The Smell in The Air After The Firecracker Has Gone Off กระบวนการทดลองของวัตถุ พื้นที่ เวลา และอวกาศ บนพื้นผิวของห้วงประวัติศาสตร์ในหน้าหนังสือพิมพ์ (1)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

The Smell in The Air After The Firecracker Has Gone Off กระบวนการทดลองของวัตถุ พื้นที่ เวลา และอวกาศ บนพื้นผิวของห้วงประวัติศาสตร์ในหน้าหนังสือพิมพ์ (1)

เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปดูนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยที่น่าสนใจมาอีกครา เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย นิทรรศการนี้มีชื่อว่า

The Smell in The Air After The Firecracker Has Gone Off (ที่แปลเป็นไทยว่า “กลิ่นในอากาศหลังจากที่ประทัดไฟดับไปแล้ว”)

โดย ภัทระ จันทร์ฤๅชาชัย ศิลปินชาวไทยผู้ถือกำเนิดในกรุงเทพฯ แต่อาศัยและทำงานอยู่ในประเทศฝรั่งเศส

เขาทำงานกับสื่ออันหลากหลาย ในรูปแบบไม่จำกัด ซึ่งเป็นการผสมผสานกันของภาพถ่าย งานวาดเส้น ประติมากรรม และศิลปะจัดวาง

ภัทระสนใจการเชื่อมโยงระหว่างภาพถ่ายกับวัตถุ พื้นที่ และเวลา สิ่งเหล่านี้ถูกถ่ายทอดลงบนสื่อที่ภัทระสนใจมาโดยตลอดอย่าง “หนังสือพิมพ์” ซึ่งเป็นเครื่องมือให้ข้อมูลข่าวสารที่มีอายุการใช้งานแสนสั้น

ถึงแม้ข้อมูลที่เรารับรู้อาจจะอยู่กับเราเป็นเวลานาน แต่คุณค่าและความหมายในตัววัสดุของกระดาษหนังสือพิมม์มักจะเลือนหายไป และดูจะกลายเป็นสิ่งไร้ค่าสำหรับผู้คนทั่วๆ ไป

แต่สำหรับภัทระ หนังสือพิมพ์มีคุณค่าทั้งในฐานะของวัตถุอ้างอิง เป็นบทบันทึกทางประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังเป็นวัสดุที่สามารถหาได้ง่าย

การอ่านเรื่องราวผ่านภาพและข้อมูลต่างๆ บนหน้าหนังสือพิมพ์ นอกจากจะเป็นหนึ่งในวิธีการเรียนรู้ภาษาของภัทระในยามที่อยู่ในต่างแดนแล้ว

เขายังใช้มันเป็นพื้นที่ในการถ่ายทอดร่องรอยและเรื่องราวที่ได้มาจากภาพถ่ายและข้อมูลของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก ผ่านกระบวนการวาดเส้นและงานพิมพ์ดิจิตอลลงบนกระดาษหนังสือพิมพ์เหล่านี้

โดยเรื่องราวและร่องรอยภายในภาพถ่ายเหล่านั้นถูกนำเสนออย่างสอดคล้องกับเนื้อหาของข่าวหรือเรื่องราวต่างๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์หลากหัวหลายภาษาที่เขาเก็บสะสมมาจากนานาประเทศ

เหมือนเป็นการรวบรวมข้อมูลจากพื้นที่ต่างๆ ในโลกใบนี้เข้าไว้ด้วยกัน

ภัทระใช้หนังสือพิมพ์เป็นวัสดุทำงานศิลปะมายาวนานกว่าหนึ่งทศวรรษ หนังสือพิมพ์ที่ปกติเป็นเครื่องมือบ่งบอกถึงกระแสของข้อมูล ประเด็นที่เป็นปัจจุบัน ความรู้เท่าทันสื่อ และความเป็นจริงที่มีอคติ

การใช้หนังสือพิมพ์ของภัทระที่ผสานภาพถ่าย ที่ถูกถ่ายทอดขึ้นใหม่ด้วยงานวาดเส้นเหมือนจริงหรือการพิมพ์แบบดิจิตอลเข้ากับพื้นหลังของหน้าหนังสือพิมพ์

สร้างความรู้สึกถึงความเร่งด่วนของข้อมูลข่าวสาร และบ่งบอกนัยยะถึงประเด็นทางสังคมและการเมืองร่วมสมัย ทั้งในระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับโลก

การนำวัสดุเหลือทิ้งอย่างหนังสือพิมพ์กลับมาใช้ใหม่ ทำให้เราได้อ่านทบทวนเรื่องราวต่างๆ เหล่านั้นอีกครั้ง

เช่นเดียวกับการย้อนดูความทรงจำที่ถูกเก็บอยู่ในภาพถ่าย กระบวนการทำงานลักษณะนี้ของภัทระ สร้างการทับซ้อนกันของวัตถุ พื้นที่ และเวลา รวมถึงสร้างมิติในการรับรู้ข้อมูลและสุนทรียะในการมองเห็นขึ้นใหม่

โดยปกติ ผลงานของภัทระนำเสนอความสนใจของเขาเกี่ยวกับวัตถุและภาพที่ถูกหลงลืม และพื้นที่ที่ถูกทิ้งร้างในกาลเวลา อาทิ ภาพถ่ายอันนิ่งงันของโครงสร้างหรืออาคารที่ถูกทิ้งร้าง ภาพเหล่านี้ถูกผสานรวมเข้ากับหนังสือพิมพ์เก่า เพื่อแสดงถึงน้ำหนักของเวลาที่เชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกัน พื้นที่ว่างที่เป็นเงามืดเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่พบซ้ำๆ ในงานของภัทระ

เงามืดในผลงานของเขามีบทบาทที่แตกต่างกันออกไป มันมักจะนำเสนอสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ภาวะความเป็นผีสางของสิ่งที่เราไม่รู้จักแต่รู้ว่ามีตัวตนอยู่

หากแต่ผลงานชุดล่าสุดของเขาในนิทรรศการ The Smell in The Air After The Firecracker Has Gone Off ครั้งนี้ ภัทระใช้การผสมผสานทักษะที่เขาเชี่ยวชาญบนสื่ออันหลากหลาย เพื่อเชื้อเชิญให้ผู้ชมเดินทางออกจากพื้นโลกไปสู่ความเวิ้งว้างอันไกลโพ้นของห้วงอวกาศ ด้วยผลงานศิลปะที่ได้แรงบันดาลใจจากข้อมูลข่าวสารของโครงการอวกาศที่นำมนุษย์ลงไปสำรวจดวงจันทร์อย่างโครงการอพอลโล่นั่นเอง

“ผลงานในนิทรรศการนี้เริ่มต้นมาจากการที่ผมบังเอิญเห็นภาพหนึ่งในหนังสือที่ฝรั่งเศส เป็นภาพจากโครงการอพอลโล่ 8 ในปี 1966 ที่ถ่ายมุมมองจากดวงจันทร์มาเห็นโลกเป็นภาพแรก ภาพที่เห็นเป็นภาพกะดำกะด่างเหมือนภาพถ่ายเอกสารที่หมึกใกล้หมด ซึ่งผมชอบมาก”

“หลังจากนั้นผมก็เริ่มสนใจโครงการนี้ เลยเริ่มศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ว่าเป็นยังไง พอเราค้นคว้าไปเรื่อยๆ ก็เกิดความรู้สึกขัดแย้ง ว่าเราจะเชื่อข้อมูลที่เราเจอได้ไหม? เพราะข้อมูลมันหลั่งไหลเข้ามามากมายจนเราไม่รู้ว่าอะไรเป็นข้อเท็จจริงกันแน่ เราก็อยากรู้ว่าสิ่งเหล่านี้สามารถพิสูจน์ได้ไหม แต่พอค้นคว้าไประยะหนึ่ง ผมก็เลิกตัดสินว่าสิ่งนี้จริงหรือไม่จริง สำหรับผมมันไม่ใช่เรื่องตายตัว ท้ายที่สุด แต่ละคนก็สามารถตีความข้อมูลเหล่านี้ได้”

“ผมมองว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นไกด์นำทางให้ผมเรียนรู้ข้อมูลต่างๆ ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ สำหรับผม วิทยาศาสตร์กับศิลปะเป็นสิ่งที่อยู่คู่ขนานกัน เพราะบางครั้งศิลปะก็ต้องอาศัยการค้นคว้าทดลองเหมือนกัน”

“ที่ผมเลือกใช้หนังสือพิมพ์เป็นสื่อในการทำงาน เพราะเป็นสิ่งที่ผมคุ้นเคยและอยู่กับมันมานาน อีกอย่างหนังสือพิมพ์เป็นตัวบันทึกช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ ตัวหนังสือพิมพ์เอง ก็กลายเป็นประวัติศาสตร์อย่างรวดเร็วหลังจากที่เราใช้มันไปแล้ว เราซื้อหนังสือพิมพ์เล่มหนึ่งมาอ่าน อีกสามชั่วโมงถัดไปมันก็กลายเป็นอดีตไปแล้ว หลายคนอ่านเสร็จแล้วก็โยนทิ้งไป”

“แต่ผมมองเห็นคุณค่าบางอย่าง มันทำให้ผมอยากเรียนรู้ เวลาผมเอาหนังสือพิมพ์มาทำงาน ไม่ว่าจะวาดเส้นหรืออะไรก็แล้วแต่ ผมก็จะอ่านข่าวในนั้นไปด้วย ทำให้เรารู้ว่าเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เหล่านั้นคืออะไร? มีที่มาที่ไปยังไง? ทั้งเรื่องวิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมือง หรือเรื่องในชีวิตประจำวัน เมื่อเราย้อนกลับไปดูหนังสือหรือหนังสือพิมพ์เก่าๆ อาจมีเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกประหลาดใจว่าสิ่งเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว บางครั้งภาพเหตุการณ์บางเหตุการณ์ในอดีตก็ทับซ้อนกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน จนทำให้เราสามารถคาดเดาว่าอาจจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตก็ได้”

“ผมคิดว่าปัจจุบันเราอยู่ในโลกของการเรียนรู้ ผมชอบที่จะเรียนรู้ในหลายๆ เรื่อง คนทำงานศิลปะไม่จำเป็นต้องรู้แต่เรื่องศิลปะอย่างเดียว เราควรจะเรียนรู้ในเรื่องอื่นๆ ด้วย” ภัทระกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจของผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ของเขา”

นิทรรศการ The Smell in The Air After The Firecracker Has Gone Off โดยศิลปิน ภัทระ จันทร์ฤๅชาชัย และสองภัณฑารักษ์ ปรัชญา พิณทอง และอุดมศักดิ์ กฤษณมิษ จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม-31 สิงหาคม พ.ศ.2562 ที่แกลเลอรี่เว่อร์ (Gallery VER) ซ.นราธิวาส 22 (สาธุประดิษฐ์ 15)

เปิดวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 12.00-18.00 น.

สอบถามข้อมูลได้ที่ facebook @galleryver อีเมล [email protected] หรือโทร 0-2103-4067

ขอบคุณภาพจากแกลเลอรี่เว่อร์