The Smell in The Air After The Firecracker Has Gone Off กระบวนการทดลองของวัตถุ พื้นที่ เวลา และอวกาศ บนพื้นผิวของห้วงประวัติศาสตร์ในหน้าหนังสือพิมพ์ (จบ)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ฟังที่มาของแรงบันดาลใจไปแล้ว  (ย้อนอ่านตอนที่แล้ว) คราวนี้มาดูผลงานในนิทรรศการ The Smell in The Air After The Firecracker Has Gone Off ของภัทระ จันทร์ฤๅชาชัย กันบ้างดีกว่า

เริ่มต้นด้วย I remember (2019) ชุดผลงานวาดเส้นแท่งถ่านชาร์โคลบนกระดาษหนังสือพิมพ์ที่ภัทระเก็บสะสมไว้

ภาพที่เกือบจะเป็นสีดำสนิท แต่เรายังพอจะมองเห็นร่องรอยได้อย่างเลือนรางว่าเป็นภาพของแสงที่สะท้อนลงบนวัตถุในความมืด

อันที่จริงวัตถุเหล่านี้คือชิ้นส่วนของยานอพอลโล่ 11 และเหล่าบรรดาจรวดที่ล่องลอยอยู่ในห้วงอวกาศนั่นเอง

I remember (2019)

ภาพวาดสีดำในกรอบสี่เหลี่ยมเหล่านี้ถูกแขวนอยู่บนผนังสีขาวของแกลเลอรี่

ประหนึ่งขยะอวกาศที่ล่องลอยกระจัดกระจายอยู่ในวงโคจรของโลกเรา

“ที่ผมวาดภาพเหล่านี้ให้เลือนรางจนแทบจะหายไป เพราะท้ายที่สุดแล้ว ผมอยากให้มันถูกจดจำ ในฐานะที่ผมเคยทำงานถ่ายภาพมาก่อน ทำให้ผมเห็นว่า ภาพถ่ายเป็นเครื่องมือช่วยในการจดจำ ไม่ว่าจะในยุคไหนๆ ก็ตาม ที่ผมวาดภาพเหล่านี้ให้มองแทบไม่เห็น ก็เพราะผมต้องการให้วัตถุเหล่านี้เลือนหายไปตามกาลเวลาที่ล่วงไป สุดท้ายก็จะไม่มีอะไรเหลืออยู่ เราจดจำเอาไว้เท่าไหร่ เราก็เอาไปได้เท่านั้น”

I remember (2019)

“การที่ผมใช้แท่งถ่านชาร์โคลในการวาดภาพชุดนี้ เพราะได้แรงบันดาลใจจากที่เคยอ่านมาว่าตอนที่นักบินอวกาศของยานอพอลโล่ 11 ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรก เขาบรรยายว่าพื้นผิวของดวงจันทร์มีลักษณะเหมือนผงถ่านชาร์โคล คำคำนี้ทำให้ผมรู้สึกประทับใจมาก ผมเลยต้องใช้แท่งถ่านชาร์โคลวาดภาพเพื่อให้ได้รสสัมผัสของสิ่งที่เขาบรรยาย”

ภัทระกล่าว

ตามมาด้วย just imagine (2019) ผลงานประติมากรรมขนาดย่อม ที่จำลองกล้องถ่ายวิดีโอที่ใช้ในภารกิจของยานอพอลโล่ 11 ขึ้นมาใหม่ด้วยวัสดุเซรามิก

just imagine (2019

ตัวประติมากรรมวางอยู่บนฐานกระจก ก่อให้เกิดภาพลวงตาราวกับว่าประติมากรรมนั้นลอยอยู่ ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นภาพลวงตาของความจริง

เป็นที่รู้กันปกติว่า กล้องเป็นเครื่องมือที่ใช้บันทึกความจริง แต่ความจริงที่ถูกคัดเลือกให้อยู่ในเฟรมที่กล้องถ่ายเอาไว้นั้นจริงแท้แค่ไหน?

สิ่งที่อยู่นอกเฟรมเป็นความไม่จริงหรือไม่?

just imagine (2019

ความว่างเปล่าและเงาที่เราไม่สามารถเข้าใจได้ที่กล้องบันทึกมานั้นเป็นความจริงไหม?

หรือแม้แต่ตัวกล้องเองเป็นสิ่งที่เป็นจริงหรือไม่? เพื่อที่จะทำความเข้าใจและตอบคำถามเหล่านี้ เราจำเป็นต้องมีข้อมูลและความรู้มาเติมเต็มช่องว่างในความคิดของเรา

just imagine (2019

“ที่ผมจำลองกล้องจากโครงการอพอลโล่ 11 ขึ้นมา เพราะผมมองว่ากล้องเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการจดจำ ไม่ว่าจะในยุคไหน และที่เลือกทำด้วยวัสดุเซรามิก ก็เพราะเป็นวัสดุชนิดเดียวกันกับที่ใช้ทำกระสวยอวกาศ ผมมองว่าการทำเซรามิกประกอบด้วยธาตุที่เป็นส่วนประกอบของจักรวาล อย่างดินที่ใช้ปั้นหรือหล่อเซรามิก น้ำที่เป็นส่วนผสม ลม ซึ่งก็คืออุณหภูมิ และไฟ คือการเผาไหม้ ธาตุต่างๆ เหล่านี้เป็นส่วนประกอบที่ทำให้เกิดเป็นประติมากรรมขึ้นมา พอถูกแปรสภาพเป็นเซรามิกแล้ว ธาตุเหล่านี้ก็จะคงตัวอยู่ได้นานเป็นร้อยเป็นพันปี จนผมตายไปแล้วก็ยังคงอยู่”

just imagine (2019

“อีกอย่าง ภรรยาของผมเป็นศิลปินทำงานเซรามิกที่บ้าน ผมก็เลยใช้ของใกล้ตัว เวลาผมทำงาน ผมพยายามใช้สิ่งใกล้ตัวที่เราหยิบจับได้ เพราะสิ่งเหล่านี้คือข้อเท็จจริงสำหรับเรา”

ต่อด้วย Trajectory (2019) ผลงานวาดเส้นขนาดใหญ่บนผนัง แสดงภาพควันจากกระสวยอวกาศที่จุดตัวเองให้ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าสู่ความเวิ้งว้างว่างเปล่าของพื้นที่ ภาพการปฏิบัติภารกิจของกระสวยอวกาศที่วาดด้วยมือชิ้นนี้ ถูกวาดเพิ่มเติมด้วยเครื่องวาดภาพอัตโนมัติที่ถูกตั้งโปรแกรมให้วาดสีดำถมทับลงไปบนภาพอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาแสดงงานจนกลายเป็นสีดำทั้งหมด ไม่มีข้อมูลเหลือให้เห็นหรืออ่านได้

ผลงานชิ้นนี้แสดงให้เราเห็นว่าการกระทำเพิ่มสามารถเป็นการลบได้เช่นเดียวกัน ในขณะเดียวกันก็สร้างความหมายอื่นขึ้นมาพร้อมๆ กันด้วย

Trajectory (2019

“ภาพวาดนี้เป็นภาพของควันที่เกิดขึ้นจากพลังงานในการเคลื่อนย้ายวัตถุชิ้นหนึ่งขึ้นไปบนอวกาศ ทำให้เกิดปฏิกิริยาที่ทำให้เกิดควันขึ้นมา แต่สุดท้ายควันนี้ก็จะหายไป เหลือไว้แต่กลิ่นเป็นหลักฐานของข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น”

“ที่ผมใช้เครื่องวาดภาพอัตโนมัติ เพราะผมต้องการให้เป็นสัญลักษณ์แทนเส้นทางการโคจรของกระสวยอวกาศ และเพื่อให้เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีในยุคนั้น เพราะผมค้นเจอข้อมูลว่า เทคโนโลยีที่ใช้ในยุคอพอลโล่นั้นใช้เส้นทองแดงร้อยด้วยมือ และใช้หน่วยความจำแบบอนาล็อก เทียบกับเทคโนโลยีสมัยนี้แล้วช่างแตกต่างกันลิบลับ แต่เขาก็สามารถทำให้การเดินทางสู่อวกาศที่เคยเป็นแค่จินตนาการกลายเป็นความจริงขึ้นมาได้ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามของมนุษย์ที่ต้องการเอาชนะธรรมชาติ”

Trajectory (2019

“ก่อนหน้านี้ผมไม่มีพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องอิเล็กทรอนิกส์ เรื่องโปรแกรม เป็นศูนย์เลย แต่พอเริ่มสนใจเรื่องพวกนี้ ผมก็ลองเลียนแบบคนในยุคนั้นในการเอาชนะตัวเอง ด้วยการเรียนรู้ ศึกษา และทดลองสร้างเครื่องมือนี้ขึ้นมาด้วยตัวเองจากศูนย์ ทั้งระบบฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์อะไรต่างๆ”

“ซึ่งจริงๆ เครื่องนี้ผมไม่ได้ทำขึ้นมาเป็นคนแรก เคยมีคนอื่นทำขึ้นมาก่อนแล้ว และก็เป็นอุปกรณ์ที่ความจำต่ำมาก เป็นบอร์ดที่เด็กๆ ใช้ทำการทดลองกันในห้องเรียน ที่ผมพยายามใช้เครื่องมือที่มีเทคโนโลยีล้าหลัง ไม่ทันสมัยแบบนี้ ก็เพราะผมพยายามเอาตัวเองกลับเข้าไปในอดีต เหมือนอยู่ในยุคเดียวกับโครงการอพอลโล่”

“ส่วนการลบภาพให้เป็นสีดำด้วยชาร์โคล ก็เหมือนกับลักษณะของภาพเนกาทีฟในงานภาพถ่ายที่ผมเคยทำมาก่อน”

นอกจากผลงานในห้องแสดงงานหลักแล้ว ในห้องแสดงงานเล็กของหอศิลป์ยังมีผลงาน I remember แสดงอยู่ แต่แทนที่จะแขวนในแนวตั้งดังเช่นที่เราเห็นในห้องแสดงงานหลัก กลับถูกแขวนในแนวนอน

นอกจากนี้ ในห้องสำนักงานด้านหลังของหอศิลป์ยังถูกเปิดเป็นพื้นที่แสดงงานกึ่งห้องรับรองให้ผู้ชมได้เข้าไปชมผลงาน I remember ที่จัดวางอยู่บนตู้เก็บของชิดผนัง ท่ามกลางแสงไฟโทนอบอุ่น ผิดกับแสงสว่างจ้าในห้องแสดงงานหลัก

บรรยากาศอันผ่อนคลายในห้องถูกขับเน้นด้วยเสียงเพลงบรรเลงจากลำโพงบนโต๊ะ

ผลงานI remember (2019)ในห้องแสดงงานเล็ก

และถ้าสังเกตดีๆ เราจะเห็นแสงไฟจากเพดานส่องทะลุช่องเจาะกลางโต๊ะตกกระทบพื้นใต้โต๊ะเหมือนแสงจันทร์ตกกระทบผิวน้ำยังไงยังงั้น

ปรัชญา พิณทอง หนึ่งในภัณฑารักษ์ผู้คัดสรรและจัดสรรการจัดวางผลงาน รวมถึงสร้างบรรยากาศอันแปลกตาในห้องนี้เล่าให้เราฟังว่า

“ภัทระชวนผมมาเป็นภัณฑารักษ์ในนิทรรศการนี้ ผมก็เลยชวนพี่ตั๋ง (อุดมศักดิ์ กฤษณมิษ) มาช่วยกันดู อย่างผลงานวาดเส้น I remember ที่เป็นลักษณะของแสงที่ตกกระทบขยะที่ลอยอยู่ในอวกาศ ผมก็จัดเรียงให้เหมือนลอยอยู่บนผนัง ด้านหลังของกรอบรูปผมออกแบบให้สามารถแขวนได้ทุกมุม เพื่อให้พลิกคว่ำพลิกหงายเหมือนมันกำลังล่องลอยโคจรอยู่ในอวกาศจริงๆ”

ผลงานI remember (2019)ในห้องแสดงงานเล็ก

“ส่วนในห้องเล็กผมเลือกแขวนภาพในแนวนอนเพื่อให้ล้อไปกับห้องใหญ่ที่แขวนในแนวตั้ง ตัวกรอบเองก็ถูกออกแบบให้ลอยจากผนังออกมานิดหนึ่ง เช่นเดียวกับฐานของประติมากรรมกล้องเซรามิกที่ทำด้วยกระจก เพื่อให้กล้องดูเหมือนกำลังลอยอยู่ กระจกเองก็เป็นวัตถุที่สะท้อนภาพความจริงเช่นเดียวกับกล้อง ซึ่งในจุดหนึ่ง ทั้งสองสิ่งก็ทำงานร่วมกัน”

“ส่วนพื้นที่ในห้องด้านหลัง พอดีมีงานวาดเส้นในชุด I remember เหลืออยู่สี่ชิ้น ที่ไม่ได้แขวนในห้องแสดงงาน ผมเลยเอามาวางในห้องนี้ โดยจัดแสงในห้องให้มีความแตกต่าง ให้อารมณ์แบบบ้านๆ เหมือนเป็นพื้นที่ส่วนตัว”

ผลงานI remember (2019)ในห้องแสดงงานเล็ก

“เพลงที่เปิดในห้อง ผมเลือกเพลงประกอบหนัง Solaris (1972) ของอังเดร ทาร์คอฟสกี้ ที่เป็นเรื่องราวของสภาวะเงื่อนมิติในห้วงอวกาศกับสภาวะทางจิตใจ ซึ่งผมคิดว่าน่าจะมีความเชื่อมโยงกับผลงานในนิทรรศการนี้ ส่วนโต๊ะในห้อง ผมซ่อนงานเอาไว้อีกชิ้น โดยเอาพลาสติกห่อผลงานของภัทระที่ขนส่งมาจากฝรั่งเศสมาปิดรูเจาะใต้โต๊ะแล้วเติมน้ำเอาไว้ข้างใน เพื่อให้แสงไฟจากเพดานส่องผ่านช่องเจาะสะท้อนน้ำตกกระทบพื้น”

“เหตุผลอีกอย่างที่ใช้น้ำ เพราะผมคิดว่าหน้าที่ของภัณฑารักษ์ก็คือการเติมความชุ่มชื้นให้กับนิทรรศการอีกนิดหนึ่งน่ะนะ”


ห้องสํานักงานด้านหลังของหอศิลป์ที่เปิดเป็นพื้นที่แสดงงานกึ่งห้องรับรอง

ผลงานในนิทรรศการนี้ แฝงเร้นไปด้วยสิ่งที่ชวนให้เกิดบทสนทนาเกี่ยวกับการรับรู้ความจริงและความเชื่อ ภัทระกระตุ้นอย่างแยบคายให้เราหวนกลับไปทบทวนความทรงจำและบันทึกเกี่ยวกับภารกิจของยานอพอลโล่ 11 ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่? และตั้งคำถามว่า เราสามารถรับรู้ แยกแยะ และเชื่อมั่นในข้อเท็จจริงในข้อมูลอันท่วมท้นล้นหลั่งเหล่านี้ได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้นี่เองที่เป็นสภาวะในยุคหลังความจริง (Post-truth) ที่เราต้องอาศัยอยู่ร่วมกับมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ห้องสํานักงานด้านหลังของหอศิลป์ที่เปิดเป็นพื้นที่แสดงงานกึ่งห้องรับรอง

นิทรรศการ The Smell in The Air After The Firecracker Has Gone Off โดยศิลปิน ภัทระ จันทร์ฤๅชาชัย และสองภัณฑารักษ์ ปรัชญา พิณทอง และอุดมศักดิ์ กฤษณมิษ จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม-31 สิงหาคม พ.ศ.2562 ที่แกลเลอรี่เว่อร์ (Gallery VER) ซ.นราธิวาส 22 (สาธุประดิษฐ์ 15)

เปิดวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 12.00-18.00 น.

สอบถามข้อมูลได้ที่ facebook @galleryver อีเมล [email protected] หรือโทร 0-2103-4067

ขอบคุณภาพจากแกลเลอรี่เว่อร์