ประชา สุวีรานนท์ : ‘ธนบุรี’ ตัวมีหัว/ไม่มีหัว (1)

ตัวพิมพ์ในสื่อออนไลน์ ทั้งในคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์อื่นๆ อีกมากมาย เป็น default font ของระบบปฏิบัติการต่างๆ เช่น Droid Sans หรือ Tahoma เป็นของ Android ส่วน Thonburi หรือ “ธนบุรี” เป็นของ iOS เวอร์ชั่น 7

ในฐานะตัวมีหัว ธนบุรีซึ่งเป็นดีฟอลต์ของไอโฟนมาตั้งแต่เมื่อออกมาครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน มีความสำคัญเพราะเกี่ยวข้องกับความเชื่อที่ว่า ตัวมีหัวอ่านง่ายกว่าตัวไม่มีหัว

ในปี พ.ศ.2557 เกิดกรณีอื้อฉาวเล็กๆ ขึ้นในวงการ เมื่อผู้จัดจำหน่ายไอโฟนเปลี่ยนไปใช้ตัวพิมพ์ชื่อ สุขุมวิท ตัดใหม่ ซึ่งเป็นตัวไม่มีหัว โดยให้เหตุผลว่าน่าอ่านกว่าและบอกความทันสมัยได้มากกว่า แต่หลังจากออกมาได้เพียงไม่กี่เดือน ก็มีเสียงบ่นมากมายว่าอ่านยาก บริษัทจึงเลิกใช้ และกลับไปหาตัวมีหัวตามเดิม

การกลับมาใช้ธนบุรีพิสูจน์ว่าตัวมีหัวนั้น จะถูกมองว่าเหมาะกับการอ่านไปอีกนาน และที่เรียกว่ากรณีอื้อฉาว ก็เพราะไปกระทบหลักการสำคัญของการออกแบบตัวพิมพ์ นั่นคือการอ่านง่าย และชี้ว่า การอ่านง่าย (legibility ) สำคัญกว่าความน่าอ่าน (readability)

ธนบุรีมีกำเนิดคู่มากับแอปเปิ้ล ผู้ออกแบบคือ คุณมานพ ศรีสมพร นักออกแบบตัวอักษรชั้นครู ผู้ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลนักออกแบบเกียรติยศ สาขาการออกแบบกราฟิก จากโครงการนักออกแบบแห่งปี 2556 จัดโดย มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และสมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย

มานพได้ออกแบบ “ตัวขูด” หรืออักษรลอก (dry transfer letter) ไว้เป็นจำนวนมาก และนับได้ว่าเป็นนักออกแบบคนเดียวที่มีผลงานต่อเนื่องกันหลายยุค ตั้งแต่ ยุคตัวตะกั่ว ตัวขูด ตัวคอมพิวต์ มาถึงตัวดิจิตอล อีกทั้งมีโอกาสร่วมงานกับบริษัทตัวพิมพ์ที่สำคัญๆ หลายบริษัท

มานพเคยเล่าว่าการใช้คอมพิวเตอร์นั้น เริ่มจากความสนใจส่วนตัว นั่นคือ ไปขอซื้อเครื่องที่สหวิริยา โอ.เอ. ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายแมคอินทอชของแอปเปิ้ลในสมัยนั้น มาหัดใช้ด้วยตนเอง

เมื่อบริษัททราบเรื่องจึงขอให้เขาช่วยสร้างตัวพิมพ์ใหม่ มานพได้ทดลองออกแบบตัวพิมพ์ด้วย FontoGra-pher 2.4

บริษัทสหวิริยา โอ.เอ. ได้บุกเบิกการสร้างตัวพิมพ์แบบดิจิตอลชุดแรกๆ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จมาก เพราะไม่สวยงามนัก

ต่อมาจึงสร้าง ธนบุรี (รวมทั้งตัวอื่นๆ ของมานพ เช่น มานพแมค เพชรรัตน์ คลองลาน) ซึ่งใช้ชื่อนี้มาตั้งแต่เป็นดีฟอลต์ของแมคคินทอช และทำให้สินค้าของแอปเปิ้ลเป็นที่นิยมมาก และเมื่อไอโฟนรุ่นแรกออกมา ธนบุรีก็ถูกปรับปรุงจนกลายเป็นดังที่เห็นกันทุกวันนี้

ธนบุรีมีส่วนคล้ายตัวขูดชื่อ มานพ2 ซึ่งมีจุดเด่นคือมีรูปทรงกว้าง เส้นนอนตรง และมีความคมหรือการหักเลี้ยวของเส้นเป็นมุมฉาก ความคล้ายคลึงนี้จะเห็นได้แม้ย่อตัวเล็กลง ที่มาซึ่งเก่ากว่านั้น คือ ฝรั่งเศสดำ ซึ่งสันนิษฐานว่าปรับปรุงมาจากฝรั่งเศสหนา และทำขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีขนาดใหญ่ไม่เกิน 32 พอยต์ ฝรั่งเศสดำจึงถูกใช้เป็นตัวเน้นมากกว่าพาดหัว

ในขณะเดียวกัน ก็คล้ายกับตัวดิจิตอลที่ชื่อ Brawalia Bold ซึ่งเคยทำหน้าที่คล้ายตัวหนาของ “กลาง” และ “บาง” หรือโมโนไทป์ของไทยวัฒนาพานิช

อย่างไรก็ตาม แม้จะเล่นกับมุมมนและความโค้งมนของเส้น ตัวนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นในยุคเดียวกัน และบางตัวเช่น ข ไข่ บ ใบไม้ ยังมีเส้นกิ่งและหักมุมเป็นมุมมน และ จ จาน มีสองขา ซึ่งเป็นสไตล์ที่ต่างกับโมโนไทป์

 

เป็นที่ยอมรับกันว่าในอักษรไทย หัวมีบทบาทมาก เป็นทั้งจุดกำเนิดการเขียนและตัวบ่งชี้ของอักษรหลายตัว การดัดแปลงหัว เช่น หันหัวเข้าหรือออก อาจจะทำให้อักษรเปลี่ยนเป็นคนละตัวทีเดียว เช่น ก กับ ถ และ พ กับ ผ

นอกจากนั้น อาจจะเพราะต้องการจะแบ่งกลุ่มอักษรคล้ายตัวโรมัน ซึ่งแบ่งได้เป็น serif กับ sans serif (มีเส้นกิ่ง กับไม่มีเส้นกิ่ง) แต่เส้นกิ่งของตัวโรมันมีไว้เพียงเพื่อการตกแต่ง ไม่ได้เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ในขณะที่หัวของตัวไทย มีบทบาทมากกว่านั้น

ดังนั้น การที่อักษรไทยจะไม่มีหัวจึงเป็นไปไม่ได้ แต่การเรียกตัวพิมพ์กลุ่มหนึ่งว่าตัวไม่มีหัว จะนำไปสู่ความเข้าใจผิดในระยะยาว

ในปี พ.ศ. 2515 ศาสตราจารย์กำธร สถิรกุล ผู้อำนวยการโรงพิมพ์คุรุสภา เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่าอักษรไทยเพิ่งจะมีหัวในสมัยอยุธยา ก่อนหน้านั้น อักษรที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักต่างๆ ของสมัยสุโขทัย หัวจะงอหรือเป็นเส้นหยัก ส่วนลายมือสมัยอยุธยาก็ไม่เคร่งครัดในเรื่องนี้

ข้อเขียนของคุณกำธรบอกว่า หัวอาจจะกลม งอ หรือเป็นจุดทึบก็ได้ และถ้าดูลายมือของคนทั่วไป จะพบว่า หัวมีหลายแบบแตกต่างกันไปแล้วแต่บุคคล ซึ่งเป็นการมองหัวอักษรและความเป็นไทยอย่างเปิดกว้าง

การเอาหัวมาเป็นเกณฑ์เกิดขึ้นอย่างหลวมๆ ตั้งแต่สมัยที่ตัวไม่มีหัวเฟื่องขึ้นในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง และใช้ในเชิงประโยชน์ใช้สอย นั่นคือ แบ่งตัวพิมพ์เป็นกลุ่มตัวพื้นกับตัวพาดหัว การเรียกแบบนี้จะนำไปสู่ความเข้าใจผิด เพราะต่อมา พูดกันจนติดปากว่าตัวพิมพ์ไทยมีสองกลุ่มคือตัว “มีหัว” กับ “ไม่มีหัว”

คำว่า “ไม่มีหัว” กลายเป็นวิธีกีดกันตัวพิมพ์กลุ่มนี้ออกไปจากสาระบบของความเป็นไทย และความอ่านง่าย/ยาก ซึ่งเคยเป็นเรื่องของสไตล์และความคุ้นเคย ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องของชาตินิยม

ในช่วงเดียวกัน อันเป็นยุคอักษรลอก ซึ่งมีการเบ่งบานอีกครั้งของตัวไม่มีหัว หรืออักษรไทยที่มีลักษณะคล้ายตัวโรมัน ตัวขูดเป็นที่นิยมใช้ ปรากฏการณ์นี้นำไปสู่การเข้าใจในหมู่คนจำนวนหนึ่งว่าตัวไทยกำลังถูก romanized จึงเกิดความวิตกกังวลมาก