อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ / เศรษฐกิจในเงามืด : บททดลองเสนอ

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ทั่วโลกเวลานี้มองเห็นทิศทางการไหลเวียนของสินค้าและบริการ ลื่นไหลยิ่งขึ้น (freer flow) ทั้งนี้ ด้วยเห็นผลของพัฒนาการของเทคโลโลยี กระบวนการดิจิตอล (Digitalization) ที่ให้ความสะดวก รวดเร็วและง่ายๆ ผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ เช่น Line, Facebook, Alibaba, Amazon, Shopee เป็นต้น

ทว่า สิ่งหนึ่งที่ควรพิจารณาควบคู่ไปด้วยคือ ภูมิทัศน์ (Landscape) และรูปแบบนอกระบบ (informal formalities) ต่างๆ

กล่าวโดยย่อ กระบวนการดิจิตอลได้เปลี่ยนภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจสิ้นเชิง จากเศรษฐกิจที่แบ่งเป็นระเบียบเศรษฐกิจ เช่น สหภาพยุโรป (European Union), อาเซียน (ASEAN) อาเซียนบวก 6 (ASEAN+6) เปลี่ยนไปเป็น การขายสินค้าและบริการด้วยระบบดิจิตอลก่อเกิดการข้าม รอด เลี้ยวและผ่านระเบียบเศรษฐกิจใหม่ (new economic order)

เช่น การค้าและบริการ รวมทั้งการเงินการธนาคารผ่านระบบ Line ซึ่งเติบโตอยู่ระหว่างไต้หวัน ไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ส่วน Facebook สร้างระบบธุรกรรมและการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการกระจุกอยู่ในซีกโลกตะวันตก โดยไม่สามารถเข้าไปสู่ตลาดใหญ่อย่างสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีระเบียบเศรษฐกิจของตัวเองผ่าน weChat เป็นต้น

เรายังไม่รู้ว่า ภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปและยังไม่เสถียรจะมีรูปร่างสุดท้ายอย่างไร รูปแบบไหนทรงพลังทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองโลกแค่ไหน ยังมีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงควบคู่กันไปด้วยนั่นคือ รูปแบบนอกระบบ (informal formalities)

รูปแบบนอกระบบต่างๆ แท้จริงแล้วดำเนินมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ เช่น ด้านการเงินและแลกเปลี่ยนสินค้าในระบบโพยก้วน การฟอกเงินโดยการสั่งซื้อสินค้า เช่น ข้าว น้ำตาล มาเป็นเงินและทองคำแทน รวมทั้งเหล่าเจ้าสัวเปลี่ยนเงินที่ได้จากธุรกิจบ่อนการพนันมาเป็นเงินแล้วเปลี่ยนเป็นการซื้อโรงแรมขนาดใหญ่หรูเริ่ดแทน

การลักลอบมีบุคคลและกลุ่มคนอำนวยการ เช่น กลุ่มนอกระบบมีทั้งญาติพี่น้อง กลุ่มตระกูล เช่น แซ่ต่างๆ โจร เจ้าพ่อ องค์กรอาชญากรรม ยากูซ่า แม้แต่โจรใส่สูทในตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำของโลก

ด้วยเหตุความเปลี่ยนแปลงหลักทั้งเทคโนโลยี ซึ่งดำเนินการผ่านกระบวนการข้ามพรมแดน (tran boundary) ได้ง่ายและเร็วยิ่งขึ้นกลับทำให้ ระบบนอกระบบต่างๆ ทั้งการค้าและการบริการเติบโต เฟื่องฟู กระจายและหาต้นตอที่แท้จริงได้ยากขึ้น

ดังนั้น บทความสั้นๆ นี้จึงอยากทดลองเสนอมุมมองหนึ่งของการค้าและบริการนอกระบบในปัจจุบันและแนวโน้ม ทว่า ผมริเริ่มเรียกสิ่งนี้ว่า เศรษฐกิจในเงามืด

 

เศรษฐกิจในเงามืด (Shadow Economy)

เศรษฐกิจในเงามืดเป็นปรากฏการณ์ที่มีอยู่แล้วในประวัติศาสตร์ มีอยู่ทั่วทุกมุมโลก จริงๆ แล้วการค้าหนีภาษีหรือ “ของเถื่อน” เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรากฏและดำเนินมาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายทศวรรษแล้ว ในอดีต (1)

สินค้าส่วนใหญ่ที่ลักลอบหนีภาษีจะเป็นสินค้าที่มีการจัดเก็บภาษีในปลายทางในมูลค่าสูง มีความต้องการของตลาดสูงและขนถ่ายช่องทางการลักลอบได้ไม่ยากนัก

เช่น เหล้า ยาสูบ สินค้าฟุ่มเฟือย เช่น ถ้วยชามที่เป็นที่นิยมของคนชั้นสูง ผ้าแพรพันมีค่าจากแดนไกล ยาหรือเครื่องบำรุงร่างกายที่คนร่ำรวยอยากใช้

แม้แต่เงิน ทองคำ อาจเป็นในรูปของการส่งเงิน ทองคำ เช่น ระบบโพยก้วนซึ่งดำเนินการโดยองค์กรที่มีอิทธิพลเพื่อหลีกเลี่ยงการกำกับและรีดภาษีจากประเทศล่าอาณานิคมตะวันตก อีกทั้งยังปลอดภัยไม่ถูกดักปล้นด้วย

ปัจจุบันเทคโนโลยีช่วยให้การค้าสินค้าและบริการสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น มีแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ที่อำนวยความสะดวกการซื้อ-ขายสินค้าที่เรียกว่า E-Marketplace หรือ Electronic Marketplace และ Social Commerce ยังทำให้เกิดการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน (Cross-border E-Commerce)

คือผู้ประกอบการและลูกค้าอยู่กันคนละประเทศ ลูกค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าจากต่างประเทศผ่าน E-Market และ Social Commerce โดยไม่ต้องเดินทางไปซื้อสินค้าถึงต่างประเทศ

ดังนั้น ด้วยพัฒนาการที่เปลี่ยนไปของโลกโดยเฉพาะเทคโนโลยีอันก่อให้เกิด ระหว่างรัฐ (inter-state) ระหว่างเมือง (inter-city) ระหว่างบริษัท (inter-firm) และระหว่างเครือข่ายส่วนบุคคล (inter-personal network) (2) พลังของเทคโนโลยีโดยเฉพาะ “การสื่อสาร” (communication) หลากหลายรูปแบบช่วยผลักดัน การเชื่อมต่อทางไกล ทั้งคน สินค้าและบริการให้รวดเร็วขึ้น

แต่ช่วยเปิดช่องการค้าและการบริการในระบบการกำกับของรัฐในรูปของการเก็บภาษีและการสร้างกำไรของบริษัทให้เข้าไปอยู่ในเศรษฐกิจในเงามืดด้วยเช่นกัน โดยเกิดขึ้นทั้งระดับเศรษฐกิจภายใน (domestic economy) เศรษฐกิจภูมิภาค (regional) และเศรษฐกิจโลก (global economies) (3)

ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น อาชญากรรมบนไซเบอร์ (criminal cyber technology) บนเว็บไซต์ใต้ดิน (Dark Web) ที่อาศัยนวัตกรรมทางเทคโนโลยี “เครือข่ายนิรนาม” (TOR Network) เป็นเครื่องมือ

ปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวถูกนำใช้ในโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ในการสร้างโลกอีกใบหนึ่งขึ้นมาเพื่อรองรับกิจกรรมการสื่อสารเฉพาะกลุ่มในพลเรือน ในคุณสมบัติที่ช่วยรักษาความเป็น “นิรนาม” ของผู้ใช้และอำพรางข้อมูลที่อาจนำไปสู่การสืบค้นและสอบสวนปราบปรามได้ จึงเป็นโอกาสให้เกิดโลกคู่ขนานที่สามารถกระทำผิดทุกรูปแบบได้อย่างเสรี

เศรษฐกิจในเงามืด ทุกวันนี้และในอนาคตนับวันยิ่งทำให้การแลกเปลี่ยน (exchange) ต่างข้ามพรมแดน การดำเนินการของตัวแทน (broker) มีการกระจายตัวหลากหลายและความไม่เป็นทางการ (informality) ยังมีรูปแบบที่หลากหลายนับไม่ถ้วน

เช่น เป็นกลุ่มเจ้าพ่อเช่น ยากูซ่า (4) Mafia (5) อันเป็นกลุ่มทรงอิทธิพลเดิม องค์กรอาญชากรรมข้ามชาติที่แฝงตัวในตลาดทุนในวอลล์สตรีต บริษัทกระดาษ (paper companies) ใน Clayman Island, British Vergin และ Tax Haven ต่างๆ ทั่วโลก

ทั้งนี้ การโยกย้ายเงินตราย่อมดำเนินการเพียงกะพริบตา แต่ไร้ร่องรอย

 

กระบวนการทางนโยบาย

ดังนั้น เศรษฐกิจในเงามืดในยุคดิจิตอลนี้นับเป็นการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี แต่ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เศรษฐกิจในเงามืด ดำเนินไปได้อย่างเป็นระบบ มีมูลค่ามหาศาล แต่ไร้ร่องรอยของ “ผู้ค้านิรนาม” นั้น จึงน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการวิจัยที่ต้องเกิดขึ้นจากหลายภาคส่วนทั้งนักวิจัยสหสาขาวิชา เช่น เทคโนโลยี เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา กฎหมาย เป็นต้น

รวมด้วยความร่วมมือกับเครือข่ายนานาชาติในอาเซียนและยุโรปจะช่วยกันผลักดันงานวิจัยที่ตอบโจทย์ระดับโลก ในรูปแบบใหม่

พร้อมข้อเสนอทางนโยบายต่อหน่วยงานภาครัฐได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงดิจิทัลฯ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งภาคเอกชนไทยทั้งธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน

โจรสลัดได้หันมาใส่สูท เปลี่ยนมีดและปืนแก๊ปมาเป็นคอมพิวเตอร์แล็บท็อปไปแล้ว

———————————————————————————————-
(1) Eric Tagliacozzo, Secret Trade, Porous Borders : Smuggling and States Along a Southeast Asia Frontier, 1865-1915 (NUS Press and Yale University Press, 2007)

(2) Tak-Wing Ngo, “Informal connectivity in transnational shadow exchanges” The Newsletter, International Institute for Asian Studies, No. 83, 2019 : 29

(3) Ibid., 30

(4) หาอ่านเพิ่มเติมได้จาก David K. Kaplan and Alec Dubro, YAKUZA : Japan”s Criminal underworld. 25th Anniversary edition, Berkeley, University of California Press,2012)

(5) Pino Arlachi. Mafia Business The Mafia Ethnic and the Spirit of Capitalism (London : Verso 1987)