เกษียร เตชะพีระ | ประชาธิปไตยใหม่ : การรวมตัวของเสรีนิยมและประชาธิปไตย

เกษียร เตชะพีระ

ประชาธิปไตยใหม่ (2)

การรวมตัวของเสรีนิยมและประชาธิปไตย

ที่บอกว่าเสรีประชาธิปไตยซึ่งเป็นระเบียบการเมืองหลักของประชาธิปไตยในโลกตะวันตกที่เป็นที่ยอมรับ มาจาก 2 หลักการที่ไม่เหมือนกัน คือเสรีนิยมกับประชาธิปไตย แล้วมาประกบประกอบเข้าด้วยกันกลายเป็นเสรีประชาธิปไตยนั้นมันมีเงื่อนไขจำนวนหนึ่ง ต้องพิจารณาความเป็นมาว่าหน้าที่บทบาททางประวัติศาสตร์ของ 2 อันนี้ไม่เหมือนกัน

จุดร่วมคืออะไร?

ปมขัดแย้งคืออะไร?

การ Edit ตัวเองเพื่อประกบประกอบเข้าด้วยกันได้คืออะไร?

และมันค้ำประกันกันและกันอย่างไร?

อะไรคือหน้าที่และบทบาทในประวัติศาสตร์ของ 2 ระบอบนี้?

การกำเนิดขึ้นของเสรีนิยมและประชาธิปไตยอยู่ในบริบทของการต่อสู้ของชนชั้นต่างๆ ในประวัติศาสตร์ของสังคมตะวันตก เสรีนิยมในทางเป็นจริงคือเครื่องมือของชนชั้นกลางผู้พอจะมีอำนาจ ทรัพย์สิน และการศึกษา เวลาพวกเขาสู้กับรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เสรีนิยมคือเครื่องมือของคนกลุ่มนี้

กลุ่มคนกลุ่มแรกที่เรียกร้องเสรีนิยมคือพวกขุนนางซึ่งทนรับระเบียบอำนาจที่กษัตริย์มีอำนาจสัมบูรณ์ต่อไปไม่ได้แล้ว และต้องการจำกัดอำนาจของผู้ปกครอง

ดังนั้น ก็สู้กับสมบูรณาญาสิทธิราชย์และสู้กับคนข้างล่างเสียงข้างมากด้วยไปในขณะเดียวกัน

วิธีคิดแบบเสรีนิยมจึงคิดว่ารัฐเป็นความชั่วร้ายที่จำเป็น (a necessary evil)

ชั่วร้ายตรงไหน?

ก็ไม่เห็นหรือว่ารัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์ริบทรัพย์คุณได้

ในความหมายนี้รัฐเป็นความชั่วร้าย แต่ขณะเดียวกันมันก็จำเป็น เพราะถ้าไม่มีรัฐ พวกคนจนก็จะยกพวกแห่กันมาปล้นทรัพย์คุณ

พวกเสรีนิยมไม่ต้องการรัฐที่มีอำนาจมากเกินไปจนมาริบหรือจำกัดอำนาจการใช้ทรัพย์ของตน

ขณะเดียวกันก็ต้องการรัฐเอาไว้เพื่อกดปรามคนชั้นล่างที่อาจมาแย่งชิงทรัพย์ของตนได้

ส่วนประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือของชนชั้นล่างผู้ขาดไร้อำนาจ ทรัพย์สิน และการศึกษา คนเหล่านี้คือคนที่ยืนยันว่าคนเท่ากัน เมื่อคนเราเท่ากัน อำนาจย่อมเกิดจากตัวเลข พวกเขาโคตรชอบระเบียบนี้เลย เพราะพวกเขามีจำนวนตัวเลขมากกว่า จึงย่อมมีอำนาจมากกว่า ระบอบนี้มันดีสำหรับคนชั้นล่าง เพราะสังคมในโลกนี้คนชั้นล่างมีจำนวนมากกว่า เพื่อสู้กับชนชั้นนำทางอำนาจและชนชั้นกลางเสียงข้างน้อย

แต่เสรีนิยมกับประชาธิปไตยก็มีจุดร่วมบางอย่างอยู่ด้วย คือทั้งสองหลักการต่างก็ต่อต้านระเบียบสังคมอินทรียภาพ (organic society; organicism) ด้วยกันทั้งคู่จากจุดยืนของปัจเจกบุคคล (individuals; individualism)

ในบทละครเรื่องรามเกียรติ์อันเป็นพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 1 มีตอนหนึ่งซึ่งสะท้อนสังคมแบบอินทรียภาพว่า :

อันพระนครทั้งหลาย ก็เหมือนกับกายสังขาร

กษัตริย์คือจิตวิญญาณ เป็นประธานแก่ร่างอินทรีย์

มือเบื้องซ้ายขวาคือสามนต์ บาทาคือพลทั้งสี่

อาการพร้อมสามสิบสองมี ดั่งนี้จึงเรียกว่ารูปกาย

ฝ่ายฝูงอาณาประชาราษฎร์ คือศาสตราวุธทั้งหลาย

ถึงผู้นั้นประเสริฐเลิศชาย แม้นจิตจากกายก็บรรลัย

อาวุธไม่มีผู้ถือ ควรฤๅจะวิ่งเข้ารบได้…

ดังนั้น วิธีคิดแบบอินทรียภาพคือการเปรียบเทียบอุปมาอุปไมยว่ารัฐ ราชอาณาจักรหรือเมืองเป็นร่างกาย กษัตริย์คือจิตวิญญาณ องคาพยพทั้งหลายคือขุนนางทหาร ส่วนราษฎรอยู่ล่างสุด จะไว้ตรงไหนขึ้นกับวัฒนธรรม แต่ของเราอาณาประชาราษฎรคืออาวุธ

ทั้งเสรีนิยมและประชาธิปไตยไม่ยอมรับแนวคิดองค์รวมหรือรวมหมู่แบบนี้ แต่กลับเอาปัจเจกบุคคลเป็นที่ตั้งและจุดเริ่มต้น ปัจเจกบุคคลมาก่อน เกิดก่อน สำคัญกว่ารัฐหรือสังคมส่วนรวม รัฐและสังคมมีหน้าที่รับใช้ปัจเจกบุคคล ไม่ใช่ปัจเจกบุคคลมีหน้าที่รับใช้รัฐและสังคมหรือแม้กระทั่งชาติ จุดร่วมของเสรีนิยมและประชาธิปไตยคือกบฏต่อวิธีคิดสังคมอินทรียภาพนี้ จึงยากมากที่แนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตยจะเข้ามาอยู่ในสังคมไทยที่ถือส่วนรวมมาก่อนส่วนตัว รัฐและชาติบ้านเมืองสำคัญกว่าบุคคล ไม่มีความเฉลียวคิดเลยว่าทำไมรัฐและชาติบ้านเมืองไม่รับใช้บุคคลบ้าง ทำไมไม่มองว่ารัฐและชาติบ้านเมืองมีขึ้นเพื่อให้บุคคลมีเสรีภาพ เจริญงอกงามทางสติปัญญา ทางวัฒนธรรม เปิดพื้นที่ให้กับบุคคลได้พัฒนาตัวเองได้ มันพลิกกลับกัน

อย่างไรก็ตาม ผมควรบอกกล่าวไว้ด้วยว่า ปัจเจกบุคคลแบบเสรีนิยมกับปัจเจกบุคคลแบบประชาธิปไตยไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ทว่านั่นเป็นอีกประเด็นหนึ่งต่างหากที่ขอสงวนไว้พูดในโอกาสอื่น

ปมขัดแย้งและการ Edit ตัวเอง

ขณะที่เสรีนิยมเน้นเสรีภาพทางความคิดและเศรษฐกิจของผู้มีทรัพย์ ประชาธิปไตยเน้นความเสมอภาคทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม ดังนั้น มันจึงทะเลาะกันไม่หยุด จากการขัดกันตรงนี้ระหว่างเสรีภาพกับความเสมอภาค (freedom vs. equality) เพื่อที่หลักการทั้งสองจะมาอยู่ด้วยกันในระบอบเสรีประชาธิปไตย มันจึงต้อง edit ตัวเองทั้งคู่ กล่าวคือ

เสรีนิยม edit [การสงวนสิทธิ์เลือกตั้งไว้ให้เฉพาะคนที่มีทรัพย์กับการศึกษา] ทิ้งไป – พึงสังเกตว่าสิ่งที่ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) เรียกร้องต้องการเมื่อก่อนรัฐประหาร คสช. พ.ศ.2557 คือสิ่งนี้นั่นแหละ คือสงวนสิทธิ์เลือกตั้งไว้ให้เฉพาะชาวกรุงเทพฯ ผู้มีทรัพย์และการศึกษา ไม่ให้แก่คนบ้านนอกคอกนา-เสรีนิยมต้อง edit อันนี้ทิ้งแล้วยอมรับหลัก 1 คน 1 เสียงเท่ากัน นั่นเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเสรีนิยมเพื่อไปสู่การจับมือกับประชาธิปไตย

ส่วนข้างฝ่ายประชาธิปไตยก็ edit [ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ] ทิ้ง เหลือแต่สิทธิเสมอภาคที่จะแสดงความคิดเห็นและทางการเมือง คือยอมให้คนรวยไม่เท่ากัน แต่คนต้องเท่ากันในทางการเมือง จึงทำให้อยู่กับเสรีนิยมได้ และกลายเป็นระเบียบการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตย (liberal democracy)

สุดท้ายมันมีด้านที่เกื้อกูลกันของสองหลักการนี้ การที่เสรีนิยมกับประชาธิปไตยมาอยู่ด้วยกัน มันก่อประโยชน์อะไรต่อกัน? สิ่งที่เกื้อกูลกันคือมันช่วยค้ำประกันกันและกัน

กล่าวคือ :

เสรีนิยมค้ำประกันประชาธิปไตยด้วยการประกันให้มีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม (free and fair elections) ยืนยันเรื่องสิทธิเสรีภาพที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง เพื่อให้เกิดประชาธิปไตยได้

ส่วนประชาธิปไตยก็ค้ำประกันเสรีนิยม ค้ำประกันสิทธิและเสรีภาพโดยยืนยันให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย (popular participation in legislation) เพราะตัวการที่คุกคามสิทธิเสรีภาพของผู้คนพลเมืองที่สุดคือกฎหมายที่ออกโดยรัฐนั่นเอง การคิดเช่นนี้ตั้งอยู่บนฐานคติที่เชื่อว่าประชาชนคงไม่ออกกฎหมายมากุดหัวตัวเอง ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของตัวเอง ดังนั้น ทันทีที่กระบวนการออกกฎหมายหลุดไปอยู่ในมือของคนที่ไม่เกี่ยวกับพวกคุณ ไม่ใช่ตัวแทนของคุณที่คุณเลือกตั้งมาเอง คุณก็จบเห่ เพราะพวกเขาอื่นเหล่านั้นจะออกกฎหมายมาจำกัดสิทธิเสรีภาพของคุณ โดยที่คุณไม่มีสิทธิไปขวางสักแอะ การเสียประชาธิปไตยไปจึงทำลายสิทธิเสรีภาพในตัวมันเอง

อันนี้คือด้านที่เกื้อกูลและจำเป็นต่อกันของเสรีนิยมและประชาธิปไตย พูดให้ถึงที่สุด คุณรักษาประชาธิปไตยไว้ได้ยากถ้าไม่มีเสรีนิยม และคุณรักษาเสรีนิยมไว้ได้ยากถ้า ไม่มีประชาธิปไตย