต่อมา เช่น ตัวดิจิตอล ซึ่งอาจจะต้องถูกแยกออกจากตัวหัวโปร่งกับหัวบอด

พูดอีกอย่าง เมื่อตัวพิมพ์แบบหัวซ่อนเร้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ การจัดกลุ่มโดยมีหัวเป็นเกณฑ์ก็จะยากขึ้นทุกที

ตามหลักแล้วไม่มีระบบไหนผิด แต่ผลก็คือไม่มีใครยอมใช้ระบบนี้สักเท่าไร

 

ประเด็นนี้ถูกพิสูจน์อีกครั้ง เมื่อผู้จัดจำหน่ายไอโฟนเปลี่ยนจากธนบุรี ไปใช้ตัวพิมพ์ชื่อ สุขุมวิท ตัดใหม่ ซึ่งเป็นตัวไม่มีหัว ในปี พ.ศ.2556

ในแง่ประวัติ ต้นแบบของ สุขุมวิท ตัดใหม่ คือ เอสเอ็มบี แอดวานซ์ ของบริษัท เอไอเอส ซึ่งเป็นผลงานของเอเยนซี่ชื่อ เอสซีแมทบอกซ์ และบริษัทออกแบบตัวพิมพ์ชื่อ คัดสรร ดีมาก จุดมุ่งหมายหนึ่งคือเพื่อใช้กับ Frutiger ของ เอเดรียน ฟรูติเกอร์ ซึ่งในเวลาต่อมา คัดสรร ดีมาก ได้ยึดความสูงและสัดส่วนของฟอนต์นี้เป็นมาตรฐานของตน

เมื่อปรับปรุงมาเป็น สุขุมวิท ตัดใหม่ และใช้กับไอโฟน ผลก็คือ หลังจากออกมาได้เพียงไม่กี่เดือนก็มีเสียงบ่นว่าอ่านยาก แอปเปิ้ลจึงเลิกใช้ และกลับไปหาตัวมีหัวคือธนบุรีตามเดิม

หนึ่งในคณะผู้ออกแบบได้เล่าถึงกรณีนี้ (ทศวรรษที่สองของสุขุมวิท-สุขุมวิท ตัดใหม่ โดย ภาณุวัฒน์ อู้สกุลวัฒนา) ว่าตัวพิมพ์ใหม่ถูกต่อต้านโดยกลุ่มผู้ใช้ที่ไม่ชอบ ซึ่งบอกว่าอ่านยากเพราะเป็นตัวไม่มีหัว ทั้งๆ ที่มีข้อดีหลายประการ เช่น แตกต่างจากฟอนต์ไทยตัวอื่น เข้ากับ Helvetica Neue ฟอนต์หลักของไอโฟนได้ดี และด้วยเทคนิคการออกแบบอีกมากมาย

บทความนั้นสรุปว่าเพราะคนส่วนมากยังไม่ยอมรับความทันสมัยของตัวพิมพ์ของเขา เพราะยังมี “ขีดจำกัดของความสามารถในการอ่านแบบตัวอักษร”

และตั้งความหวังว่าสุขุมวิท ตัดใหม่จะเป็น “จุดเริ่มต้นในการพัฒนาพฤติกรรมการอ่านจากแบบตัวอักษรที่ไม่มีหัวต่อไปในอนาคต”

 

อันที่จริง มีหัว/ไม่มีหัว เป็นคุณสมบัติที่ดีของตัวพิมพ์ซึ่งน่าจะมีการค้นคว้ามากขึ้น

และถ้าไม่กล่าวหากันรุนแรงถึงขั้น “เป็นไทย/ไม่เป็นไทย”

ข้อสรุปของกรณีนี้น่าจะเป็น : ตัวไม่มีหัวเหมาะสำหรับคนบางกลุ่ม และตัวมีหัวเหมาะสำหรับคนส่วนมาก

แต่พ้นไปจากนั้น การเลือกตัวพิมพ์ยังมีปัจจัยอีกมากมาย ที่สำคัญอีกอันคือ ต้องสามารถสร้าง trust หรือ “ความน่าเชื่อ” ได้ด้วย ยิ่งมีเสียงวิจารณ์เรื่อง Post-Truth หรือการปล่อยข่าวปลอมในสื่อสังคม ก็ยิ่งชี้ว่าทุกวันนี้ สิ่งนี้จะสำคัญกว่าความน่าอ่าน ไม่ว่าจะเพื่อการสร้างภาพลักษณ์หรือเนื้อหา

ว่ากันว่า ในบรรดาตัวพิมพ์โรมัน Baskerville เป็นตัวที่น่าเชื่อมากที่สุด พูดอีกอย่าง ถ้าจะทำให้ผู้อ่านคล้อยตาม เรียงด้วยตัวนี้อาจจะมีชัยไปกว่าครึ่ง และฐานะนี้เดิมก็เป็นเพียงความเชื่อ ต่อมาจึงมีการพิสูจน์อย่างจริงจัง

ในแง่ประวัติ Baskerville ผลงานของ จอห์น บาสเกอร์วิลล์ เป็นที่รู้จักกันทั่วไปเพราะใช้กันมาก และเป็นดีฟอลต์ฟอนต์ของระบบในอุปกรณ์สื่อสารหลายยี่ห้อ

กำเนิดในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งยังเชื่อกันว่าจะพิมพ์ให้ดีต้องกดให้หนักหน่อย ตัวที่ช่างพิมพ์นิยมใช้ในยุคนั้น จึงเป็น Caslon ซึ่งมีเส้นนอนกับตั้งที่หนาแตกต่างกันมากและเหมาะแก่การรองรับแรงกดอย่างหนัก

แต่บาสเกอร์วิลล์ถือว่าการพิมพ์เจริญมากแล้ว ตัวพิมพ์ไม่จำเป็นต้องหนาอีกต่อไป เขาจึงออกแบบตัวพิมพ์ใหม่ ที่มีเส้นนอนกับตั้งหนา-กว่ากันมากขึ้น ตัวเล็กลง หางยาวขึ้น และมีช่องว่างระหว่างบรรทัดมากขึ้น

แน่นอน ของใหม่ยังไม่เป็นที่ยอมรับ เมื่อออกมา หลายคนบ่นมากว่าอ่านยาก บางคนถึงกับบอกว่าอ่านยากหรือ “ถ้าอ่านมากเกินไป จะทำให้ตาบอด” ซึ่งก็เกินจริงไปมาก เมื่อเวลาผ่านไป ผู้อ่านก็คุ้นเคยกับตัวนี้ ตัวพิมพ์บรรลุทั้งความอ่านง่ายและน่าอ่าน

Baskerville เป็นที่นิยมกันมาก ความพยายามของบาสเกอร์วิลล์ถือเป็นการมุ่งไปสู่ความทันสมัย และทำให้ตัวพิมพ์ก้าวเข้าสู่ยุคโมเดิร์นเป็นครั้งแรก

จจจจ

ในปี พ.ศ.2552 แอร์รอล มอริส นักเขียนของ The New York Times ฉบับออนไลน์ ได้พิสูจน์เรื่องความน่าเชื่อถือของตัวพิมพ์ เขาโพสต์ข้อเขียนชิ้นหนึ่ง ที่มาจากหนังสือของ David Deutch ชื่อ The Beginning of Infinity และเป็นเรื่องของภัยร้ายในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่อุบัติเหตุบนถนน ไปจนถึงดาวหางชนโลก

เมื่ออ่านแล้ว มอริสจะให้ทำแบบสอบถาม โดยบอกว่าเพื่อค้นหาว่าผู้อ่านมีทัศนะอย่างไร? มองโลกในแง่ร้ายหรือแง่ดี?

แต่จริงๆ แล้ว การทดลองไม่เกี่ยวกับเนื้อหาของบทความหรือทัศนะดังกล่าวเลย สิ่งที่เขาต้องการคืออยากรู้ว่า ผู้อ่านจะเชื่อบทความนั้นหรือไม่ เมื่อเรียงด้วยตัวพิมพ์ต่างกัน

ในบล็อกนี้ ตัวพิมพ์ที่ใช้จะเปลี่ยนอย่างสุ่มๆ หรือ random และทำให้คนที่อ่าน บทความและทำแบบสอบถามนี้ ไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกทดลอง

การจะทำอย่างนี้ได้ เขาต้องเขียนโปรแกรมที่สามารถเปลี่ยนฟอนต์แบบต่างๆ คือ Georgia, Helvetica, Comic Sans, Trebuchet และ Baskerville ขึ้นเป็นการเฉพาะ

ข้อสรุปคือ ผู้อ่านจะรู้สึกว่าบทความจะดูน่าเชื่อถือมากขึ้นเมื่อเรียงด้วย Baskerville

แน่นอน มีคำถามมากมายว่าแบบสอบถามน่าเชื่อ?

ตัวพิมพ์มีอาญาสิทธิ์ขนาดนั้น?

และประเด็นนี้ก็อาจจะเกินเลยเรื่องการอ่านไปแล้ว?

แต่ถ้ามองในแง่หนึ่ง ก็ต้องถือเป็นการทดลองที่เสนอว่า ง่ายหรือยากอาจจะไม่สำคัญเท่ากับว่าอ่านแล้ว “น่าเชื่อ” หรือไม่

ซึ่งน่าจะเป็นประเด็นสำคัญของการใช้ตัวพิมพ์ทั่วไปในโลกยุคปัจจุบัน