ธงทอง จันทรางศุ | เว็บไซต์ของทางราชการ

ธงทอง จันทรางศุ

ในโลกที่เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างทุกวันนี้ การที่หน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐหรือภาคเอกชนจะมีเว็บไซต์เป็นของตนเองเป็นเรื่องปกติธรรมดาเหลือเกิน การเข้าไปค้นคว้าหาความรู้ทำได้ง่ายเพียงแค่ปลายนิ้วโดยไม่ต้องเดินทางขยับเขยื้อนไปข้างไหน ไม่ต้องดูอื่นไกลครับ กล่าวถึงแต่เฉพาะเว็บไซต์ของเมืองไทยเราเอง ผมก็นับประมาณไม่ถูกแล้วว่าจะมีสักกี่เว็บไซด์กันแน่

เมื่อไม่กี่วันมานี้ผมไปประชุมร่วมกันกับหน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่ง เราพูดกันถึงเรื่องเว็บไซต์ของสำนักงานแห่งนั้น ซึ่งเวลานี้ใครต่อใครต่างถือกันว่าเป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์สื่อสารองค์กรให้ประชาชนได้เข้าถึงหน่วยงานของเราอย่างกว้างขวางทั่วถึง และประหยัดค่าใช้จ่ายที่สุด

ผมได้กล่าวกับที่ประชุมอย่างตรงไปตรงมาว่า เว็บไซต์ของสำนักงานแล้วแสนจะเป็นราชการ เป็นขุนน้ำขุนนางเต็มที่ ขึ้นต้นตั้งแต่หน้าจอมาก็เป็นแบบมาตรฐานดั้งเดิมเมื่อเริ่มมีเว็บไซต์เกิดขึ้นในโลก กล่าวอย่างง่ายๆคือหนักแน่นไปด้วยข้อมูลที่ลานตา โดยจับประเด็นไม่ได้ว่าสิ่งใดสำคัญสิ่งใดไม่สำคัญ เมื่อพูดถึงภาพกิจกรรมของหน่วยงาน เราก็จะได้ชมภาพของผู้หลักผู้ใหญ่หน่วยงานนั้นในพิธีการต่างๆ เช่นไปลงนามเซ็นสัญญากับคนโน้นคนนี้ ไปตัดริบบิ้นเปิดแพรคลุมป้ายอะไรทำนองนั้น

พูดถึงเปิดแพรคลุมป้ายแล้ว สำหรับคนรุ่นผมย่อมนึกถึงหม่อมกอบแก้ว อาภากร ณ อยุธยาขึ้นมาเลยทีเดียว สมัยโน้นท่านเป็นมืออาชีพในเรื่องตัดริบบิ้นเปิดงานจริงๆ

โลกก้าวไกลจากวันนั้นมาจนถึงวันนี้ก็หลายสิบปีแล้ว ภาพประชาสัมพันธ์มาตรฐานในเว็บไซต์ของหน่วยงานเราก็ยังเป็นรูปกิจกรรมแบบเดียวกับที่หม่อมกอบแก้วท่านทำนั่นเอง

ผมนึกว่าการนำเสนอกิจกรรมเหล่านั้นน่าจะทำได้หลายรูปแบบ เช่น ไปสัมภาษณ์คนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับงานนั้นในแง่มุมต่างๆ ว่าเขาได้รับผลกระทบหรือได้รับประโยชน์อย่างไรจากงานของเรา เขาชอบหรือไม่ชอบงานของเราไหม เบื้องหน้าเบื้องหลังของกิจกรรมมีอะไรที่ควรรู้บ้าง เรื่องราวทั้งหมดนี้อาจนำเสนอด้วยภาพนิ่ง บทความสั้นยาว ภาพเคลื่อนไหว หรือแม้แต่สิ่งที่คนสมัยนี้เรียกว่าอินโฟกราฟฟิก

มีเทคนิคอีกหลายหลากแพรวพราวที่คนสมัยนี้ชอบดูและติดตามชม นอกจากภาพถ่ายคนยืนเข้าแถวห้าคนและอายุรวมกันได้ 300 ปี ฮา!

ผมคนเดียวก็เข้าไป 60 กว่าปีแล้ว

ผมพูดอย่างนี้กับที่ประชุมจบความแล้ว ดูเหมือนว่าสมาชิกในที่ประชุมหลายท่านจะอึ้งกิมกี่ไปตามๆกัน ก็ฝากไว้ให้คิดน่ะครับ ผมเป็นคนปากร้ายใจดีนะ

ประโยคสำคัญที่เราต้องคิดอยู่เสมอก็คือ เราอยากจะบอกอะไรกับคนดูคนอ่าน ขณะเดียวกันคนดูคนอ่านเขาอยากรู้อะไร สองข้อนี้ไม่ใช่เรื่องเดียวกันแน่ และถ้าจะต้องเลือกว่าข้อใดสำคัญกว่า ผมเห็นว่าข้อที่สองคือคนดูคนอ่านอยากรู้อะไรน่าจะถือเป็นประเด็นที่มาก่อนข้อแรก

ถ้าเราเก่งพอ คิดให้มาก ทำให้พอเหมาะ เราจะสามารถให้ข้อแรกกับข้อที่สองอยู่ร่วมกันได้แบบเนียนๆ แต่ถ้าเราทำแบบดั้งเดิม เราคงมีความสุขแต่เพียงว่าเว็บไซต์ของเราได้ลงข้อมูลเกี่ยวกับผู้บริหารครบถ้วนแล้ว ผู้บริหารก็มีความสุขที่มีรูปของตนปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของสำนักงาน แต่ก็ดูกันเองอยู่แค่นั้นนะครับ ชาวบ้านร้านตลาดไม่เกี่ยวข้อง

ผมนำประเด็นเหล่านี้มาพูดคุยกับผู้คุ้นเคยอีกสองสามคน คุยแล้วก็ต้องหัวเราะกันครึกครื้น เพราะเว็บไซต์ของกระทรวงทบวงกรมต่างๆนั้น ขาดไม่ได้เลยที่จะต้องมีรูปผู้บริหาร ไล่เรียงตั้งแต่รัฐมนตรีลงมาจนถึงผู้อำนวยการกองผู้อำนวยการสำนัก ขาดรูปคนใดคนหนึ่งไป ย่อมถือเป็นอนันตริยกรรมของหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดแน่

ถ้ามีเวลาว่างลองเข้าไปดูเว็บไซต์ของกระทรวงทบวงกรมต่างประเทศดูบ้างสิครับ ผมพบว่าเขาเน้นเรื่องบริการที่จัดให้กับประชาชน การเข้าถึงเว็บไซต์ก็ไม่ซับซ้อน ไม่ต้องคลิกสิบทีจึงจะไปถึงเนื้อหาที่ต้องการ เราต้องไม่ลืมว่างานราชการทั้งหมดมีขึ้นเพื่อประโยชน์ของประชาชน เพราะฉะนั้นคนทำเว็บไซต์ต้องอย่าลืมสมมุติตัวเองว่าเป็นประชาชนผู้ใช้บริการของกระทรวงทบวงกรมดูบ้าง แล้วจะพบว่าประชาชนอยากได้อะไร

นอกจากเว็บไซต์ที่เปิดสาธารณะให้ประชาชนเข้าถึงแล้ว ยังมีระบบเทคโนโลยีสื่อสารภายในองค์กรที่เรียกว่าอินทราเน็ต เป็นเรื่องที่ใช้ภายในองค์กรด้วยกันเอง เราคุยกันว่าข้อมูลหลายอย่างที่เป็นกิจกรรมของผู้บริหาร อย่างเก่งที่สุดก็น่าจะอยู่บนอินทราเน็ตของสำนักงานไม่ใช่ไปอยู่บนเว็บไซต์ เพราะจะทำให้รุงรังเสียเปล่าๆ

ถ้าเรารู้จักใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ให้เหมาะสมแล้ว ผมคิดว่าหน่วยงานราชการยังมีโอกาสที่จะสื่อสารกับประชาชนได้อีกมาก ยกตัวอย่างเช่น YouTube ซึ่งเป็นภาพเคลื่อนไหว มีเสียงประกอบ ของอย่างนี้ย่อมดีกว่าภาพนิ่งเป็นแน่ แต่นั่นแหละครับ เพราะเราจะทำคลิปของหน่วยงานขึ้นไปแปะไว้บน YouTube งานของเราก็ต้องเป็นงานที่ได้มาตรฐานของคนดูยุคปัจจุบัน ไม่ใช่ภาพชายชราที่เป็นอธิบดีมานั่งพูดพึมพำอยู่ 15 นาทีแล้วก็จบตอน เทคนิคการถ่ายทำนั้น แม้ไม่ถึงขนาดจะส่งเข้าประกวดชิงรางวัลตุ๊กตาทองแต่ก็ไม่ควรละเลยมองข้ามไปโดยสิ้นเชิง

AFP PHOTO / NICOLAS ASFOURI

มีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยนะครับว่า จากสถิติที่เขาสำรวจกันมา พบว่ารายการบน YouTubeที่จะมีคนติดตามสม่ำเสมอและเป็นจำนวนมากพอสมควร ต้องเป็นรายการที่มีความถี่จนกระทั่งผู้คนสามารถจับกระแสได้ว่าของใหม่จะมาเมื่อไหร่ ไม่ใช่ว่าทำคลิปขึ้นครั้งหนึ่งแล้วไปปล่อยบน YouTube อีกหกเดือนก็ทำคลิปที่สอง อีกแปดเดือนทำคลิปที่สาม แบบนี้เห็นจะหาแฟนคลับติดตามรายการได้ยาก ว่ากันว่าอย่างน้อยประมาณสัปดาห์ละครั้งก็ยังดีครับ

พูดมาถึงตรงนี้ทำให้ผมนึกขึ้นมาได้ว่า ผมร่วมทำงานกับพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวผิดตรงเชิงสะพานผ่านฟ้ามาช้านานหลายปีแล้ว เราบ่นพึมพำกันเองว่าพิพิธภัณฑ์ของเราตั้งอยู่ในที่เดินทางเข้าถึงได้ยาก ถ้าคนดูมาไม่ถึงเรา เราก็ต้องยกมิวเซียมของเราไปให้ถึงคนดูให้จงได้ นอกจากโครงการที่ยกกองทัพไปจัดแสดงนิทรรศการสัญจรตามต่างจังหวัดแล้ว บางทีการคิดทำอะไรอยู่บน YouTube หรือบนเว็บไซต์ก็อาจจะเป็นคำตอบที่ช่วยแก้ปัญหาของเราได้เหมือนกัน

ที่พูดมาทั้งหมดนี้ ผมไม่มีปัญญาทำหรอกนะครับ ได้แต่พูด แล้วหวังว่าคนอื่นจะไปคิดต่อทำต่อได้

การละเลงขนมเบื้องด้วยปากนี้เป็นศิลปะชั้นสูงของผมคนเดียว ถนัดนักเชียวล่ะครับ