เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์ /ชีวิต…เราต้องสร้าง

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

ชีวิต…เราต้องสร้าง

 

เครื่องเคียงข้างจอฉบับนี้ ขอนำเอา 3 เรื่องมาเขียนถึง

เป็น 3 เรื่องที่มีพื้นที่ทับซ้อนกันอยู่ และก็มีแง่มุมที่แตกต่างกัน

ผมได้มีโอกาสไปชมภาพยนตร์ “โปรเม อัจฉริยะต้องสร้าง” แล้วก็ได้อ่านคอลัมน์ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ ของหนุ่มเมืองจันท์ เพราะอ่านทุกฉบับอยู่แล้ว รวมทั้งได้ย้อนดูคลิปหนึ่งของ “เจาะใจ” ที่เผยแพร่ในเฟซบุ๊กของรายการ เป็นช่วงคอลัมนิสต์ ที่มีโหน่ง วงศ์ทนง มาออก และได้พูดถึงเรื่อง “ชีวิตเริ่มต้นเมื่ออายุ 40”

3 เรื่องนี้เกี่ยวพันกันอย่างไรบ้าง

 

ใครที่ได้ดูหนัง “โปรเม อัจฉริยะต้องสร้าง” หรือไม่ได้ดูคงพอนึกออกนะครับว่า เป็นเรื่องที่ทำมาจากส่วนหนึ่งในชีวิตจริงของ เม-เอรียา จุฑานุกาล นักกอล์ฟมือหนึ่งของโลก

ในหนังชี้ให้เห็นถึงการเดินทางกว่าจะคว้าแชมป์แรกในระดับ LPGA Tour ได้สำเร็จในปี 2559 เมต้องเผชิญกับอะไรบ้าง โดยมีสิ่งหนึ่งที่ไม่อยากเผชิญแต่ก็หนีไม่พ้นคือ “พ่อ” ของเธอนั่นเอง

พ่อของเม อารียา และโม โมรียา ที่เป็นพี่สาว มีความตั้งใจอย่างเต็มเปี่ยมที่ชัดเจนว่าจะสร้างให้ลูกเป็นนักกอล์ฟระดับโลกให้ได้ และนั่นคือความตั้งใจของพ่อที่ไม่เคยถามลูกว่าต้องการด้วยหรือเปล่า

แต่ด้วยความสัมพันธ์แบบพ่อและลูก ลูกไม่อาจหนีได้ จำต้องทำตามอย่างเคร่งครัด การฝึกอย่างหนักมีมาตั้งแต่ 2 คนพี่น้องอายุ 8-9 ขวบ ชีวิตของเด็กแบบคนอื่นเขาจึงไม่มี ทุกนาทีของชีวิตยกให้กับเรื่องเดียวคือ “กีฬากอล์ฟ” เพื่อทำตามความฝันของผู้เป็นพ่อ

ก็คงเหมือนพ่อของเจ-ชนาธิป สรงกระสินธ์ ที่ต้องการปลุกปั้นลูกให้เป็นนักฟุตบอลที่เก่งระดับอาชีพ ให้ก้าวข้ามอุปสรรคเรื่องสรีระที่เล็ก จนก้าวมาเป็นนักเตะที่ได้รับการยอมรับในระดับเอเชีย และบรรเลงเพลงเตะเป็นตัวจริงอยู่ในลีกสูงสุดของญี่ปุ่นตอนนี้

เบื้องหลังการฝึกฝนไม่ว่าจะในครอบครัวของโม-เม หรือของเจ คือความขัดแย้งระหว่างพ่อกับลูก

ในหนังเราจะได้เห็นภาวะอึมครึมเช่นที่ว่านี้อยู่เรื่อยๆ จนมาแตกหักเมื่อวันหนึ่งที่เมรู้สึกว่า ตนควรจะมีสิทธิ์กำหนดชีวิตของตนเองว่าจะเดินอย่างไร แม้จะตีกอล์ฟ ก็จะตีด้วยวิธีที่ตนเชื่อมากกว่าจะฟังคำสั่งพ่ออย่างเดียว

เจ ชนาธิปเองก็เคยให้สัมภาษณ์ถึงคราวที่ทะเลาะกับพ่อ เพราะเบื่อหน่ายการซ้อมที่หนักหนาสาหัสจนไม่มีเวลาทำอะไรอย่างเพื่อนๆ เลย จนเขาแกล้งเตะลูกบอลไปโดนหนามต้นไม้ให้ลูกบอลรั่วเพื่อตนจะได้ไม่ต้องซ้อมก็เคย

แต่สุดท้ายผลลัพธ์ของการต่อสู้ อดทน ตั้งใจ ไม่ย่อท้อก็ส่งผลให้ทั้งเจ โม และเม เป็นอย่างไรเราคงได้ประจักษ์กันดี

บอกไม่ได้ว่าสิ่งที่พ่อของพวกเขาทำนั้น ผิดหรือถูก แต่มันคือสิ่งที่เขาเลือกที่จะให้ลูกของเขาเดิน

 

สําหรับคอลัมน์ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจในฉบับก่อนนี้ คุณหนุ่มเมืองจันท์ได้เขียนถึงนักมวยระดับแชมป์โลกคนหนึ่งที่ชื่อ “ไมเคิล เบิร์น” ตัวเบิร์นนั้นก็เหมือนโม-เม คือชกมวยตามความฝันของพ่อ แต่อาจจะต่างกันบ้างที่เบิร์นไม่เคยรู้สึกอยากชกมวยเลยแม้แต่น้อย แต่เขาก็ต้องซ้อมมวยตั้งแต่เด็ก และซ้อมหนักมาก จนวันหนึ่งทนไม่ไหว เดินเข้าไปบอกพ่อว่าเขาไม่อยากเป็นนักมวย และก็ถูกพ่อตีอย่างหนัก

2 อย่างที่เหมือนกันคือ ในที่สุดทั้งเบิร์นและเมก็ทำตามความฝันของพ่อได้สำเร็จ โดยการก้าวเป็นนักกีฬาอาชีพระดับโลกที่คว้าแชมป์มาครอง

เมจะยังคงตีกอล์ฟไปอีกนาน เพราะอย่างน้อยเธอก็ชื่นชอบกีฬาชนิดนี้ และอายุยังน้อย ยังมีความท้าทายที่อยู่ข้างหน้าอีกมาก

ส่วนเบิร์นนั้นเลิกชกมวยไปแล้ว เพราะสมองเขาได้รับความกระทบกระเทือนจนหมอต้องสั่งให้เลิกชก เป็นการเลิกชกที่เบิร์นดีใจอย่างมาก เพราะไม่ต้องทำในสิ่งที่เขาเกลียดอีกแล้วตลอดชีวิต

จากนั้นเขาก็ได้ก้าวสู่ความต้องการของตนเอง กำหนดชีวิตตนเองโดยการไปเรียนการเขียนหนังสือ เพราะนั่นเป็นสิ่งที่เขารัก เขาได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้จนมีชื่อเสียง แถมได้แสดงหนังเกี่ยวกับนักมวยอีกด้วย ซ้ำยังก้าวข้ามมาเป็นผู้กำกับฯ คิวบู๊ให้หนังชกมวยหลายเรื่อง

และเชื่อไหมว่า งานล่าสุดของเขาคืออะไร ไม่ใช่งานบนผืนผ้าใบ แต่เป็นงานในโรงละครเวที เขาได้เป็นผู้กำกับละครเวที…จากนักมวยนี่นะ มากำกับละครเวที โอ พระเจ้า

 

เรื่องนี้ไปทับซ้อนกับการมาเป็นคอลัมนิสต์ของโหน่งในรายการเจาะใจเมื่อ 2 ปีก่อน ที่เขาเล่าเรื่อง “ชีวิตเริ่มต้นเมื่อ 40”

โหน่งบอกว่า ชีวิตคนเรานั้นในช่วงอายุ 20 ปีแรก เป็นวัยของการเรียนรู้ วัยของการบ่มเพาะตนเอง ส่วนช่วง 20-40 ปี เป็นการค้นหาว่าตัวเองต้องการอะไร ได้ทดลองทำสิ่งต่างๆ เพื่อหาประสบการณ์ ล้มเหลวได้ สำเร็จได้ รวมทั้งเป็นการฝึกการทำงานและการมีชีวิตในแบบที่ตนพอใจ พออายุ 40 ปี ก็พอดีกับการเริ่มต้นในสิ่งที่ตนได้ค้นพบแล้วว่า “ใช่”

ไม่สายเกินไปกับการเริ่มต้นในอายุ 40

โหน่งยังได้เล่าให้ฟังถึงเรื่องจริงของชายชาวอเมริกันคนหนึ่ง ที่ถูกเลิกจ้างจากตำแหน่งในระดับสูงของบริษัทโฆษณาเมื่ออายุ 64 ปี สุดท้ายเขาได้มาทำงานที่สตาร์บัคส์ ไม่ได้เป็นผู้จัดการ แต่เป็นพนักงานระดับล่าง ทำความสะอาด เสิร์ฟอาหาร รับคำสั่งลูกค้า ล้างจานชาม เก็บขยะ เรียกว่าทำทุกอย่างที่เขาไม่เคยคิดว่าจะต้องทำ

แต่แล้วเขาก็พบ “ความสุข” ในการทำงานนั้น เมื่อลูกค้าติดเขา เจ้านายชื่นชม เป็นที่รักของเพื่อนร่วมงาน จนได้เป็นพนักงานดีเด่น เขาได้ค้นพบสิ่งที่เขาต้องการในชีวิตที่แท้จริงจากการทำงานที่นี่

นั่นคือการเลือกเดินชีวิตของตนเองในวัย 64 ปี

ไม่มีคำว่าสาย หากเราได้ลุกขึ้นมาทำอะไรในสิ่งที่ตนรักและมีความสุข แม้ตอนนั้นคุณอยู่ในช่วงบั้นปลายชีวิตแล้วก็ตาม

ที่เขียนมานี่คือ 3 เรื่องที่มาทับซ้อนกันตามที่จั่วหัว และมีแง่มุมที่แตกต่างกัน

แต่ไม่ว่าอย่างไร สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ หากเราได้ทำสิ่งที่เรามี “ความสุข” แล้ว นั่นคือความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของชีวิต

อันนี้อาจจะต้องลองไปถามท่านนายกฯ ตู่ดูว่า ที่กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกหนในบั้นปลายชีวิตนี่ เพราะด้วยความรักและด้วยงานที่มีความสุขรึเปล่า จึงเลือกมาเป็น…แฮ่ม