สมหมาย ปาริจฉัตต์ : Pisa 2015 หรือแค่คลื่นกระทบฝั่ง (จบ)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

รับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอต่อผลการทดสอบ Pisa 2015 ของเด็กไทย ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) แล้ว มาฟังทัศนะของนักเศรษฐศาสตร์การศึกษากันต่อ

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เสนอมุมมองต่อเรื่องนี้ ในงานเขียนของเขา ชื่อว่า PISA 2015 บทเรียนสำคัญจากระดับนานาชาติ ในจดหมายข่าวถึงเพื่อนสมาชิก สสค. ฉบับที่ 220

เขาสะท้อนข้อคิดต่อเสียงวิจารณ์ที่เกิดขึ้นแทบทุกครั้งภายหลังที่มีการประกาศผลการทดสอบความสามารถด้านการศึกษาของเด็กไทยในเวทีนานาชาติ อย่างตรงไปตรงมา

หลายท่านอาจสงสัยว่า “แล้วเยาวชนไทยที่ได้เหรียญโอลิมปิกวิชาการทุกปี ปีละหลายสิบเหรียญมากกว่าหลายประเทศหายไปไหน ทำไมคะแนนเฉลี่ยของไทยถึงไม่อยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก เรื่องนี้ OECD ได้ให้ความกระจ่างเอาไว้ด้วย Pie Chart ที่แสดงจำนวนและสัดส่วนเยาวชนผู้ทำคะแนน PISA ได้สูงสุดในระดับที่ 5-6 ถ่วงน้ำหนักประชากรของแต่ละประเทศเทียบประชากรโลก

สังเกตได้ว่าประเทศสหรัฐอเมริกามีเยาวชนอายุ 15 ที่ได้คะแนนสูงสุดมากถึง 300,000 คน คิดเป็นร้อยละ 8.5 ของประชากรวัยนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ญี่ปุ่นแม้จะมีเยาวชนอายุ 15 ที่ได้คะแนนสูงสุด 174,000 คนซึ่งน้อยกว่าสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อเทียบกับฐานประชากรแล้วกลับสูงมากถึงร้อยละ 15.3 ของประชากร

ส่วนสิงคโปร์แม้จะได้คะแนนเฉลี่ยเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่เมื่อนำเด็กเก่งทั้งหมดจากประเทศสิงคโปร์ไปเทียบสัดส่วนกับประชากรโลกแล้ว สิงคโปร์จึงเล็กนิดเดียว

 

แม้ผลคะแนนสอบ PISA แต่ละครั้งจะถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวาง แต่นักการศึกษาจำนวนมากทั่วโลกกลับไม่เชื่อว่า ข้อสอบ PISAซึ่งวัดเพียงแค่ทักษะทางปัญญา (Cognitive Skills) ของผู้เข้าสอบใน 3 วิชาภายในเวลาเพียง 2 ชั่วโมง สามารถประเมินความสำเร็จของระบบการศึกษาได้ สังคมยังคาดหวังทักษะและคุณลักษณะอื่นๆ ของเยาวชนอีกมากมายที่ข้อสอบ PISA วัดไม่ได้

ProfessorAndreas Schleicher ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาแห่งองค์การ OECD ก็ออกมายอมรับว่า OECD เองกำลังพัฒนาข้อสอบ PISA ให้สามารถวัดทักษะเชิงพฤติกรรม (Non-cognitive Skills) ที่สังคมคาดหวัง จากการศึกษาในอนาคต

เช่น ทักษะความคิดสร้างสรรค์ และการคิดวิเคราะห์ ที่สำคัญ OECD มิได้ต้องการให้ประเทศต่างๆ นำคะแนน PISA ไปจัดอันดับแข่งขันกัน แต่ต้องการให้นำผลการวิเคราะห์คะแนน PISA ไปใช้ประโยชน์ในเชิงนโยบายและพัฒนาการเรียนการสอนในโรงเรียนทั้งในแง่การส่งเสริมคุณภาพ และลดความเหลื่อมล้ำ ในการพัฒนากำลังคนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ

บทเรียนที่สำคัญจาก PISA 2015 ครั้งนี้คือ

 

1) แม้ยากจนก็เก่งได้ถ้าระบบดี แม้ว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาโดยเฉพาะสถานะทางเศรษฐกิจสังคมของผู้เรียนและโรงเรียนคือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อคะแนน PISA ของนักเรียน แต่กลับมีประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศที่มีระบบการศึกษาที่สามารถพัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่านของเด็กเยาวชนโดยเฉพาะเด็กยากจนได้ไม่แพ้ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศเวียดนาม และเอสโตเนีย เป็นต้น

2) ครูต้องพัฒนาการเรียนการสอนร่วมกัน ครูเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของเยาวชนในการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ ผลการวิเคราะห์ของ OECD ชี้ให้เห็นว่าครูที่มีเทคนิคการสอน (Instructional process) ที่ดี โดยเฉพาะเทคนิคการสอนที่มีความยืดหยุ่นทั้งต่อ ผู้เรียนที่มีสมรรถนะสูงและต่ำ รวมทั้งผู้เรียนที่มี่ปัญหาพฤติกรรม

นอกจากนั้น OECD พบว่าผู้เรียนที่ได้รับคำแนะนำ (Feedback) จากครูเป็นรายบุคคลมีแนวโน้มที่จะแสดงให้เห็นถึงทักษะการเรียนรู้ที่ดีกว่า ที่สำคัญประเทศส่วนใหญ่จะมีผลคะแนนที่สูงขึ้นอย่างมีนัยทางสถิติ หากครูช่วยเหลือกันพัฒนาการเรียนการสอน (เรารู้จักกันในชื่อของ PLC – Professional LearningCommunity) โดยพบว่าสูงขึ้นเฉลี่ย 9 คะแนน ในบรรดากลุ่มประเทศ OECD บางประเทศสูงขึ้นมาก เช่น ประเทศสโลวีเนียที่สูงขึ้นกว่า 36 คะแนน เมื่อเทียบกับโรงเรียนที่ไม่มี PLC

3) เวลาเรียนไม่สำคัญเท่าเรียนอย่างไร คุณภาพการใช้เวลาในชั้นเรียนสำคัญกว่าจำนวนเวลาที่ใช้ ผลการวิเคราะห์ของ OECD พบว่าระบบการศึกษาที่สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพไม่จำเป็นต้องใช้เวลามากทั้งในชั้นเรียนและหลังเลิกเรียน ประเทศที่ได้คะแนนเฉลี่ยสูงสุดทุกประเทศใช้เวลาเรียนต่ำกว่าปีละ 1,000 ชั่วโมงทั้งนั้น ตัวอย่างเช่น ประเทศฟินแลนด์ เยอรมนี และญี่ปุ่น ล้วนใช้เวลาเรียนรวมทั้งในและนอกชั้นเรียนน้อยกว่าไทยราว 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

4) เรียนด้วยความสุขและมุ่งสู่อนาคต อีกปัจจัยหนึ่งที่ยังไม่ค่อยได้รับการพดูถึงในบ้านเราเท่าใดนัก

แต่ OECD แสดงให้เห็นว่ามีผลอย่างมากต่อความสำเร็จของเด็กเยาวชนในระดับนานาชาติ คือความสุขในการเรียนรู้ และความคาดหวังในการประกอบอาชีพของนักเรียน

โดยผลการวิเคราะห์ทางสถิติชี้ให้เห็นว่านักเรียนที่สนุกกับการเรียนวิทยาศาสตร์ และสนใจประกอบอาชีพสายวิทยาศาสตร์ในอนาคตล้วนทำคะแนนได้ดีในวิชาวิทยาศาสตร์แทบทั้งสิ้น

ดังนั้น ครูและสถานศึกษาที่ส่งเสริมให้เด็กเยาวชนรักและสนุกกับการเรียนรู้ รวมทั้งเชื่อมโยงให้เห็นถึงความสำคัญการเรียนรู้ต่อการประกอบอาชีพในอนาคต จะช่วยให้ผู้เรียนมีพัฒนาการด้านการเรียนรู้ที่ดีได้

5) ในไทยนักเรียนหญิงเก่งกว่านักเรียนชายสวนทางโลก ความแตกต่างของผลคะแนนระหว่างเพศของเยาวชนไทยมีผลตรงกันข้ามกับค่าเฉลี่ยนานาชาติซึ่งนักเรียนชายมีคะแนนวิชาวิทยาศาสตร์สูงกว่านักเรียนหญิงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

แต่นักเรียนหญิงไทยกลับทำคะแนนวิชาวิทยาศาสตร์ได้สูงกว่านักเรียนชายอย่างมีนัยทางสถิติ

เช่นเดียวกับวิชาการอ่านที่นักเรียนหญิงไทยก็ยังคงทำคะแนนได้ดีกว่านักเรียนชายอย่างมีนัย ส่วนคะแนนวิชาคณิตศาสตร์ระหว่างนักเรียนชายหญิงไทยไม่แตกต่างกันอย่างมีนัย

6) ครูใหญ่ครูน้อยสำคัญกว่ารัฐบาลกลาง OCED พบว่าบทบาทความเป็นผู้รู้ของครูและ ผอ.โรงเรียน มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของผู้เรียน และมากกว่าการสั่งการจากหน่วยงานส่วนกลาง ซึ่งพบว่ามีความสัมพันธ์ทางลบกับคะแนนสอบของนักเรียนในการสอบครั้งนี้ โดย OECD อธิบายว่าครูและผู้บริหารสถานศึกษาเป็นผู้ที่มีความเข้าใจในปัญหาและบริบทของโรงเรียนและผู้เรียนมากที่สุด การมีอิสระในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาในโรงเรียนของตนเองย่อมจะส่งผลดีต่อพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของผู้เรียนมากกว่าให้ผู้อื่นเป็นผู้ตัดสินใจ

“นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประเด็นสำคัญจากผลการวิเคราะห์ข้อมูลการสอบ PISA 2015 ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับโรงเรียนและชั้นเรียน” ดร.ไกรยส ทิ้งท้าย

 

ครับ ฟังข้อคิดทั้งในระดับองค์กรและบุคคลต่อผลการทดสอบความสามารถของเด็กไทยแล้ว ผู้กำหนดนโยบาย ผู้บริหารการศึกษา กรรมการเตรียมการปฏิรูป กรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูป กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาที่จะเกิดขึ้นภายใน 120 วันหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะมีท่าทีอย่างไร

จะนำเอาข้อคิด ข้อเสนอเหล่านี้ไปประกอบการพิจารณากำหนดทิศทาง มาตรการเพื่อปฏิรูปการศึกษากันอีกครั้งใหญ่อย่างไร

และจะทำท่าไหนให้อันดับของเด็กไทยเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 เป็นจริง

คำตอบยังอยู่ในสายลม