ทราย เจริญปุระ | ไข้ “เลือด-งาน” ออก

กลับมาแล้วค่ะ

ที่หายหัวไปสองอาทิตย์นี่ไม่ใช่อะไร

ฉันป่วย

ก็นึกว่าตัวเองจะวางพื้นฐานการป่วยในช่วงวัยนี้ไว้แค่ไอๆ จามๆ คออักเสบบ้างประปรายตามที่เคยเป็นมา

ป่วยคราวนี้ดันขยับไปสู่พื้นที่ใหม่

คือเป็นไข้เลือดออก

โรคนี้ก็ได้ยินมาทุกปี เคยกลัวอยู่บ้างเพราะอาชีพฉันชอบนัก กับการต้องหักร้างถางพงเข้าไปทำงาน ลุยป่าหญ้ากันกลางวันแสกๆ ซึ่งก็เป็นแหล่งปาร์ตี้หลักของยุงที่เพียบไปด้วยโรคภัย พร้อมจะกัดและส่งต่อให้มนุษย์ที่ทะเล่อทะล่าเข้าไปในเขตปกครองของมันได้ป่วยไข้ไม่สบาย

แต่พูดไปก็ยิ่งเศร้า ตอนนี้ฉันไม่ได้มีงานไปออกกองที่ไหนเสียหน่อย นอนอยู่บ้านจนค่าไฟจะแซงค่าตัวแล้ว

เพราะงานก่อนที่เพิ่งไป ก็ไปแล้วรถชน

ต่อให้ไม่เชื่อเรื่องดวงยังไง ฉันก็ออกจะเซ็งแถมจะเริ่มเชื่อเอาเสียด้วย ว่าช่วงดวงตกมันมีอยู่จริง

เพราะถ้าไม่เชื่อ ฉันก็ไม่เหลืออะไรให้ด่าหรือโทษใส่ได้เลย ว่าทำไมต้องมาโดนอะไรแบบนี้ติดๆ กัน

รถนี่ขับไม่ชน ไม่มีอุบัติเหตุมา 5-6 ปีแล้ว

ไข้เลือดออกยิ่งอยู่นอกเหนือความคาดหมาย

ก่อนฉันจะป่วย ก็เห็นน้องชายนอนซมไข้อยู่ ซมได้ซักหลายวัน มันก็ลุกขึ้นมาเกาแขนเกาขาถี่ๆ ให้เสียบุคลิก

ถามไปก็บอกว่าเป็นไข้เลือดออก แต่มันไม่ได้ติดระหว่างคนสู่คน ใครเป็นก็รักษาไป ฉันก็อยู่ไป น้องก็คันไปเท่านั้น

สุดท้าย, ฉันดันมาป่วยเอง

ไม่โทษดวงแล้วจะโทษอะไร

ยิ่งว่างๆ ไม่มีงานทำนี่มันฟุ้งซ่าน

ความเจ็บป่วย นอนก็ปวดตัว ลุกก็เวียนหัว หมดเรี่ยวหมดแรง ตับโตจนท้องอืดไม่สบายตัว มีเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะเจ็บขัดไปหมด เกล็ดเลือดต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ล้วนเป็นเชื้อโหมให้สติฉันซึ่งก็ไม่ค่อยมั่นคงอะไรนักหนาอยู่แล้ว กระเจิดกระเจิงขึ้นไปอีก

ค่าหมอ ค่ายา ค่าเจาะเลือด เอาว่ารักษากันตามอาการเฉพาะหน้าก็มีมาทุกวัน

ฉันมีเงินมั้ย? มีน่ะสิ ไม่ได้ขัดสนจนยากอะไร

มีพอให้เจาะเลือดไปตลอดอายุขัยนั่นล่ะ (ขอเคาะไม้แก้เคล็ดก่อน)

แต่นี่คงเป็นความไม่สบายใจลึกๆ ของคนทำงานอิสระ

คือบทจะมีงานมันก็มีมาจนฉันไม่ว่างป่วย ไม่ว่างทำอะไรทั้งสิ้น นอกจากตื่นเช้ามืดไปออกกองและกลับดึกมาเตรียมของ เพื่อพรุ่งนี้จะตื่นแต่มืดไปเริ่มงานซ้ำไปแบบนี้

แต่พอมันว่างขึ้นมานี่

เอาเป็นว่ามันทำให้ฉันประสาทเสียมากก็แล้วกัน

ไม่ใช่ไม่รู้ไม่ชี้ หรือไม่คิดล่วงหน้า หรือไม่ทำใจไว้ถึงวันเวลาเช่นนี้ วันที่เราเป็นแค่ชื่อหนึ่งในร้อยชื่อพันชื่อที่ผู้จัดผู้จ้างเค้าจะเลือกหยิบมาทำงานด้วย

แต่เพราะรู้นี่ล่ะ มันก็จะยิ่งประสาทเสีย

กว่างานละครล็อตนี้ที่เพิ่งเปิดกล้องกันไปโดยไม่มีฉันไปยืนหน้าแป้นในพิธีบวงสรวงกับคนอื่น ก็อีกสองสามเดือนเป็นอย่างต่ำ กว่าผู้จัดจะเริ่มหาบทประพันธ์ใหม่ๆ มาอ่าน เริ่มเตรียมงาน เริ่มวางตัวแสดง

เนี่ย มีเวลาให้ฉันเป็นบ้าได้อีกเป็นเดือนๆ

พอป่วยก็ต้องรีบรักษา เพราะกลัวปุบปับงานเข้ามาแล้วไม่พร้อม

พอรักษาจนหายก็มานั่งแห้งหาวรองาน วนไปเป็นวัฏจักร

เรื่องนี้ไม่ใช่เพิ่งเคยเกิด ฉันทำงานมายี่สิบปีแล้ว ก็เป็นแบบนี้แทบทุกปี คืองานจะชุมเป็นยุงลาย (ขอพาดพิงหน่อย ไอ้ตัวพาหะ!) อยู่ช่วงหนึ่งของปี แล้วก็ว่างสลับกันไปแบบนี้

เมื่อก่อนฉันไม่ได้เดือดร้อนเท่าไหร่ เพราะตอนเด็ก พ่อก็ทำงานเป็นหลัก ครั้นพ่อป่วย ฉันมาทำงานเป็นหลักก็จริง แต่คนรับงานคือแม่ ซึ่งก็เป็นคนประสาทเสียตลอดเวลาอยู่แล้ว ฉันก็เลยเฉยๆ

พอมาถึงวันที่ตัวเองถือคิว ถือเงินเองนี่ก็พอจะเข้าใจความคลั่งของแม่อยู่

และช่วงเวลาแบบนี้ฉันก็จะคิดถึงพ่อทุกครั้ง

ว่าทำไมพ่อช่างทานทนกับการทำงานในวงการบันเทิงนี้ได้ยาวนาน

ครอบครัวฉันไม่มีแหล่งรายได้อื่นใดมาเสริม วงการบันเทิงเป็นวงการเดียวที่เลี้ยงดูครอบครัวฉันมา

และพ่อก็มีลูก มีบ้าน มีครอบครัว มีหมา มีรถ มีอะไรต่อมิอะไรเยอะแยะ ที่ฉันก็เพิ่งมาซึ้งว่ามันคือเงิน เงิน เงินไปทุกกระดิกตัว แต่พ่อก็ดูสบายดี ไม่เครียด ไม่บ่น (อย่างน้อยฉันก็ไม่เคยเห็นพ่อเครียดหรือบ่นให้ฉันรู้น่ะ)

ทั้งที่วงการนี้มันก็เป็นแบบนี้มาตลอด มีหน้างาน และหน้าแล้งงานเช่นนี้

คิดมาตรงนี้ก็ได้แต่บ่นต่อไปตามนิสัย ว่าไหนๆ พ่อก็ให้พรสวรรค์ในการแสดงแก่ฉันมาแล้ว ทำไมถึงไม่ยอมถ่ายทอดความสบายๆ ที่เป็นพื้นนิสัยของพ่อมาด้วยนะ

ไอ้ความ “ช่างมัน เดี๋ยวค่อยคิด” นี่มันไม่ใช่เรื่องนึกจะทำก็ทำได้แบบที่ฉันเคยเข้าใจ แต่เป็นของที่ต้องมีติดตัวมา หรือไม่ก็ต้องฝึกกันจริงจัง ในการที่จะปล่อยจะวางให้ได้โดยเอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ได้ปล่อย “ขนาดนั้น” เพียงแค่จัดสรรได้จนมันไม่มารบกวนชีวิต

แต่ในเมื่อฉันเป็นคนประสาทแดก คิดมาถึงตรงนี้ก็ต้องคิดต่อไปอีก

ว่า หรือจริงๆ ฉันไม่ได้มีพรสวรรค์ พรสวิวอะไรที่ตัวเอง

คิดว่ามีนี่หรอก

แค่ทำงานได้ก็ทำงานไป

หรือเปล่าวะ?

ความคิดพวกนี้แอบเข้ามาในฝันร้ายของฉันอยู่บ่อยๆ คือในฝันฉันไปยืนอยู่หน้ากองถ่ายนี่ล่ะ แต่ทำอะไรไม่ได้ซักอย่าง

อ่านบทก็ไม่เข้าหัว ทำความเข้าใจว่าเขาคุยอะไรกันก็ไม่ได้ ตัวแข็งทื่อไร้อารมณ์ และกำลังทำการแสดงเป็นรอบที่ร้อยท่ามกลางสายตาติเตียนจากทุกคนในกองถ่าย

ไอ้ฝันร้ายแบบนี้เกิดกับฉันอยู่เรื่อยๆ และแน่นอนว่ามันมักจะมาเวลาจะเริ่มงานอะไรใหม่ๆ หรือช่วงว่างๆ แบบนี้ เพราะเวลายุ่งขิงจัดๆ ฉันก็เหนื่อยเกินกว่าจะฝัน หรือเกินจะจำว่าฝันอะไรไปบ้าง ใครจะไปสนความฝันวะ ในเมื่อเดี๋ยวตื่นขึ้นมาก็ต้องลากตัวเองไปทำงานแล้ว งานมีให้ทำเห็นๆ กันอยู่ เล่นละครอยู่ทุกวัน มันจะทำไม่ได้ไปได้ยังไง

เนี่ย ก็รู้นะ ก็คิดได้นะ

แต่ก็ไม่วายจะฝัน

ก็อาจจะเพราะฉันไม่ได้ร่ำเรียนการแสดงอะไรมาอย่างเป็นชิ้นเป็นอันกระมัง เลยดูล่องลอยไร้หลักยึด ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ นอกจากความชอบแล้วก็ไม่มีอะไรเป็นหลัก และถ้าอาศัยว่าชอบแล้วจะทำอะไรก็ได้ ฉันก็มีอะไรที่ชอบอีกเยอะแยะ ที่ได้แค่ชอบ แต่ไม่มีวันทำได้

แต่การแสดงต้องไม่เป็นหนึ่งในนั้น

เพราะนี่มันไม่ใช่แค่ชอบ

แต่มันคืออาชีพของฉัน

แถมฉันก็ไม่เคยคิดจะไปทำอะไรอย่างอื่น ค่าที่ก้าวเข้าสู่วงการนี้เกินครึ่งชีวิตเข้าไปแล้ว

แต่พอมีคนมาบอกว่า ก็เรียนรู้ที่จะเป็นครูต่อไปสิ ส่งต่อความรู้ที่มีให้รุ่นต่อๆ ไป

ฉันก็ทำไม่ได้

ก็คนมันไม่รู้นี่หว่า ว่าตัวเองทำไปได้ยังไง

ยิ่งพอมาอ่าน “ยอดมนุษย์นักกีฬา” ฉันยิ่งรู้สึกเดี้ยงๆ ง่อยๆ เข้าไปอีก เพราะเผ่าพันธุ์การกีฬานั้น แค่คุณมียีนสักตัว (ที่ไม่ใช่กางเกงยีนส์) หรือมัดกล้ามเนื้อสักคู่ขาดหรือเกินไป มันคือชะตาชีวิตของคุณไปเลย

พูดกันแบบไม่ถนอมน้ำใจก็คือ, กับเรื่องบางเรื่อง (ในที่นี้คือกีฬาบางชนิด) คุณพยายามแทบตาย คุณซ้อมวันละ 20 ชั่วโมง คุณก็ไม่มีวันเอาชนะไอ้บ้าไอ้บอคนหนึ่ง ที่เดินงงๆ เข้ามาในสนาม

แล้วก็เอาชนะคุณไปได้ต่อหน้าต่อตา

“ข้อสงสัยที่มีมานานเท่าประวัติการแข่งขันของมนุษยชาติ : สุดยอดนักกีฬาอย่างยูเซน โบลต์, ไมเคิล เฟลป์ส และเซเรนา วิลเลียมส์ คือตัวประหลาดทางพันธุกรรมที่สวรรค์ส่งลงมาเป็นเจ้าสนาม หรือแค่คนธรรมดาที่เอาชนะขีดจำกัดทางชีววิทยา ด้วยการฝึกซ้อมอย่างเอาเป็นเอาตาย และมุ่งมั่นเต็มหัวใจเพื่อไปสู่ชัยชนะ

เดวิด เอปสตีน นักเขียนมือรางวัลแห่งนิตยสารกีฬา Sports Illustrated พาเราเดินทางรอบโลก ตั้งแต่สนามแข่งเอ็นเอฟแอลในอเมริกา ไปถึงลู่ดินฝุ่นฟุ้งในเคนยา และทะเลสาบน้ำแข็งในฟินแลนด์ เพื่อตอบปัญหาโลกแตกเรื่อง “พรสวรรค์หรือพรแสวง” ในวงการกีฬา

จริงหรือที่ว่า อยากเก่งต้องฝึกให้ครบ 10,000 ชั่วโมง?

หรือว่าคนบางคน ชนชาติบางชนชาติ มี “ยีนกีฬา” ที่ธรรมชาติกำหนดมาโดยเฉพาะ?”*

โอเค, ผู้เขียนไม่ได้ตัดรอนเรื่องของการฝึกซ้อมเสียทีเดียว แต่อ่านไปคุณก็รู้เอง ว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องของการซ้อม

คนบางคนเกิดมาเพื่อเป็นตัวจริง

และบางคนเกิดมาเพื่อจะมีงานอดิเรกที่ทำได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไปเท่านั้น

เฮ้อ

แต่ถ้าหัวใจของการแสดงคือความเข้าใจในมนุษย์ ฉันว่าฉันก็เข้าใจหลายมนุษย์อยู่ ตามเวลาที่เติบโตขึ้นมา

ยกเว้นเรื่องจะเข้าใจความประสาทเสียของตัวเองตอนรอทำงานนี่แหละ

เมื่อไหร่จะถึงเดือนกันยายนที่มีละครจองคิวฉันไว้เสียที

และถึงจะจับจองไปแล้ว ก็ใช่ว่าจะมั่นคงแน่นอน ฉันยังมีสารพัดตัวแปรให้ประสาทเสียยิ่งๆ ขึ้นไปในทุกวินาทีจนกว่าฉันจะเดินเข้ากอง ไปทำงานซักห้าตอน และมีค่าตัวโอนเข้ามานั่นล่ะ ฉันถึงจะสบายใจขึ้น…บ้าง

เพราะจากนั้นก็จะเป็นช่วงประสาทเสียต่อ ว่าเมื่อไหร่จะมีงานเรื่องต่อไปเข้ามาอีก

เฮ้อ

“ยอดมนุษย์นักกีฬา, มหัศจรรย์พันธุกรรมหรือสัจธรรมการซ้อม” เขียนโดย เดวิด เอปสตีน แปลโดย ธัญญารัตน์ ดอกสน ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 โดยสำนักพิมพ์ Salt, กรกฎาคม 2562

*ข้อความจากในหนังสือ